จำเลยโรคจิต ติดคุกไหม?


เป็นบทความที่ตีพิมพ์ในมติชนมานานแล้วครับ แต่บ้านเมืองมีแต่เรื่องเครียดๆ เผื่อบางที่มีใครฟิวส์ขาดก่อเรื่องแบบนี้อีก จะได้ตั้งตัวตู้สู้คดีได้ถูกต้อง

จำเลยโรคจิต ติดคุกไหม?

โดย ธัญศักดิ์ ณ นคร [email protected] ทนายความ

เป็นข่าวครึกโครม สะเทือนขวัญคนไทยยิ่งนัก เมื่อมือมีดเพศหญิง บุกเข้าไปในโรงเรียนมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ แล้วจ้วงแทงทำร้ายเด็กนักเรียนหญิงบาดเจ็บสาหัสถึงสี่คน

เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถสืบสวนจนรู้ตัวคนร้าย พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหารายนี้

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้ายทั้งสี่คน แต่ขอแสดงความชื่นชมในผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีนี้ได้รวดเร็ว และที่ต้องปรบมือให้กำลังใจเป็นพิเศษคือสื่อมวลชนทุกแขนง ที่เสนอข่าวอย่างเกาะติดสถานการณ์ จนทำให้จับกุมผู้ต้องหารายนี้ได้อย่างรวดเร็ว

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2548 รายงานข่าวว่า ผู้ต้องหารายนี้มีอาการทางจิตประสาท หรือมีอาการจิตบกพร่อง ถึงขนาดมีประวัติเคยเข้ารับการบำบัดอาการทางจิตประสาทมาก่อน ประกอบกับผลการสอบสวนเบื้องต้น พบมูลเหตุจูงใจให้กระทำผิดเพียงแค่ความเกลียดชัง "คนเชื้อสายแขกอินเดียและคนเชื้อสายจีน-ที่ร่ำรวย" โดยไม่มีมูลเหตุจูงใจอื่นใด แต่ประสาทหลอนว่า มีบัญชาจากสวรรค์สั่งให้ลงมือกระทำไป ก็ยิ่งทำให้มีความน่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหารายนี้มีจิตบกพร่อง เท็จจริงอย่างไรจะได้พิสูจน์กันต่อไป

ในทางกฎหมาย การดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาที่เป็นคนปกติ แตกต่างกับการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาที่เป็นคนวิกลจริต ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติให้มีการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน แม้กระทั่ง ในส่วนของความรับผิดทางกฎหมายหรือโทษที่ได้รับก็ต่างกันไปด้วย

ซึ่งข้อกฎหมายเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของคนโดยทั่วไปว่า "คนบ้าฆ่าใครไม่ติดคุก"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 บัญญัติว่า

"ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์มาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบตัวให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร

กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดพิจารณาคดีดั่งบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้"

อย่างไรก็ตาม เมื่อการสอบสวนและการพิจารณาคดี ในกรณีที่ผู้ต้องหาที่ขณะกระทำผิดแม้เป็นคนวิกลจริต แต่สามารถดำเนินคดีไปได้โดยไม่คิดขัดข้อกฎหมายเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดีได้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากปรากฏว่าผู้วิกลจริตเป็นผู้กระทำความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติในเรื่องความรับผิดไว้ดังนี้

"ผู้ใดกระทำผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างผู้นั้นรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

กฎหมายไม่ประสงค์จะให้ผู้วิกลจริต ที่กระทำไปโดยไม่รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี หรือผู้ที่กระทำไปโดยมีความบกพร่องทางจิตถึงขนาดที่ขณะกระทำผิดไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะนอกจากการกระทำผิดดังกล่าวมิได้เกิดจากเจตนาอันชั่วร้ายดั่งเจตนาของคนร้ายปกติแล้ว ยังไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะเอาบุคคลดังกล่าวไปลงโทษตามวิธีทางราชทัณฑ์

อ่านถึงตรงนี้ มีหลายท่านกังวลว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยปกติทั่วไป จะสวมรอยเป็นคนไข้อ้างกฎหมายข้อนี้ให้ศาลยกเว้นโทษให้บ้าง คงทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะวิทยาการด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก จิตแพทย์คงไม่ลงความเห็นให้ใครเป็นโรคจิตได้โดยไม่ได้เป็นจริงๆ

แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยใดยังดื้อดึงที่จะขอใช้สิทธิ (ของคนบ้า) ศาลก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรค 2 วรรค 3 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้ครับ

นั่นคือ มีอำนาจให้ส่งตัวไปบำบัดในโรงพยาบาลโรคจิตที่มีห้องควบคุมอย่างแน่นหนามั่นคง และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อมีอาการดีขึ้นจนสามารถต่อสู้คดีได้ ก็ให้โจทก์ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป

ขอให้เลือกเอา ระหว่างเรือนจำราชทัณฑ์ กับเรือนจำ (โรค) เฉพาะทาง

(มติชนรายวัน 15/9/2548 หน้า 7)

หมายเลขบันทึก: 185137เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับพี่

มีคำถามครับ กรณีนี้ ผู้ควบคุมดูแลผู้ป่วย หรือผู้วิกลจริต ( ไม่แน่ใจว่าต้องเป็นผู้ไร้ความสามารถตามที่ศาลสั่งก่อนหรือไม่ ) ต้องรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ครับ

แล้วหากจะฟ้องร้องโรงเรียนฐานประมาทได้หรือไม่ครับ

พร้อมกับเรียกร้องความเสียหายจากกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนได้หรือไม่ครับ

ถามหลายข้อเลย รบกวนหรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

ขอตอบคำถาม..(เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ)

1.ผู้ควบคุมดูแลผู้ป่วย หรือผู้วิกลจริต ต้องใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอที่จะไม่ให้ผู้ป่วยหรือผู้จริตวิกล ไม่ไปก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น หากไม่ใช่ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยให้ผู้ป่วยไปก่อความเสียหาย ผู้ได้รับความเสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ครับ และผู้ดูแล ผู้ควบคุมนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลตามกฎหมาย เพียงแต่มีหน้าที่ตามวิชาชีพ หรือตามศีลธรรมจรรยา ก็สามารถฟ้องได้ครับ

2ฟ้องโรงเรียนหรือนิติบุคคลที่โรงเรียนสังกัดได้ครับ หากโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ที่จะป้องกันเหตุร้าย ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้ แต่ไม่ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ยามสะเพร่า ให้ใครต่อใครเข้าไปในสถาณศึกษาได้ดดยสะดวก ไม่มีการตรวจตรา หรือระวังภัย

และในกรณีนี้ น่าจะฟ้องทั้งผู้ควบคุมผู้ป่วย และโรงเรียน ที่ร่วมกันละเมิด เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครับ

สรุปแล้วบกพร่องทั้ง 2 ฝ่ายครับ คือร่วมกันละเมิด

สวัสดีครับพี่ Thanyasak

ขอบคุณมากครับที่กรุณาตอบคำถามโดยละเอียดเลยครับ

ขอถามอะไรหน่อยนะครับ คือถ้ามีคนบ้านอยู่ในบ้านแล้วทำร้ายข้าวของในบ้านเสียหาย เช่น พังประตู ทุบกระจก หรือ ปาสิ่งของเล็กๆน้อย สามารถแจ้งความจับหรือเราทำไรได้มั้งครับ

คือเคยมีกรณีแล้ว 1 ครั้ง เข้าคุกไป 2 ปี และ เคยเข้าโรงบาทประสาท(โรงบาลสวนปรุงเชียงใหม่) ไปประมาณ 3-5 ครั้ง แล้วทำไมเขาถึงส่งตัวคนไข้รายนี้กลับมาอีก อยากให้ดูแลตลอดไปเลยไม่ได้หรือครับ

หรือไม่มีทางช่วยแล้วเป็นเวรเป็นกรรมของผมเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท