ตำนานผีล้านนาตอนไฟยามประตู๋บ้าน


ไฟยามประตู๋บ้านต๋ามไว้หื้อผีต๋ายเข้ามาบ้านเมื่อยามคืน

ความห่วงหาอาลัยย่อมเป็นสิ่งที่ฝังใจในตัวตนทุกๆคนตราบใดที่ยังมีความโลภโกรธ หลง โดยเฉพาะการที่ผู้คนสูญเสียผู้ที่เคารพ คนที่นับถือ  คนที่เรารักและห่วงหา เมื่อเขาเหล่านี้สิ้นชีวิตลงญาติย่อมมีความโศกเศร้าเสียใจ อาลัย ห่วงหา อาวรณ์และเกรงไปว่าวิญญาณผู้ตายจะไปอยู่ที่ใด ตกระกำลำบากแค่ไหน? จะไปตกนรก หรือขึ้นสวรรค์  แม้ว่าจะปลงใจว่าผู้ตายได้ขึ้นสวรรค์ ก็ยังคิดต่อไปอีกว่า จะไปอยู่สวรรค์ชั้นใดอีก...โอย..จิปาถะ ที่จะครุ่นคิด  กระแสใจจะพาไปไหนๆ

หลังจากที่นำศพไปเสียที่ป่าช้าแล้วก็ยังคิดอีกว่าหากผีผู้ตายกลับมาบ้านคงจะกลับเข้าบ้านไม่ถูก เพราะตายไปแล้วอาจลืมประตูบ้านว่าอยู่ที่ใด  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่วิญญาณผู้ตายญาติๆจึงเตรียมทำการก่อกองไฟไว้ที่ข้างประตูบ้าน  โดยการนำเอาหลัว(ฟืน)ในเตาไฟ(ห้องครัว)ของบ้านผู้ตายนั่นแหละมาทำกองไฟ  หากได้หลัวหรือฟืนที่ผู้ตายหามาไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ยิ่งดี เพราะว่านั่นคือขี้ตี๋นขี้มือ(น้ำมือ)ของผู้ตายเจ้าของจะได้จำได้แม่น  อย่างเช่น  ลุงบุญถา  หาฟืนมาไว้ใช้ในเตาไฟ  แต่อยู่ๆ ลุงถาเสียชีวิตลง   ฟืนของลุงถายังคงอยู่ในเตาไฟ ญาติๆก็จะเอาฟืนของลุงถานั่นแหละมาก่อกองไฟยามประตู๋บ้าน

การก่อกองไฟยามประตู๋บ้านจะก่อเมื่อเอาศพไปเสียป่าช้าแล้ว ในค่ำวันนั้นเอง ญาติจะนำหลัวหรือฟืนประมาณสามสี่อันมาทำกองไฟไว้ข้างประตูบ้านที่เอาศพออกไป   เช่นเอาศพออกบ้านแล้วเลี้ยวซ้าย  เมื่อก่อกองไฟก็จะก่อริมเสาประตูบ้านด้านซ้าย ดั่งนี้เป็นต้น เพื่อว่าจะให้วิญญาณผู้ตายกลับเข้าบ้านได้ถูกทิศทาง

รอให้พระอาทิตย์ตกดินแสงลับลายามค่ำดีดักแล้ว ญาติจะก่อไฟให้ลูกโชนเอาไว้อย่างนั้น   เพื่อให้ประตูบ้านมีแสงสว่าง   นอกจากอำนวยความสะดวกให้วิญญาณผู้ตายกลับเข้าบ้านได้แล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติที่อยู่บ้านเรือนใกล้เคียงมาเยี่ยมเยียนในเวลาโศกเศร้าหรือที่เรียกกันว่า "เฮือนเย็น"  เพราะมันเงียบเหงาเยือกเย็นจริงๆ   พี่ๆ น้องๆ ญาติๆเครือเถาเหล่ากอ  ต่างมานั่งจับเข่าเจ่าจุก ระบายทุกข์ในใจ คลายความเศร้าให้ห่างหาย  บางคนเล่าเจี้ย  บางคนเล่นเปี๊ยะ  ดีดซึง สีสะล้อตามแต่ตนจะมีผู้หญิงบางคนอาจทำขนมเล็กๆน้อยๆมานั่งกินกันปรับทุกข์กันไป วางแผนการปรับใช้ชีวิตใหม่  โดยเฉพาะหากผู้ตายเป็นคนที่มีบุญคุณ เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นเสาหลักของครอบครัว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังต้องปรับวิถีชีวิต เปลี่ยนแปลงจิตใจกันบ้างไม่มากก็น้อย  บางครอบครัวอาจเปลี่ยนแปลงอาชีพกันไปเลย  หรือต้องย้ายบ้านเรือนอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย  ห่างแผ่นดินที่ฝังรกเกิด ไปไกลสุดๆ

กล่าวถึงญาติๆที่นั่งพูดจาปราศัยครั้นเมื่อถึงเวลาเข้านอนต่างก็พากันหาที่หลับนอนของตนเอง   ต่อวันรุ่งขึ้นจึงช่วยกันเหมียด(จัดเก็บ)ข้าวของเครื่องใช้ให้เข้าที่เข้าทางตามเดิม  จนถึงเวลาพลบค่ำก็จะต๋าม(จุด/ก่อ)ไฟยามที่ประตู๋บ้านดังเดิมจนครบเวลาเจ็ดวันหรือหมดเวลาเฮือนเย็นคนล้านนาบางท้องถิ่นเรียกกันว่า "ออกกั๋มม์"  การก่อกองไฟยามประตู๋บ้านจึงยุติลง  เหลือเพียงขี้เถ้าละทิ้งไว้อย่างนั้นญาติๆจะไม่จัดเก็บหรือทำความสะอาด   ผู้คนที่ผ่านไปมาก็จะเห็นและทราบว่านั่นคือร่องรอยขี้ซาก(ซาก)กองไฟยามประตู๋บ้านแสดงให้เห็นว่าญาติๆแสดงความกตัญูญูห่วงหาอาลัยผู้ตายอย่างหาที่สุดมิได้

ไฟยามประตู๋บ้านยังมีกระทำอยู่บางท้องถิ่นในปัจจุบัน แต่มักอยู่ในถิ่นชนบทห่างไกลตัวเมือง  หากท่านผ่านประตู๋บ้านใดเกิดเห็นกองเถ้าถ่านริมเสาประตู๋บ้าน  ให้เข้าใจว่านั่นแหละคือร่องรอยแห่งความอาลัยหาวิญญาณผู้ตาย มิใช่เจ้าของบ้านเอาขี้เถ้ามาทิ้งขว้างหน้าบ้านเน้อ...หมู่เฮา..

 

 

 

 



ความเห็น (6)

สวัสดีเจ้าคุณจิ...

เขียนจบพอดีก็มีกาแฟมาให้จิบ...ยินจ้าดนักเน้อ

ขอบคุณหลายๆขอให้มีความสุขตลอดไปครับ..

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

ไหว้สาครับ

" ห่างหายก๋ายสูญ  หมู่มุ้นห่วงหา

   กั๋วสูปิ๊กมา  บ่าถูกถ้อง

   เซาะเก็บหาหลัว  ในครัวในข้อง

   มาก่อไฟฮ้อง   เฮือนเฮา "

                                (ผมมีบึนทึกเป๋นค่าวบ้านเฮาตวยครับสองบึนทึก ขอโปรดชี้แนะตวยเน่อครับ)

                          รพี กวีข้างถนน

สวัสดีครับคุณรพี กวีฮิมหนตาง...

*ขอชมว่ามีความเพียรดี

*ค่าวมีหลายรูปแบบ คือค่าวยาว   ค่าวก้อม

*ตัวอย่างค่าวก้อม"ต๋ายไปแล้ว   ญาติกึ้ดเติงหา

                         ต๋ามไฟยามนา  รอถ้าผีเจ้า.."

*ก๋ารแต่งค่าวจะถือเอาเสียงสูงต่ำ สลับกั๋นไปบ่บังคับวรรณยุกต์เหมือนกะโลง  เช่นค่าวตางบนคำว่า หา   เสียงสูง  สัมผัสกับคำว่านา   เสียงสามัญหรือเสียงต่ำ  เป๋นต้น   หากสนใจ๋ก๋ารแต่งค่าวพอมีหนังสือต๋ำฮาวางขายลองซื้อมาทดลองอ่านผ่อเน้อ..

*ขณะนี้ลุงก๋ำลังแต่งพระลอคำค่าวอยู่  อาจจะเสร็จราวเดือนกันยายนนี้   หากมีกำลีงเงินพอก็จะพิมพ์เป๋นเหล้มออกหื้อสังคมได้อ่าน

*ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

สวัสดีครับป้อหนานพรหมมา

  • ครูสุบ่เกยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยครับ
  • เป็นของโบราณบ่าเก่าแต๊ ๆ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับครูสุ.....

*ลองสังเกตตามหมู่บ้านชนบทบางครั้งอาจเห็นพิธีกรรมอย่างนี้ครับ..

*ยินดีที่พวกเราสนใจเรื่องของล้านนา..

*ด้วยความปรารถนาดีจาก...ลุงหนาน..พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท