บทสรุปเบื้องต้น : ไม่ใช่แค่ ..แสงริบหรี่ที่ปลายทาง


 

-1-

ไม่ใช่แค่ ..แสงริบหรี่ที่ปลายทาง

 

หลักประกันสุขภาพเพื่อคนไร้รัฐ ไม่ใช่ประเด็นและคำถามที่ใหม่สำหรับสังคมไทย

ดังเป็นที่ทราบกันว่าครั้งหนึ่งคนไร้รัฐเคยสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพนี้ โดย “นโยบาย” ของรัฐไทย แต่ก็ถูกดึงกลับไปด้วย “นโยบาย” ของรัฐไทยเช่นเดียวกัน ประเด็นนี้นำไปสู่ประเด็นที่ท้าทายว่า

...ถูกต้องหรือไม่-ที่หน่วยงานของรัฐไทย คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังตีความ ผู้ทรงสิทธิตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่าหมายถึงเฉพาะ “บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น”

เพราะการตีความลักษณะนี้อาจเป็นการตีความที่ขัดและละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยฉบับ 2540 ที่พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ อนุวัติการตาม

อีกทั้งยังเป็นการตีความไปในเชิงจำกัดสิทธิ ซึ่งขัดต่อความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2540 และฉบับ 2550 นอกจากนี้ยังขัดต่อพันธกรณีที่รัฐไทยผูกพันตามอนุสัญญาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ

 

ความสงสัยนี้อาจต้องเร่งให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งกลไกตามรัฐธรรมนูญนั้นเปิดช่องไว้อยู่แล้วว่าสามารถกระทำได้โดยผ่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2 หน่วยงานคือผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เว้นเสียแต่จะมีการแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนว่าหลักประกันสุขภาพตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นั้นครอบคลุบ “คนทุกคน” โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ

 

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการตีความเพื่อ (กีด) กันมนุษย์ไร้รัฐ หรือไร้เลข 13 หลัก ออกจากการเป็นผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ  ยังมีความกล้าหาญของผู้บริหารสถานพยาบาลที่พยายามที่จะคิดนอกกรอบ-คิดให้พ้นไปจากข้อจำกัด หรือเป็นความสร้างสรรค์ของบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่ลองผิดลองถูก เพื่อหาช่องทางให้คนไร้รัฐมี “โอกาส” ที่จะมีหลักประกันสุขภาพ อันเป็นความพยายามที่ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด ไม่ยอมจำนนต่อข้อกฎหมาย งบประมาณที่ออกแบบมาเพื่อกีดกันมนุษย์คนอื่นๆ ออกจากระบบสาธารณสุข ด้วยเหตุของ “รัฐ” และ “สัญชาติ” 

อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) นี้ก็ถูกประเด็นความชอบด้วยกฎหมายท้าทายอยู่ด้วยเช่นกัน ด้วยคำถามที่ว่า การดำเนินหลักประกันสุขภาพนี้เป็นการขายบัตรเถื่อน ทั้งยังเป็นการ รับรอง บุคคลที่เข้าเมืองผิดโดยผิดกฎหมายหรือไม่

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นระบบบริการที่จำเป็นนั้น โดยหลักการแล้วควรต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม กล่าวคือต้องให้บริการทั้งชุมชนโดยไม่แบ่งแยกหรือละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพของงานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

รัฐไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐไทยควรยอมรับข้อความจริง การมีอยู่จริงของตัวแทนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลเหล่านี้ ว่านี้คืออีกความจริงอีกเรื่องหนึ่งของสังคมไทย ที่ไม่ว่ากฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่จะถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแล้ว ล้วนต่างต้องเริ่มจากการยอมรับความจริง

 

หากเปลี่ยนคำถามเป็นว่า-มนุษย์ทุกคน ควรได้รับหลักประกันในการมีสุขภาพที่ดี แล้วหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐควรเป็นอย่างไรนั้น-อาจเป็นคำถามที่ง่ายกว่า (หรือไม่?)

 

-2-

ข้อเสนอแนะสำหรับก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนให้เกิด

 “หลักประกันสุขภาพสำหรับคนไร้รัฐ”

ทีมวิจัยภายใต้การทำงานร่วมกับที่ปรึกษา เห็นว่า การขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้น จำเป็นต้องเดินไปด้วยองค์ความรู้ที่ถักทอขึ้น โดยความร่วมมือและสนับสนุนของประชาคมวิจัย หลังจากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม (Social Move)

กล่าวได้ว่า การเริ่มต้นของชุดโครงการวิจัยเพื่อสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) คือจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาคมวิจัย ซึ่งประชาคมวิจัย ณ ปัจจุบัน ยังคงต้องการการขยับขยายพื้นที่และเครือข่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมันยังเป็นจุดเริ่มต้นของการถักทอองค์ความรู้ ที่อยู่ในช่วงของการทบทวนองค์ความรู้เดิม และพัฒนาองค์ความรู้ที่ท้ายทาย ความรู้หรือทัศนคติปัจจุบันของสังคมไทย ยังมีคำถามที่สำคัญคือ กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมนั้น มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

 

สิ่งที่ทีมวิจัยสามารถประเมินและตอบได้ เป็นดังต่อไปนี้

ทีมวิจัยเห็นว่าข้อเสนอ (เบื้องต้น) เพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐขึ้นในสังคมไทยนั้น กระบวนการหรืองานที่ต้องดำเนินการต่อไป ได้แก่

·           ในส่วนของประชาคมวิจัย

1)         จำเป็นต้องแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางกฎหมาย, ภาคประชาชน, ภาควิชาการ, ภาคราชการ และภาคการเมือง

2)         จำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เพิ่งได้จากงานวิจัยเบื้องต้นนี้ให้แก่คนในประชาคมวิจัย

 

·           ในส่วนของการถักทอองค์ความรู้

3)         ยังมีคำถามอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการการศึกษา ค้นคว้า (และ/หรือ “เติม”) ในเชิงลึก ต่อไป อาทิ สถานการณ์ของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจาการไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ, ความถูกต้องและความชอบด้วยกฎหมายของระบบประกันสุขภาพทางเลือกที่หลายหน่วยงานได้ดำเนินการอยู่ รวมถึงกองทุนชุมชนที่ดำเนินงานด้านสุขภาพ, ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

4)         ยังมีคำถามอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการการแสวงหาคำตอบใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ เช่น

4.1)         การสร้างกรอบการทำงานด้านกฎหมายในการแก้กฎหมาย นโยบาย รวมถึงการนำหลักกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาปรับใช้

4.2)         หลักประกันสุขภาพทางเลือกสำหรับคนไร้รัฐที่ควรเกิดขึ้น โดยพิจารณาถึง 3 มิติ คือ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกฎหมาย รวมถึงการตอบคำถามต่างๆ อาทิ รูปแบบ, บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่อาจมีส่วนร่วมได้, ราคาที่เหมาะสม เป็นไปได้ มีประสิทธิภาพและยุติธรรมต่อคนไร้รัฐ ความชอบด้วยกฎหมาย

4.3)         ต่อยอดองค์ความรู้ในประเด็นปัญหาและข้อจำกัดของหลักประกันสุขภาพของกลุ่มแรงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียน เพื่อปรับปรุง-พัฒนาหลักประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ให้มีความเหมาะสม ประสิทธิภาพ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

4.4)         ฯลฯ

·           ในส่วนของการขับเคลื่อนทางสังคม

5)            การดำเนินการเพื่อการปรับทัศนคติกับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

5.1)    การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตร กับหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด, โรงพยาบาล สถานีอนามัยทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และบริเวณตะเข็บชายแดน

5.2)    การจัดประชุมกลุ่มย่อยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายเครือข่ายสนับสนุน อาทิ ภาควิชาการ, ภาคประชาชน, องค์กรพัฒนาเอกชน

5.3)    การจัดประชุมร่วมกับฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เช่น นักการเมืองที่สนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ และหน่วยงานรัฐที่กำกับนโยบาย

6)            การดำเนินการเพื่อการปรับทัศนคติของคนในสังคมไทย ผ่านการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่แนวคิด-ผลักดัน-สร้างแนวร่วม, การสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ

7)            การถักทอองค์ความรู้อย่างมีพลวัตร คือปรับปรุงองค์ความรู้เพื่อการปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

-----------------------------------------------------

 

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch), รายงานความคืบหน้า โครงการประสานงานวิชาการเพื่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย : บทที่ 4 ภายใต้ ชุดโครงการวิจัยเพื่อสิทธิในสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย, พฤษภาคม 2551

 

โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนจาก สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฎในเอกสารนี้เป็นของผู้วิจัย

มิใช่ความเห็นของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 182149เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นโครงการที่น่าสนใจมากเลยค่ะ ตอนนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์และสนใจศึกษาเรื่องสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในภาคตะวันตกอยู่เหมือนกัน อยู่ในช่วงทบทวนองค์ความรู้ค่ะ พอได้อ่านบทความนี้ ก็ได้เปิดมุมมองมากขึ้น ถ้ามีโอกาสอาจรบกวนขอร่วมแบ่งปันความรู้ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท