บทเรียนจาก สึนามิ ถึง นาร์กิส....แค่เงินกับสิ่งของ ไม่พอ


คำถามง่ายๆ ว่า มีใคร เดือนร้อนเรื่องอะไร ต้องการอะไร เพื่อให้อยู่รอดในระยะสั้น และมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติ ในระยะยาว....ในขณะนั้น ไม่มีองค์กรไหนตอบได้ แม้หลังเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นเป็นแรมเดือนก็ตาม

ได้รับทราบข่าวเรื่องพิบัติภัยจากพายุนาร์กิส ในประเทศพม่าแล้วนึกถึงกรณีสึนามิในประเทศเราเมื่อหลายปีก่อนครับ

ผมมีโอกาสได้ลงไปทำงานเป็นอาสาสมัครในหน่วยทันตแพทย์ TTVI (Thai Tsunami Victims Identification) ทั้งที่พังงา และที่ภูเก็ต เป็นเวลาเกือบสองเดือน

แม้ว่างานส่วนใหญ่จะอยู่กับคนตายเสียมาก แต่ก็ได้สัมผัสกับความรู้สึกของคนเป็น คือบรรดาญาติๆ และผู้ที่รอดจากภัยธรรมชาติในครั้งนั้น เลยได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมาก เรื่องการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภัยภิบัติที่มีขนาดของผู้เดือดร้อนเป็นหลักพัน หลักหมื่น...นั้นก็คือ การบริหารจัดการและการสื่อสารที่ดี  มีคุณค่าและความหมายพอๆ กันกับเงินกับข้าวของที่บริจาคครับ

ความทรงจำในฐานะคนที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ ณ ขณะนั้น เรามีเสื้อผ้าที่บริจาคเหลือใช้ กองเป็นภูเขาเลากา, เรามีข้าวกล่องที่บูดเน่า เหลือทิ้ง, เรามียอดเงินบริจาคในบัญชีที่ไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้

ความช่วยเหลือทยอยมาจากทุกสารทิศ จากภาครัฐ ภาคเอกชน จากธนาคาร จากการบริจาคผ่านโทรทัศน์ จากมูลนิธิต่างๆ  จากองค์กรต่างประเทศ ซึ่งฟังดูเหมือนดีนะครับ แต่มันแฝงนัยยะของความซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ โกลาหล ปราศจากการจัดการ, มองในแง่ร้ายหน่อยก็อาจกล่าวได้ว่า บางครั้งรัฐ ใช้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเอาหน้า หรือการสักแต่ว่าช่วยแบบส่งๆ มากกว่าที่จะมองและจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง

ผมกำลังบอกว่าสิ่งที่เราขาดกันมากๆ ก็คือ การสื่อสาร และการบริหารจัดการ

จริงอยู่ ในช่วงแรกๆ นั้น ต้องเอาให้รอดกันเสียกัน ต้องประกาศรับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่กันเสียก่อน, แต่เมื่อตั้งตัวได้แล้ว ผมว่าในการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่มหากาฬแบบนี้ต้องมีองค์กรที่เป็นเจ้าภาพในด้านการสื่อสาร และการบริหารจัดการ...ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

เราไม่รู้เลยว่า ทิศทางการทำงานอาสาสมัคร (กรณีผมคือ เป็นทีมที่ตรวจฟันศพ เทียบกับประวัติก่อนตาย เพื่อแยกให้ได้ว่าผู้ตายเป็นใคร) จะเป็นไปในทิศทางไหน เพื่ออะไร กินเวลาเท่าใด มีทรัพยากรอะไรให้เราใช้บ้าง ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน เราไม่รู้ขอบเขตและอำนาจที่เราสามารถทำได้

คำถามง่ายๆ ว่า มีใคร เดือนร้อนเรื่องอะไร ต้องการอะไร เพื่อให้อยู่รอดในระยะสั้น และมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติ ในระยะยาว....ในขณะนั้น ไม่มีองค์กรไหนตอบได้ แม้หลังเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นเป็นแรมเดือนก็ตาม

หากรัฐทหารพม่า ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะสามารถเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ได้จากการบริจาคมานั้น ก็ขออนุโมทนาด้วยครับ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขนาดของปัญหา แค่เทียบจำนวนคนตาย กับเมื่อคราวประเทศเราเกิดเหตุการณ์สึนามิ ปัญหาเขาดูจะมีปริมาณใหญ่กว่าเราเป็นสิบเท่าครับ นอกจากนี้รัฐจะทุ่มเทให้กับปัญหานี้ขนาดไหน...เห็นห่วงแต่เรื่องการลงประชามติ

สรุปว่า เงิน กับของ ไม่พอจะแก้ปัญหาครับ ต้องมีผู้จัดการที่มีอำนาจด้วย งานนี้ผมว่าต้องเยียวยากันอีกหลายปีครับ

หมายเลขบันทึก: 181462เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นด้วยกับคุณหมอครับ ที่บอกว่า ในการช่วยเหลือบุคคลในภาวะภัยภิบัติ สิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ การสื่อสาร และ ผู้นำที่มีอำนาจ ที่สามารถสั่งการและประสานงานได้ทันท่วงที่

ผมเคยเขียนเรืองของ Disaster Mental Health ทีว่าด้วยการดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ไว้ในบล๊อคของ "คนไกล" แต่น่าเสียดาย มันหายไปแล้วครับ

อีกเรืองที่น่าคิด ก็คือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จึงมีการคาดการณ์กันว่า ในปี สองปีนี้ เืมืองไทย น่าจะประสบกับภัยภิบัติ ทั้งพายุ หรือภัยทางทะเล อันนี้ ทีมสุขภาพ น่าจะมีการเตรียมการโดยการ อบรมบุคลากรที่จะให้การช่วยเหลือบุคคลในภาวะภัยภิบัติ เพราะถ้าถึงเวลานั้น พวกเราก็จะทำงานด้วยความราบรื่น และมีทักษะยุทธ์มากขึ้น เป็นไปได้ น่าจะเริ่มมีการวางแผนพัฒนาบุคลากรในเรืองนี้กันได้แล้วครับ ถึงตอนนั้นจะได้ไม่สายเกินไป เพราะการพัฒนาคนต้องใช้เวลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท