คลังใจป้ำจ่าย 20% ให้ผู้แจ้งเบาะแสซุกเงิน


เงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้สืบหา หรือผู้แจ้งเบาะแสทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการ

            กรมบัญชีกลางเสนอร่างข้อบังคับกระทรวงการคลัง จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้สืบหา หรือผู้แจ้งเบาะแสทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการที่ยังยึดไม่ได้กว่า 2,666 ล้านบาท โดยจ่ายให้ถึง  20% จากราคาขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้  เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น 

            นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าจากการสำรวจจำนวนหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการ ณ วันที่ 1 กันยายน 2550 ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการผิดสัญญาก่อสร้างหรือบุคคลภายนอกทำละเมิดต่อส่วนราชการ  ปรากฏว่า ส่วนราชการมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาสูงถึง 2,410 คดี เป็นเงินจำนวน 2,742,270,463.53 บาท สามารถสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้และบังคับคดีได้เพียง 74,351,209.38 บาท คงเหลือจำนวนหนี้   จำนวน 2,666,055,422.28 บาท   ที่ส่วนราชการยังไม่สามารถเรียกเก็บได้   กระทรวงการคลังซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการติดตามเงินและทรัพย์สินของแผ่นดินคืนแก่ทางราชการ   ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็น  และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว   ซึ่งพบว่าการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของส่วนราชการที่ผ่านมามักไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ  ปัญหาเกิดขึ้นในกระบวนการสืบหาทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่  เช่น ส่วนราชการมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ  เจ้าหน้าที่ขาดความเชี่ยวชาญในการสืบหาทรัพย์สิน  ในขณะที่ยังต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ประจำด้วย  ประกอบกับ   การบังคับคดีเป็นภาระต่อเนื่องต้องสืบหาทรัพย์สินตลอดระยะเวลา 10 ปี       นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา  ทำให้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการดำเนินคดีและบังคับคดี   และจากการสำรวจพบว่า ส่วนราชการส่วนใหญ่ต้องการให้เอกชนที่มีความชำนาญในการสืบหาทรัพย์สินเข้ามาดำเนินการแทน  กรมบัญชีกลางจึงได้นำแนวความคิดดังกล่าวมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ และได้จัดทำเป็นร่างข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา พ.ศ. ....  ขึ้น

                           นายมนัส  แจ่มเวหา  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในร่างข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการยึด  อายัด  บังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้    ตามคำพิพากษาแพ่งทั่วไปเท่านั้น  ไม่รวมถึงการยึด อายัด บังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกฎหมายพิเศษเช่น กฎหมาย ป.ป.ช. หรือการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น     และหากส่วนราชการใดเห็นว่าถ้าดำเนินการเองจะไม่ได้ผลหรือเป็นภาระหรือไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ก็สามารถมอบให้สำนักงานสืบหาทรัพย์สินเอกชน
เป็นผู้ดำเนินการสืบหา
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแทนได้   โดยกำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าตอบ
แทนให้ผู้สืบหาทรัพย์สินด้วย   หรือในกรณีที่ส่วนราชการจะทำหน้าที่สืบหาทรัพย์สินเองและหากมีผู้แจ้งเบาะแสทรัพย์สินของลูกหนี้ ก็สามารถจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน   สำหรับอัตราเงินตอบแทนนั้น  ได้เสนอไว้ คือ อัตรา 20% ของราคาที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินฯ กรณีจ่ายให้แก่สำนักงานสืบหาทรัพย์สินฯ   และ อัตรา 10%  ของราคาที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินฯ กรณีจ่ายผู้ให้เบาะแสแก่ทางราชการ  

                           นายมนัส  แจ่มเวหา กล่าวต่อท้ายว่า  เมื่อร่างข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว น่าจะทำให้สำนักงานสืบหาทรัพย์เอกชนสนใจและเข้ามาร่วมปฏิบัติงานกับส่วนราชการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนราชการสามารถยึด อายัด  บังคับคดี ทรัพย์สิน ของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่ราชการได้เป็นจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ารัฐจะต้องแบ่งจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้ที่สืบหาทรัพย์สินฯ หรือแจ้งเบาะแสทรัพย์สินฯ  ไปบ้าง  ซึ่งจะเป็นการดีกว่าที่ไม่สามารถยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ส่วนราชการสืบหาไม่พบ  โดยร่างข้อบังคับดังกล่าว  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างข้อบังคับตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550   ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจร่างของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2   และเมื่อข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับแล้วจะได้แจ้งให้สาธารณชนทราบต่อไป

หมายเลขบันทึก: 180203เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท