เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 49 พบบันทึกประจำวันของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการแทรกซ้อนทางจิต หูแว่ว แยกตัวเอง พูดเสียงเบา ไม่สบตา ผู้ป่วยคัดลอกมาจากบทความของนายสรจักร ศิริบริรักษ์ ซึ่งผู้ป่วยบอกว่าชอบมากและตรงกับชีวิตจริงของผู้ป่วยเอง ทำให้เราได้รู้ว่า แม้ในผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนทางจิต หลายๆคนคิดว่าเขาไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่จริงๆแล้ว เขายังสามารถรับรู้ได้ มีความละเอียดอ่อนที่จะบอกว่ารัก....ชอบ....รู้ว่ามันสะท้อนชีวิตของตนเอง....มันโดนใจ นี่คงจะยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าในการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนทางจิต ต้องเท่าเทียมกันเหมือนผู้ป่วยปกติทั่วไป อย่าคิดว่าผู้ป่วยไม่รู้เรื่อง และบทความที่ผู้ป่วยคัดลอกมานี้สามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปได้เป็นอย่างดี เนื้อหามีดังนี้.......
"ทำไมเด็กบางคนจึงเลือกที่จะหันหลังให้กับครอบครัว หนีจากความคุ้มครองของพ่อแม่ ก้าวเดินจากแหล่งกำบังอันอบอุ่น หรือเพราะว่าในบ้านหลังนั้นอันตรายกว่า....โหดร้ายกว่า ทันทีที่เด็กคนหนึ่งหันหลังให้สถาบันครอบครัว เขาต้องเผชิญกับความรู้สึกเคว้งคว้าง หวาดระแวง ไร้ที่พึ่งพา เสี่ยงต่อการถูกกระทำ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิด เขาต้องเอาตัวเองให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง หาเลี้ยงชีพด้วยเศษอาหารในถังขยะ ลักขโมย ขายพวงมาลัย เช็ดกระจกรถของผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยไว้ใจ
เด็กเร่ร่อนเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวจนถึงจุดวิกฤติ
ตกใจไหม ที่จะต้องพบความจริงว่า ทุกวันนี้เด็กไทยวัยเพียง 6 ขวบเริ่มหนีออกจากบ้าน หันหลังให้ครอบครัว พร้อมจะสู้โลกโดยลำพังแล้ว ขมขื่นไหม ที่จะรับรู้ พวกเขายินดีเสี่ยงชีวิตบนท้องถนน นอนใต้สะพานลอย กินอาหารจากกองขยะ เพราะเห็นว่าชีวิตเร่ร่อนยังมีสวัสดิภาพเหนือชีวิตครอบครัวปราศจากการถูกกระทำทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีพ่อที่วนเวียนข่มขืนลูกในไส้ ไม่มี่แม่ที่ใช้เตารีดนาบตัว จับหัวกดน้ำ
การที่ต้องรับรู้ความจริง บางครั้งน่าเจ็บปวด แต่สิ่งที่เด็กได้ เจ็บปวดยิ่งกว่าหวนคิดอีกสักครั้ง ก่อนที่คุณจะยกฝ่ามือขึ้น...."
ธนิกา พฤกษาพนาชาติ