กลุ่มเรียนรู้ในอดีต ที่ขอนแก่น


หลังจาก ที่สงครามอินโดจีนในภูมิภาคนี้สงบลงแล้ว ประมาณปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุค NGOs ที่เกิดขึ้นมากมายทั่วทุกภาคของประเทศ    ส่วนหนึ่งเพราะองค์กรพัฒนาของต่างประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือตามค่ายผู้อพยพชายแดนต่างๆ ขยายการทำงานเข้าสู่พื้นที่ชนบทไทย

 

ประมาณปี พ.ศ. 2525-2530 ผมย้ายที่ทำงานจากชายแดนไทยจังหวัดสุรินทร์มาที่สำนักงานเกษตรภาคอีสาน ท่าพระ ขอนแก่น ชื่อโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี USAID เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนใหญ่ และรัฐบาลไทยได้ระดมหน่วยงานราชการมาทั้งกระทรวงเกษตรมาช่วยกัน รวมทั้งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย เพื่อมาช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ใช้น้ำฝนในอีสาน นอกจากนี้ก็มีโครงการ EU เพื่อวิจัยหาพืชใหม่ๆมาทดแทนการปลูกมันสำปะหลัง โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องให้ที่เอายูคาลิปตัสมาปลูกตามหัวคันนา ส่วน NGO ขนาดใหญ่ช่วงนั้นก็มี Redd Barna, Foster Parent Plan, Save the Children(Japan), Care(USA) ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีคนไทยและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาทำงานด้วยมากมาย จึงเกิดชุมชนชาวต่างประเทศในภาคอีสานขึ้นโดยวัฒนธรรมของเขา

 

สิ่งที่เห็น คือการพบปะกันของกลุ่มชาวต่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ชอบจัดงานปาร์ตี้ งานวันเกิด งานต้อนรับ งานเลี้ยงส่ง ฯลฯ  ชาวต่างประเทศเหล่านี้ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความรู้ระดับสูง หลายคนเป็นศาสตราจารย์ เป็นอาจารย์ ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของต่างประเทศ ลาราชการมาทำงานโครงการต่างๆในบ้านเมืองเรา

 

กลุ่มคุยกัน จากนิสัย หรือวัฒนธรรมของเขาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นการชุมนุมกันที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล เพื่อพูดคุยกันในสาระของงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่เดือนละครั้ง  จะเรียก Forum หรือ Mini-Seminar หรือ Meeting หรืออะไรก็แล้วแต่ เถิด แต่รูปแบบก็คือ ทุกคนมีอิสระที่จะมาเข้าร่วม ต่างก็สั่งเบียร์ สั่งกาแฟมากินกัน แล้วก็มีคนใดคนหนี่งนำเสนอเรื่องราวของโครงการของเขาให้ทั้งกลุ่มฟัง  แล้วก็ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนกัน แบบกึ่งทางการ เมื่ออิ่มเอมในสาระกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป เมื่อถึงเดือนใหม่ต่างก็พาเพื่อนฝูงหน้าใหม่ๆเข้ามากัน ทั้งคนต่างประเทศ คนไทย คนทำงาน อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เต็มห้องไปหมด

 

เมื่อคนมาก ก็พัฒนารูปแบบขึ้นเพื่อให้การจัดการเหมาะสมมากขึ้น  แต่รูปแบบที่ไม่เปลี่ยนคือ สบายๆ ใครอยากดื่มเบียร์ ดึ่มกาแฟ ก็อิสระเสรี เนื่องจากสาระหลักเพื่อชาวต่างประเทศ แต่ช่วงหลังคนไทยเข้าร่วมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานโครงการพิเศษต่างๆ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย จึงเกิดการพูดคุยกันกว้างขวางมากขึ้น สลับการนำเสนอสาระกันระหว่างคนไทยกับฝรั่ง  ส่วนจำนวนคนก็มากน้อยแล้วแต่ความสนใจในแต่ละครั้งที่กำหนดกันล่วงหน้า 1 เดือน  แต่ที่แน่ๆคือ จะมีฝรั่งเป็นหลักมากกว่าคนไทย ประมาณ 10 คนประจำ

 

สรุป  ผมเข้าร่วมไม่ทุกครั้ง ตามสะดวกดังกล่าว แต่เท่าที่เฝ้ามองมีข้อสังเกตดังนี้ครับ         

·        นิสัยฝรั่งชอบการพูดคุย แลกเปลี่ยนกึ่งทางการแบบนี้มากกว่าคนไทยหรือเปล่า เป็นวัฒนธรรม หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ

·        เวทีที่ไม่เป็นทางการแบบนี้ บรรยากาศการเรียนรู้แลกเปลี่ยนดีกว่า การจัดแบบทางการ  ไม่เครียด แบบเอาเป็นเอาตาย และไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรให้มากความ

 

  • การที่กลุ่มการเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นทำให้เป็นจุดเริ่มของการสานต่อความรู้ต่างๆที่ขยายออกไปโดยอัตโนมัติ ใครติดใจประเด็นไหนกับใครก็สานต่อกันไปทันที
  • ไม่มีใครเป็นภาระ ทางโรงแรมก็ไม่เก็บค่าห้อง แต่ขอให้ผู้เข้าร่วมช่วยสั่งเครื่องดื่มก็เท่านั้น

 

·        เกิดความสนิทสนมรู้จักกันอย่างกว้างขวาง และพาไปสู่ความเป็นเพื่อน และรู้จักกันและกัน  นำไปสู่กิจกรรมอื่นๆตามมา เช่น การนัดไปเล่นกีฬาที่แต่ละคนชอบด้วย กลายเป็นการแตกแขนงกลุ่มย่อยอื่นๆตามมา

 

 

·        แต่แปลกครับ  เมื่อฝรั่งต่างทยอยกลับประเทศของเขาเพราะจบสัญญา หรือปิดโครงการ กิจกรรมนี้คนไทยไม่สานต่อ กลุ่ม Forum นี้ก็ปิดไปโดยปริยาย กลุ่มเล็กๆเพื่อการเรียนรู้ก็หยุดไปด้วย??? 

 

          ทำไมหนอ??

 

หมายเลขบันทึก: 189045เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2008 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บางที ถ้าเปลี่ยนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการแลกเปลี่ยน success stories อาจจะมีแรงจูงใจมากกว่านะครับพี่ เพราะนั่นคือประโยชน์โดยตรงของผู้ที่เข้าร่วม

เรื่องนิสัยน่าสนใจพิเศษ อ่านเรื่องนี้ตามร่องรอยได้หลายเรื่อง เยี่ยมอี่หลี

อรุณสวัสดิ์ค่ะ พี่ท่าน

นิสัยฝรั่งชอบการพูดคุย แลกเปลี่ยนกึ่งทางการแบบนี้มากกว่าคนไทยหรือเปล่า

จากที่สัมผัส ใช่จริงๆค่ะพี่ท่าน  ... ชาวต่างชาติจะชอบปฏิสัมพันธ์มากๆ เลย

... โครงการทีสึนามิ เหมือนกันค่ะ หลังจากปิดงบแล้ว ก็ทะยอย หาย ... หาย และ เงียบ ไปในที่สุด ...

.. น้องมองว่า 1. อาจจะขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชน ผู้ประสานงาน เป็นหลักรึเปล่าคะ

2. การมองเห็นความสำคัญ อย่างที่ท่าน conductor กล่าว ... และผลประโยชน์ที่เขาได้รับ

... มาอ่านความรู้ค่ะ ...

และเป็นกำลังใจให้คนทำงานจริงอย่างพี่ท่านเสมอค่ะ ...

สวัสดีครับ น้องP 1. Conductor

บางที ถ้าเปลี่ยนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการแลกเปลี่ยน success stories อาจจะมีแรงจูงใจมากกว่านะครับพี่ เพราะนั่นคือประโยชน์โดยตรงของผู้ที่เข้าร่วม

 

ผมเห็นด้วยครับว่าประเด็นเชิง success stories นั้นน่าสนใจ อาจเป็นเพราะช่วงนั้นคนไทยไม่ได้รวมตัวกัน(รวมทั้งตัวพี่เองด้วย) เป็นเพียงเข้าไปเรียนรู้เท่านั้น ไม่ได้ฉุกคิดถึงการใช้บรรยากาศนั้นให้ต่อเนื่องต่อไป  แต่อย่างน้อยที่สุดคนที่เข้าร่วมก็นึกถึงบรรยากาศนั้นได้

และหากได้รับการกระตุ้นก็น่าที่จะเกิดขึ้นใหม่ นี่เป็นความคิดที่พี่เห็นประโยชน์

วันหนึ่งพี่ก็เอาแนวคิดนี้ไปเสนอต่อกลุ่มขององค์กรพัฒนาเอกชน แห่งหนึ่ง ซึ่งพี่รู้ดีว่าชอบคุยกันนัก  เขารับแนวคิด  แต่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ครับ....??

ท่านครูบาครับ P 2. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

เรื่องนิสัยน่าสนใจพิเศษ อ่านเรื่องนี้ตามร่องรอยได้หลายเรื่อง เยี่ยมอี่หลี

ใช่ครับผมเองก็คิดต่อไปเรื่อยๆ ว่าจะเอา คลิก อะไรมาต่อจึงจะเกิดสังคมเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง

ระบบโรงเรียนสร้างนิสัยแบบนี้ได้ไหม

ระบบที่ทำงานสร้างนิสัยเช่นนี้ได้ไหม

ระบบสังคมสร้างนิสัยเช่นนี้ได้ไหม

ครอบครัวมีส่วนสร้างนิสัยแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง  คิด คิดครับ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ P 3. poo

นิสัยฝรั่งชอบการพูดคุย แลกเปลี่ยนกึ่งทางการแบบนี้มากกว่าคนไทยหรือเปล่า จากที่สัมผัส ใช่จริงๆค่ะพี่ท่าน  ... ชาวต่างชาติจะชอบปฏิสัมพันธ์มากๆ เลย

เราจะสร้างคนของเราได้อย่างไร น่าสนใจนะน้องปู 

... โครงการทีสึนามิ เหมือนกันค่ะ หลังจากปิดงบแล้ว ก็ทะยอย หาย ... หาย และ เงียบ ไปในที่สุด ...

.. น้องมองว่า 1. อาจจะขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชน ผู้ประสานงาน เป็นหลักรึเปล่าคะ

2. การมองเห็นความสำคัญ อย่างที่ท่าน conductor กล่าว ... และผลประโยชน์ที่เขาได้รับ

ใช่ครับ พี่เห็นด้วยกับ conductor

พี่เห็นว่าเวลาเอาฝรั่งมาพูดที่กรุงเทพฯค่าพูดเป็นสิบล้าน ค่านั่งฟังเกือบหมื่นต่อที่นั่ง  คนแห่ไปกันฟังอย่างกับว่า ฟังแล้วจะเอามาเนรมิตรกิจกรรมตัวเองได้ทันใด... 

แต่คนไทยที่ประสบผลสำเร็จแบบไทยๆไม่ค่อยได้นำเสนอผลความสำเร็จนั้นๆ 

หรือว่าความสำเร็จของคนไทยไม่สามารถเอามาเป็นแบบอย่างได้เพราะ......

+ สัวสดีค่ะ..ท่านคุณลุงบางทราย

+ แม่และแอมแปร์มาเยี่ยมค่ะ

+ สืบเนื่องจาก...แอมแปร์ไปเที่ยวสวนคุณตาครูบา..แล้วเจอไข่ไดโนเสาร์

แอมแปร์ : โอ้โห...ไข่ไดโนเสาร์นะ

               แม่  ใครเอามาลงนี่...

               เหมือนในหนังสือที่แม่

               ซื้อให้เลย..แม่ดูสิ...

               เหมือนจริง ๆ แอมแปร์

               อยากได้งะแม่

แม่     : ของลุงบางทราย..ถ้าลูก

           อยากได้เราต้องเข้าไปขอ

           อนุญาตคุณลุงก่อน

+ ขออนุญาตเอาภาพไข่ไดโนเสาร์ให้หนูแอมแปร์หน่อยนะค่ะ

+ มีเรื่องขำ ๆ สืบเนื่องจากการนำเสนอของท่านมาเล่าให้ฟังค่ะ

+ เรื่องมีอยู่ว่า

      " ตอนไปอบรมครูวิทย์ฯ ของสสวท. เขาจัดให้กับครู  5 จังหวัดแดนใต้  ได้คุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่อนุพงษ์ ท่านเป็นครู คศ. 3 สอนอยู่ที่ อ.ระโนด  ท่านมีนาร้อยกว่าไร่  กำกับการทำนาด้วยตนเอง

ทำนาแบบไม่เผาซังข้าว แต่ปล่อยน้ำลงนาแล้วไถกลบซังข้าว  ทำนาโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์  ท่านบอกว่า ได้ข้าวนอ้ยกว่าปุ๋ยเคมี  แต่ต้นทุนถูกกว่า ที่สำคัญดินไม่เสื่อม  ทำนาได้ยั่งยืน  ท่านพยามบอกกับเพื่อนชาวนาด้วยกัน  แต่ไม่มีใครสนใจ   

      เมื่อนั้น ม. สงขลานครินทร์ส่งอาจารย์ ร่วมกับ นักวิชาการเกษตรมาศึกษาการทำนาแบบท่านพี่คนนี้  จนเข้าใจทุกอย่าง  แล้วนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ให้ชาวบ้านแถวนั้นฟัง....

       และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น...ชาวบ้านแถบนั้นฟังและทำตาม...ทั้ง ๆ ที่พี่เขาบอกมาก่อนหน้านี้แล้วเป็นสิบ ๆ ปี...ไม่มีใครฟัง...

   มันแปลกดีนะ...มันแปลกดีนะ...

+ เรื่องก็มีด้วยประการฉะนี้แล

สวัสดีครับ แอมแปร์

  • เอาเลยครับน้องแอมแปร์ ลุงอนุญาตเอารูปไหนก็ได้ กี่รูปก็ได้ครับ ลุงอนุญาตครับ
  • เรื่องที่เล่าให้ฟังน่าสนใจครับ บ้านเรามักพบเรื่องราวแบบนี้บ่อยเหมือนกัน เรื่องใกล้ตัวไม่สนใจ แต่หากมีคนที่น่าเชื่อถือมาบอก ก็เชื่อไปหมด  อิอิ...
  • เรื่องการทำนาอินทรีย์น่าสนใจมากครับ เป็นแนวทางที่หลายชาวนาหลายแห่งสนใจและเริ่มทำกันครับ  เป็นทางออกของชาวนาครับ เพราะลดต้นทุน ยิ่งในปัจจุบันค่าปุ๋ยแพงสุดๆเท่าที่เคยมีมา
  • การใส่ปุ๋นในนามากๆ และใช้สารเคมีมากๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก
  • หลายปีแล้วที่อีสานทางกรมอนามัยต้องสั่งกลบบ่อน้ำตื้นในแปลงนาเกษตรกร เพราะเกษตรกรชอบที่จะดื่มน้ำจากบ่อนี้  แต่เมื่อนักอนามัยเอาน้ำไปตรวจ พบว่าค่าสารละลายของสารเคมีสูงกว่ากำหนดหลายสิบเท่า อันตรายต่อสุขภาพมากๆ จึงสั่งให้กลบหลุมเหล่านั้นครับ
  • ยินดีที่รู้จักน้องแอมแปร์นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท