inter law
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทที่ 8 กฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน


เริ่มมีขึ้นในสมัยศควรรษที่ 19 เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ร้ายที่อาศัยวิวัฒนการทางคมนาคมระหว่างประเทศที่เจริญ

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

         เริ่มมีขึ้นในสมัยศควรรษที่ 19 เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ร้ายที่อาศัยวิวัฒนการทางคมนาคมระหว่างประเทศที่เจริญก้าวหน้าและทันสมัยขึ้น  เพื่อหลบหนีไปยังอีกประเทศหนึ่ง

        กระทำได้โดยอาศับหลักและลำดับการพิจารณาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

        วิวัฒนาการของโลกด้านต่างๆเจริญขึ้นและพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคมระหว่างประเทศทางอากาศที่มีสายการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศเชื่อมติดต่อกันทั่วโลกด้วยความสะดวกและรวดเร็วจึงเป็นเหมือนช่องทางหรือประตูเปิดให้ร้ายกระทำผิดในประเทศหนึ่งและหลบหนีไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ง่าย

         ด้วยเหตุที่มีการหลบหนีของผู้ร้ายเกิดขึ้นเสมอ  นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจึงเป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้ประเทศต่างๆต้องร่วมมือกันในการที่จะปราบปรามผู้กระทำผิดดังกล่าวให้ได้ผลอย่างจริงจังและแน่นอนโดยจัดมีการประชุมระหว่างประเทศหลายครั้งเช่นการประชุม นครโมนาโคปีคศ. 1914 ที่กรุงเวียนนาในปีคศ.1923 ที่กรุงลอนดอนและนครนิวยอร์กในปีคศ.1925 มุ่งหมายที่จะวางหลักเกณฑ์ต่างๆให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินการกับผู้ร้ายด้วยวิธีที่สอดคล้องกันและมุ่งกำหนดและวางหลังเกณฑ์ในเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลในประเทศต่างๆเพื่อจุดหมายหลัก 2 ประการคือ

        1.เพื่อหลีกเหลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องอำนาจพิจาราณาพิพากษาของศาลในคดีอาญาอันอาจจะเป็นช่องทางให้ผู้กระทำผิดรอดพ้นอาญาที่ตนกระทำขึ้น

       2.เพื่อป้องกันมิให้มีการลงโทษจำเลยซ้ำกันสองครั้งในความผิดเดียวกัน

  ปัจจุบันลักษณะของการก่ออาชญากรรมมีความสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การกระทำความผิดต่างๆสามารถที่จะกระทำข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสองประเทศหรือมากกว่านั้น ปัญหาคือหากผู้กระทำความผิดในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีไปอยู่อาศัยหรือไปหลบซ่อนยังอีกประเทศหนึ่ง ประเทศผู้เสียหายย่อมไม่มีทางที่จะดำเนินคดีความผิดอาญากับบุคคลดังกล่าวได้ เพราะการที่ประเทศผู้เสียหายจะเข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดในประเทศอื่นเพื่อมาดำเนินคดี ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆนั้น ขณะเดียวกันหลักทั่วไปที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินคดีอาญา คือ การนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมาปรากฎตัวต่อศาล เพราะการฟ้องคดีอาญานั้นศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษคดีอาญาแก่บุคคลผู้ไม่มาปรากฎตัวต่อศาลหรือพิพากษาไปเพียงฝ่ายเดียวอย่างเช่นในคดีแพ่งได้ เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดในการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความร่วมมือของประเทศทั้งสองประเทศดังกล่าว โดยประเทศผู้เสียหายนั้นจะต้องทำการร้องขอไปยังประเทศที่ผู้กระทำความผิดนั้นไปอาศัยหรือหลบซ่อนอยู่ ให้ดำเนินการส่งตัวบุคคลดังกล่าวมาเพื่อดำเนินคดีอาญา และลงโทษตามกฎหมายของประเทศผู้เสียหาย ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญานี้เรียกว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วัตถุประสงค์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
       
       การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยจัดส่งผู้ที่กระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและหลบหนีไปยังประเทศอื่นคืนไปยังประเทศที่ความผิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ตามปกติการกระทำความผิดนั้นจะต้องกระทำขึ้นในเขตอำนาจศาลของประเทศที่ร้องขอและบุคคลผู้กระทำผิดได้หลบหนีมาอยู่ในเขตอำนาจศาลของประเทศที่รับคำร้องขอ และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องเป็นการร้องขอโดยผ่านพิธีการทางการทูต
       
       ผู้ที่อาจถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้
       
       1. ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศผู้ร้องขอ กรณีนี้ถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกยอมรับให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้เสมอ เช่น คนไทยทำความผิดอาญาในประเทศไทยแล้วหลบหนี้ไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาประเทศไทยก็ขอให้สหรัฐอเมริกาส่งตัวคนไทยผู้นี้ข้ามแดนมาเพื่อพิจารณาคดีหรือเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาลไทยในประเทศไทยได้ การที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการบุคคลสัญชาติของตนเอง ประเทศผู้รับคำขอก็จะอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอเสมอ
       
       2. ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศผู้รับคำขอ เป็นกรณีที่บุคคลในสัญชาติของประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหลบหนี้กลับไปยังประเทศของตน ตามหลักทั่วไปประเทศเจ้าของสัญชาติผู้กระทำความผิดจะไม่ยอมส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นกลับไปให้ประเทศอื่นพิจารณาพิพากษาคดี โดยยึดถือหลักที่ว่า ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่นก็สามารถกระทำได้ เช่น คนไทยไปกระทำความผิดทางอาญา ณ ประเทศฟิลิปปินส์แล้วหลบหนีกลับมายังประเทศไทย ประเทศไทยจะไม่ส่งคนไทยผู้นี้ข้ามแดนเพื่อไปให้ศาลฟิลิปปินส์พิจารณาพิพากษาคดีก็กระทำได้
       
       3. ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศที่สาม ในกรณีนี้ตามธรรมเนียมปฎิบัติระหว่างประเทศ ประเทศผู้รับคำร้องขอจะต้องแจ้งให้ประเทศที่สามที่เป็นเจ้าของสัญชาติผู้กระทำผิดทราบเสียก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อรักษาสัมพันไมตรีอันดีงามระหว่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติประเทศเจ้าของสัญชาติผู้กระทำความผิดก็จะสอบถามข้อเท็จจริงแห่งคดี แต่ไม่อาจห้ามมิให้ประเทศผู้รับคำขอส่งตัวข้ามแดนได้
       
       ความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
       

       ความผิดที่จะถึงขนาดที่จะนำมาซึ่งการส่งตัวข้ามแดนนั้น ต้องเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทางตามกฎหมายให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุก หรือทำให้ปราศจากเสรีภาพเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ตามกฎหมายทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและประเทศผู้รับคำร้องขอ และความผิดนั้นจะต้องไม่ขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ ประการสำคัญคือความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความผิดที่เกี่ยวกับศาสนา
       
       หลักกฎหมายและแนวทางปฎิบัติ
       

       ในปัจจุบันประเทศไทยมีสัญญา อนุสัญญา และสนธิสัญญาเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับต่างประเทศทั้งหมด 14 ประเทศ คือ 1. สหราชอาณาจักร 2. สหรัฐอเมริกา 3.แคนาดา 4. ออสเตรเลีย 5. เบลเยี่ยม 6.จีน 7.อินโดนีเซีย 8. ฟิลิปปินส์ 9. ลาว 10.กัมพูชา 11.มาเลเซีย 12.เกาหลีใต้ 13.บังกลาเทศ 14 .ฟิจิ หลักกฎหมายภายในของประเทศไทยเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคือ ศาลอาญา
       
       หลักการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้ว่า แม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันก็ตาม ถ้ารัฐบาลไทยเห็นสมควรก็อาจส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอได้ แต่ความผิดที่จะให้มีการส่งตัวข้ามแดนนั้นจะต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายไทยกำหนดให้ลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยจะต้องมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศมายังรัฐบาลไทย และจะต้องมีหลักฐานประกอบคำร้องคือ ในกรณีที่ให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิจารณาคดีนั้น ในกรณีขอให้ส่งบุคคลซึ่งต้องหาว่ากระทำผิด จะต้องมีหมายหรือสำเนาหมายสั่งจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ
       
       การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเริ่มด้วยมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศโดยพิธีการทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะส่งคำร้องขอไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทยจะสั่งให้จับจำเลยหรือจะขอให้ศาลออกหมายจับก็ได้ เมื่อจับจำเลยได้แล้ว ต้องนำตัวขึ้นสู่ศาลโดยเร็วและดำเนินการไต่สวนตามวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งไม่จำต้องพิจารณาโดยละเอียดว่าผู้ต้องหาจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนหรือไม่ หากแต่จะต้องเป็นที่พอใจว่า จำเลยเป็นผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวข้ามแดนแน่ไม่ใช่จับมาผิดแล้วสับตัวกัน นอกจากนั้นกฎหมายไทยยังได้กำหนดให้ศาลอุทธรณ์เป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประเทศผู้ร้องขอเมื่อได้รับตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วจะควบคุม ดำเนินคดี หรือลงโทษจำเลยในความผิดอย่างอื่นนอกเหนือจากความผิดที่อนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้



ถือเป็นโอกาสดีที่ขณะนี้กำลังมีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทยเกี่ยวกับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา ว่าทางการไทยจะร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวบุคคลดังกล่าวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้หรือไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยสัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ซึ่งได้ลงนามไว้ต่อกันเมื่อวันที่ 4 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 129 (ค.ศ.1911 หรือ พ.ศ.2445) ที่กรุงเทพฯ โดยสัญญาฉบับนี้ได้มีพระราชานุญาตทั้งสองฝ่าย และได้แลกเปลี่ยนหนังสือพระราชานุญาตฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษต่อกันที่กรุงลอนดอน ณ วันที่ 1 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 130

สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษฉบับดังกล่าว ผู้ที่ลงนามในสัญญาฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามขณะนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม และฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงเกรตบริเตนและไอร์แลนด์อันรวมกัน และอาณาจักรอังกฤษที่โพ้นทะเลทั้งหลาย และบรมราชาธิราชแห่งอินเดียขณะนั้นคือ อาเธอปิลเอสไควร์ อรรคราชทูตพิเศษ และผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษประจำอยู่ ณ พระราชสำนักที่กรุงเทพฯ

วัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของสัญญาดังกล่าวทำไว้เพื่อจะป้องกันไม่ให้มีผู้กระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นโทษอยู่ในพระราชอาณาเขตทั้งสองฝ่าย คือบุคคลที่ต้องหาหรือถูกกล่าวโทษว่ากระทำความผิดอันมีโทษตามที่ระบุไว้ในสัญญารวม 31 ฐานความผิด และเป็นผู้ซึ่งหลบหนีการพิจารณาคดีจากศาลยุติธรรมของประเทศคู่สัญญาและไปอาศัย/พบตัวอยู่ในประเทศของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสมควรที่จะต้องถูกส่งตัวให้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำตัวบุคคลนั้นไปพิจารณาพิพากษาคดีในศาลยุติธรรมในประเทศที่ร้องขอให้ส่งตัวนั้นๆ ตามกฎหมายต่อไป

ในสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวระบุความผิดอันมีโทษที่รัฐบาลไทยและอังกฤษจะส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแก่กันได้รวม 31 โทษฐานความผิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีโทษเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย, ปลอมแปลงเงินตรา, ยักยอกทรัพย์, ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

กรณีที่ศาลไทยได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา ฐานขัดหมายศาล ตามคดีที่ถูกฟ้องร้องซึ่งมีโทษและฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 หมวด 2 ซึ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น เมื่อได้พิจารณาโทษตามข้อตกลงตามสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนข้างต้นไม่พบว่าตรงกับโทษใดที่ทางการไทยจะร้องขอให้อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้

อย่างไรก็ตาม ในสัญญาดังกล่าวได้มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าโทษอย่างอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้งสองฝ่ายว่าจะส่งผู้ร้ายให้กันได้นั้น ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควรว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกันหรือไม่

ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องศึกษาว่าอังกฤษมีกฎหมายทำนองเดียวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามที่ทางการไทยฟ้องร้องดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และภริยาหรือไม่

ซึ่งหากมี เช่นนี้ทางการไทยก็สามารถร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยอาศัยข้อสัญญาข้างต้น

มีข้อยกเว้นเด็ดขาดตามสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอังกฤษอีกว่า ถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การเมืองก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน

โดยสัญญาในข้อ 5 ระบุว่า ถ้าผู้ร้ายที่หนีมายังประเทศใด ประเทศนั้นเห็นว่าโทษที่ขอให้ส่งตัวไปชำระนั้น เป็นโทษมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองก็ดี หรือว่าผู้ร้ายนั้นนำพยานพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่ขอให้ส่งตัวกลับไป เป็นการเพื่อจะชำระและลงโทษ อันมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน

       
       

บทสรุป
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกระบวนการความร่วมมือทางกฎหมายอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ประกอบอาชญากรรมในประเทศหนึ่ง
แล้วหลบหนีไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง
รวมถึงการประกอบอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นองค์กรข้ามชาติ
ให้สามารถที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในความผิดที่เขาได้กระทำลงไป
จึงเป็นการร่วมมือกันรักษาระบบกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผล
ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก
เพราะหากไม่มีการร่วมมือกันในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
เพื่อให้ผู้ประกอบอาชญากรรมได้ถูกส่งตัวไปลงโทษในความผิดที่เขาได้ก่อไว้แล้ว
ผู้กระทำความผิดจะสามารถหลบหนีจากการถูกลงโทษได้
ซึ่งจะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องเสียไป
และย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม

เจตนารมณ์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม ซึ่งทุกประเทศในโลกจำเป็นต้องมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่เกี่ยวข้องกับตน ทุกประเทศต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปราบปรามอาชญากรรมและต้องไม่ยินยอมให้ผู้กระทำความผิดทางอาญาจากประเทศหนึ่งหลบหนีมาซ่อนตัวอยู่ในดินแดนประเทศของตน ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคมประชาชาติ ประกอบกับเพื่อให้กฎหมายและศาลเป็นที่เคารพของประชาชนสืบต่อไป

หมายเลขบันทึก: 179063เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2008 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท