ความเป็นมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน


กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ความเป็นมา

             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดระเบียบการปกครองของราชอาณาจักรไทยครั้งสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองระดับหมู่บ้านและตำบลนั้น ได้มีการทดลองตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันขึ้นปกครองหมู่บ้านและตำบลเป็นครั้งแรกที่ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2435 ทั้งนี้ เพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งการจัดการปกครองหมู่บ้านและตำบลใหม่นี้มีลักษณะแตกต่างจากเดิมหลายประการ โดยเฉพาะในด้านกระบวนการซึ่งปรากฏในเนื้อหาจดหมายของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะศิริ) ครั้งยังเป็นหลวงเทศาจิตราวิจารณ์ ผู้ได้รับมอบหมายให้ทดลองตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ความว่า

 

 

" ในขั้นต้นทำบัญชีสำมะโนครัวบ้านที่จะจัดเป็นหมู่บ้านและตำบลก่อน เสร็จแล้ว จึงลงมือจัดการ ตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันต่อไป คือ ไปจัดรวมครัวที่เป็นเจ้าของบ้านใกล้ชิด ติดต่อกันราว 10 เจ้าของเจ้าของหนึ่งจะมีเรือนกี่หลังก็ตามรวมเข้าเป็นหมู่บ้าน แล้วเชิญเจ้าของบ้านมาประชุมกันในวัด พร้อม ด้วยราษฎรอื่น ๆ


เมื่อถามทราบว่าใครผู้ใดเป็นเจ้าบ้านแล้วก็ให้มาร่วมกันขอให้เลือกกันในหมู่ของเขา ที่มา ประชุมว่าควรจะให้ใครเป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" สังเกตดูเขาตรึกตรองกันมาก ซุบซิบปรึกษา หารือกัน เห็นจะเป็นด้วยเรื่องเกรงใจกัน แต่ในที่สุดก็ได้ความเห็น โดยมากกว่าใครในพวก ของเขาที่มา ประชุมนั้น ควรจะเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วข้าพระพุทธเจ้าก็เขียนใบตั้งชั่วคราว ให้เขาถือไว้จนกว่า จะได้มีการหมายตั้งออกให้ใหม่ตามทางราชการ


เมื่อได้จัดตั้งผู้ใหญ่บ้านได้พอสมควรที่จะจัดตั้งเป็นตำบลไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ไปประชุม ที่ศาลาวัดพร้อมด้วยราษฎรในท้องที่นั้น เชิญผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่ข้าพระพุทธเจ้าให้เลือกตั้งไว้แล้ว มาประชุมพร้อมกัน แล้วขอให้ผู้ใหญ่บ้านเหล่านั้นเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ในหมู่ของเขาว่าใคร จะควรได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าว่าการตำบล


เมื่อเขาพร้อมกันเห็นควรผู้ใดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ออกหมายตั้งชั่วคราวให้เขาเป็นกำนัน ตำบลนั้น แล้วข้าพระพุทธเจ้าไปทำอย่างเดียวกันต่อ ๆ ไปทุกตำบล ตำบลใดที่ข้าพระพุทธเจ้า ไปจัดตั้งกำนันในวันแรกในวัดใด ข้าพระพุทธเจ้าอาราธนาพระภิกษุในวัดนั้นมาประชุมอยู่ด้วย พอใครได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็นิมนต์ให้สวดชยันโตให้พร"

นอกจากทดลองตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังมีการศึกษาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยดูสภาพท้องที่ และความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชน โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีคนแรกของกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และยังทรงมอบหมายให้หลวงเทศาจิตรวิจารณ์เดินทางไปดูงานการปกครองของประเทศพม่าและมลายู หลังจากนั้นได้จัดประชุมข้าหลวงเทศาภิบาลเพื่อปรึกษาความเห็นและรับฟังข้อเท็จจริงของแต่ละท้องที่

เมื่อปรากฏว่าโครงการทดลองตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี จึงได้วางรูปแบบ การปกครองระดับหมู่บ้านตำบลเรียกว่า "การปกครองท้องที่" อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองประเทศ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ขึ้นใช้บังคับทั่วประเทศ โดยประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)

ข้อความและหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ของพระราชบัญญัตินี้ ได้ใช้เป็นหลักในการปกครองท้องที่ของประเทศไทยสืบมา นับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้กำหนดการจัดระเบียบตำบลและหมู่บ้าน รวมทั้งกำหนดหน้าที่ไว้อย่างละเอียดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ สร้างความเป็นธรรมในการปกครองบ้างเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นเพราะพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้ราษฎรมีโอกาสใช้สิทธิในการปกครองตนเองด้วย

หลังจากที่ได้ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 มาเป็นเวลานานประมาณ 17 ปี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงประกาศยกเลิก และประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ขึ้นใช้บังคับแทนและถือเป็นหลักในการจัดระเบียบการปกครองตำบล หมู่บ้าน สืบมาจนทุกวันนี้

ข้อคิด

การที่มีกลุ่มบุคคลพยายามให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาชุมนุมที่กรุงเทพ ฯ โดยมีเจตนา ไม่บริสุทธิ์

ขอความร่วมมือให้ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พิจารณา ด้วยสติ เหตุผล  และประชาชนทั่วไปช่วยร่วมพิจารณา เตือน และส่งข่าวกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ด้วย ขอให้ธรรมคุ้มครองผู้ปฏิบัติดี

หมายเลขบันทึก: 189543เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ ตามมาอ่านค่ะ
  • เคยอยากรู้มานานแล้วค่ะ แต่ลืมๆไป เลยลืมถามคุณตาที่บ้านค่ะ
  • ตอนนี้รู้แล้วว่าในสมัยก่อนคุณตาเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ยังไง ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อ่านบทความข้างบนแล้วได้ความรู้มากเลยทำให้นึกขึ้นได้ว่าปู่ของพ่อเป้นกำนันอยู่ที่ต่างจังหวัดทั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง มีที่ดินครอบคลุมหลายร้อยไร่ แต่ปัจจุบันไม่มีอะไรเหลือไว้เลยค่ะ มีแต่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่บางทีก็พูดให้ฟังดังที่ว่า อยากจะรบกวยเรียนถามว่า ถ้าเป็นเรื่องจริงตามที่คนในหมู่บ้านพูดกันดิฉันจะตามหาหลักฐานที่เป็นเอกสารอะไรที่ยืนยันว่าเมื่อสมัยปู่ของพ่อนั้นท่านเป็นกำนันจริง ควรจะสืบหาได้จากที่ไหนค่ะ

ขอบคุณล่างหน้ามาณที่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท