ภูฏาน : กำเนิดประชาธิปไตย มังกรน้อยแห่งหิมาลายา


การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ภูฏาน

หน้าต่างโลก The Knowledge Windows

 ภูฏาน :  กำเนิดประชาธิปไตย มังกรน้อยแห่งหิมาลายา

โดย นายปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์

นิติกร สำนักกฎหมาย

 

ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่ทุกคนบนโลกรับรู้ได้ พอๆกับความตึงเครียดจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกนั้น  ราชอาณาจักรภูฏาน ประเทศอันแสนงามที่ซ่อนตัวอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัยเสมือนมังกรตัวน้อยกำลังทอดกายอย่างสงบนิ่ง วิถีชีวิตของพลเมืองที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายตามวิถีแห่งพุทธมหายานอันแวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมอันแสนงดงามนั้นปราศจากการคุกคามจากทุกสิ่งที่หลายประเทศในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญ  ภูฏานเป็นราชอาณาจักรอันอยู่ภายใต้การปกครองของธรรมราชามาหลายยุคหลายสมัย  ในสังคมโลกนั้นรู้จักภูฏานในฐานะของดินแดนอันแสนสงบเรียบง่ายที่ผู้ปกครองรัฐพยายามรักษาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนดั้งเดิมของชาติไว้อย่างเหนียวแน่นและมุ่งเน้นความสุขของพสกนิกรมากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ดังพระราชดำรัสของพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1972  ว่า

 

“Gross National Happiness (GNH) is more important than Gross National Product (GNP)

           

ซึ่งหมายถึง ความสุขมวลรวมประชาชาติ                มีความสำคัญมากกว่าดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติอันเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่กล่าวกันโดยทั่วไปว่า             ความรวยนั้นมิใช่ความสุขเสมอไปนั่นเอง

 

 

ประเทศไทยของเรานั้น ได้รู้จักประเทศภูฏานมากขึ้น  เมื่อพระราชอาคันตุกะจากประเทศภูฏานในขณะนั้นคือ  สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยายศเป็นมกุฎราชกุมาร  เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมในวโรกาสการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2549 ประชาชนชาวไทยทั้งปวงที่ได้ติดตามข่าวของการพระราชพิธีต่างปลาบปลื้มและชื่นชมพระจริยวัตรอันงดงามขององค์มกุฎราชกุมารหนุ่มแห่งภูฏานวัย 26 ชันษาโดยทั่วกัน ซึ่งทราบกันต่อมาว่า  พระองค์จะทรงขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และจะทรงนำพาระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาสู่ราชอาณาจักรแดนสวรรค์ของพระองค์ในระยะเวลาอันใกล้ นอกจากนี้ยังทรงมีพระดำรัสถึงการที่จะทรงนำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้กับประเทศภูฏานอีกด้วย

 

และ ณ โอกาสนี้  ผู้เขียนขอเสนอบทความเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรอันแสนงามแห่งเทือกเขาหิมาลัยนี้    ใน  ภูฏาน: กำเนิดประชาธิปไตย มังกรน้อยแห่งหิมาลายา เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ร่วมรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของราชอาณาจักรนี้ไปพร้อมๆกัน

 

 

ย้อนรอยภูฏาน  ภูมิหลังทางการเมืองการปกครอง

           

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชนพื้นเมืองเดิมคือ ชาวมงปาซึ่งสันนิษฐานว่าอพยพมาจากทิเบต  ดินแดนแห่งนี้มีชื่อในภาษาถิ่นคือ  ดรุกยูล  ซึ่งมีความหมายว่า ดินแดนแห่งมังกร ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10-17 พุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้จนกลายเป็นศาสนาประจำชาติและมีอิทธิพลทางการเมืองการปกครองของภูฏานอย่างสูง  ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อพระเถระซับดรุง นาวัง นัมเกล ได้รวบรวมดินแดนเป็นปึกแผ่นและก่อตั้งประเทศภูฎานขึ้น โดย ได้สถาปนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายขึ้นในปี ค.ศ.1651 คือ ฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์

 จนกระทั่งในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1907 หลังจากเวลากว่า 250 ปีของการปกครองแบบ 2 ระบบ พระคณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ  ผู้นำจากมณฑลต่าง   ตลอดจนตัวแทนประชาชนได้จัดการประชุมกันขึ้นและมีฉันทามติเป็นเอกฉันท์ให้  อูเก็น ดอจี วังชุก ผู้ปกครองเมืองตองซาผู้มากด้วยความสามารถ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี (Druk Kyalpo Dragon King) พระองค์แรกแห่งราชวงศ์วังชุก ปกครองราชอาณาจักรภูฏานภายใต้การระบอบการปกครองแบบสมบูรณาสิทธิราชย์  ทั้งนี้ราชวงศ์วังชุกได้ปกครองราชอาณาจักรภูฎานต่อมาอีกหลายรัชกาล ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่สองคือ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี วังชุก (ค.ศ.1926-1952)  พระองค์ที่สามคือ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ดอจี วังชุก (ค.ศ.1952-1972) พระองค์ที่สี่ คือ สมเด็จพระราชาธิบดี  จิกมี สิงเย วังชุก (ค.ศ.1972-2006) และองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่ชาวไทยเรารู้จักกันดี

สมเด็จพระราชาธิบดีอูเก็น วังชุก ทรงเป็นพระประมุขที่ทรงมีพระจริยาวัตรเป็นผู้นำที่เคร่งศาสนาและมีพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎรให้ดีขึ้น  และทรงสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ก่อนการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไปนั้น  ราชอาณาจักรภูฏาน (ดรุก ยูล)ก็ดำรงสถานภาพเป็นดินแดนเอกราช ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  โดยสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นทั้งองค์ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล  มีพระบรมวงศานุวงศ์ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆในราชการแผ่นดิน  และมีองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่

 

สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Lodoi Tsokde –The Royal advisory Coucil)   ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1965 เพื่อถวายคำแนะนำ ตามที่สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงขอคำปรึกษาเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยในการบริหารราชการแผ่นดิน  สภาที่ปรึกษาในพระองค์นี้  ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 9 คน โดยสมาชิก 6 จาก 9 คนมาจากการคัดเลือกของสมัชชาแห่งชาติมีวาระคราวละ 3 ปี  และประธานสภาที่ปรึกษาในพระองค์มาจากการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี

 

สภาคณะมนตรี (Lhengye Zhungtsho -The Council of Minister)   ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1968 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ดอจี วังชุก จนกระทั่งในปี 2003 สภาคณะมนตรีเป็นองค์อำนาจฝ่ายบริหาร  ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้ง 10 กระทรวงอันได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และอุสาหกรรม กระทรวงเกษตรกรรม  กระทรวงการสื่อสาร  กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการคลัง  กระทรวงแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ  และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งประธานแห่งสภาคณะมนตรี (Chairman of The Council of Minister) ก็คือผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ซึ่งสมาชิกสภาคณะมนตรีจะมีการประชุมเพื่อลงมติคัดเลือกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีวาระคราวละ  1 ปี ทั้งนี้สมาชิกสภาคณะมนตรี(รัฐมนตรี) ทั้ง 10 คน จะอยู่ในวาระคราวละ 5 ปี

 

สมัชชาแห่งชาติ (Tshogdu - The National Assembly)  ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1952  อันเป็นปีที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ดอจี วังชุก เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  สมัชชาแห่งชาติของราชอาณาจักรภูฏานนี้ คือองค์อำนาจนิติบัญญัติ มีลักษณะเป็นรัฐสภาแบบสภาเดียว (Unicameral  House of Parliament)  สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ(Chimis) มีจำนวนทั้งสิ้น 150 คน โดย 100 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของหัวหน้าครอบครัวในแต่ละครัวเรือน ทุกๆ 3 ปี โดยสมาชิกเหล่านี้ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแต่อย่างใด  นอกจากสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว  ยังรวมถึงสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งอีกด้วย  เป็นตัวแทนจากการแต่งตั้งของ ศาสนจักร  โดยจำนวน 10 คน มาจากการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดีจำนวน 34 คน  และมาจากสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ อีก 6 คน

 

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลกษัตริย์ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชอาณาจักรภูฏานนั้น นับแต่การรวมอาณาจักรเป็นปึกแผ่นและก่อตั้งราชวงศ์ขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในเรื่องของ การป้องกันการรุกรานจากประเทศมหาอำนาจ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับชนในชาติ การรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแบบพออยู่พอกินด้วยเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์  ภายใต้หลักการแห่งชาติ นั่นคือ  ความสุขมวลรวมประชาชาติ

 

ทางด้านการรักษาความมั่นคงในเอกราชของราชอาณาจักรนั้น ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า  ราชอาณาจักรภูฏาน ดำเนินนโยบายแบบพึ่งพิงประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างอินเดีย  เพื่อป้องกันการรุกรานจากจีนที่เริ่มรุกรานทิเบต  โดยในปี ค.ศ.1949 เมื่ออินเดียได้เอกราชจากอังกฤษ  ภูฎานได้ทำสนธิสัญญาดาร์จีลิง  หรือสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏาน ค.ศ.1949  กับอินเดีย ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าว มีสาระสำคัญว่า ภูฏานยินยอมที่จะรับการชี้นำจากอินเดียในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  โดยอินเดียจะต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของภูฏาน  อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินั้น  อินเดียมีบทบาทที่พยายามจะผูกขาดภูฏานทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง  ส่งผลให้ภูฏานต้องพยายามดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประเทศทางเอเชียตะวันออก

 

--- ติดตามคราวหน้า --- 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระราชาธิบดีเสด็จไปในการพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

 

 

 

 

 

                                                  

 

หมายเลขบันทึก: 186498เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ มีข้แอนะนำเพิ่มเติมหรือข้อแก้ไขความบกพร่องอย่างไร เรียนเชิญแสดงความเห็นกันเต็มที่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท