หนังสือนอกเวลา (อ่านแล้วเพลิดเพลิน...)


ใครอ่านหนังสือแล้วปวดหัวบ้าง?

     ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ความไม่ชำนาญในการใช้ IT ทำให้ข้อมูลที่เขียน (จิ้มดีด) มาเป็นชั่วโมงนั้น หายวับไปแล้ว ไม่ปวดหัวค่ะ แต่ปวดใจ!!!

วันนี้ขอเขียนเล่าสู่กันฟังเรื่อง การอ่านหนังสืออ่านนอกเวลา (Graded Reader) จำได้ว่าสมัยเรียนมัธยมปลาย (หลายปีมาแล้วซิ) ครูบังคับให้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษนอกเวลา ที่พอจะจำได้ก็มีเรื่อง Little Women Lorna Doone และอีกหลายเรื่องบานตะไท อ่านแล้วรู้มั้ง เลอะมั้ง ไปตามเรื่อง เพราะยากบ้าง ไม่ชอบบ้าง แถมต้องสอบอีก เด็กเมืองนอก (บ้านอยู่ในเขตอำเภอเมืองจ้า) ไม่ช่างมีจินตนาการเหมือนเด็กบางกอก ก็พอเอาตัวรอดไปจนจบวิชา  แต่มีคำถามมาตลอดว่า ทำไมเราต้องอ่านเรื่องที่เราไม่ชอบด้วย ใช่! มันฝังลึกมาตลอด  ก็เห็นๆ อยู่ว่าเด็กไทยอ่านหนังสือกันน้อย ทำไม ทำไม ผู้ใหญ่ๆ ไม่แก้ระบบสักที คิดว่า เอาเหอะ ถ้ามีโอกาสเปลี่ยนแปลง จะทำ (คิดแบบเด็กๆ ) ไม่ได้เห็นอนาคตข้างหน้าว่าจะมีส่วนเริ่มได้บ้างแล้ว นิ๊ดนิด..

       Graded Readed คือ หนังสืออ่านนอกเวลาที่เขียนโดยมีจุดประสงค์เฉพาะสำหรับผู้เรียนภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถ โดยใช้ไวยากรณ์และคำศัพท์หลักเป็นตัวบ่งชี้ระดับความยากง่าย และมีการจัดแบ่งตามประเภทหนังสือ

       นักการศึกษา เช่น Dr. David R Hill จากมหาวิทยาลัยเอดิเบรอะ สหราชอาณาจักร อาจารย์ Richard Day อาจารย์ Rob Waring (2 ท่านนี้ ผู้เขียนเคยพบและขอความรู้ที่ การประชุมของสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ส่วนท่านแรกก็รบกวนความรู้จากท่านโดยติดต่อทาง E-mail) และอีกหลายท่านได้ทำการทดลอง และวิจัย จนสรุปได้ว่า การอ่านหนังสือนอกเวลานั้น สามารถช่วยพัฒนาภาษาได้อย่างเห็นผลในทุกทักษะ ทั้ง อ่าน เขียน พูด ฟัง และรวมถึงการใช้ไวยากรณ์ด้วย    

       จากการที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้กับนักเรียน โดยใช้กิจกรรมการอ่านนอกเวลาเสริมด้วยทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะเด็กๆ เลือกอ่านหนังสือในระดับภาษาที่เขาอ่านได้ เรียกว่าไม่ต้องตะกายอ่าน ได้อ่านอย่างมีความสุข และสามารถเลือกประเภทหนังสือที่ตัวเองชอบ  ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดาราคนโปรด เรื่องรัก สืบสวน ผจญภัย  ผีหลอกผีหลอน กระทั่ง เรื่องแฟนตาซี หาอ่านได้ เช่น เมื่อปีที่เจ้าฟ้าหญิงไดอาน่าเป็นข่าวใหญ่นั้น เด็กๆ จะเลือกอ่านเรื่องนี้มากที่สุด ต่อมาเรื่องเกอิชา เป็นหนังโรง ผู้เขียนก็ฉวยโอกาส หยิบยกประโยคเด็ด ตรึงใจ ให้นักเรียนฟัง ปรากฏว่า หนังสือเรื่อง 'Memoirs of A Geisha หายเกลี้ยงไปจากห้อง SALC ทันที จนต้องไปหาซื้อเพิ่ม ซึ่งก็ต้องคอยอีกหนึ่งเดือนกว่าหนังสือจะมา ก็ทำมาเรื่อยๆ เหนื่อยบ้างเพราะต้องใช้เวลากับหนังสือ และนักเรียน ทั้งการเลือก การอ่าน ทุนในการซื้อหนังสือ พูดถึงการเลือกหนังสือ เด็กๆ มีส่วนในการเสนอชื่อหนังสือที่จะจัดซื้อใหม่ และพวกเขาก็จะทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ด้วย คือ ยืม-คืน กันเอง และใครอ่านเรื่องไหนดี ก็จะมาขยายให้เพื่อนให้ครูฟัง เป็นการกระตุ้นและจูงใจอย่างดี ครูก็จัดกิจกรรมเสริมประจำ เช่น ให้หาตัวละครโปรด บรรยายลักษณะ ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่เข้มงวดกับไวยากรณ์ เพราะเด็กๆ จะเกิดการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ หรือให้เขียนเรื่องเองโดยใช้ภาพจากปกหนังสือ และบางครั้งให้แต่งตอนจบของเรื่องเองบ้าง เพราะเด็กไม่รู้สึกสบายใจถ้าตัวเอกของเรื่องต้องเสียชีวิต มีเวลา (อันที่จริง จัดเวลาค่ะ) ให้เขามาพูดคุยในเรื่องที่อ่าน เพื่อทราบความก้าวหน้าไปในตัว บางคนที่ไม่กล้าพูด ก็มีเวลาและโอกาสพูด ผิดบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะจะเห็น 'ความคิดสร้างสรรค์' ที่หลบมุมในตัวเด็กๆ

      กิจกรรมล่าสุด ก็ทดลองเปิด CD ที่คู่กับหนังสือให้ฟัง ดีทีเดียวเพราะสำเนียงภาษาอังกฤษที่อ่านใน CD และ background สามารถสะกดเด็กๆ ได้ เช่นเคย หนังสือหายวับจากชั้น สำหรับเด็กโตก็สลับกัน เขาเลือกอ่านเล่มที่สนใจเหมือนกัน แล้วไปบันทึกลง CD หรือไม่ก็เขียนเรื่องที่เป็นที่นิยมที่อยูในระดับยาก โดยใช้ภาษาให้ง่ายเพื่อน้อง จะอ่านได้ หลากหลายกิจกรรมค่ะ เด็กๆ เสนอเองด้วย บางท่านอ่านแล้วอาจจะคิดว่า เอ... ทำได้จริงหรือ???  ขอบอกว่าได้ค่ะ  เพียงแต่ต้องมีข้อตกลงกัน เพราะการอ่านนอกเวลาต้องอาศัย 'วินัย' 'ความสม่ำเสมอ' และ 'เวลา'   จึงจะเห็นผลของการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเด็กๆ ที่เขาไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะกลับมาบอกเสมอว่า การอ่าน Graded Reader ช่วยพวกเขาในการเรียนได้อย่างมาก เพราะมีการสั่งสมความรู้ในทักษะทุกด้าน จะเจอะเจอบทอ่าน บทเขียน บทที่จะต้องพูดอย่างไรก็จะไม่ตื่นเต้น ทุกครั้งผ่านไปได้อย่างสวยงาม และอีกหลายคนรวบรวมเงินซื้อหนังสือมาบริจาคเพื่อน้องๆ รุ่นต่อไปจะมีหนังสืออ่านเพิ่มขึ้น   

      สำหรับท่านผู้ปกครองที่กำลังลุ้นลูกๆ หลานๆ ให้อ่านภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่เห็นผล ก็ขอให้ใจเย็นๆ ถ้าเขาเริ่มจับหนังสืออ่าน ก็น่าจะแอบดีใจได้แล้ว แต่ขอเป็นว่าอ่านแล้วให้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้นะคะ    และผู้เขียนยินดีค่ะ ถ้าสิ่งที่เล่ามานั้นจะสามารถช่วยท่านได้ ติดต่อทาง E-mail ได้ค่ะ

[email protected] หรือที่ [email protected]      

                                               ENJOY READING

ขอบคุณค่ะ ที่แว๊บมาดู ถ้าท่านใดสนใจ หรือกำลังทำเรื่องนี้อยู่ กรุณาส่งเสียงด้วยค่ะ            หรือจะ E-mail ก็จะยินดียิ่ง [email protected]

 หายไปนาน นาน นาน นานมาก เพราะมีสิ่งที่ต้องทำเยอะแยะ ทั้งงานประจำ งานจร และงานเร่ง

      วันนี้จะมีใครมาแวะอ่านบ้างเอ่ย ถ้ามีก็ขอได้โปรด หย่อน หยอด ความคิดเห็นด้วยนะคะ   และขอเสนอให้ผู้สนใจทุกท่านได้หาหนังสือ "สายสังวาลย์" ของโรงเรียนสตรีวิทยามาอ่าน ไม่มีขายค่ะ สำหรับการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียนโดยเฉพาะ บางคนอาจจะบอกว่า ถ้างั้นก็หาอ่านยากละซิ ก็พอได้ค่ะ ถ้าสนใจก็ส่งเสียงมา ดิฉันจะไปดูแลให้ 

การใช้การอ่านเป็นตัวเร่งให้เด็กๆ เขากระตือรือร้นอ่าน และกลายเป็นนิสัยรักการอ่านได้จริงค่ะ

หมายเลขบันทึก: 181599เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านแล้ว ช่วยขยายต่อน่ะ..

ตอนนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อยู่ให้ข้อมูลมากกว่านี้ได้ไหมค่ะ

อาจารย์แวะไปดูที่โรงเรียนสตรีวิทยาดีกว่ามั้ย จะได้ตอบคำถามได้

081-6982696

สวัสดีค่ะ คุณสุพัตรา

ยินดีมากค่ะที่อ่านบทความของคุณ เพราะว่าดิฉันกำลังจะแก้ปัญหาการอ่านของนักเรียน ม.4-5 เกี่ยวกับการอ่านอยู่ เลยบังคับให้เขาอ่าน Tom Sawyer และ David Copperfield ค่ะ แต่รู้สึกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ช่วยแนะนำหน่วยนะคะ

ขอบคูณค่ะ

ปริศนา

สวัสดีอาจารย์ปริศนาค่ะ

ต้องขออภัยที่ไม่ได้ตอบให้อาจารย์ทราบแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมีงานจรเข้ามา จึงไม่มีเวลาเปิดมาดู

ปัญหาที่ เด็กไม่อ่านแล้วบังคับให้อ่าน คิด คิด ดูแล้ว นี่ก็เป็นปัญหาไงค่ะ จึงต้องหาวิธีการใหม่

คือ ต้องไม่บังคับ อาจารย์ย้อนกลับไปอ่านที่พี่เขียนใหม่ จะเข้าใจมากขึ้น

ไม่บังคับ เลือกอ่านเอง มีกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้อ่าน

แล้วอย่างไร เขียนมาเล่านะคะ

สุพัตรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท