ภูมิปัญญาการคบหาสมาคมกันของคนใต้: นิกะฮฺ หรือ แต่งงาน


การช่วยเหลือกันเตรียมงานโดยไม่ต้องเชิญเพียงให้รู้จากปากคนอื่น ก็เต็มใจมาช่วย “ไม่มาไม่ได้เดี๋ยวถึงทีเราไม่มีใครช่วย” ล้อมวงขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายพร้อมกันหลาย ๆ คน นินทาเพื่อนไปพลาง ๆ พูดคุยทาบทามลูกสาวให้ลูกบ่าวไปด้วย .....“ใครที่ไม่มาก็จะโดนนินทา”

เมื่อวานนั่งทำงานอยู่ที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ (สงขลา) ได้รับโทรศัพท์จากพี่สุกิจ สมาชิก ศวพถ. และกรรมการเครือข่ายคนพิการ จ.พัทลุง ให้ไปร่วมงานแต่งงานระหว่างพี่สุกิจกับพี่สาว เป็นคนพิการด้วยกัน  วันที่ 15 พ.ค.ที่จะถึง   เมื่อเช้าเพื่อนผู้หญิงโทรมาอีกคนบอกว่าจะทำพิธีนิกะฮฺวันที่ 17 ต้องมาเป็นเพื่อนเจ้าสาวให้ได้นะ    รู้สึกตื่นเต้นเพราะตั้งแต่จากบ้านไปเรียนอยู่สงขลาหลายปีก็ไม่เคยได้กลับไปร่วมพิธีนิกะฮฺ ใครเลย   ครั้งนี้เป็นเพื่อนคนแรกที่ร่วมรุ่น  ได้เป็นเพื่อนเจ้าสาวซะด้วย  และตรงกับเรื่องที่น้องเยาะกำลังศึกษา คือ  ภูมิปัญญาการคบหาสมาคมกันของคนใต้  ทำให้น้องเยาะนึกถึงสมัยยังเด็กที่ชอบตามหลังแม่  ไปช่วยเตรียมงานนิกะฮฺ หรือตอนนิกะฮฺพี่สาวที่บ้านจะเตรียมงานกันยกใหญ่   เด็ก ๆ อย่างเราจะมีหน้าที่อื่นไม่ได้นอกจากล้างจานและคอยหยิบจับนู้นนี่ ยื่นให้ผู้ใหญ่      เพื่อนบ้านที่รู้ว่าจะมีงานแม้ไม่ได้รับเชิญก็มาด้วยความสมัคใจ  และเผื่อคราวหน้าถึงคราวลูกเราเขาจะได้มาช่วยเราอีก       ไม่ได้มามือเปล่าแต่ถือมีดมาคนละด้าม     หมายไว้ด้วยว่าเป็นของใคร  ถึงตอนกลับจะได้ไม่สลับกับของคนอื่น  มาถึง  ต่างช่วยกันหาฝืน   หั่นหยวกกล้วย   ขึ้นมะพร้าว  ปอกมะพร้าว   แล้วนั่งล้อมวง ช่วยขูดมะพร้าวด้วยเหล็กขูด (กระต่าย)   ระหว่างที่ขูดจะกินข้าวเหนียวกวน (ข้าวเหนียวที่กวนกับน้ำตาลและน้ำกะทิจนแห้งจับกันเป็นก้อน)  กับน้ำชาไปพลาง ๆ  หรือ  โกบี้ดำข้าวเหนียวปลาเค็มและมะพร้าวขูดใส่เกลือนิดหน่อย   ที่เจ้าภาพเตรียมไว้สำหรับแขกที่มาช่วยงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนู้นบ้างเรื่องนี้บ้าง    ถ้าใครอยากรู้เรื่องชาวบ้านว่าใครเป็นอย่างไรต้องไปในงานแต่งหรืองานบุญ ใครไม่ไปไม่ได้กลัวเพื่อนนินทา  (นี่แหละคือเวทีชาวบ้านสมัยก่อน)   คุยไปคุยมาถามถึง  “ ลูกสาวตึนปีนี้อายุเท่าไหร่แล้ว  ลูกบ่าวเราก็อายุไล่เลี่ยกันถ้างั้นเราขอจองลูกสาวตึนไว้ให้ลูกบาวเราหน้อ ” นิยมพูดกันเพื่อขอจองลูกสาวเพื่อนไว้ให้ลูกชายตัวเอง    และคงไม่นานหลังจากที่เขาคุยกันนี้ก็จะมีพิธีนิกะฮฺเกิดขึ้น  
            

       การสมรส (พิธีนิกะฮ)ฺ    ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม การนิกะฮฺ หมายถึงการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเพื่อเป็นสามีภรรยากันโดยพิธีสมรส หลักการของศาสนาอิสลามมิใช่การจดทะเบียนสมรสแล้วอยู่กันฉันสามีภรรยาตามที่สังคมทั่วไปเข้าใจ   อิสลามไม่ให้สมรสกับคนต่างศาสนา หากจะสมรสต้องให้ผู้นั้นมาเป็นมุสลิมด้วยความศรัทธาเสียก่อน คือ ปฏิบัติตามแนวของระบอบอิสลาม เช่น การละหมาด ถือศีลอด บริจาค ซะกาต ฯลฯ มิใช่เป็นมุสลิมเพียงกล่าวคำปฏิญาณตน และเข้าสุนัตตามที่บางคนเข้าใจเท่านั้น  

       ก่อนหน้าที่จะมีพิธี นิกะฮฺ ก็จะมีการสู่ขอการตกลงเงินเป็นที่เรียบร้อย  แล้วค่อยมาดูฤกษ์ดูยามอีกทีว่าจะทำพิธีนิกะฮฺได้วันไหน    อาจจะนิกะฮฺก่อนวันงาน 1 วัน   หรือวันเดียวกันกับงานแต่ง    การนิกะฮฺจะไปนิกะฮฺที่บ้านเจ้าสาว บ้านโต๊ะอีหม่ามหรือที่มัสยิดก็ได้  นิยมทำพิธีตอนกลางคืน    เมื่อเจ้าบ่าวเดินทางมาทำพิธีนิกะฮฺเป็นวันที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวมุสลิมเพราะบางคู่ยังไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน  อาศัยการตกลงกันของผู้ใหญ่ในการเชื่อมความสัมพันธ์อยากให้ลูกบ่าว ลูกสาวได้สานสัมพันธ์ต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่     ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ระแวกไกล้เคียงแห่กันมาเพื่อดูเจ้าบ่าวกันอย่างเนืองแน่น    เพื่อน ๆ ทางฝ่ายหญิง  ส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องเป็นเพื่อนเจ้าสาวและคอยแอบมองหนุ่ม  ๆ  ที่มาพร้อมกับเจ้าบ่าว     สำหรับฝ่ายชายนั้นจะเดินทางมาพร้อมกับญาติผู้ใหญ่และเพื่อน ๆ ที่ติดตามมาเพื่อดูหน้าเจ้าสาวและเผื่อได้มาเจอคู่ในพิธีนิกะฮฺ ของเพื่อน
          

             องค์ประกอบของการนิกะฮฺจะต้องมี   ฝ่ายชายหรือเจ้าบ่าว   ฝ่ายหญิงหรือเจ้าสาว   ผู้ปกครอง(วลีย์)ของเจ้าสาวเป็นผู้ทำการนิกะฮฺหรือจะมอบหมายให้ผู้อื่นทำการแทนก็ได้   การกล่าวเสนอและกล่าวรับระหว่างผู้ทำการนิกะฮฺกับเจ้าบ่าว   และพยานที่เป็นผู้ชาย  2  คน  ในพิธีจะมีการอ่านคุฏบะฮฺ โดยผู้ทำพิธีเอง หรือเชิญผู้รู้คนอื่นก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการอบรมให้ข้อคิดเห็นแก่เจ้าบ่าวในชีวิตสมรส  ในพิธีจะต้องมีพยาน  2  คน  และมะฮัร(สินสอด ทองหมั้น)อยู่ตรงหน้าของผู้ทำพิธีและเจ้าบ่าวซึ่งทุกคนอยู่ในท่านั่ง ผู้ทำพิธีจะจับมือเจ้าบ่าว กล่าวกับเจ้าบ่าวว่า                 

                  “ฉันขอนิกะฮฺ ท่านกับนางสาว………บุตรของ……………ด้วยมะฮัร จำนวน…….”
                   เจ้าบ่าวจะตอบรับว่า “ฉันขอรับนิกะฮฺกับนางสาว……….ด้วยมะฮัร ดังกล่าว”


           คำตอบรับนิกะฮฺ จะต้องให้ผู้นิกะฮฺและพยานทั้ง 2 คน ได้ยินชัดเจนทุกถ้อยคำ หากยังได้ยินไม่ชัดเจนจะบอกให้กล่าวรับใหม่ จนกว่าจะชัดเจนเป็นเอกฉันท์   (แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเคยมีเหตุการณ์ซึ่งมีคนเอาพรก (กะลามะพร้าว) ไปครอบคางคกไว้ใต้บันไดทางขึ้นเมื่อเวลาที่โต๊ะอีหม่ามถาม  เจ้าบ่าวจะกล่าวไม่ออกติดอ่างเหมือนคางคก ) การใช้ภาษาในการนิกะฮฺ จะใช้ภาษาใดก็ได้แต่จะต้องให้ผู้กล่าวคำเสนอผู้รับตอบและพยานเข้าใจความหมายเมื่อการกล่าวนิกะฮฺถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จะมีการกล่าวขอต่ออัลลอฮฺ หลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมพิธีและแขกรับเชิญ  เพื่อนบ้านต่างช่วยกันเตรียมอาหาร  เจ้าภาพคอยต้อนรับแขกอย่างเดียว      วัยรุ่นหญิงจะคอยล้างจาน เตรียมน้ำดื่มให้วัยรุ่นชาย  ส่วนวัยรุ่นชายจะคอยยกข้าวยกน้ำให้แขก  และเก็บจานมาส่งให้วัยรุ่นหญิง  แล้วหยุดหยอกล้อวัยรุ่นหญิงอยู่ที่ล้างจานถือเป็นแรงใจให้กัน  สานต่อเป็นแฟนและแต่งงานต่อไป............

              ในงานจะ มีแขกที่เป็นบรรดาเพื่อน ๆ นำของขวัญ ไปมอบให้คู่บ่าวสาว   ของชำร่วยสมัยก่อนจะเป็นข้าวเหนียวกวนแต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเป็นสิ่งประดิฐษ์อย่างอื่นแทน    ส่วนการร่วมขบวนแห่ส่งเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว  บ้านเจ้าบ่าวก็จะจัดงานเลี้ยงต้อนรับ   ถ้าบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ก็จะเดินลัดเลาะไปตามทุ่งนาหรือสวนยางพารา    ยายเล่าให้ฟังว่าในสมัยที่ยายยังเด็ก ประมาณ 80 กว่าปีก่อน  จะมีการแห่บ่าวเจ้าสาวด้วยการขี่ช้าง   หรือนั่งบัลลังก์ของคู่บ่าวสาว  กรณีบ้านที่อยู่ไกล  (สมัยนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว)  จะแห่โดยใช้รถแทน

               พิธีนิกะฮฺของชาวไทยมุสลิมถือเป็น ภูมิปัญญาในการคบหาสมาคมกันอีกรูปแบบหนึ่ง  เห็นได้จากการช่วยเหลือกันเตรียมงานโดยไม่ต้องเชิญเพียงให้รู้จากปากคนอื่น ก็เมใจมาช่วย  “ไม่มาไม่ได้เดี๋ยวถึงทีเราไม่มีใครช่วย”    มาแล้วล้อมวงขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายพร้อมกันหลาย ๆ คน นินทาเพื่อนไปพลาง ๆ พูดคุยทาบทามลูกสาวให้ลูกบ่าวไปด้วย  .....“ใครที่ไม่มาก็จะโดนนินทา”  ..... และการสานสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวในการล้างจานและเสริฟอาหารเป็นจุดเริ่มต้นของการมีครอบครัวใหม่..............เป็นเงื่อนไขของ ภูมิปัญญาที่นำไปสู่การคบหาสมาคมกันของคนใต้

 

หมายเลขบันทึก: 179445เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เมื่อไหร่น้องเยาะจะเข้าพิธีนิกะฮฺ บ้างคะ

อย่าเพิ่งรีบนะคะ ช่วย อ.อนุชา ทำงานก่อน

เหนียวดำซาวพร้าว

เป็นคำเปรียบเทียบกับคนที่

ตัวดำแต่ทาแป้งหน้าจนขาววอก

แต่เหนียวปลาเค็มซาวพร้าว ต้องเป็นเหนียวเจ้าชัย

ที่มีคุณลักษณะพิเศษ ฟางใช้ทำยา

เมล็ดยาว

เปลือกแดงเหลือง

นิยมเอามาทำเหนียวงานแต่ง/งานบวช

สารนุ่มอร่อย

ไม่รีบหรอกคะ ถ้ารีบแต่งงานก็ต้องเสียโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์จากอาจารย์อนุชา สิคะ พี่ไก่

ถ้ากลับบ้าน จะชอบหุงข้าวเหนียวปลาเค็มหรือปลาทูนึ่งซาวพร้าวขูดกินตอนเช้า มากคะบังหีม

บังหีมว่าฟางเหนียวเจ้าชัยใช้ทำยา อยากรู้จังคะว่าใช้ทำยาอะไรได้บ้าง...ไปปากยูน 3-4 นี้คงได้ทราบคำตอบนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท