การนอนของเด็กปฐมวัยกับน้ำหนักตัว


เด็กที่นอนน้อยในวัยทารกสัมพันธ์กับการมีน้ำหนักตัวที่มากเกินกว่าปกติเมื่อเด็กโตขึ้น

เด็กที่นอนน้อยในวัยทารกสัมพันธ์กับการมีน้ำหนักตัวที่มากเกินกว่าปกติเมื่อเด็กโตขึ้น

 

ในผู้ใหญ่มีการศึกษาที่พบว่า การอดนอนสัมพันธ์กับน้ำหนักที่มากเกินกว่าปกติ อ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และพบรูปแบบนี้เช่นเดียวกันในวัยรุ่น ปัญหาเด็กอ้วนนั้นพบได้บ่อยในบ้านเรา ในประเทศสหรัฐอเมริกายิ่งแล้วใหญ่

เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานในวารสารทางแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการนอนของเด็กกับน้ำหนักของเด็กที่มากเกินกว่าปกติ โดยเป็นการศึกษาระยะยาวไปข้างหน้าในรัฐแมสซาชูเสตส์ ให้แม่ของเด็กจำนวน 915 คน รายงานจำนวนชั่วโมงที่ลูกของตัวเองนอนในแต่ละวันที่ช่วงอายุ  6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี และคำนวณจำนวนเฉลี่ยของชั่วโมงที่เด็กแต่ละคนใช้ในการนอนเทียบกับน้ำหนักตัว เปรียบเทียบดูจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอนน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ชั่วโมงต่อวัน ต่อดัชนีชี้วัดมวลกาย (Body mass index  : BMI ) ต่อผลรวมของความหนาของไขมันชั้นใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกสะบัก กับกล้ามเนื้อต้นแขน (Subscapular and triceps skinfold thickness)  และต่อน้ำหนักที่มากเกินกว่าปกติที่อายุ 3 ปี

ในการศึกษานี้จะถือว่าเด็กมีน้ำหนักที่มากเกินกว่าปกติเมื่อ BMI เมื่อเทียบกับอายุและเพศเกิน เปอร์เซ็นไตล์ที่ 95

จากการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอนเฉลี่ย 12.3 +  1.1 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่ออายุ 3 ปี เด็กจำนวน 83 คนหรือร้อยละ 9 ของเด็กทั้งหมดมีน้ำหนักตัวที่มากเกินกว่าปกติ  เด็กที่นอนน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันจะมีค่าคะแนนดัชนีชี้วัดมวลกายสูงขึ้น ความหนาของไขมันชั้นใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกสะบัก กับกล้ามเนื้อต้นแขนเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติและอ้วนในช่วงปฐมวัย

เด็กของเขานอนเฉลี่ย 12.3 ชั่วโมงต่อวันที่อายุ 6 เดือน 12.8 และ12.0 ชั่วโมงต่อวันที่อายุ 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ เด็กที่นอนน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันมีความชุกที่จะมีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติสูงเป็น 2 เท่า เด็กที่นอนน้อยส่วนใหญ่จะมีผู้เลี้ยงดูคนเดียว พ่อแม่หย่าร้าง การศึกษาของแม่น้อย และมีรายได้ของครอบครัวน้อย การที่เด็กนอนน้อยสัมพันธ์กับการดูโทรทัศน์หลายชั่วโมง เด็กที่นอนน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันและดูโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะมีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติและผลจากสองปัจจัยนี้จะเสริมซึ่งกันและกัน

ผู้ทำการศึกษาสรุปว่า ถ้าจะป้องกันเด็กอ้วนก็ต้องปรับพฤติกรรมให้เด็กนอนให้พอ พ่อแม่จะต้องปรับสุขนิสัยการนอนของลูกเพื่อให้คุณภาพของการนอนดีขึ้นและลูกหลับได้นานขึ้น

 

จาก http://www.medscape.com/viewarticle/572859 วันที่เข้าถึง 30 เมษายน 2551

หมายเลขบันทึก: 180860เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท