คนชายขอบที่เรารู้จักในนาม "คนไร้บ้าน"


คนชายขอบ คือ กลุ่มบุคคลที่ถูกสังคมหมางเมิน ถูกทิ้งขว้างและแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนจำนวนมากอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและค่อนข้างรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดคนชายขอบนั้นมาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน สภาพพื้นที่ที่อาศัยอยู่ห่างไกลกับศูนย์กลางของระบบต่างๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง นอกจากนี้ สถานะทางกฎหมายของบุคคลก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้สถานภาพของคนในสังคมเดียวกันมีความแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง

เมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำความรู้จัก (อาจจะเรียกได้แค่ว่า รู้จักเป็นการเบื้องต้น) กับคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่ท้องสนามหลวง โดยความช่วยเหลือของคุณภาสกร จำลองราช คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์มติชน ผู้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ คนไร้บ้าน ผ่านตาผู้คนมากมายในหน้าหนังสือพิมพ์

 

วันนี้ เขามีเดินกาแฟกัน คุณภาสกรเกริ่นให้ฟังแบบสั้นๆ มาก

 

เมื่อทราบว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกับคนไร้บ้าน ก็รู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เดินกาแฟ คือ อะไร??

 

เจอกันตอนทุ่มตรง พวกเรานัดกันแบบสั้นๆ และได้ใจความ เป็นอันรู้กัน

 

การเข้าไปพบในครั้งนี้บังเกิดโดยไม่มีการเตรียมตัวใดๆ มากมายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (โดยเฉพาะสำหรับข้าพเจ้าเอง) ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนไร้บ้านซึ่งอยู่ห่างกับวิถีชีวิตของข้าพเจ้าเพียงแค่ถนนกั้น

 

ท่าอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของโครงการการจัดทำรายงานประเทศไทยตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 ซึ่งท่านเป็นผู้รับผิดชอบเขียนรายงานสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของคนชายขอบ (Marginalized Persons)” ในประเทศไทย ภายใต้กติการะหว่างประเทศดังกล่าว ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า..

 

คนชายขอบ คือ กลุ่มบุคคลที่ถูกสังคมหมางเมิน ถูกทิ้งขว้างและแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนจำนวนมากอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและค่อนข้างรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดคนชายขอบนั้นมาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน สภาพพื้นที่ที่อาศัยอยู่ห่างไกลกับศูนย์กลางของระบบต่างๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง นอกจากนี้ สถานะทางกฎหมายของบุคคลก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้สถานภาพของคนในสังคมเดียวกันมีความแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง

 

แล้วมีใครบ้างล่ะค่ะ ที่ถูกถือว่าเป็นคนชายขอบ ข้าพเจ้าก็ยังสงสัยไม่เลิก

 

คนยากจน, คนพิการ, ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV รวมทั้ง ชนกลุ่มน้อยหรือชาวเขา ที่เธอเคยเห็นก็ใช่ พวกคนไร้บ้าน ก็ใช่นะ ท่านพยายามอาจารย์อธิบายและยกตัวอย่างให้คนขี้สงสัยฟัง

 

เมื่อพวกเราเดินไปถึงจุดนัดหมาย เราได้เจอกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวนั่งพูดคุยกันและทำกิจกรรมที่เขาเรียกกันว่า เดินกาแฟเราได้พูดคุยทักทายกับ ลุงดำนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หนึ่งในแกนนำคนไร้บ้าน ที่คุณภาสกรเคยขอสัมภาษณ์และนำมาเขียนบทความเรื่องค่ำคืนหนึ่งกับสนามหลวง ตามคนเร่ร่อนดูคนเร่ร่อน[1] เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2547 ที่ผ่านมา

 

ลุงดำเคยอธิบายเรื่อง คนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านไว้ในบทความข้างต้นว่า พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพราะไม่มีปัญญาหาค่าเช่าประจำ บางคนทำงานก่อสร้างอยู่แต่นายจ้างหนีและไม่ได้จ่ายค่าแรง พวกเขาไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากให้เห็นความพ่ายแพ้ ครั้นจะไปหางานทำใหม่ก็ไม่มีคนจ้าง เพราะความรู้น้อยและอายุมาก ปี คนพวกนี้เลยมุ่งหน้ามาที่นี่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาชีพที่ทำ คือ การเก็บของขาย และเมื่อมาตรการของรัฐออกมา แทนที่จะช่วยเยียวยากลับกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น ไล่จับพวกเขา เป็นต้น

 

“Can you speak English?” เสียงใสๆ ดังมาจากข้างหลัง เมื่อข้าพเจ้าหันไปก็พบกับสาวน้อยหน้าตาเอเชียแต่ดูจะไม่ใช่คนไทยซะแล้ว

 

“Yes.” ข้าพเจ้ารู้สึกงงๆ เล็กน้อย แต่ก็ตอบกลับไปทันใด

 

ทักทายกันไปมาได้สักพัก จึงได้ความว่า พวกเขา 3 คน[2] เป็นคนญี่ปุ่นทำงานช่วยเหลือ คนไร้บ้านที่ประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน แต่คราวนี้ต้องการมาศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์ของคนไร้บ้านในเมืองไทย “NOJIREN”[3] คือ ชื่อย่อขององค์กรของพวกเขา ชื่อเต็มๆ ภาษาอังกฤษ คือ Shibuya Free Association for the Right to Housing and Well-being of the Homeless

 

องค์กร NOJIREN ไม่ได้จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของ คณะกรรมการ หรือ องค์กรตัวแทนใดๆ ไม่ใช่องค์กรการกุศล ไม่ใช่องค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ แต่เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของคนไร้บ้านเอง โดยมีผู้สนับสนุน (Supporters) ทำงานคู่ขนานกับคนไร้บ้านเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเป้าหมายขององค์กรนั้น ไม่ได้หยุดแค่เพียงการเรียกร้องสิทธิแบบวันต่อวัน ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น แต่หากเป็นสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความหมายในสังคม ซึ่งสิทธิในการทำงานก็ถือรวมเป็นสิทธิหนึ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน

 

ปัญหาของคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นไม่น่าจะแตกต่างจากปัญหาคนไร้บ้านในประเทศไทยเท่าไหร่นัก แต่หากมองจากสภาพความเป็นอยู่โดยรวมแล้ว ไม่มากก็น้อยคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นน่าจะมีสภาพชีวิตที่ดีกว่า คุณ Nami เล่าให้ฟังต่อหลังจากมองไปรอบๆ สนามหลวงอย่างครุ่นคิดเล็กน้อย

 

แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลืออะไรบ้างไหม?” ข้าพเจ้าถามต่อทันที

 

แม้ว่าจะมีความพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่หากมาตรการทั้งหลายที่ออกมานั้นไม่เคยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านเลย กลับกลายเป็นว่าคนไร้บ้านจำต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่เคยต้องการ ปัญหาจึงไม่คลี่คลายสักที พวกเขาจำต้องมีทางเลือกที่มากกว่านี้ คุณ Nami บ่นไปเล่าไป

 

พวกเราเชื่อว่า ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่เพียงพอและล่าช้าเกินไป คนไร้บ้านจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา และจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยกันเองอีกด้วย ชีวิตของพวกเขา พวกเขามีสิทธิกำหนดและต้องรับผิดชอบเอง พวกเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาต้องการเท่านั้น คุณ Nami แปลจากที่ คุณ Manabu อธิบายให้พวกเราฟังอีกหนึ่งชั้นภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ

 

ค่ำคืนล่วงเลยไป จนราวสามทุ่มกว่าๆ พวกเราต่างต้องแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตน ทั้งคนไร้บ้าน ทีมนักวิชาการ และนักข่าว แต่บทสนทนาคงยังไม่จบเพียงแค่นี้

 

วันนี้คงเป็นเพียงแค่ ปฐมบทเท่านั้น สังคมยังต้องเปิดตาและพยายามรับฟังปัญหาของคนตัวน้อยเหล่านี้ไปอีกนานเท่านาน

 

นานจนกว่า.. เสียงของคนชายขอบจะดังไปถึงหัวใจของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

 

และคงจะอีกนานจนกว่า.. ปัญหาของคนชายขอบจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี..



[2] Ms. Nami Gonda, Mr. Peter Shimokawa, Mr. Manabu Endo

หมายเลขบันทึก: 178383เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2008 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

* กลุ่มคนชายขอบ มีหลากหลาย

* มีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยง อ่อนไหว

* * vulnerable people * *

* ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

มาลงชื่ออ่านค่ะ เห็นพวกเขาบ่อยๆ นะคะ ในสังคมทุกๆ ที่

แต่ไม่เคยรู้ว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร หรือเขาต้องการอะไร

ไม่รู้ว่าเสียงของพวกเขาจะดังถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้หรือเปล่า

เพราะดูเหมือนผู้ใหญ่เหล่านั้นสนใจจะจัดการแต่เรื่องของตัวเอง

มากกว่าที่จะหันมามองคนชายขอบ

เป็นกำลังใจให้นะคะ

.. ชอบเรื่องที่น้องเตือนเขียนจัง..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท