The world Supremacy Leader กว่าจะได้เป็น.. ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

The  world Supremacy Leader

: กว่าจะได้เป็น.. ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

 

โดย  นายปณิธัศร์  ปทุมวัฒน์

นิติกร  สำนักกฎหมาย

 

 

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ท่านผู้อ่านคงรับทราบถึงปัญหาทางเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ           และส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกตามที่ปรากฏในการนำเสนอข่าว คือ ปัญหาซับไพรม์ (Sub Prime) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อซึ่งมีความน่าเชื่อถือต่ำในธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ อันส่งผลต่อสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฐอย่างใหญ่หลวง ซึ่งประเทศไทยของเรานั้นก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ด้วย  โดยปรากฏชัดในเรื่องของตัวเลขการลงทุนที่ลดลงจากสหรัฐอเมริกา อันส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ   อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจไม่แพ้กันในช่วงนี้ก็คือ การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (President of  the United State - POTUS) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทในทางระหว่างประเทศระดับที่เรียกว่า เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประชาคมโลกก็ว่าได้

ดังนั้น ในโอกาสนี้จึงขอเสนอ  ขั้นตอนและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งค่อนข้างซับซ้อนและแตกต่างจากประเทศอื่นๆในโลก อันปรากฏข้อเท็จจริงมาแล้วว่าแม้แต่พลเมืองของสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกตั้งดังกล่าวในสัดส่วนที่น้อยมาก อย่างไรก็ดี  ท่านผู้อ่านจะได้รับสาระประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้ใน “The world Supremacy Leader : กว่าจะได้เป็น.. ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา  ซึ่งท่านสามารถใช้บทความนี้ทำความเข้าใจและติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี

 

 

ภูมิหลังทางการเมืองสหรัฐอเมริกา

แต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า อินเดียนแดง มาก่อนเป็นเวลาถึง ๑๕,๐๐๐ ปี จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ได้มีการสำรวจบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปขึ้น  และในเวลาต่อมาราชอาณาจักรอังกฤษได้ทำการก่อตั้งอาณานิคมใหม่ขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้

 

 

จนกระทั่งในที่สุดหลังจากที่ถูกรัฐบาลตัวแทนจากอังกฤษปกครองมาเป็นเวลากว่าร้อยปี อาณานิคมที่ตกอยู่ภายใต้การปกครอง ๑๓ อาณานิคมก็ได้ทำการประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๖  ส่งผลให้เกิดสงครามปฏิวัติอเมริกาขึ้นและได้สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๗๘๓  โดยที่ชัยชนะเป็นของฝ่ายอาณานิคม ราชอาณาจักรอังกฤษจึงยินยอมมอบเอกราชให้เป็นประเทศใหม่ นับแต่นั้นมาประเทศก่อตั้งใหม่      ที่ถูกเรียกว่า "สหรัฐอเมริกา" ก็แผ่ขยายอาณาเขตจาก ๑๓ มลรัฐไปถึง ๕๐ มลรัฐกับอีกหนึ่งเขตปกครองกลาง และดินแดนภายใต้การปกครองอีกหลายแห่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

มลรัฐทั้ง ๕๐ของสหรัฐอเมริกานั้น  มีสิทธิในการปกครองตนเองในระดับสูงภายใต้  รูปแบบการปกครองแบบ สหพันธรัฐ[1] โดยมี

 

รัฐบาลกลางที่เข้มแข็งดำเนินบทบาทในการใช้อำนาจอธิปไตยเพียงบางประการที่สำคัญเท่านั้น เช่น ในด้านการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในด้านการป้องกันประเทศ ทั้งนี้มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ๔๘ มลรัฐ ตั้งอยู่บนดินแดนระหว่าง แคนาดาและเม็กซิโก ส่วนรัฐอะลาสกา และฮาวาย พื้นที่เป็นเกาะไม่ได้อยู่ติดกับมลรัฐอื่น นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมี “District Of Columbia” อยู่ทางตะวันออกของประเทศบนฝั่งของแม่น้ำโปโตแมค อันเป็นเขตปกครองกลาง  ประจำสหพันธรัฐ  ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวง  ของสหรัฐอเมริกาและดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาทั่วโลก

 

แม้การปกครองระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา จะมีมาตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๗๘๗  แต่เสถียรภาพทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาก็ยังมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้น สถานะทางเศรษฐกิจและทางการทหารของสหรัฐอเมริกาก็มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ช่วงกลางถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐  หลังจากที่ผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งทั้งสองครั้งก็อยู่ในฝ่ายชนะ สหรัฐอเมริกากลายก็เป็นประเทศอภิมหาอำนาจเคียงคู่กับสหภาพโซเวียต และทำสงครามแนวใหม่ที่เรียกว่า "สงครามเย็น"ต่อกัน  จนกระทั่งเมื่อสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นประเทศ "อภิมหาอำนาจ" หนึ่งเดียวของโลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

การเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

 

สหรัฐอเมริกา (United States of America - USA) มีรูปแบบรัฐแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief Executive) ภายใต้รัฐธรรมนูญ  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๕๐ มลรัฐ   และ
District (District of Columbia อันเป็นที่ตั้งของ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ได้แก่  Alabama , Alaska (มลรัฐที่ใหญ่ที่สุด), Arizona, Arkansas, California, Colorado, Connecticut, Delaware, District of Columbia, Florida, Georgia, Hawaii, Idaho, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Maine, Maryland,

เกาะแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ค ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงความเจริญทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในการเป็นศูนย์กลางแห่งโลกทุนนิยม  และตึก World Trade Center ซึ่งคงอยู่ในความทรงจำของชาวโลกตลอดไป

 

Massachusetts, Michigan, Minnesota, Mississippi, Missouri, Montana, Nebraska, Nevada, New Hampshire, New Jersey, New Mexico, New York, North Carolina, North Dakota, Ohio, Oklahoma, Oregon, Pennsylvania, Rhode Island             (เป็นมลรัฐที่เล็กที่สุด), South Carolina, South Dakota, Tennessee, Texas, Utah, Vermont, Virginia, Washington, West Virginia, Wisconsin, Wyoming และเขตการปกครองอื่นๆ ได้แก่ American Samoa, Baker Island, Guam, Howland Island, Jarvis Island, John Atoll, Kingman Reef, Midway Islands, Navassa Island, Northern Mariana Islands, Palmyra Atoll, Puerto Rico, Virgin Islands และ Wake Island

 

การปกครองแบบสหพันธรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น ๓ ฝ่าย ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งแต่ละฝ่าย          มีที่มาในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (checks and balances) ดังนี้

 

ฝ่ายนิติบัญญัติ   หรือ สภาครองเกรสประกอบด้วยสองสภา คือ วุฒิสภา มีสมาชิกจากทุกมลรัฐ มลรัฐละ ๒ คน รวมเป็น ๑๐๐ คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ ๖ ปี  ทั้งนี้สมาชิกจำนวน ๑ ใน ๓ จะครบวาระทุก ๒ ปี วุฒิสภาอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบหรือปฏิเสธการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตลอดจนบุคคลที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง รวมถึงการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ทั้งนี้รองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา (President of the Senate) โดยตำแหน่ง  ส่วนสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกจำนวน ๔๓๕ คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในมลรัฐ คือ ประชากร ๕๗๕,๐๐๐ คน ต่อ สมาชิก ๑ คน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งสมัยละ ๒ ปี

 

United State Capital

ที่ประชุมสภาครองเกรส ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกา

   ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทางอ้อมในแบบ Electoral Vote ร่วมกับรองประธานาธิบดีทุก ๔ ปี ในวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน ๕๓๘ คน               ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ สมัย สมัยละ ๔ ปี ทั้งนี้ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อพันธกรณีสนธิสัญญาต่าง ๆ  ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษา เอกอัครราชทูต              และผู้ตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับรองผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy Assistant Secretary) ขึ้นไป

ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น (Circuit Court) ศาลอุทธรณ์ (Appeal Court)และศาลฎีกา (Supreme Court) โดยศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกเลิกกฎหมายและเพิกถอนการปฏิบัติการของฝ่ายบริหารที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งมีทั้งหมด             ๙ คนนั้น ประธานาธิบดีจะเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง และดำรงตำแหน่งได้              โดยไม่มีการกำหนดวาระ

 

 

 

 

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้นำรัฐ ผู้นำโลก

 

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดได้ว่าเป็นต้นแบบรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของโลกและยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้บัญญัติให้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (President of the United States)[3]  เป็นประมุขในการปกครองประเทศ และทำหน้าที่เป็นทั้งผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐอันมีหน้าที่ในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

 นอกจากนี้ประธานาธิบดีต้องเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังทหาร รวมไปถึงอำนาจในการให้ความเห็นชอบ            ร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาคองเกรส ทั้งนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจ ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นที่ปรึกษา อำนาจในการลดโทษหรือให้รอลงอาญา อำนาจในการทำสนธิสัญญา          รวมไปถึงอำนาจในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและผู้พิพากษา                   โดยคำแนะนำและยินยอมจากวุฒิสภา ทั้งนี้ การที่ผู้นำสหรัฐอเมริกามีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งหรือปลดรัฐมนตรีได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติ            ของคณะรัฐมนตรี ทำให้รัฐมนตรีมีตำแหน่งเป็นเพียง Secretary หรือเลขานุการของประธานาธิบดี ไม่ได้เรียกว่า Minister ดังเช่นประเทศอื่น

 

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานั้นมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านทางคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี และสามารถอยู่ในดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระซึ่งบัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[4] ครั้งที่ ๒๒ ที่ได้รับการอนุมัติ  ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ ภายใต้ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ แต่ละมลรัฐจะได้รับการแบ่งสรรให้มีจำนวนคะแนนเสียงโหวต (Electoral Vote) ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากร  โดยจะเท่ากับจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมกับคะแนนเสียงพิเศษในเขต ดิสตริกต์ ออฟ โคลัมเบีย หรือกรุงวอชิงตัน ดี.ซี              อันเป็นเมืองหลวงซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในส่วนต่อไป

 

การที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี แต่ไม่เกิน ๒ สมัยนั้น ทั้งนี้
แต่เดิมรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวาระของประธานาธิบดีไว้อย่างชัดเจน แต่หลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน และประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน อยู่ในตำแหน่ง ๘ ปี โดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ ๓ ก็ทำให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาว่า ผู้นำสหรัฐจะอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน ๒ สมัย กระทั่ง
แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ประธานาธิบดีคนที่ ๓๒ ฝ่าฝืนประเพณีนี้ โดยอยู่ในตำแหน่งนานถึง ๑๖ ปี หลังชนะการเลือกตั้งติดต่อกันถึง ๔ สมัย ต่อมาเมื่อเขาถึงแก่กรรมลงในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกำหนดชัดเจนไม่ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกินกว่า ๒ สมัย                  หรือ ๘ ปีเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลงมัวเมาในอำนาจและใช้อำนาจในทางที่ผิด นอกจากนี้การพ้นตำแหน่งก่อนหมดวาระเกิดขึ้นได้เพียง ๓ กรณีเท่านั้นคือ เสียชีวิต ลาออก และถูกสภาผู้แทนราษฎรปลดจากตำแหน่ง (
Impeachment) การพ้นจากตำแหน่งก่อนกำหนดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รองประธานาธิบดีจะเข้ารับตำแหน่งสืบต่อไปทันที

 

บทบาทของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เราคุ้นเคย ก็คือผู้มีส่วนสร้างความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในองค์การสหประชาชาติที่ส่งผลต่อประชาคมโลกโดยทั่วไป ดังนั้นผู้นำของสหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดผู้หนึ่งโลก

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดี เส้นทางสู่ทำเนียบขาว

 

 

 

ภายหลังที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ.๑๗๘๗  สหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ และได้ จอร์จ วอชิงตัน ผู้สมัครจากพรรค Federalist  เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า สหรัฐอเมริกา          มีรูปแบบการปกครองแบบ สหพันธรัฐซึ่งประกอบด้วย              มลรัฐทั้ง ๕๐ และเขตปกครองอื่นรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งมลรัฐและเขตการปกครองเช่นว่านี้ ต่างมีสภาพเป็นองค์ภาวะที่มีรัฐบาลเป็นของตนโดยเอกเทศจาก รัฐบาลกลาง ของสหพันธรัฐ ดังนั้นระเบียบวิธีการในการได้มาซึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาย่อมไม่เหมือนการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทยของเราซึ่งเป็น รัฐเดี่ยว และหากศึกษาการได้มาของประธานาธิบดี               และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกับประเทศไทยโดยสิ้นเชิง

  ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี โดยรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติ[5]ของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีว่าต้องมีสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี โดยอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๑๔ ปี

การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อ แบ่งออกเป็นสองขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนแรก พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะดำเนินการสรรหาตัวแทนภายในพรรคของตน  ซึ่งหมายถึง การแข่งขันกันเองของผู้สมัครในพรรคเดียวกันในชั้นหนึ่งก่อนโดยมีการหยั่งเสียงในระดับมลรัฐหรือการเลือกตั้งขั้นต้นและการประชุมใหญ่ของพรรคในระดับประเทศ (National Convention) โดยผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และขั้นตอนที่สอง คือ การเลือกตั้งทั่วไป ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้แทนพรรคแต่ละพรรค อันนำไปสู่การลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college)ในการเลือกตั้งขั้นสุดท้าย (Electoral Vote) ซึ่งถ้าผู้ใดชนะในคราวนี้จะได้เป็น ประธานาธิบดี คนต่อไปของสหรัฐอเมริกา

 *********************  ติดตามต่อตอนที่ 2 ******************

หมายเลขบันทึก: 186548เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท