โครงงานทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ


โครงงานเป็น "การคิด" ว่า จะทำงานอะไร? อย่างไร? อย่างรอบคอบจนคิดว่า น่าจะได้ผลตามที่ต้องการ เมื่อคิดได้รอบคอบดีแล้ว ว่าจะแก้ปัญหาได้ ก็นำมาเขียนเป็นรายละเอียดการทำงาน ที่เรียกกันว่า "โครงงาน" ซึ่งไม่ใชรายงานการการทำโครงงานดังที่ส่วนมากเข้าใจกัน จึงทำให้การทำโครงงานเป็นปัญหา เหมือนโจทย์ปัญหาที่เป็นปัญหา จากนั้นจึงลงมือทำโครงงานต่อไป

พบปัญหามากในเรื่องของการสอนโครงงาน หรือให้นักเรียนทำโครงงาน ซึ่งบิดเบี้ยวไปมาก เช่นเดียวกับการแนะแนว ในโรงเรียนมัธยมปัจจุบัน ที่เขามุ่งหมายให้จัดกิจกรรมแนะแนวให้นักเรียน เพื่อไม่ให้เสียสุขภาพจิต แต่กลับกลายเป็นเอาวิชาแนะแนวมาสอนนักเรียน โดยหวังว่า เมื่อนักเรียนมีความรู้แล้วจะแนะแนวตนเองได้ โครงงานก็เช่นกัน ตอนนี้มีการสอนวิชาการทำโครงงานกันให้เกร่อ แทนการกระตุ้นให้นักเรียนทำโครงงานที่เขาอยากทำ การศึกษาไทยจึงเรียวลงทุกวัน จนลีบเล็กเหมือนเส้นผมอยู่ในขณะนี้ จึงได้แสดงแนวคิดเพื่อช่วยนักเรียนที่จะทำโครงงานขึ้น คงเป็นประโยชน์ต่อการทำโครงงานต่อไป

เอายังงี้ดีไหม? ลองถามตัวเองว่า "อยากทำโครงงาน หรืออยากเขียนโครงงาน?"  ความจริง โครงงาน เป็นเรื่องของการคิดโครงสร้างการทำงาน หรือขั้นตอนการทำงานที่คิดไว้ เพื่อทำตามที่คิด เขียนตามที่คิดและที่ทำ ยิ่งละเอียดยิ่งดี ทั้งสิ่งที่ปฏิบัติ และความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นจากการที่ได้ปฏิบัติ แต่โครงงานส่วนมาก มักพูดถึงการเขียนรายงานการทำโครงงานมากกว่า จึงทำให้ฟังเท่าไรก็ทำโครงงานไม่ได้ ดังที่ปรากฏทั่วไปในโรงเรียน

ดังนั้น อยากทำโครงงานก็ ต้องมีศักยภาพ 3 ประการ คือ
1. การคิดทั้งวิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อตรวจสอบความต้องการ การทำแผนโครงงาน และการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการทำงาน เพื่อการรายงานต่อไป
2. การลงมือทำ โดยไม่รีรอวันพรุ่งนี้ หรือคิดว่า "จะทำได้ไหม สำเร็จไหม" ขอให้ลงมือทำ สำเร็จหรือไม่ ถ้าคิดถึงผล ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่สิ่งที่เราบังคับมันได้ แต่ถ้าคิดถึงการทำโครงงาน ก็สำเร็จแล้ว คือได้ทำโครงงานแล้ว
3. การจดบันทึกทุกอย่างที่คิด ที่ทำ เท่านั้น ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีในคนไทย จึงเกิดปัญหาการเขียนรายงาน เพราะขาดข้อมูล

ถ้ามีศักยภาพ 3 ประการนี้แล้ว ทำโครงงานสำเร็จแน่นอน แต่ผลของโครงงานจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับเหตุ ปัจจัย ที่ประกอบกันเป็นโครงงาน ถ้าสำเร็จ ได้ผลตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ไม่ใช่ตามที่อยากให้เป็น โครงงานก็สำเร็จ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็แสดงว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งต้องปรับปรุง แก้ไข และอาจสำเร็จ หรือไม่สำเร็จก็ได้ เช่น บรรดาหมอที่คิดหาวิธีการรักษาโรคเอดส์ ทำเสร็จหลายโครงงานแล้ว แต่ก็ยังไม่พบวิธีที่สามารถรักษาโรคเอดส์ได้จริง จึงต้องศึกษากันต่อไป ไม่ทิ้ง ไม่ถอย เมื่อเหตุ ปัจจัย เหมาะสมก็จะได้วิธีรักษาที่ถูกต้องได้ เหมือนโรคอื่นๆ ที่รักษาได้อยู่ในขณะนี้

ส่วนทำอะไร? ต้องคิดเอาว่าอยากทำโครงงานอะไร ให้ได้ก่อนเป็นสิ่งแรก? ซึ่งส่วนมากจะมาจาก ...
ปัญหา คือ
1. ต้องการแก้ไข อาจเป็นปัญหาในการทำงาน การดำรงชีวิต ก็ได้ ที่ทำให้ทำงานไม่ได้ ไม่สำเร็จ หรือทำต่อไปไม่ได้ ติดข้ดไปหมด
2. ต้องการรู้ ต้องการมี หรือต้องการได้ ซึ่งมาสาเหตุมาจากความคับข้องใจ เช่น สอยผลไม้ลำบาก ก็อยาก มีเครื่องมือสอยผลไม้ดีๆ ไม่ให้เสีย ไม่ให้ช้ำ เป็นต้น หรือเกิดจากความอยาก เช่น อยากสวย อยากผมดก อยากมีสุขภาพดี(เป็นด้านกว้างๆ)

เมื่อรู้ว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องคิดหาวิธีการทำหลายวิธี บันทึกไว้ จนหมดปัญญาคิดแล้ว จึงนำเอาที่คิดนั้นทั้งหมด มาวิเคราะห์ดูว่า วิธีการใดน่าจะมีเหตุ มีผล นำงานไปสู่ความสำเร็จได้มากที่สุด และรองลงไปตามลำดับ เผื่อนำมาใช้ทำโครงงานต่อๆ ไป หาประการแรกไม่สำเร็จ เป็นโครงงานใหม่ ไม่ใช่โครงงานเดิมแล้วนะ หากจะให้เป็นโครงงานเดิมก็นำเอาบางส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ไปปรับ แก้ โครงการเดิม

เมื่อรู้วิธีทำงานแล้ว ก็ต้องคิดต่อไปว่า ต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง? มีเครื่องมืออะไรต้องใช้บ้าง ได้มาอย่างไร จัดเตรียมให้พร้อม แม้จะต้องใช้ความรู้เรื่องอะไรก็ต้องสร้างสมความรู้ไว้ให้พร้อม(กรณีนี้จะมีประโยชน์ต่อการเขียนรายงานที่เป็นหลักการและเหตุผล และบทที่ 2 ความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะทำ) ก่อนลงมือทำ อย่าลืมนะ ทุกอย่าง ลืมบันทึกไม่ได้เชียว

คิดเสร็จก็เขียนเป็นแผนทำโครงงาน หรือที่เรียกว่า "โครงงาน" อย่างแท้จริง นั่นเอง จากนั้นก็ตรวจสอบโครงงานด้วยตนเอง ด้วยคนอื่นที่คนทำคิดว่า มีความรู้ วางใจได้ หรือที่ปรึกษาโครงงาน จนคิดว่า ได้โครงงานที่เหมาะสมแล้วก็นำไปปฏิบัติต่อไป ซึ่งก็เป็นขั้น ตรงนี้แหละ ที่เรียกว่า "การทำโครงงาน"(ซึ่งมักปรากฏอยู่ในบทที่ 3)

ลงมือดำเนินการอย่างเป็นทางการ ตามระเบียบขั้นตอนที่ตนได้วางไว้ ในตอนแรกๆ ควรดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด อย่าออกนอกโครงงาน มิฉะนั้น จะทำให้ตรวจสอบข้อผิดพลาดในภายหลังได้ลำบาก เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรไปบ้าง นอกจาก จะมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเห็นว่าเหมาะสมกว่า

สุดท้าย ก็ให้นำข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกไว้ มาวิเคราะห์ ตรวจสอบดูซิว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร(ซึ่งมักปรากฏในบทที่ 4) ตรงกับจุดประสงค์ เป้าหมาย หรือแม้แต่สมมุติฐาน(ถ้าตั้งไว้)หรือไม่? ถ้าตรง ยอมรับได้หรือไม่? ถ้า ตรง ยอมรับได้ เปอร์เซ็นต์สูง ก็เป็นอันสำเร็จ จะสรุปผลการทำโครงการได้อย่างไร?(ซึ่งมักเป็นบทที่ 5)  ถ้าเปอร์เซ็นต์ต่ำก็อย่ายอมรับ ตรวจสอบการทำงานทั้งหมด มีอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุให้ผลมันผิดพลาด หรือบิดเบือนออกไป จะแก้ไขอย่างไร หรือจะทิ้งไป เริ่มโครงงานใหม่ที่คิดไว้เป็นอันดับรองๆ ลงไป

คราวนี้แหละ จะได้โครงงานที่สมบูรณ์ตามที่คนส่วนมาเข้าใจกัน คือ "การเขียนรายงาน" เมื่อทำโครงงานเสร็จแล้ว จะหยุดก็ได้ หากไม่ต้องการสื่อสาร เผยแพร่ หรือส่งตรวจ แต่ถ้าต้องการกระทำดังกล่าวอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ก็ต้องเขียน "รายงาน" การทำโครงงาน ก็ให้นำขั้นตอนที่เคยได้ยินได้ฟ้งนั้นมากาง เป็นพิมพ์เขียว เขียนไปตามหัวข้อที่เขากำหนด โดยอาศัย ข้อมูลข่าสารทั้งหมดที่บันทึกไว้ และที่จำได้จากเหตุการณ์ที่ลงมือทำ ที่อาจต้องนำมาเพิ่มเติม เขียนเสร็จก็จะได้รายงานที่เอามาสอนกันอยู่ขณะนี้ นั่นแหละ

เป็นไงบ้าง ตอนนี้คงจะพอทำโครงงานได้แล้วนะ นี่เล่นเอางานสุดท้ายมาไว้ต้น ก็คงจะลำบาก เหมือนเรียนคณิตศาสตร์ทั่วประเทศไทยที่เรียน "ประโยคสัญลักษณ์" ซึ่งเป็นผลสรุปของโจทย์ปัญหา ก่อนการเรียน "โจทย์ปัญหาและหาวิธีแก้โจทย์ปัญหา" เรียนเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พอถึงโจทย์ปัญหาก็เลยเป็นปัญหายิ่งกว่าโจทย์เสียอีก

 

หมายเลขบันทึก: 188530เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท