คลังเร่งตามหนี้ที่มีคำพิพากษาแล้ว


ระเบียบติดตามหนี้ตามคำพิพากษา

                รมช.ระนองรักษ์ เร่งออกระเบียบติดตามหนี้ตามคำพิพากษา ยอมจ่ายค่าตอบแทน 20 % ให้แก่สำนักงานสืบหาทรัพย์สิน และให้ 10 % แก่ผู้แจ้งเบาะแส พร้อมเร่งทำบัญชีลูกหนี้ตามคำพิพากษารายตัว

           ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงการคลังได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของส่วนราชการ ตลอดจนกำกับดูแลการติดตามเงินและทรัพย์สินของแผ่นดินคืนแก่ทางราชการ พบว่าการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการที่ผ่านมามักไม่ได้ผล ในปัจจุบันมีหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องติดตามประมาณ 2,400 คดี เป็นเงินประมาณ 2,600 ล้านบาท แต่ติดตามได้เพียง 74 ล้านบาท จึงได้มอบนโยบายให้กรมบัญชีกลางเร่งรัดร่างระเบียบ เพื่อจ่ายเป็นค่าสินบน รางวัล หรือค่าใช้จ่ายในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเร็ว  โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะจ่ายค่าตอบแทน 20%ให้แก่สำนักงานทนายความที่สืบหาทรัพย์สิน และให้ 10% แก่บุคคลทั่วไปที่แจ้งเบาะแสให้ทราบ และได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางเตรียมการออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา   

                 นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางจะสนองนโยบายดังกล่าว  โดยจะเสนอโครงการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการขึ้นโดยการจัดทำเป็นระเบียบต่อไป   และได้เตรียมการออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยให้ส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินหรืออาจมอบให้สำนักงานสืบหาทรัพย์สินของเอกชนเป็นผู้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อให้การติดตามเงินและทรัพย์สินของแผ่นดินคืนแก่ทางราชการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก     สำหรับในกรณีที่ส่วนราชการมอบให้สำนักงานสืบหาทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
แทนส่วนราชการนั้น กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้สรรหาสำนักงานสืบหาทรัพย์สิน โดยให้ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีไว้   หากส่วนราชการใดต้องการมอบให้สำนักงานสืบหาทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแทนส่วนราชการ ก็สามารถเลือกสำนักงานสืบหาทรัพย์สินตามที่กรมบัญชีกลางได้จัดทำบัญชีไว้

                 นอกจากนี้  รมช.ระนองรักษ์ ยังได้เร่งรัดให้กรมบัญชีกลางจัดทำบัญชีลูกหนี้ที่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ซึ่งจะต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิด  โดยกรมบัญชีกลางได้สำรวจจำนวนหนี้และลูกหนี้ดังกล่าว พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง จากส่วนราชการ 220 แห่ง และราชการส่วนท้องถิ่นอีกประมาณ 8,000 แห่ง ขณะนี้มีส่วนราชการ และราชการส่วนท้องถิ่น   ส่งข้อมูลบัญชีลูกหนี้ประเภทดังกล่าวมาประมาณ 90% แล้ว   ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต่างประสบกับปัญหาในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิด เพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 180230เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท