เทคนิคการ “เก็บเด็ก” ด้วย “3E” และ “ซีโฟร์ ”


การจัดกระบวนการเรียนรู้มีหัวใจอยู่ที่ เราต้องการให้เขารู้ หรือให้เรารู้

 

เก็บเด็กไม่ได้หมายถึง การจัดการให้เด็กที่ไม่พึงประสงค์หายไปจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งลมหายใจหากแต่หมายถึงการจัดการให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์หายไป หลายครั้งที่เราซึ่งหมายถึงทั้งผู้ใหญ่และสังคมนั้นเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมักจะเกาไม่ถูกที่คัน หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมที่เรียกกันว่า กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์นั้น บางครั้งเราก็จัดให้เด็กในลักษณะของการจัดตามความต้องการของเราเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม ในการจัดกิจกรรมหลาย ๆครั้ง เราจึงพบเห็นผู้ที่จัดกิจกรรมมักจะกลัวว่าผู้เข้าร่วมหรือกลุ่มเป้าหมายจะไม่ได้รับความรู้ จึงพยายามยัดเยียดความรู้ให้โดยเฉพาะการใช้รูปแบบการบรรยายไม่เว้นแม้แต่ในระบบโรงเรียน ซึ่งการบรรยายจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อผู้บรรยายเป็นผู้มีความรู้เฉพาะเรื่องสูง ประกอบกับเนื้อหาเป็นเนื้อหาเฉพาะแต่การบรรยายหากจะได้ผลดีสมควรต้องใช้ควบคู่กับการให้ความรู้โดยวิธีอื่นด้วย

ผมไม่เข้าเรียนเพราะมีความรู้สึกว่าครูสอนไม่ได้เรื่อง ไม่มีมาตรฐานการให้คะแนนผลกลับกลายมาเป็นว่าเราหมดสิทธิสอบ ผมไม่เห็นว่าการที่เราผมยาวหรือใส่กางเกงยีนส์ไปเรียนมันจะทำให้ผลการเรียนเราลดลงหรือจะทำให้เราเป็นคนดีหรือไม่ดีกว่าเดิมขึ้นมาได้ แต่พอเราผมยาวครูก็ไม่ให้เข้าห้องเรียน เวลาเราเข้าห้องสาย เพราะคาบก่อนเรียนอีกตึกหนึ่งซึ่งไกลมาก แต่อาจารย์ไม่ฟังเหตุผล ไม่ยอมให้เข้าห้องเรียน ไม่รู้จะไปอยู่ไหนก็ไปร้านเกมแทนดีกว่า เสียงพร่ำบ่นของน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการควบคุมเชิงอำนาจ โดยผู้มีอำนาจตามสถานะหรือบทบาท ซึ่งในที่นี้รวมถึง ครู อาจารย์ ทั้งหลายทั้งการศึกษาในและนอกระบบ ซึ่งการมุ่งสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงหลักจิตวิทยาการเรียนรู้และการไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียนในลักษณะของการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมย่อมเกิดผลในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกเนื่องจากไม่ได้มุ่งแก้ที่สาเหตุของพฤติกรรมด้วยกระบวนที่เป็นขั้นเป็นตอน เช่น กระบวนการ 3E ที่ต้องเริ่มต้นโดยการใช้ E ตัวที่ 1 ก่อนหากใช้แล้วไม่ได้ผล ก็ทดลองใช้ E ตัวที่ 2 และ ใช้ E ตัวที่ 3 เป็นลำดับสุดท้าย กล่าวคือ

v E 1 : Education หรือ การให้การศึกษา ให้ข้อมูล ให้เหตุผลประกอบที่ครบถ้วนรอบด้านเพื่อเป็นทางเลือกการตัดสินใจในการปรับพฤติกรรมด้วยตนเอง เช่น ในกรณีของการห้ามนั้น ผู้ห้ามโดยเฉพาะผู้ใหญ่มักมีเจตนาที่ดี แต่มักจะไม่บอกเหตุผล เช่น ห้ามผมยาว ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามมีแฟน ฯลฯ แต่ฝ่ายที่ถูกห้ามมักจะเกิดความคับข้องใจและมักจะตอบโต้ด้วยการเพิกเฉยและฝ่าฝืน หากเรามีการให้เหตุผลประกอบ การตอบโต้เชิงลบจะลดลง เช่น ห้ามสูบบุหรี่เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไปก่อความรำคาญแก่คนรอบข้าง หรือให้ข้อมูลด้านสุขภาพประกอบ ห้ามเข้าห้องเรียนสายเกินกว่า 15 นาที เนื่องจากทำให้ครูและเพื่อนต้องรอและเสียสมาธิ หรือจะทำให้ได้เนื้อหาไม่ครบถ้วนเนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ เป็นต้น หลักการพื้นฐานของการใช้ E1 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สร้างทางเลือกในการตัดสินใจ ใช้การควบคุมโดยอาศัยข้อตกลงร่วมกันแทนการห้ามหรือกฎระเบียบ

v E 2 : Encouragement หรือการเสริมแรง การสร้างแรงจูงใจให้เกิดแรงขับจากภายในในการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม จะใช้เมื่อได้ผ่านขั้นตอนการใช้ E1 แล้วและยังไม่ได้ผล เช่นในกรณีมาสายและไม่มีเหตุผลอันควรหลังจากให้ E1 ไปแล้วยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ต้องทำความเข้าใจกับพื้นฐานของคนเราที่ว่า เขายิ่งว่ายิ่งเตือนเหมือนยิ่งยุ เขายิ่งดุยิ่งด่ายิ่งฝ่าฝืน เขายิ่งห้ามยิ่งอยากใส่ปากกลืนที่เขายื่นให้กินไม่ยินดี  การใช้ E2 ต้องควบคู่กับการวิเคราะห์ผู้เรียนว่าเขามีบุคลิกภาพและลักษณะที่ขาดการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) มากน้อยเพียงใด เพราะส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือพฤติกรรมเสี่ยง (Risk behavior) เกิดจากความอยากรู้อยากลอง เกิดจากการต้องการการยอมรับ ความต้องการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มหรือ Identity  การให้เขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การให้เขาได้เห็นคุณค่าในตนเองจะเป็นพลังทางบวกในการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น กรณีเด็กที่ขาดเรียน ขาดความรับผิดชอบ ควรให้ E2 ด้วย การมอบหมายหน้าที่ให้ทำ เช่น เป็นคนเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้เพื่อน เป็นคนดูแลเรื่องระเบียบวินัย และนอกจากให้บทบาทหน้าที่มอบหมายแล้วควรมีการเสริมแรงด้วยการให้รางวัล เช่น คำชมเชยหน้าเสาธง หรือต่อหน้าที่ประชุม หรือกลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวมีแนวโน้มก่อความรุนแรง สามารถใช้กิจกรรมสังคมบำบัด เช่น การให้เป็นผู้นำหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกขั้นตอน จะได้ผลดีกว่าการควบคุมและลงโทษ เทคนิคในการใช้ E2 คือ ต้องใจเย็น ๆ ไม่เร่งรีบ ใช้หลากหลายวิธีการควบคู่กันที่สำคัญผู้ดำเนินกิจกรรม ต้องมีความไว้ใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของเขาด้วยใจจริงก่อน

v E 3 : Enforcement หรือการใช้อำนาจในการควบคุมลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นกฎระเบียบ หรือกฎหมาย เป็นลักษณะของการลงโทษในเชิงจิตวิทยา ควรจะใช้ก็ต่อเมื่อ ใช้ E1 และ E2 ไม่ได้ผล ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมทางบวกยังมีแนวโน้มสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และชักนำให้บรรยากาศรอบข้างไม่เกิดการเรียนรู้ แต่มักจะพบว่า สังคมมักจะเลือกใช้วิธีการนี้เป็นอันดับแรก ๆ ก่อนที่จะใช้ E1 และ E2 ให้เกิดผลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก่อน และวิธีการควบคุมหรือลงโทษยังไม่สอดคล้องกับการกระทำ เช่น นักเรียนมาโรงเรียนสายให้ลงโทษด้วยการให้ล้างห้องน้ำ เพราะหากพิจารณาเหตุผลจะเห็นว่า การที่เด็กมาสายส่งผลต่อการเรียนไม่ทันเพื่อน ดังนั้นการลงโทษควรจะสมเหตุสมผลด้วย เช่น การให้กลับบ้านช้าลง หรือการให้ทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม หรือในกรณีที่คนทิ้งขยะเรี่ยราดแต่ถูกทำโทษด้วยการให้คัดคำศัพท์ส่ง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล การลงโทษควรให้เก็บขยะเพิ่ม หรือทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นต้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครู” “ผู้รู้หรือกูรู้ทั้งหลายนั้น มีการบรรยายหรือจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ที่หมดงบประมาณไปมากมายแต่ไม่รู้ว่าจะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่หากมองจากดัชนี จำนวนผู้ฟังที่มีมากในช่วงเริ่มต้นและหายไปในช่วงท้าย หรือมีคนนั่งหลับแต่คนพูดก็ยังฝืนพูดไป(เพราะกูเป็นผู้รู้) จึงมีแนวทางสำหรับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น หากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นนั้น ควรจะเอา ซีโฟร์ หรือ C 4 ลงเป็นจุด ๆ (ไม่ใช่เอาระเบิด ซีโฟร์ลงบอมส์นะครับ) ซึ่งกระบวนการต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง (risk behv.) เป็นพฤติกรรมเชิงบวก (positive) พฤติกรรมเสี่ยง(Risk behv.) ทั้งหลายนั้นไปตอบสนองต่อทั้ง 4 แนวต่อไปนี้ของวัยรุ่น C 4 ประกอบด้วย

v C1 : Challenging :ความท้าทาย ท้าทายแนวคิด ท้าทายความสามารถ ท้าทายตนเอง ท้าทายกลุ่ม ฯลฯ ทำให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่ เนื่องจากตอบสนองต่อความต้องการทางจิตวิทยาวัยรุ่นเป็นอย่างดี เป็นการสร้างแรงจูงใจจากภายใน

v C2 : Competition : การแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นการแข่งขันกับกลุ่ม แข่งขันกับตนเอง ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง เช่น แข่งกับเวลา แข่งกับกติกา ข้อบังคับ แข่งกับความคิดความรู้สึก แข่งกับความสามารถของตนเองในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ  แต่ไม่ควรเป็นการแข่งขันที่ทำลายความสามัคคีของกลุ่ม การใช้กิจกรรมเพื่อการแข่งขันสามารถใช้กิจกรรมประเภทการแข่งขันของกลุ่มได้ด้วย

v C3 : Creativity : การสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการของการผลิตสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือมีคนทำมาแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายก็ได้ อย่าจำกัดความคิดของเด็กและเยาวชน ว่าความคิดที่เขาคิดมีคนทำเยอะแล้ว แต่ให้โอกาสเขาได้ลองทำด้วยตนเอง เพื่อทำให้เกิดคุณค่า (value) ซึ่งแทนตัวเขาเอง หรือจะแทนกลุ่มของเขาเอง รวมถึงการเลือกกิจกรรมที่ต้องเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ลามก ไม่ละเมิดสิทธิบุคคล ไม่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะบุคคลที่สามที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ

v C4 : Companionship : ความเป็นเพื่อน ความเป็นกลุ่มเดียวกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากได้ทำอะไรร่วมกันกับเพื่อนเป็นหมู่คณะแล้วละก็ มันก็จะเกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุข ความสนุกสนาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาจจะมีจีบกัน กุ๊กกิ๊กกันบ้างตามวัยก็ไม่เป็นไร ควรมองในเรื่องของการพัฒนาอันจะเกิดขึ้นกับลูกหลาน อาทิ เชิงสังคม เชิงแนวคิด เป็นสำคัญ ซึ่งผลดีต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อบุตรหลานในระยะยาว  นั่นหมายความรวมว่า กิจกรรมหนึ่ง ๆ ที่มีความท้าทาย มีการแข่งขัน มีความสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องมีความเป็นเพื่อน มีความรู้สึกที่ดีต่อกันทั้งในระหว่างทำกิจกรรมและหลังจากกิจกรรมสิ้นสุดลง

ในการพิจารณาเลือกกิจกรรมต่างๆ นั้น ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายโดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะต้อง ตอบโจทย์ให้ได้ ว่า เราทำอะไร เพื่ออะไร ควรใช้การควบคุมการปฏิบัติงานด้วยหลักการตั้งคำถาม 5 W 1 H คือ What Where When Why Who How โดยขยายความได้ดังนี้

v  What : เราจะทำอะไร หรือจัดกิจกรรมอะไรบ้าง

v  Where : เราจะทำกิจกรรมที่ไหน ที่สถานที่ใดบ้าง

v  When : เราจะจัดกิจกรรมเมื่อใด เวลาใดที่เหมาะสม

v  Why :  เพราะอะไรหรือมีความจำเป็นใดเราถึงต้องจัดกิจกรรม

v Who : เราจะจัดกิจกรรมให้ใคร ควรมีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง บทบาทของแต่ละกลุ่มแต่ละคนต้องทำอะไรบ้างบ้าง

v  How : เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนแต่ละขั้นตอนอย่างไรทั้งขั้นเตรียม ขั้นดำเนินการ และขั้นสรุปผล

ในระหว่างทำกิจกรรมใด ๆ ควรประเมินสถานการณ์ว่ากิจกรรมนั้นๆ ลื่นไหลหรือไม่ มีข้อจำกัดหรือไม่ ถ้ากิจกรรมไม่ลื่นไหล ไม่ต่อเนื่องก็อย่าฝืน เพราะจะยิ่งทำให้กระบวนการมันฝืด และอีกเทคนิคหนึ่งก็คือ ควรหยุดกิจกรรมหรือเกม เมื่อมีความสนุกสูงสุด เพราะจะทำให้ผู้ทำกิจกรรมมีความรู้สึกเสียดายและอยากเล่นต่อ  ไม่ควรปล่อยให้ผู้ทำกิจกรรมเล่นไปจนถึงจุดอิ่มตัวหรือมีความรู้สึกอยากหยุดเล่นเอง ในการดำเนินกิจกรรมสิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ต้องให้เกิดร่วมกัน คือต้องให้ผู้ทำกิจกรรม เกิดการควบคุมตนเอง (Self control) ควบคุมกิจกรรมได้ ถ้าเป็นกลุ่มก็สามารถให้มีกติกาที่ตกลงร่วมกันได้ขณะทำกิจกรรม ถ้าจะมีการควบคุมตนเองได้หรือมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ตัวกิจกรรม และกระบวนการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความต่อเนื่องระดับหนึ่ง ไม่ใช่นานทีปีหนจัดอบรมหรือจัดกิจกรรมกันครั้งหนึ่งแล้วหวังผลกันข้ามปีหรือตลอดชีวิต เหมือนที่ทำ ๆ กันทั้งข้ออ้างเรื่อง งบประมาณ เรื่องนโยบาย หรือความพร้อมของหน่วยงาน

 

 



ความเห็น (2)

ข้อนี้มันก็โอเค

แต่ถ้าเป็นเด็กอนุบาลจะใช้ได้ไหมค่ะ

.......................

ชื่นชมครับ ขออนุญาตเอาไปถ่ายทอดต่อในหน่วยงานนะครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท