ตอนที่53 น้ำพริกหลากหลายรสจากภูมิปัญญาไทยสร้างรายได้สร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน


คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักเพื่อหวังความมั่นคงของลูกค้าที่เข้ามาอุดหนุน จึงได้คัดเลือกวัสดุที่มีคุณภาพและความสะอาดทุกขั้นตอน

                         น้ำพริกพริกแกงและน้ำพริกเครื่องจิ้มต่าง ๆ เป็นอาหารคู่ครัวของคนไทยมาช้านาน เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่บรรพชนรุ่นเก่าก่อนได้สร้างสรรอาหารจากการผสมผสานพืชพรรณต่าง ๆ ที่มีหลากหลายในท้องถิ่นให้ได้อาหารแสนอร่อยอย่างกลมกลืน จนมีหลายท่านที่กล่าวว่าถ้าขาดน้ำพริกแล้วทานข้าวไม่อร่อย ไม่เพียงการกระตุ้นให้ทานอาหารได้เพิ่มขึ้นเท่านั้นน้ำพริกคู่ครัวไทยยังมีมากด้วยคุณค่าของสารอาหารและประโยชน์ทางยาสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ลดอาการแน่นจุกเสียด มะกรูด ผิวจากผลใช้ปรุงเป็นยาขับลม กระเทียมช่วยลดความดันโลหิต ลดโคเลสเตอรอล หอมแดง เป็นกระษัยยาแก้ไข้หวัด ข่า ช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร พริก เป็นยาขับเสมหะ ยาฝาดสมาน ช่วยการย่อย เพิ่มความอบอุ่นในร่างกายและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ และแก้อาการเบื่ออาหาร กระชาย รักษาโรคบิด  การสร้างความอร่อยได้สร้างชื่อเสียงให้แก่อาหารไทยจนเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ ไม่แพ้นานาอารยประเทศที่ได้พยายามเชิดชูภูมิปัญญาของชาติตัวเองในด้านอาหารเพื่อดึงดูดเงินตราของประเทศอื่นเข้าสู่ภูมิบ้านเกิดของตนเอง

            นางสาวประทีป  เกตุดี หรือที่เพื่อนบ้านเรียกว่า "เอี่ยง" ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหอระฆัง วัย 48 ปี บ้านเลขที่ 83 หมู่ 12 ตำบลบางขุด  .สรรคบุรี จ.ชัยนาท เล่าถึงการก่อตั้งกลุ่มเพื่อเรียนรู้อาชีพเสริมจากการทำนาและการทำกิจกรรมร่วมกันของเพื่อนเกษตรกรด้วยกันก่อนที่จะยึดกิจกรรมทำน้ำพริกเป็นหลักของรายได้สู่สมาชิกและกลุ่มว่า ได้รวบรวมสมาชิกได้ 15 คนตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 ระดมหุ้นคนละ 100 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 42 คน เรียนรู้การถนอมอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรและผลิตของใช้ในครัวเรือนหลายประเภท แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงมองหากิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุในท้องถิ่นและทุกครัวเรือนมีความจำเป็นต้องใช้ประจำ  จึงตัดสินใจตามข้อตกลงในที่ประชุมของสมาชิก ผลิตน้ำพริกแกงเพราะเห็นว่าที่บ้านของสมาชิกหลายคนปลูกตะไคร้ มะกรูด ขิง ข่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแกง จะมีบางส่วนที่จะต้องซื้อจากท้องตลาดคือ พริก หอม กระเทียม กะปิ เกลือ และเครื่องเทศบางชนิด จากการผลิตในระยะแรกได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคด้วยดี  ถึงแม้ว่าตลาดจะไม่กว้างเท่าไหร่นักแต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเนื่องจากวัสดุที่ใช้ได้ซื้อจากสมาชิกราคาไม่สูงนัก เงินตราจะหมุนเวียนในชุมชน จึงทำให้หลายหน่วยงานให้การสนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณ ในปี 2546 สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในโครงการแปรรูปสินค้าเกษตร ปี 2546 เป็นเงิน 150,000 บาท การดำเนินงานจะซื้อ  วัสดุจากสมาชิกประกอบไปด้วย ตะไคร้ มะกรูด ข่า.  กระชาย. ในส่วนของค่าแรงจะทำการแบ่งปันกำไรที่ได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ตามจำนวนคนที่เข้าร่วมของสมาชิกประมาณ 6 - 10 วัน/คน แล้วแต่ว่าใครจะว่างจากการทำนาเข้ามาหารายได้เสริมในแต่ละครั้ง โดยหักเข้ากองทุนกลุ่มฯ ร้อยละ 10 ทำให้สมาชิกมีรายได้ 2 – 3 พันบาท/เดือน ถ้าเข้ามาร่วมเป็นประจำ การทำงานใช้เวลาประมาณวันละ 3 - 4 ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้วก็สามารถเข้าไปดูแลเรือกสวนไร่นาได้

            การทำน้ำพริกแกงนั้น  ได้คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักเพื่อหวังความมั่นคงของลูกค้าที่เข้ามาอุดหนุน จึงได้คัดเลือกวัสดุที่มีคุณภาพและความสะอาดทุกขั้นตอน เริ่มจากการทำความสะอาดด้วยน้ำ แล้วจึงนำไปผึ่งลมให้แห้ง ตัดส่วนที่ไม่ต้องการหรือเกิดเป็นโรคหรือขึ้นรา ก่อนที่จะนำไปชั่งให้ได้อัตราส่วนที่ต้องการตามประเภทของน้ำพริก เช่นน้ำพริกแกงเผ็ด ประกอบไปด้วย ข่า 1.4 กก. ตะไคร้ 1.2 กก. กระชาย 2.1 กก. หัวหอม 2 กก. กระเทียม 4.6 กก.  . ผิวมะกรูด 9 ขีด  ถ้าเป็นน้ำพริกแกงส้ม (น้ำหนัก 2 ..)ประกอบไปด้วย กระชาย 9 ขีด หัวหอมแดง 1.20 .. ตะไคร้ 1 ขีด  พริกใหญ่ 1 ขีด และกะปิ 0.5 .. นำวัสดุที่ชิ้นใหญ่หั่นให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อนำเข้าเครื่องบดให้ละเอียด นำมาคั้นด้วยผาขาวบางนำน้ำที่ได้ต้มด้วยไฟแรงให้เดือดแล้วจึงลดไฟลง เคี่ยวไว้จนน้ำลดลงเหลือ 1 ใน 3 ส่วนทิ้งไว้ให้เย็นนำไปผสมกับส่วนที่คั้นน้ำออกมา ใส่เกลือไอโอดีน 1 กก.และกะปิ 3.4 กก คลุกเคล้าให้เข้ากันดี จะทำให้เก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องใส่สารกันบูด บรรจุถุงจำหน่ายในราคาขายส่ง 40 บาท/ กก.ส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำเดือนละประมาณ 400 - 500 กก. แต่ถ้าเป็นน้ำพริกเผาหรือน้ำพริกผัด จะต้องนำวัสดุต่าง ๆ คั่วให้สุข นำไปบดให้ละเอียดแล้วอบให้แห้งด้วยเครื่องอบ ความร้อนขึ้นอยู่กับว่าวัสดุเปียกมากน้อยเพียงใด ความร้อนประมาณ 50 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง นำออกมาทิ้งไวให้เย็น บรรจุกล่องพลาสติก พร้อมจำหน่ายจะได้น้ำพริกสูตรต่าง ๆ ที่หอม รสชาติเข้มข้น เพราะจะใช้ส่วนผสมที่เต็มสูตร ไม่ปลอมปน เนื่องจากวัสดุส่วนใหญ่ได้มาจากสมาชิกราคากันเอง และปลอดภัยไม่ใส่สารกันบูด ปัจจุบันได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นที่เรียบร้อย

            ในด้านการตลาดนั้นจะมีลูกค้าขาประจำในอำเภอ จังหวัด และต่างจังหวัดเช่นเชียงใหม่ กรุงเทพ จัดส่งร้าน CEO ชัยนาท และมีผู้มารับเพื่อส่งไปต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ และไต้หวัน ทางสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหอระฆัง ฝากบอกถึงผู้อ่านว่าผลิตภัณฑ์น้ำพริกของกลุ่มประกอบไปด้วย น้ำพริกเผาปลาย่าง,แมงดา น้ำพริกนรก น้ำพริกผัก น้ำพริกน้ำยา น้ำพริกลาบ แกงส้มและแกงเผ็ด จึงขอเชิญชวนช่วยกันสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านกันเถอะ เพื่อจะได้มีกำลังกาย กำลังใจ ผลิตสินค้าให้ผู้บริโภคต่อไป ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 09-5653212 ยินดีต้อนรับครับ

เก็บมาฟาก

การใช้ตะไคร้ รักษาอาการแน่นจุกเสียด

1.   นำตะไคร้ทั้งต้นรวมทั้งรากจำนวน 5 ต้น สับเป็นท่อนต้มกับเกลือ ต้ม 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 3 วัน จะหายปวดท้อง

2. นำลำต้นแก่สดๆ ทุบพอแหลกประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม

มะกรูด  ส่วนที่ใช้ ผล ผิวจากผล  สรรพคุณ สระผม รักษาชันนะตุ รังแค ผิวจากผลใช้ปรุงเป็นยาขับลม  วิธีใช้

1.   ขับลม ฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็กๆ เติมการบูรหรือพิมเสน ชงด้วยน้ำเดือดแช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำ

2.   ใช้สระผม ผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น สระผมเสร็จแล้ว เอามะกรูดสระซ้ำ ล้างผมให้สมุนไพรออกให้หมด หรือใช้ผลมะกรูดเผาไฟผ่าซีก สระผม จะรักษาชันนะตุ

กระเทียม  กระเทียมอาจจะช่วยลดความดันโลหิต และการจับเกาะของเกร็ดเลือดได้ และยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระด้วย ควรรับประทานกระเทียมสด วันละประมาณ 1.5-3.0 กรัม ส่วนกระเทียมรูปแบบอื่นขาดการควบคุมในคุณภาพ การบริโภคกระเทียมสดในรูปของอาหารจะดีกว่าและมีกลิ่นน้อยมากรสไม่จัด แต่ต้องรับประทานปริมาณ 5.-15 กรัม/วัน

หอมแดง   หอมแดงเป็นพืชที่มีรสเย็น จึงมีสรรพคุณในการดับความร้อน ถอนพิษไข้ โดยใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาประเภทยาต้ม เพื่อดื่มแก้ไข้ หรือนำหัวมาฝนกับเหล้าขาวทาเพื่อดับพิษงูสวัด หรือนำมาเป็นกระษัยยาแก้ไข้หวัด

            ข่า  การใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด

1. ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม  

2. กวนหัวข่าแก่ตำละเอียดกับน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม 

ข่า การใช้ข่ารักษากลาก, เกลื้อน  ใช้เหง้าสดกับเหล้าโรง หรือน้ำส้มสายชู หรือเหง้าสดตำแช่แอลกอฮอล์ทา 

กระชาย  รักษาโรคบิด  ส่วนที่ใช้ : เหง้าสด 2 เหง้า บดให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำรับประทาน

ผู้เขียน ขอขอบพระคุณ เจ้าของข้อมูล และขออภัยที่มิได้ขออนุญาตมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 178943เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2008 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำไมมีแต่ของกินง่ะ หิวข้าวเย็น

- สอนเจนใส่รูปในนี้ให้หน่อย

- ดูพื้นที่ในแฟลชไดร์ยังไง ลืมแล้ว -.,-

เหอๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท