มองต่างมุมจากคนฉายหนัง


เรื่องอัตราการเก็บค่าธรรมเนียม ที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์มองว่า มีราคาแพงมาก และตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเก็บค่าธรรมเนียมเขาสูงแบบนี้ ทางโรงภาพยนตร์จะได้รับการสนับสนุนอะไรจากภาครัฐคืนกลับมาบ้าง

 

วันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลา ๑๗.๓๐ น. ๑๙.๓๐ น.ที่โรงแรมสยามซิตี้ พญาไท อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ และทีมงานวิจัยฯได้เดินทางมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะในทางปฎิบัติของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั้งระบบมัลติเพล็กซ์ และสายหนังต่างจังหวัดในประเทศไทย โดยมีทั้งผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร (เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ / เอส เอฟ)และ สายหนังต่างจังหวัดทางภาคเหนือ-ภาคกลาง (พระนครฟิล์ม) และสายหนังภาคใต้ (โคลีเซี่ยม) มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้แก่กันในครั้งนี้ด้วย อาทิ

คุณสุวัฒน์  ทองร่มโพธิ์ ประธานกรรมการบริหารโรงภาพยนตร์กลุ่มเอสเอฟ

คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด

คุณธนกร ปุลิเวคินทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจฟิล์มภาพยนตร์ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

คุณธนพล ธนารุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พระนครฟิล์ม จำกัด

คุณชัยยงค์ มั่นฤทัย บริษัท โคลีเซี่ยมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด

ในคราวนี้ ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์เริ่มต้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยการเสนอปัญหาหลักๆ 3 ข้อใหญ่ที่อยากท้วงติงถึงผู้ออกกฎหมาย คือ

๑. การยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ ซึ่งปัญหาอยู่ตรงที่

๑.๑ การกำหนดให้ผู้ประกอบการฯต้องยื่นเอกสารอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ (ในเรื่องอาคารสถานที่)ให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้อนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย (แต่เดิมผู้เซ็นอนุมัติคือ กรมโยธาธิการ) ผู้ประกอบการฯ มองว่า จะเกิดปัญหาเรื่องความล่าช้าของการตรวจและกระบวนการพิจารณา ในกรณีที่เปิดโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ไปตรวจอาคารสถานที่เอง เพียงแต่รอเซ็นอนุญาตเมื่อเอกสารครบ

๑.๒ การยื่นจัดส่งรายการฉายภาพยนตร์ล่วงหน้าแก่นายทะเบียน ไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน (อยู่ในแบบฟอร์มใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ อาศัยความตามมาตรา ๓๗) ซึ่งผู้ประกอบการฯเห็นว่า ในทางปฎิบัติจริงๆ เป็นไปได้ยาก ในเรื่องของการกำหนดวันฉายภาพยนตร์ที่จะต้องแจ้งล่วงหน้าถึง ๒ อาทิตย์ เพราะในปัจจุบันโรงภาพยนตร์ไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการเวลาลงฉาย โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ต่างประเทศ มีเรื่องของการปิดเป็นความลับเพื่อเปิดตัวในช่วงที่เขาต้องการ เช่น หนังรับช่วงปิดเทอม หนังฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศ ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์ไทย ที่มักจะมีการเลื่อนวันเวลาลงโรงฉายอยู่เนืองๆ เพราะตัดต่อไม่ทันบ้าง หรือทำกระบวนการในขั้นตอนแล็บยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ก็อาจจะเลื่อนวันฉายได้ ข้อกำหนดตรงนี้จึงเป็นไปได้ยากในทางปฎิบัติ

๑.๓ มีความซ้ำซ้อนในการ ขออนุญาตฉาย เนื่องจากหนังทุกเรื่องต้องผ่านการตรวจเพื่อจัดระดับความเหมาะสม (จัดเรต) แล้วยังต้องมาขออนุญาตฉายอีก จึงเห็นว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้การทำงานตามความเป็นจริงไม่ทัน

๒. เรื่องอัตราการเก็บค่าธรรมเนียม ที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์มองว่า มีราคาแพงมาก และตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเก็บค่าธรรมเนียมเขาสูงแบบนี้ ทางโรงภาพยนตร์จะได้รับการสนับสนุนอะไรจากภาครัฐคืนกลับมาบ้าง

๓. เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแลเฉพาะเรื่องของเนื้อหาภาพยนตร์ ส่วนงานด้านอื่นๆ มีหน่วยงานอื่นที่ดูแลอยู่แล้ว จึงไม่เห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมน่าจะดึงเรื่องอื่นๆ เข้ามาดูแลเพิ่ม (เนื่องจากผู้ประกอบการฯเกรงว่าคนทำงานจะไม่พอ และเกิดความล่าช้าได้หากไม่ชำนาญ)

นอกจากปัญหาหนักๆ ๒-๓ ข้อที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ได้ขอท้วงติงมา ทีมงานฯก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับโรงหนังเพิ่มเติมในเรื่องของการดูแลเด็กและเยาวชนที่จะมาดูหนังในโรงภาพยนตร์ รวมถึงพูดคุยกันในเรื่องมาตรการต่างๆ ที่เป็นไปได้ในทางปฎิบัติที่โรงภาพยนตร์จะกระทำได้ เช่น การที่โรงภาพยนตร์ต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการ ห้าม ไม่ให้เด็กเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ที่ถูกจัดเป็นเรตเฉพาะผู้ที่อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป อาจจะใช้วิธีการขอตรวจบัตรประชาชนหรืออื่นๆ รวมทั้งการที่ทางโรงภาพยนตร์จะเน้นติดป้ายประกาศให้ผู้ชมรับทราบอย่างชัดเจนว่า ภาพยนตร์เรื่องที่เขากำลังจะเข้าไปดูกันนั้น ถูกจัดระดับความเหมาะสมให้กับช่วงอายุเท่าใด และคุยกันถึงว่า โรงภาพยนตร์จะสามารถทำสปอตเพื่อบอกเรตของหนังเรื่องที่กำลังจะฉายภายในโรงภาพยนตร์ โดยอาจขึ้นก่อนการฉาย เหมือนการขึ้นเตือนให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางโรงหนังเต็มใจให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง

และยังมีวิธีการอื่นๆ ที่โรงภาพยนตร์จะช่วยกระทำได้ เช่น การเลือกหมวดหมู่ของตัวอย่างภาพยนตร์ให้เข้ากับประเภทภาพยนตร์ที่กำลังจะฉาย เนื่องจากว่า หากไม่มีการให้ความสนใจในตัวอย่างตรงนี้แล้ว หนังที่กำลังจะดูอาจจะถูกจัดเป็นเรตทั่วไป(หรือเรต G) แต่เมื่อฉายหนังตัวอย่างกลับมีหนังตัวอย่างเรต ๑๘ ปีขึ้นไปมาปะปนด้วย ในจุดนี้โรงภาพยนตร์จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 182860เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2008 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ตามมาอ่านงานวิจัยของเพื่อนครับ
  • เอาอีก จะตามมาอ่านนะ
  • วันนี้ไม่ได้มาคนแรกแล้วนะ  ออตมาปาดหน้าซะแล้ว
  • ลงชื่อก่อนเดี๋ยวอ่านแบบละเอียดๆ แล้วมาคุยด้วยใหม่นะคะ

หวัดดีเพื่อน ดีใจที่มาเยี่ยม

ขอบใจหลาย คิดฮอดน้อ

ขอบคุณค่ะ รู้สึกได้ถึงการถูกปาด 555

อุอุ ตามมาเย้ยครับพี่แจ๋ว ขอแสดงความคิดเห็นแบบไร้สาระ

อะไรกันเนี่ย แนท ออต มาเยาะเย้ยพี่

ใครๆ ก็แกล้งเรา เดี๋ยวเหอะ จับตีก้นลายเลยสองคนเนี๊ย 555

ความรู้สึกเรื่องหนังตัวอย่างนี่ไม่ต่างอะไรกับการจัดเรทรายการทีวีแต่มีโฆษณานอกเรทมาให้เห็นอยู่ประจำ เงินน่ะค่ะ อย่างอื่นไม่ค่อยเกี่ยวหรอก จรรยาบรรณกับความเหมาะสมไว้ทีหลัง พูดเพราะๆ หน่อยก็บอกว่าจะพยายามระมัดระวัง จะเป็นไปได้ยังไงก็เป็นคนรับตังค์เองกับมือนี่นา ถ้าระวังนี่ต้องใช้กับเรื่องไม่คาดคิดที่จะเกิดได้ แต่อันนี้มันรู้อยู่แก่ใจ ไม่ใช่ไม่รู้ พอมีคนถามก็ต้องพูดแบบนี้สิ เป็นธรรมดา ในวงการก็เห็นและได้ยินกันจนเบื่อ - - " เดี๋ยวเวลามีปัญหา ออกมาขอโทษก็จบ เป็นธรรมเนียม ต้องใช้กฎหมายควบคุมอย่างเดียว การรอให้มีจริยธรรมบังเกิดขึ้นเองในใจไม่มีทางสำเร็จ แต่กฎหมายก็อาจจะผ่านยาก เพราะผลประโยชน์ตรงนี้มันเยอะค่ะ บ่นๆๆ ในฐานะคนทำงานทางด้านนี้แต่ไม่ชอบใจกับวิธีการแบบนี้

สวัสดีค่ะคุณ Little Jazz

ต้องขอโทษด้วยค่ะที่ตอบช้าไปหน่อย พอดีช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้ามาน่ะค่ะ

(ฝนตกบ่อยเลยกลับบ้านได้ช้า)

ความคิดเห็นของคุณ Little Jazz ก็เป็นมุมหนึ่งที่ต่างก็รู้กันอยู่แก่ใจค่ะ

เพียงแต่บางแง่มุม เราเองก็ไม่เคยรับรู้หรือสัมผัสปัญหาจริงๆ ของคนทำงานเขา

บางครั้งการใช้กฎหมายควบคุมบางอย่างมันก็เลยดูไม่ค่อยได้ผล เพราะการใช้กฎหมายก็เหมือนใช้ยารักษาโรคค่ะ ถ้าให้ยาถูก "โรค" ก็หาย แต่บางครั้ง "การแพทย์แผนไทย" แบบ "ธรรมชาติ" (ซึ่งในที่นี้หมายถึง ปลูกจิตสำนึกและถ่ายทอดจริยธรรมอย่างที่มันควรจะเป็น) ก็อาจจะได้ผลบ้าง แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดการใช้ "ยาแรงๆ" ลงไปได้เช่นกันนะคะ

"ผลประโยชน์" มันก็เหมือนอาหารของเชื้อโรค ถ้าเราขจัดผลประโยชน์ไม่ได้ แต่เรายังมีวิธีลดจำนวนเชื้อโรคเหล่านั้นลงได้นะคะ แม้โดยรวมดูดีขึ้นเพียงนิด แต่ในระยะยาวน่าจะได้ผลดี คืออย่างน้อย ถ้าขจัดไม่ได้ ก็ยังจำกัดการเจริญเติบโตของเชื้อเหล่านั้นได้ก็ยังดีค่ะ:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท