สวรส.เตรียมพร้อมขับเคลื่อนR2Rประเทศไทย


คิดว่า R2R เป็นเรื่องเดียวกับ HRD (Human Resource Development) เพราะคืองานพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมพร้อมจัดงาน การจัดการความรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ

เช้าวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2551 เวลา 9.00 น. สวรส.ได้จัดประชุมหารือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโครงการสนับสนุนการจัดการความรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้กล่าวถึง การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะได้ดำเนินการในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2551 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างความรู้จากงานประจำ (R2R)ในประเทศไทย นอกจากจะเป็นการแลกปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่นำไปสู่การทำงานวิจัยแล้ว ยังมีการจัดประกวดผลงาน ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารางวัล R2R ดีเด่นในแต่ละระดับ กล่าวคือ ระดับปฐมภูมิ มีนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นประธาน ระดับทุติยภูมิ มีนพ.เฉลิมชัย ชูเมือง เป็นประธาน และ ระดับตติยภูมิ มีนพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล เป็นประธาน โดย คณะกรรมการจะทำหน้าที่ในการพิจารณา กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผลงาน รวมถึงกำหนดจำนวนรางวัลในแต่ละประเภท นับถึงขณะนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ทั้งสิ้น 342 เรื่อง แบ่งเป็นระดับปฐมภูมิ 70 เรื่อง ระดับทุติยภูมิ 147 เรื่อง และ ระดับตติยภูมิ 125 เรื่อง

ทั้งนี้ ในภาพรวม ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ย้ำจะมีเวทีเรียนรู้ที่แบ่งเป็นห้องย่อย 4 ห้อง โดยใน 3 ห้องแรกเป็นการนำเสนอผลงานใน 3 ระดับที่มีการพิจารณาตัดสินรางวัลสำหรับห้องย่อยที่ 4 เป็นการนำเสนอภาพรวม เวทีสร้างกระแสวัฒนธรรม R2R : ผลักดัน R2R ในระดับนโยบายเรื่องเล่าจากผู้บริหาร

นอกจากนี้ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวถึงการให้รางวัล R2R ดีเด่น ใน 2 ระดับที่ได้ผ่านการหารือของคณะกรรมการ ต่างเห็นว่า ควรเป็นรางวัลที่สามารถยกย่อง เชิดชูเกียรติได้ เช่น การให้มีชื่อ มีผลงานปรากฏอยู่ใน proceeding หรือในหนังสือที่แจกในงาน ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อผู้อื่น และสังคมโดยรวม ที่ได้รับทราบประสบการณ์  จากนั้นได้กล่าวถึงการแบ่งห้องย่อย  4 ห้อง จะเป็นการนำเสนอผลงานจากการปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ ได้แก่  ห้องระดับปฐมภูมิ ห้องระดับทุติยภูมิ ห้องระดับตติยภูมิ และ ห้องเวทีนี้มีพี่เลี้ยง เพื่อนำผลงานที่ได้พิจารณาแล้วว่าสมควรได้รับรางวัล จัดให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผู้นำเสนอผลงานก็จะมีความรู้สึกว่า ได้มีเวทีแสดงผลงานที่ตนได้สร้างความรู้จากงานประจำ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว การจูงใจให้เจ้าหน้าที่หันมาเห็นความสำคัญของการทำงานวิจัยจากงานประจำที่ตนเองทำอยู่ ต้องหลีกเลี่ยงคำว่า วิจัย และเปลี่ยนมาใช้ ผลงานวิชาการ แทน และในการพิจารณาผลงาน ไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์การพิจารณา ขั้นตอน กระบวนการของการวิจัยต้องมีความถูกต้อง ซึ่งทำให้ผู้มีความสนใจเกิดความท้อถอย ต้องเปลี่ยนจากคำว่าวิจัยเป็นการสร้างความรู้จากการปฏิบัติงาน  และนำวิธีการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) เข้ามาใช้ในกระบวนการตัดสินด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ สำหรับการจัดเวที R2R ครั้งนี้ ควรประเมินหลังจากการให้รางวัลเสร็จสิ้น ว่าคนที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ หรือไม่ นั่นคือ กลุ่มผู้ปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ ยังเน้นรูปแบบที่ตัวบุคคล แต่ควรหาวิธีการที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงองค์กร หรือ หน่วยงานของผู้ได้รับรางวัลได้ เช่น การมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง การเป็นวิทยากรในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดผลประโยชน์ตามมาในระยะยาวต่อไป

                ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า ประเทศจะมีการพัฒนา ต้องมี การสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ ให้มีการทำอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยกย่อง  โดยมีรางวัลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเอง ทั้งองค์กร และต่อบ้านเมือง และ รางวัลนี้จะเป็นเครื่องมือในการทำงานต่อไป สิ่งที่จะทำให้ผู้ได้รับรางวัลภาคภูมิใจ อาจทำเป็นโปสเตอร์แสดงนิทรรศการ โดยมี  ผลงาน มีชื่อของผู้ได้รับรางวัลติดอยู่ และมอบให้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อหลังเสร็จสิ้นงาน  กลุ่มเป้าหมายต้องเน้นที่ระดับผู้ปฏิบัติที่พัฒนางานของตัวเอง และการพัฒนางานต้องเกิดความรู้หรือวิธีการ ที่เป็น นวัตกรรม มีความแปลกใหม่ มองจากมุมวิจัยแล้วสามารถเขียนออกมาเป็นผลงานวิจัยได้ มีการตรวจสอบ มีข้อมูล สามารถตรวจสอบด้วยทฤษฎี ออกมาเป็นงานวิจัยได้ แต่ตัวเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนางานประจำ    สวรส.ควรใช้โอกาสในการจัดเวที R2R นี้เป็นเครื่องมือ ของการส่งเสริม R2R ทางด้านสุขภาพของประเทศไทย ไม่ควรเป็นเพียงแค่ ให้รางวัลตามปกติทั่วไป ซึ่ง R2R ไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นการพัฒนา เป้าหมายหลักคือการพัฒนางานและพัฒนาคน R2R ควรได้รับการส่งเสริม แต่ต้องทำให้เป็น ทั้งนี้ การเชื่อมโยงไปถึงระดับผู้บริหารในแต่ละหน่วยงานที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการพิจารณานั้น อาจนำแนวความคิดที่ได้เคยทำไว้ในชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ที่มีการมอบรางวัล 2 รางวัลคือ รางวัลนักสร้างสุขภาพดีเด่น ซึ่งได้มอบรางวัลให้ทั้งผู้เสนอผลงานและหน่วยงาน โดยผู้บริหารหน่วยงานนั้นต้องมารับรางวัลด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีผลทำให้หน่วยงานได้รับการสนับสนุนในเรื่องการทำงานประจำให้เป็นงานวิจัยอย่างเต็มที่

นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประสบการณ์การทำโครงการ R2R ที่ศิริราช เช่นกันว่า การให้รางวัล ถ้าสามารถทำให้ผู้ได้รับรางวัลไปทำงานต่อได้จะดีมาก แต่ที่ในปีแรกที่ศิริราชทำ มีการให้รางวัล 2 ประเภท คือ รางวัลสำหรับผู้ทำโครงการได้ดีและสำหรับหน่วยงาน โดยให้หัวหน้าหน่วยงานมารับรางวัล ซึ่งจะได้รับผลตอบรับเช่นเดียวกับชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย คือ หัวหน้าหน่วยงานจะเกิดความกระตือรือร้นที่อยากจะสานต่อกิจกรรมนี้อย่างเห็นได้ชัด แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่อได้รับรางวัลแล้วควรจะช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วยหรือเปล่า น่าจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ที่มีความสนใจแต่ยังขาดประสบการณ์หรือทักษะ ซึ่งน่าจะสื่อสารได้ดีกว่า

ท้ายสุด ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช แนะว่า การจัดงาน ต้องหาวิธีการหรือกลยุทธ์ เพี่อดึงดูดความสนใจผู้เข้าร่วมประชุมให้เข้าร่วมรับฟังได้ตามกำหนดการ 2 วัน หรือแม้แต่ระดับผู้บริหารควรหาเวทีให้ได้มีการนำเสนอ ซึ่งน่าจะดึงดูดความสนใจได้พอสมควร  อีกทั้ง จะมีเนื้อหาเอกสาร บทคัดย่อ สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลในแต่ละห้อง สรุปเป็นภาพรวมแจกผู้เข้าร่วมประชุม จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และมีรายละเอียดผลงานที่ส่งเข้าประกวด โดยระบุชื่อ หน่วยงาน และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถ ติดต่อสอบถามรายละเอียดโดยตรง

คำสำคัญ (Tags): #r2r
หมายเลขบันทึก: 182942เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท