การสำรวจข้อเท็จจริงของ "คนชายขอบ" ในจังหวัดชายฝั่งอันดามัน


แต่ละวัน-ตั้งแต่เช้าจนดึก นับแต่วันแรกจนถึงวันที่เจ็ดของงานสำรวจข้อเท็จจริง ..นอกจากข้อเท็จจริงที่สะท้อนสภาพปัญหาความเป็นชายขอบในพื้นที่อันดามันแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้งคณะสำรวจข้อเท็จจริง และคณะที่ปรึกษาเห็นพ้องว่ามันคือบทเรียน คือการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

ใครบ้างที่ร่วมคณะสำรวจข้อเท็จจริงของชายฝั่งอันดามัน??

 

ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม-การจัดทำรายงานประเทศภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศตามกติกาว่าด้วยสิทธิทางพลเรือนและการเมือง-ดูจะเป็นเรื่องพ้นไปจากประสบการณ์ของ “คณะสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน”

 

แต่ใช่ว่า “ประสบการณ์-ที่ไม่มี” นี้ จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคของคณะสำรวจฯ ชุดนี้ ด้วยเพราะความรู้ความเข้าใจของพวกเขาต่อสภาพปัญหาของคนและพื้นที่ชายขอบแห่งอันดามัน เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของพวกเขา เป็นชีวิตประจำวันของพวกเขา ..อย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องราว ผู้คนและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฎในรายงาน ถูกสืบค้น-ได้มาด้วยการทำงานอย่างหนักและตั้งใจของทีมงานใน 2 องค์กรหลักที่ทำหน้าที่เป็น “คณะสำรวจข้อเท็จจริงของชายฝั่งอันดามัน” คือ โครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ มูลนิธิกระจกเงา ผ่านการทำงานร่วมกับคณะที่ปรึกษาเพื่อจัดทำร่างรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 ในช่วงเวลา 7 วันในพื้นที่ (11-16 มีนาคม 2551)

 

แรงผลักดันที่กลายมาเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเขาถูกบอกเล่าผ่านการพูดถึงเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ในวันแรกที่ประชุมร่วมกัน

 

โครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์

 

รสิตา ซุยยัง เจ้าหน้าที่โครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ หรือ นิ :  “..อยากให้สังคมเข้าใจคนไทยพลัดถิ่น มากกว่านี้ และอยากให้กระทรวงต่างๆ ได้เข้าใจและพูดถึงคนไทยพลัดถิ่นและมีการแก้ปัญหาให้กับคนไทยพลัดถิ่นโดยเร็ว (คืนสัญชาติให้เราโดยเร็ว) และมีการบันทึกความเป็นมาขงอคนไทยพลัดถิ่นไว้ที่สหประชาชาติ และให้เป็นปัญหาร่วมในระดับสหประชาชาติและให้มีการผลักดัน และมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง”

 

ภควินทร์ แสงคง : “ไทยพลัดถิ่น ในสายตารัฐที่ผ่านมาคือ ผู้ไม่มีตัวตนทางสังคม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะปรากฎรูป-เงา แต่ตัวตนทางประวัติศาสตร์ที่ถูกลบทิ้ง 100 กว่าปี คงต้อใช้เวลาเพื่อเชื่อมต่อตัวตนทางประวัติศาสตร์ กับการเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์” สิ่งที่เขาคาดหวังในการเข้าร่วมทีมคณะสำรวจฯ ก็คือ “..เป็นพื้นที่ทางสังคมทั้งระดับประเทศ และระดับสากล เพื่อตอบตัวตนของคนไทยพลัดถิ่นที่จะนำไปสู่ “พลเมืองไทย” “

 

สีดา ลูกบุญธรรมของแม่คนไทยพลัดถิ่น สีดาต้องการช่วยชาวบ้าน พี่น้องที่ไม่มีสิทธิ แม่จะหายใจหรือจะใช้ชีวิตทั้งที่มีสิทธิ แต่ใช้สิทธิไม่ได้ ..ก็เลยอยากมีส่วนร่วมที่ได้ช่วย อยากเห็นชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเอง อยากเห็นชาวบ้านได้อยู่กินอย่างคนทั่วไป พร้อมที่จะต่อสู้กับพี่น้องไทยพลัดถิ่นต่อไป”

 

กัง หรือ อนันทชัย วงศ์พยัคฆ์ คนไทยมีบัตรประชาชนแล้ว ด้วยความที่เติบโตในครอบครัวที่ “ขาดแคลนทุกด้าน (จึงไม่รู้ว่า) จะเรียนสูงๆ ไปทำไม..”  กังเรียนจบ ม.2 แม้จะเคยรู้สึกตัวว่าตัวเองไร้ค่า แต่ไม่ต้องการเพิ่มปัญหาให้กับสังคมอีก หลังจาก “หายใจทิ้งมาครึ่งชีวิต และใช้ชีวิตไปแบบเปล่าเปลือย” กังเริ่มคิดว่า “อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินแม่บ้าง เมื่อกังมีโอกาสพบ NGO มืออาชีพ จึงเข้าอาสาทำงานในขบวนคนไทยพลัดถิ่น ..ทำงานเต็มเวลา ไม่สนใจเรื่องค่าตอบแทน.. กังบอกว่าเป้าหมายของเขา “ไม่ใช่แค่พี่น้องได้สัญชาติ แต่ คนจนต้องมีพื้นที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรี”

 

วรรธิดา เมืองแก้ว หรือ แตง พูดถึงสิ่งที่เธอคาดหวังใน 7 วันของการทำงานว่า “เรื่องราวทุกข์ร้อนของคนชายขอบจะต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการเปิดพื้นทางสังคมให้คนกลุ่มนี้ และมีแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้”

 

สุทิน กิ่งแก้ว ไทยพลัดถิ่นที่เกิดในชุมชนไทยพลัดถิ่นอ.ปกเปี้ยน จ.มะริด ประเทศพม่า เขาเล่าว่า “ตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องข้ามมาอยู่ฝั่งนี้ เพราะปู่ย่าตาบายเขาก็บอกว่าพื้นที่ที่เราอยู่นั้นเป็นประเทศไทย แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์บังคับให้ผมต้องกลับมาประเทศสยาม เพราะเราเป็นคนไทย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ไม่อยากให้ลูกๆ กลายเป็นพม่า เพราะพม่าบุกมาในชุมชนที่คนไทยอยู่ตรงนั้น” สำหรับเหตุผลที่สุทินต่อสู้เรียกร้องเพื่อขอสัญชาติไทยคืน ..”ก็เราเป็นคนไทย” ..อย่างไรก็ดี จะได้หรือไม่ได้สัญชาติไทย สุทินบอกว่า “ไม่เครียด เพราะหัวใจหรือเลือดในตัวเราก็เป็นไทยอยู่แล้ว” การทำงานร่วมกันครั้งนี้ สุทินหวังว่า “ขอให้สหประชาชาติช่วยมาดูแลพวผม เพราะลำบากมาก ตอนนี้ เพราะ ไม่มีสิทธิ อะไรเลย”

 

 

มูลนิธิกระจกเงา

 

ณัฐพล สิงห์เถื่อน หรือ โจ้ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานระนอง  “...รู้จักคนไร้สัญชาติมานาน ผมกินข้าวบ้านเขา นอนบ้านเขา เขาตักน้ำให้ผมอาบ กางมุ้งให้นอน ตลอดการทำงานผมรับรู้และสัมผัสถึงความทุกข์ระทมของคนกลุ่มนี้ที่ได้รับ ผมเห็นน้ำตาเขาไหลออกจากหน้า หลายครั้งต่อหลายครั้ง” โจ้คาดหวังว่า 7 วันของการทำงานร่วมกันจะเป็น “การสะท้อนข้อเท็จจริงของปัญหาชาวบ้าน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานสู่รายงานของประเทศ เพื่อจะสะท้อนปัญหาสู่ระดับสากล”

 

ชาญวิทย์ สายวัน หรือ ติ๊บ อดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่เติบโตด้วยความคิดว่าเป็น “เด็กไทย” ตั้งแต่เกิดเพราะเกิดในประเทศไทย เมื่อเติบโตจึงรู้ความว่าพ่อแม่หนีภัยความตายจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ติ๊บใช้เวลาถึง 5 ปี จึงได้รับการอนุมัติให้ได้สัญชาติไทย ช่วงเวลานั้น-เขาสูญเสียโอกาสไปมากมาย และนั่นคือบริบทที่สอนให้เขารู้จักความทุกข์ยาก การถูกเอาเปรียบ ปัจจุบัน ติ๋บ “มีโอกาสให้ความช่วยเหลือคนไร้สัญชาติแล้ว โดยเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานระยอง (งานสัญชาติ) สำหรับพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ติ๊บคาดหวังถึง “ชาวบ้านหรือคนชายขอบได้รู้ถึงสิทธิของตนเพิ่มขึ้น คนชายขอบได้มีโอกาสบอกเล่าถึงปัญหาของตนและพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคณะที่ปรึกษาฯ ขณะเดียวกัน คณะที่ปรึกษาฯ ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวบ้าน ได้รับรู้ความรู้สึกของชาวบ้าน ความทุกข์ยาก การถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมและราชการอย่างแท้จริง”

 

จักรกฤษณ์ ชัยสุดา หรือ โอ๋ “ในเรื่องของงานพัฒนา ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่เกิดมานานบนผืนแผ่นดินนี้แล้ว ควรที่จะให้อะไรกับโลกนี้บ้าง ..โอ๋ หวังว่าจะได้เรียนรู้อีกแง่มุมหนึ่งของปัญหาต่างๆ และจะมีแนวทาง แนวร่วมช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมได้ระดับหนึ่ง

 

อรัญ มีพันธ์ เกิดแลเติบโตในอ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ จบภาษาไทย จากม.มหาสารคาม เคยฝึกงานกับโครงการเยาวชนรู้เรียน ของม.กระจกเงา เชียงราย ลงใต้มาฝึกงานในพื้นที่ภาคใต้ต่อ ด้วยคาดหวังให้ตัวเองมีความเข้าใจในปัญหาของคนอื่นมากขึ้น คาดหวังให้สังคมไทยตระหนักรู้ถึงเรื่องราวของเพื่อนคนไทยอื่นๆ รวมถึงเข้าใจและนำพาไปสู่ความเข้าใจของสังคมโลก และเมื่อปัญหาถูกถ่ายทอด เผยแพร่ออกไปแล้วก็คาดหวังว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และคาดหวังว่ารายงานฉบับนี้ฯ จะสามารถสะท้อนความจริงอย่างที่สุด

 

ลักขณา ทองไชย หรือ แอน จบครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เคยฝึกงานกับ กระจกเงา ที่เชียงราย ตอนแรกตั้งใจว่าจะฝึกงานเพียง 1 เดือนแต่ท้ายสุดใช้เวลาไปทั้งหมด 5 เดือน ปัจจุบันได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ การลงใต้มาทำงานกับ กระจกเงาที่สำนักงานระนอง ด้วยคาดหวังว่า “จะได้เห็นปัญหาในด้านอื่นๆ ที่เราไม่เคยรับรู้ ได้เห็นภาพรวมกระบวนการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ..ได้รับพลังกาย พลังใจที่จะยืนหยัดในงานสายนี้ต่อไป”

 

ฤทัยรัตน์ นพฤทธิ์ หรือ สาว เคยฝึกงานโครงการสัญชาติกับ กระจกเงา เมื่อเรียนจบ (มหาวิทยาลัยทักษิณ) จึงตัดสินใจมาทำงานกับ กระจกเงาที่สำนักงานระนอง เพราะช่วงเวลาที่ฝึกงานสอนให้ได้รู้จักตัวเองและเกิดความสนใจเรื่องของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ “..อยากทำงานที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องที่ถูกละเมิดสิทธิ” สาวคาดหวังว่า “จะได้รู้ปัญหาของพี่น้องชายขอบมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นและได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่แตกต่าง เพิ่มเติมขึ้น”

 

ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์ หรือ ดอน ชายหนุ่มจากที่ราบสูง เติบโตบนผืนดินที่ร้อนและแล้ง หรือ “เมืองตำน้ำกิน” ในหมู่บ้านมีเพียงคนแก่และเด็ก เพราะคนหนุ่มสาวเข้าเมืองเพื่อขายแรงงานและขายบริการ ความทรงจำที่แจ่มชัดของเขาคือภาพของชนบทที่กำลังล่มสลาย และความห่างที่น่าตกใจของคนจนและคนรวย.. หลัง พฤษภาคม 2535 ดอนแสวงหาด้านในของชีวิตผ่านเรื่องราวบนดอยสูงและปัญหาต่างๆของคนภูเขา ..จนกระทั่งเกิดแหตุการณ์สึนามิ ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงปัญหาในภาคใต้ ชายฝั่งอันดามัน ปัญหาความไร้สัญชาตินำมาซึ่งความไม่สิ้นสุดอย่างต่อเนื่องของปัญหา โดยเฉพาะพี่น้องไทยพลัดถิ่นและมอแกน ดอนเรียนรู้ว่า “ความไม่มีสถานะทางทะเบียน มันสร้างความยากลำบาก และเปลือยเปล่าหนาวร้อนกว่าใคร” ..ดอนหวังว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้  จะทำให้ปัญหาความไร้สัญชาติจะได้รับการสะท้อนไปยังสังคมโลก เขาไม่เชื่อว่ารัฐจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหา “หวังว่าในระดับนโยบายจะมองเห็นความทุกข์ยากของพี่น้องจริงๆ เหมือนกับที่พวกเราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

 

แต่ละวัน-ตั้งแต่เช้าจนดึก นับแต่วันแรกจนถึงวันที่เจ็ดของงานสำรวจข้อเท็จจริง ..นอกจากข้อเท็จจริงที่สะท้อนสภาพปัญหาความเป็นชายขอบในพื้นที่อันดามันแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้งคณะสำรวจข้อเท็จจริง และคณะที่ปรึกษาเห็นพ้องว่ามันคือบทเรียน คือการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

.................................................................

เขียนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551

โดย นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

คณะอนุกรรมการศึกษาสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของคนชายขอบ

หมายเลขบันทึก: 182870เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

* เป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกท่านค่ะ

* ขอบคุณสำหรับกำลังกาย แรงใจ เพื่อพี่น้องไร้สัญชาติ

* หวังว่าอนาคตอันใกล้ คงมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน

* ขอบคุณค่ะ

ให้กำลังใจคนชายขอบทุกคนค่ะ และเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกท่าน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท