สิ่งที่ตามมาของความมีมนุษยธรรม


การจัดการศึกษาต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจาก มศว.ประสานมิตร ให้เข้าร่วมประชุมเพื่อการผนึกกำลังร่วมกันในการจัดการศึกษาตามรูปแบบของโพธิวิชชาลัย ที่ห้องประชุมพันธุกรรมพืชสวนจิตรดา กรุงเทพฯ ผู้ถูกเชิญมากหน้าหลายตาครับ มีทั้งกองทัพต่าง ๆ ผู้อยู่ในแวดวงการศึกษา ปตท. ธกส. และหน่วยงานอื่นอีก รวมผู้เข้าประชุม 30 กว่าคน

         ระหว่างที่รอการประชุม ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ เจ้าหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา เขต 2 สระแก้ว ในประเด็นของการที่เราให้ความช่วยเหลือเด็กกัมพูชา ที่ข้ามพรมแดนเข้ามาเรียนในเขตบ้านเรา ซึ่งมีตัวเลขค่อนข้างสูงถึง 555 คนการแลกเปลี่ยนวันนั้นมีสาระที่เป็นประโยชน์มากมาย เลยถือโอกาสนำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่

          ข้อมูลที่มีคือเด็กพวกนี้เป็นลูกของพ่อค้าชาวกัมพูชา ที่ข้ามมาขายของที่ตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ มาพร้อมผู้ปกครองตอนกลางวันมาเรียน พอเย็นก็ข้ามกลับไป เหตุผลของการมาเรียนที่เมืองไทย ก็เพราะอยากเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร  แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ท่านนั้น ซึ่งมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 15 ปี เขาให้ข้อมูลในมุมมองที่น่าคิด เหตุผลของการต้องการรู้ภาษาไทย ไม่ใช่เหตุผลหลัก คนกัมพูชาส่งลูกหลานมาเรียนเพราะต้องการได้เพื่อนเป็นคนไทยมากกว่า ทำไมถึงอยากได้เพื่อนก็เพราะผลที่จะตามมาในอนาคต เด็กพวกนี้เป็นลูกคนมีเงิน คนกัมพูชาที่มีธุรกิจค้าขายที่โรงเกลือ จัดเป็นคนมีฐานะ ข้อสำคัญเด็กพวกนี้จะมีอายุมากกว่าเด็กไทยที่เรียนร่วมกัน เด็กไทยอายุ 11 -12 เด็กกัมพูชาปาเข้าไป 15 - 17 ปี อาศัยว่าเขาตัวเล็ก จึงมองผสมกลมกลืนกันไป เมื่ออายุมากกว่า อายุสมองก็ย่อมมากกว่าและดีกว่า การเรียนจึงเรียนได้ดีกว่าหรือเก่งกว่าเด็กไทย

         เริ่มเรียนพร้อมกัน เด็กกัมพูชาจะอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดกลายเป็นลูกพี่ของเด็กไทยในชั้นเรียนนั้น ยิ่งไปเจอโรงเรียนที่ครูยังใช้วิธีการเดิม ๆ คือใครอ่านหนังสือคล่องก็ต้องมาอ่านหน้าชั้น ให้เด็กในห้องอ่านตาม ผลที่ตามมากลายเป็นเด็กไทยอ่านภาษาไทยแต่สำเนียงเขมร ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามชายแดน

          จบประถม 6 ออกมา ถ้าเด็กไทยพอมีฐานะก็ได้เรียนต่อ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีเงิน ก็ต้องออกมาทำไร่ ทำนา ตามสภาพ แต่ความเป็นเพื่อนระหว่างเด็กไทยกับเด็กกัมพูชามืได้จางหายไป เขายังติดต่อกันอยู่ แต่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะลูกพี่กับลูกน้อง การค้าขายร่วมกันฝ่ายเรามักจะเสียเปรียบ และถ้าเป็นการค้าขายทั่วไปยังพอทำเนา แต่ถ้าเป็นการค้าขายสิ่งที่ผิดกฏหมาย ยิ่งไปกันใหญ่

         เรื่องทำนองนี้ เกิดมานานแล้ว สิ่งที่พิสูจน์ง่าย ๆ คือตลาดโรงเกลือร้อยละกว่า 70 %เป็นธุรกิจของคนกัมพูชา ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมไม่แก้ไข คำตอบคือได้มีความพยายามแล้ว เช่นไม่รับเด็กกัมพูชาให้มาเรียนภาษาไทย แต่ก็ต้องมาติดขัดในหลักการที่ว่า   การจัดการศึกษาต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมด้วย  เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในระยะสั้น ๆ แต่เชื่อว่าปัญหานี้จะสะสมในระยะเวลาที่ยาวนานและกลายเป็นปัญหาที่เราท่านทั้งหลายไม่สามารถแก้ไขได้ ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 180179เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ ผอ.สมนึก

แวะเข้ามาอ่าน บันทึกของ ผอ.ค่ะ เป็นบันทึกที่ให้ความรู้อีก 1 เรื่องค่ะ ขอบคุณค่ะ

เรียนน้อง สุวิมล

          ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านเรื่องที่นำเสนอ บางเรื่องอาจจะเป็นประโยชน์ ต่อชีวิตประจำวัน บางเรื่องก็เป็นเกล็ดความรู้ที่มีไว้ประดับสติปัญญา ข้อสำคัญ  การได้รับรู้มีคุณค่ากว่าความไม่รู้  จริงใหม

สวัสดีคะ หายไปนานค่ะ ไม่ได้ไปไหนค่ะ การเรียนรู้ย่อมไม่มีการสิ้นสุด ดังแนวคิดของคนกศน. การเรียนรู้ตลอดชีวิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท