นโยบายและมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของไทย


การต่อต้านการก่อการร้ายของไทย

นโยบายและมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของไทย

ประเทศไทยเห็นว่าการก่อการร้ายระหว่างประเทศเป็นปฏิบัติการที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัย และความสงบสุขของประชาคมระหว่างประเทศ กับทั้งเห็นว่าหากกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศเข้ามาปฏิบัติการภายในประเทศไทย ก็ย่อมจะส่งผลเสียกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศ นโยบายของชาติ ทั้งด้านการเมืองและการป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา รวมทั้งชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติ นอกจากนี้ การก่อการร้ายระหว่างประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มก่อการร้ายก็ยังคงเคลื่อนไหวตลอดมาโดยมีศักยภาพที่จะปฏิบัติการได้ทุกขณะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เงื่อนไขและโอกาส ตลอดจนความ บกพร่องของระบบการรักษาความปลอดภัยในแต่ละสถานที่จะเอื้ออำนวยให้ปฏิบัติการ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยจึงถือเป็นพันธกรณีที่จะต้องร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายระหว่างประเทศ จึงได้ร่วมลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาว่าด้วยความผิดและการกระทำอื่น ๆ บางประการที่กระทำบนอากาศยาน (Convention on Offences and Certain Other Acts Committed on Board Aircrafts) ณ กรุงโตเกียว เมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๖ อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการยึดท่าอากาศยานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (Convention for Suppression of Unlawful Seizure of Aircraft) ณ กรุงเฮก เมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๓ และอนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน (Convention for Suppression of Unlawful Acts against the Safety of Civil Aviation) ณ นครมอนทรีออล เมื่อ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๔

ตามนโยบายปี ๒๕๔๐ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล (นอก.) ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย กรรมการ ๑๘ ตำแหน่ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการสภาความมั่นคง เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนกรรมการอื่นๆ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การคลัง การต่างประเทศ คมนาคม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้ากรมยุทธการทหาร

นอกจากนั้น ยังให้มีองค์กรประสานการปฏิบัติ เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการ ก่อการร้ายสากล (ศตก.) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการทหารสูงสุด ในนามศูนย์อำนวยการร่วม ๑๐๖ ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติและสนับสนุนหน่วยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งทางด้านบุคลากรและยุทโธปกรณ์ โดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นความเร่งด่วนระดับต้น และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ตามความเหมาะสม

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลเป็นไปอย่างมีเอกภาพสอดคล้องกับข้อบังคับ กฎหมาย และพันธกรณีระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้กำหนดมาตรการดำเนินการดังนี้

- ไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อการร้ายใด ๆ

- ให้มีการยืดหยุ่นในการเจรจาและใช้มาตรการแก้ไขจากเบาไปหาหนัก โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ชื่อเสียง และเกียรติภูมิ พันธกรณีระหว่างประเทศ และผลกระทบกระเทือนทุกด้าน

- ให้มีการประสานงานกับต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล

- ผู้ก่อการร้ายที่กระทำต่อทรัพย์สินและชีวิตคนไทยในต่างประเทศจะดำเนินการลงโทษโดยศาลไทย

- หากมีปัญหาในการปฏิบัติรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจและสั่งการเป็นกรณี ๆ ไป ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

- ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยึดถือแนวความคิดในการดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหา การก่อการร้ายสากล เป็นหลัก และจัดให้มีการพัฒนาบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบการข่าวที่สามารถเตรียมพร้อม และเผชิญหน้าได้ตลอดเวลา โดยมีศักยภาพและประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

ในทางปฏิบัติ ประเทศยังคงยึดมั่นในนโยบายการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลปี ๒๕๔๐ พร้อมทั้งมีการฝึกทบทวนเพื่อความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำ กับทั้งมีการ ฝึกทดสอบแผนเผชิญเหตุอยู่เป็นระยะ ๆ ในส่วนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวจากเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการฝึกทบทวนตามวงรอบที่กำหนดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศในการฝึก ศึกษา และการเจรจาต่อรองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยปฏิบัติงานเฉพาะในลักษณะหน่วยจู่โจม หรือหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเผชิญหน้ากับการก่อการร้ายสากล เพราะหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีอยู่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

หมายเลขบันทึก: 181266เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
การแคนอนในฟาร์มมาตราการรองร้ับสนับสนุนกองการศึกษาภาษาศาสตร์สากลโดยกองการศึกษาความมั่นคงแห่งสหราชอาณาจักรอาเชียนปล.(การค้างบประมาณแผ่นดินด้วยสถาณการณ์เเพื่อการขับเคลื่อนจีดีพี)ด้วยรักสลักจิต#ปปก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท