เล่าเรื่องดีดี


การเล่าเรื่องดีดี นั้นเป็นอย่างไร ? ที่สำคัญที่สุดคือ “ไม่ลงมือทำ ก็ไม่เรียนรู้”

         หลังวันหยุดสำคัญก็จะถึง วัน ฅน หน้าใหม่ ใจสร้างสรรค์ มมส. บ่ายโมงวันอังคารนี้ ตามที่ท่าน JJ ได้แจ้งไว้ก่อนแล้ว  ช่วงวันหยุดนี้ปิดการเรียนการสอนภาค 3/2550 หรือ ภาคเรียนฤดูร้อนพอดี และจะเริ่มสอบปลายภาคกัน เป็นโอกาสดีที่ ชาว มมส. ใจสร้างสรรค์ จะมาพบกันเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนา มมส. ไปสู่องค์การเรียนรู้และนวตกรรมกันต่อไป

          นั่งคิดถึงเมื่อตนเองเริ่มต้นเข้าสู่แวดวง ฅนใจสร้างสรรค์  นั้นมีคำถามในใจไหนที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้น ก็กลับมาอยู่ ที่จะเริ่มต้นกันอย่างไรดี ? ใช้เครื่องมือหรือวิธีการอะไรดี ?  คำตอบที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังก็ยังเหมือนเดิมคือ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการฝึก การเล่าเรื่องดีดี สู่กันฟัง ซึ่งเป็น เครื่องมืออันแรกใน 3 เครื่องมือที่เคยเล่าไว้ ที่เรียกว่า SPA 

          วันนี้ขอขยายความเครื่องมือแรก ที่เรียกว่า การเล่าเรื่องดีดี นั้นเป็นอย่างไร ? การเล่าเรื่อง หรือ Storytelling นั้นเป็นการเล่าเรื่องที่ตัวเองประทับใจ เรื่องที่ตัวเองภูมิใจ ให้ผู้ร่วมวงเล่าได้รับฟัง  คำว่าวงเล่า ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก เริ่มต้นด้วยการจับคู่ก็ตั้งวงเล่ากันได้แล้ว  หรืออาจจะเริ่มด้วย วง 4 คน เมื่อมีประสบการณ์แล้วค่อยขยายจำนวนเป็น 6 คน  8 คนหรือ 10 คนต่อไปได้ เมื่อเริ่มต้นไม่ควรจะตั้งวงใหญ่เลย เพราะอาจทำให้เกิดอาการวงแตกได้ง่าย ๆ

          ที่บอกว่าตั้งวงเล่าเพื่อ  การเล่าเรื่องดีดี นั้น ดีแรก คือ Dialogue หรือ ดอกอะไร หรือที่บางครั้งรู้จักกันในชื่อของ สุนทรียสนทนา  ส่วน ดีที่สอง คือ Deep listening หรือ ฟังอย่างตั้งใจ หรือ ฟังอย่างมีสติ  สำหรับมือใหม่ที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถหาได้จากการตาม คำสำคัญ หรือ tag ในบันทึกของ  Gotoknow หรือ ค้นหาจากใน Google ได้  และขอแนะนำหนังสือดีดีเล่มหนึ่งของท่าน ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ หรือ ท่านอาจารย์ไร้กรอบ ตามรูปข้างบน  แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็ตามที่ท่านอาจารย์เขียนไว้ที่หน้าปกในของหนังสือเล่มนี้  ไม่ลงมือทำ ก็ไม่เรียนรู้ ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 183097เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แหล่มครับ ไม่ลองไม่รู้ อิอิ

สวัสดีค่ะท่านpanda

  • ตามแผนที่ความรู้มาค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ.

นอกจากคำว่า “ไม่ลงมือทำ ก็ไม่เรียนรู้” อาจารย์ยังเคยให้อีกหลาย ๆ คำเลยละครับ

เช่น "ให้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ "

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท