...ดัชนีความสุข...เลือกตั้งใหม่...และ vicious mob.....


คุณมีดัชนีความสุขเหลือเท่าไรครับ...โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ?

คุณมีดัชนีความสุขเหลือเท่าไรครับ...โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ?

ผมเองตอบได้ว่า ตอนนี้ไม่ค่อยมีความสุขเวลาออกมานอกบ้านครับ วันวันอยากอยู่กับภรรยาและลูกชายเท่านั้นเพราะช่วงนี้ตอนเช้าออกจากบ้านแถวราชวัตรมาส่งลูกแถวสามเสน ไปส่งแฟนแถวพระรามหก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งสำหรับระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรครับ ทั้งๆที่แต่ก่อนใช้่เวลา 20 นาทีเท่านั้น

ไม่ต้องบอกก็คงรู้นะครับว่าเพราะอะไร? ถ้าไม่ใช่เหล่าคุณม็อบพันธมิตรที่ผมเคยเล่าและเปรียบเปรยเอาไว้กับนิทานเรื่อง "กบเลือกนาย"

คราวที่แล้วไม่เอา"เหลี่ยม" เลยได้"ฤาษีขี่เต่าสีเขียว" ก็ถูกก่นด่ากันมาแล้วรอบหนึ่ง

คราวต่อมาเลือกตั้งใหม่หมดไปอีกหลายพันล้าน ได้"พ่อครัวชมพู่ปากจัด"มา ก็มาประท้วงอยากได้ "พ่อมาร์ค ม.7" เพราะหาว่ารัฐบาลนี้เป็นหุ่นเชิด

พูดตามตรงนะครับว่า คราวที่แล้วผมเอนเอียงไปทางด้านพันธมิตร แต่คราวนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ...

ประเด็น ..เจ๊เพ็ญ.. ก็จบแล้ว ..แก้รัฐธรรมนูญ..ก็โดนเตะถ่วงไปแล้ว

แต่การประท้วงต่อ แล้วหาประเด็นอื่นมา เช่น เขาพระวิหาร แก้เรื่องปากท้องไม่ได้...เนี่ย อยากรู้จังว่า เทวดาที่ไหนจะแก้ไขได้ครับ...

ขอปรามาสไว้หน่อยให้หมั่นไส้เล่นๆ ว่า ผมไม่เชื่อน้ำยาของ"น้องมาร์ก ม.7" ครับ  ด้วยเหตุผลหลักๆ หลายประการคือ 

1.  ผมรู้จักพ่อเค้าดีว่าเป็นอย่างไร และหากสมมติฐานผมไม่ผิด พ่อย่อมมีการถ่ายทอดคุณสมบัติหลายอย่างมายังลูก (Vertical transmission)

2. น้องมาร์กไม่มี ..กึ๋น..บุคลิกภาพ..และ..บารมี.. เพียงพอในการเป็นผู้นำประเทศ

3. ชนักสปก.ก็เป็นหลักฐานการคอรัปชั่นที่พรรคน้องเค้าไม่สามารถเถียงได้่

4. บทเรียนสมัยธารินทร์ เป็นขุนคลังยังคงเป็นที่เข็ดขยาดแก่ผู้ที่ได้ติดตามความเป็นไปของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้เชียร์ลุงหมักหรอกครับ เพราะลุงแกก็ไม่ได้มีผลงานอะไรเลยตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าฯ มีอย่างเดียวที่จำได้คือรายการ "ชิมไปบ่นไป" นี่เอง

ฉนั้นหากผมเป็นหมอคีนฟันธง (...ไม่ใช่หมอลัีกษณ์ฟันดะ...) ผมก็คงว่า ไม่มีทางที่ประเทศไทยเราจะสงบได้ในเร็ววันนี้หรอกครับ คำตอบสุดท้ายในระยะสั้นน่าจะเป็น "ยุบสภา" เพื่อกระจายรายได้สู่ชนบท...เพื่อสลายม็อบ

คำตอบสุดท้ายในระยะกลางคือ "เลือกตั้งทุกหกเดือน"...เพื่อแก้ปัญหาขาดรายได้ของม็อบภาคต่างๆ และกระจายรายได้เพื่อถอนทุนให้แก่รัฐมนตรีที่ต้องออกหาเสียงและใส่ซองทุกหกเดือน

มิฉะนั้น ลองจินตนาการ หรือลองทำ Foresight analysis ดู จะเห็นเงารางๆ ได้ว่า คราวหน้าเป็นได้สองกรณีคือ

1. ได้หุ่นเชิดตัวใหม่ พร้อมม็อบพันธมิตรหน้าเก่าที่ป่าวประกาศ เพื่อทำ ...สงครามครั้งสุดท้ายจริงๆ สาบานได้... (ถ้าผิดคำสาบาน ฉันจะลดการอาบน้ำจากห้าขันเป็นสองขัน..."เหม็นตายชัก"...)

2. ได้น้องมาร์ก พร้อมรอยยิ้มของพ่ออยู่ด้านหลัง และตามมาด้วยม็อบนปก. ม็อบเหนือและอีสาน ซึ่งใหญ่กว่าพี่ "หมาห้าขัน" และตามมาด้วยการปิดถนนทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสุดท้ายคือ "รอยยิ้มของเด็ก" เนื่องจากโรงเรียนหยุดตลอดไป.....

...ว่าแล้วก็ต้องลองดูส่วนหนึ่งของบทความที่ผมอ่านเจอจากสสส.นะครับ ดูซิว่าคุณเห็นด้วยกับส่วนหนึ่งของบทความนี้ไหม? ลองย้อนกลับมามองซิ ว่าเราควรทำอย่างไร?...

ดัชนีความสุขแห่งชาติ

“จีดีพี เป็นดัชนีที่คิดสั้น แยกส่วน วัดทุกอย่างเป็นเงิน สมมติแม่เลี้ยงลูกเป็นเรื่องดี แต่จีดีพีไม่
ขึ้น มหาวิทยาลัย นักพัฒนาต่าง ๆ ต้องคิดตัววัดการพัฒนาแบบใหม่ที่วัดได้อย่างแท้จริง บูรณาการ...
ขึ้น ในเมืองไทยควรจะใช้ดัชนีความสุข หมายถึงต้องมีเศรษฐกิจพอเพียง มีสังคมที่ดี พ่อ แม่ ลูก อยู่
ด้วยกัน สิ่งแวดล้อมดี” ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาในงานมหกรรมเกษตรยั่งยืน

ประเทศภูฏานได้รับการกล่าวถึง ในฐานะที่ได้สร้างปรากฏการณ์ท้าทายนักเศรษฐศาสตร์กระแส
หลักทั่วโลก โดยการใช้ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNP) แทนการใช้เม็ดเงินวัดระดับการพัฒนา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ประเทศนี้ใช้นโยบายการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม
เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม

รูปธรรมที่น่าสนใจในนโยบายของภูฏาน คือ การไม่ยี่หระต่อเงินตราต่างประเทศที่จะหลั่งไหล
เข้ามากับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ประเทศภูฏานมีศักยภาพอย่างสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมการ
ท่องเที่ยว เพราะมีทรัพยากรธรรรมชาติที่สมบูรณ์และงดงาม มีพื้นที่ป่าไม้มากถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่
ประเทศ แต่รัฐบาลภูฏาน กลับประกาศว่ายอมที่จะให้ประเทศมีรายได้น้อย ดีกว่าเปิดให้มีการทำลาย
ธรรมชาติ และวัฒนธรรมจากการท่องเที่ยว เพียงเพื่อแลกกับเงิน

วริษฐ์ ลิ้มทองกุล เขียนในเวปไซท์ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในปี พ.ศ.2546 ภูฏานเปิดรับ
นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเพียง 6,000 คนเท่านั้น ส่วนสายการบินของภูฏานก็มีเครื่องบินเพียงสองลำ ซึ่ง
บรรจุผู้โดยสารได้รวมแล้วไม่เกิน 144 คน นั่นไม่ใช่เพราะความยากจนหรือด้อยพัฒนา แต่เป็นเพราะ
ภูฏานต้องการคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเท่านั้น

...อีกส่วนหนึ่งของบทความ ว่าด้วยความเห็นเกี่ยวกับความสุขของคนจากภาคส่วนต่างๆครับ...

“ มีเงินมีทองนี่เป็นความทุกข์ ถ้าไม่มีอะไรสักอย่าง แต่ใจเราสบาย ความสุขก็อยู่ตรงนั้น
ความสุขไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ใจของเรา”
นี่คือความคิดของพ่ออุ๊ยใจคำ ตาปัญโญ ครูภูมิปัญญาจากลุ่มน้ำวาง ที่ยังประคองสังขารวัย
76 ปี นั่งสานไม้ไผ่ทำของเล่น ประดิษฐ์เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลานใน
ชุมชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ความคิดของพ่ออุ๊ยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกระแสหลักของการพัฒนาในยุคนี้ ที่มุ่งเน้นแต่การ
เร่งผลิตเม็ดเงิน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระนั้นก็ตาม พ่ออุ๊ยก็ยังบอกเราได้อย่างเต็มปากเต็ม
คำว่า “มีความสุข”


ทำนองเดียวกันกับ สุมณฑา เหล่าชัย ชาวนาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีความสุขอยู่กับการรักษา
พันธุกรรมท้องถิ่น และมีความภาคภูมิใจในการเป็นผู้สืบทอดเชื้อพันธุ์ของแผ่นดิน แต่เธอก็ตระหนักว่ามี
ชาวไร่ชาวนาอีกไม่น้อยที่ละทิ้งวิถีชีวิตและระบบผลิตออกไปรับจ้างหาเงินตามกระแสความนิยม
“ทุกคนอยากได้ความสุข แต่ไม่หาความสุข กลับไปหาเงิน” สุมณฑากล่าวในงานมหกรรม
เกษตรยั่งยืน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

การถามหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน หรือเศรษฐีผู้มีอันจะกิน คงจะ
มีไม่น้อยที่เชื่อว่าความสุขนั้นหาซื้อได้ด้วยเงิน หรือจะต้องมีเงินเป็นปราการด่านแรกที่จะนำพาชีวิตไปสู่
ความสุข

แต่นั่นอาจไม่ใช่ความคิดของประชาชนทั้ง 63 ล้านคนในประเทศ เพราะยังมีคนอีกเยอะที่คิด
ในทางตรงกันข้าม และเห็นว่าความสุขกับเงินไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

“คนบนดอยเขาคิดกันแบบนี้ ไม่อยากมีรถ ไม่ได้อยากมีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่อยากให้อยู่พร้อม
หน้าพร้อมตา ถ้าอยู่ไกลกันถึงมีเงินก็ไม่มีความสุข” นี่คือนิยามความสุขของ คำเสาร์ หอมดอกบ้านนา
พ่อบ้านชาวปกากญอวัย 42 ปี บ้านทุ่งหลวง

“ความสุข คือการอยู่อย่างธรรมดา ไม่ต้องเครียด ไม่คิดมาก รู้สึกดีต่อกัน ไม่มีศัตรู มีข้าวกิน มี
เงินใช้ แต่ต้องไม่มีเยอะเกินไป มีแค่พออยู่พอกิน” ปินี แก้วมูล แม่บ้านปกากญอบ้านห้วยหอย ซึ่งทำนา
และทำไร่หมุนเวียนเพื่อยังชีพ บอกแบบนี้

หรือแม้แต่คนหนุ่มสาวอย่างจันทร์วรรณ ปอแปะ จากบ้านห้วยหอย ก็บอกว่า “ความสุขคือการ
ได้อยู่ใกล้พ่อแม่”

เสียงความคิดของคนเหล่านี้อาจจะเบาเกินไป หรือเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจไม่เคยใส่ใจจะฟัง แต่
นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ถ้าหาก “การพัฒนา” ในแบบของรัฐ หรือในแบบที่ผู้มีอำนาจต้องการจะไม่เข้ามา
บงการชีวิตของพวกเขา แต่ปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบที่ต้องการ

หมายเลขบันทึก: 189130เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2008 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นั่นซินะ"อยากได้ความสุข แต่ไม่หาความสุข กลับไปหาเงิน"

พี่มาแบ่งความสุขให้เพราะเพิ่งกลับมาจากวัดค่ะ หวังว่าคุณหมอคงสบายดีนะคะ ส่วนคุณมาร์กกับคุณหมักก็แล้วแต่ใครจะมีสิทธตามรัฐธรรมนูญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท