ให้ลูกดี...ด้วยใบดาว


ไม่น่าเชื่อนะควับว่ากระดาษใบเดียวเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้ มันคือ "ใบดาว"

 

                                                ให้ลูกดี...ด้วยใบดาว

 

                                                                                                                น.. กมล แสงทองศรีกมล

                                                                                                                    กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ใบดาว ( Star charts ) 

ใบดาวเป็นตัวอย่างของการให้รางวัลอย่างเป็นระบบ เด็กหลาย ๆคนมีพฤติกรรมดีเกิดขึ้น เช่น ตกลงกับเด็กว่าถ้ามีพฤติกรรมดีที่พ่อ-แม่ต้องการ เช่น กินข้าวเองไม่ต้องป้อนหรือเก็บของเล่นเอง พ่อ-แม่จะให้ดาว อาจให้เด็กระบายสีหรือติดสติ๊กเกอร์ที่แผ่นใบดาว ตามวันทั้ง 7 วัน ตกลงกับเด็กว่าถ้าได้ 2 ดาวใน 1 สัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์พ่อ-แม่จะให้รางวัล เช่น ซื้อของตุ๊กตา หุ่นยนต์ที่อยากได้ พาไปเที่ยวโดยให้เด็กเลือกของรางวัลเอง อย่าลืมที่จะชมทุกครั้งและทุกวันที่ลูกมีพฤติกรรมดี สัปดาห์ต่อไปก็เพิ่มเป็น 3 ดาว หรือ 5 ดาว จนกระทั่งมีพฤติกรรมดีเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าดีไปต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่ก็เปลื่ยนจากการให้รางวัลเป็นคำชมแทน

 

 

อย่าเพิ่งดูถูกใบดาว

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคิดว่าใบดาว ไม่น่าจะได้ผลหรืออาจคิดว่าทุกวันนี้ก็ ใช้วิธีชมเขาแล้ว คงไม่ได้ผล กระดาษแผ่นเดียวจะไปทำอะไรได้ บางคนอาจก็คิดว่าลูกคงยังอายุน้อยไป จะไปเข้าใจหรือ ผมอยากให้ลองทำ ดูก่อน อย่าเพิ่งดูถูกใบดาว เพราะการลองดู ไม่มีผลเสียอะไร บ่อยครั้งที่ผมพบว่ามันได้ผล เกินคาด เพียงแต่ต้องการเวลา การให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับใบดาวมากๆเช่นคุณพ่อคุณแม่ควรแสดงท่าทีตื่นเต้น ดีใจมากที่ลูกได้ดาว ( บางทีอาจต้องทำเหมือนกับแสดงละครให้เกินจริงนิดหนึ่ง) พอคุณพ่อกลับมาถึงบ้านตอนเย็นก็ให้รีบทักถามเรื่องใบดาวก่อนอื่นเช่น " เอ.. วันนี้ลูกได้ดาวรึเปล่า..นะ ไหนขอดูหน่อยซิ " บางบ้านอาจทำเหมือนสัมมนากันในครอบครัวคือพ่อแม่ลูกนั่งโดยมีใบดาววางบนโต๊ะและพูดคุยกันว่าวันนี้เวลานี้ลูกได้ดาวหรือ ไม่ได้ดาวเพราะอะไร เด็กก็จะรู้สึกว่าพฤติกรรมนี้พ่อแม่ให้ความสำคัญและมีความหมายกับเขามากครับ

 

ตัวอย่างการใช้ใบดาวในการปรับพฤติกรรมของเด็กอายุ 4 ปี คนหนึ่ง

พฤติกรรมเป้าหมายคือ

ส่วนที่ 1ถ้ากินข้าวเอง แม่จะให้ดาว

ส่วนที่ 2 ถ้าอาบน้ำ แต่งตัวเอง จะให้ดาว

ลูกได้ดาวตามที่กำหนด ขอให้แม่พาไปเที่ยว

สวนสนุกดรีมเวิล์ด

 

อีกตัวอย่างของการใช้ใบดาวในการปรับพฤติกรรมของเด็กอายุ 7 ปี

พฤติกรรมเป้าหมายคือตื่นนอนตอนเช้า แล้วพับผ้าห่ม เอาใบดาวแปะติดไว้ที่ประตูห้องนอนของลูก คุณพ่อจะมาตรวจดูทุกเช้า ถ้าพับผ้าห่ม พ่อจะให้ดาวแดง ถ้าไม่ยอมพับผ้าห่ม พ่อจะให้ดาวดำ

วันเสาร์อาทิตย์ พ่อจะให้รางวัลเป็นเงิน ดาวแดงละ10 บาท

ลูกได้เอาเงินที่เก็บไว้ไปซื้อปากกา 4 in 1

และตุ๊กตาค้างคาว ระยะหลังได้ดาวแดงหมดทุกวัน

 

เด็กโตก็อาจตอบสนองต่อใบดาว ได

ผมเคยลองแนะนำการใช้ใบดาว กับเด็กโตอายุ10 ปี คนหนึ่งซึ่งคุณยายไม่ สามารถควบคุมได้ ปัญหาคือเด็กเล่นเกมส์บอยและอ่านหนังสือการ์ตูน  มากจน การเรียนตก กินข้าวช้ามาก เพราะกินไป ดูการ์ตูนไป

เล่นเกมส์ไป ไม่น่าเชื่อว่า ใบดาวได้ผล ผมได้ร่วมกับยาย กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายคือ ถ้ากินข้าวเสร็จภายใน30 นาที

และไม่กินไปดูการ์ตูนไป เล่นเกมส์ไป จะให้ดาว โดยยายไปปรับเล็กน้อย คือถ้าทำได้จะให้ดาวสีแดง ไม่ได้จะ ุระบายดาวสีดำลงไป หลานคนนี้ไม่อยากได้ดาวดำมาก จนคุณยายเอาไป ขู่เด็กได้เลยครับ ว่าถ้าไม่อ่านหนังสือตามเวลาที่ตกลงกันไว้ จะให้ดาวดำ พอคุณยายพูดว่า " จะเอาดาวดำไหม " เด็กก็ยอมอ่านหนังสือตามเวลา ทั้งทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่สนใจคำสั่งของยายเลย

 

แพทย์อาจมีส่วนในการที่ทำให้เด็กมี แรงจูงใจ แต่หลักอยู่ที่เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจพฤติกรรมนี้มาก และพื้นฐานมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการคำชม การยกย่องจากผู้อื่นครับ จึงไม่ควรดูถูกวิธีการนี้ แต่ควรลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ใช้วิธีอื่น

 

 

เมื่อใบดาว ไม่ได้ผล

คุณพ่อคุณแม่ควรย้อนกลับมาดูว่าเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร ใบดาวอาจไม่ได้ผลในกรณีต่อไปนี้ครับ

 

1. เป็นเด็กซึ่งมีทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว

คุณพ่อคุณแม่มักมีฐานะดี หรือตามใจ มีคนซื้อของให้ง่ายๆ อยากได้ของเล่น ของกิน ก็ซื้อให้หมด

จึงมักมีของเล่นแพงๆ เต็มบ้านไปหมด เด็กเหล่านี้อาจไม่สนของรองวัล หรือคำชมครับ

2. ของรางวัลหรือสิ่งที่ให้ไม่จูงใจเด็ก ดังนั้นของที่เด็กอยากได้ที่สุด ย่อมจูงใจเด็กได้มากที่สุด บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจต้องยอมให้ไปก่อน มี ข้อยกเว้นอยู่ประการหนึ่งคือไม่ควรให้ สิ่งที่ไปเสริมพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการ เช่นเด็กติดเกมส์แต่ขอรางวัลเป็นเกมส์ใหม่ หรือขอเล่นให้นานขึ้นกว่าเดิม เด็กโตบางคนอาจขอเปลี่ยนดาวเป็นเงินก็ได้ครับ เช่นดาวละ10 บาท 20 บาท ลองทำดูได้ครับไม่เสียหายอะไร

 

 

3. คุณพ่อคุณแม่บางคนไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

เช่นถ้าได้ 2 ดาว ใน 1 สัปดาห์จะให้รางวัล แต่พ่อแม่ลืมให้หรือเพิ่มเกณฑ์ขึ้นไปอีก โดยไม่ให้รางวัลเดิมก่อน หรือเลื่อนเวลาการให้รางวัลออกไปจนนานเกินไป เช่นอีก2 เดือนจะ ให้รางวัลหรือสิทธิ ทำให้เด็กเบื่อหน่ายที่จะรอรางวัล

 

4. พ่อแม่เปลื่ยนพฤติกรรมเป้าหมายขณะทำใบดาว ( ตามใจพ่อแม่เอง ไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ )

หรือทำหลายพฤติกรรมมากจนทั้งแม่และลูกสับสน

 

5. คุณพ่อคุณแม่ไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมดีบนใบดาว ไม่เคยทักถาม ไม่พูดถึงเลย หรือไม่มีเวลามาดูแล

 

ทำอย่างไรเมื่อของรางวัลที่ลูกอยากได้แพงเกินไป

 

เนื่องจากของรางวัลควรเป็นของที่ลูกอยากได้ การบังคับให้เขาซื้อของที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าสมควร แต่เขาไม่อยากได้ ก็จะไม่มี แรงจูงใจสำหรับเขานะครับ แต่ของนั้นก็ไม่ควรแพงเกินไป และ ไม่ไปเสริมพฤติกรรมไม่ดีที่เรากำลังปรับ ถึงแม้ว่าเขาจะอยากได้มากก็ตาม ในกรณีที่ของรางวัลที่ลูกอยากได้มีราคาแพงเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจปฏิบัติดังนี้ครับ

 

- อาจต่อรองของรางวัลที่ถูกกว่า โดยชี้แจงให้เขาเข้าใจ

 

- ดึงเงินเก็บของลูกมาร่วมกันจ่าย เด็กควรมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน เงินเก็บไม่ควรหายเข้าธนาคาร ถ้าลูกอยากได้มากก็เอาเงินเก็บบางส่วนมาสมทบได้ ช่วยทำให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินออมที่นำมาใช้ยามจำเป็นได้

 

 

เห็นหรือยังครับว่ากระดาษใบเดียวก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้ เรามาช่วยกันสร้างเสริมพฤติกรรมดีๆ ใหักับลูกหลานด้วยใบดาวกันเถอะครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184205เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท