31. สองต้นต่อ 1 คนที่เดลลี


เดลลีพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง

 

 

 

 

       ดิฉันมีโอกาสได้ไปแวะที่เดลลีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ยังมีความชื่นชอบ

เมืองเดลลีอยู่เหมือนเดิม กล่าวคือในตัวเมืองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้เขียว

ชอุ่ม ร่มรื่นสวยงาม  แม้ว่าเมืองกำลังพัฒนา มีการก่อสร้าง มีการขุดเจาะเพื่อ

ทำรถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าบนอากาศ แต่ส่วนที่เป็นต้นไม้ก็ยังคงไว้ ดิฉันมีความ

สุขค่ะกับการเดินทางในเมืองเดลลีเพราะเป็นคนชอบต้นไม้ ชอบความร่มรื่น

ไม่ได้สนใจเรื่องความทันสมัยของตึกรามบ้านช่อง แต่จะสนใจเรื่องความ

สะอาดมากกว่า แม้บางทีต้องนั่งรถตุ๊กๆ ก็ยังรู้สึกสัมผัสได้กับบรรยากาศ

ของความสดชื่นของอากาศ ต้นไม้เหล่านี้นอกจากสร้างความชุ่มชื้นให้เมือง

ร่มรื่น น่าอยู่แล้ว ยังช่วยกรองอากาศเสียได้เป็นอย่างดี หน้าร้อนก็ช่วยบรรเทา

อากาศอันแสนร้อนไปได้บ้าง เพื่อนบอกว่าตอนนี้ดีกว่าเมื่อสิบปีก่อนเยอะ

 อากาศสะอาดขึ้น เราเดินไปตามท้องถนนจะไม่รู้สึกเหม็นฝุ่น ควันรถมากนัก

 หน้าตาไม่ขมุกขมอมมากเหมือนเมื่อก่อน ดิฉันอยากเห็นกรุงเทพฯ และทุก

จังหวัดของเรามีสีเขียวของต้นไม้มากๆ เหมือนที่เดลลี หรือบาหลี เพื่อนเล่าให้

ฟังว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ปลูกต้นไม้ในเมืองเดลลี 2 ต้นต่อหนึ่งคน เพราะ

ฉะนั้นในเมืองจะมีต้นไม้เป็นสิบๆ ล้านต้นทีเดียว ท่านลองเปรียบเทียบดูว่าเมือง

ที่มีแต่ตึกสูงระฟ้าทั้งเมือง กับเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องไม่สูงนักแต่รายล้อมไป

ด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม แบบไหนจะน่าอยู่กว่ากัน โรงงานที่ตั้งในเมืองเคยพ่นควัน

คลุ้งก็พัฒนาระบบการปล่อยควันให้ลดน้อยลงจนไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

 

       ในกลางเมืองตามถนนหลักจะใช้วงเวียนแทนไฟจราจรเพื่อป้องกันรถติด

 เห็นรถประจำทางรุ่นใหม่แบบกรุงเทพฯ วิ่งอยู่บ้างแล้ว ในไม่ช้าจะเข้ามาแทนที่

รถเมล์เก่าๆ ที่วิ่งอยู่ทั้งหมด เดลลีเริ่มพัฒนาให้มีความทันสมัยขึ้นอย่างช้าๆ

 รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินผลิตเอง สร้างเอง ไม่ต้องง้อต่างชาติมาลงทุน อินเดียมี

วัตถุดิบ มีความเชี่ยวชาญในการสร้างรถไฟ เราน่าจะเรียนรู้ด้วยการร่วมมือกับ

เขา หากรถไฟใต้ดินหรือรถไฟฟ้าไทยก็มีแต่ต้องง้อต่างชาติมาทำให้ ทำไมเรา

ไม่ลองเรียนรู้จากอินเดียดูบ้าง หากทำไม่เป็นน่าส่งคนไปหาความรู้มาทำให้ได้

 จริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้ด้อยฝีมือไปกว่าต่างชาติเลย หากแต่รัฐต้องมีนโยบาย

ส่งเสริมให้คนในประเทศผลิตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้เอง ใช้แบรนด์ของไทยเอง

 สนับสนุนให้คนไทยใช้ของไทย ไม่ใช่เป็นเพียงฐานการผลิต การลงทุนร่ำไป

 เมื่อไรคนไทยจะทำงานใหญ่ งานยักษ์ได้เอง??? อย่างนี้ประเทศไทยจะ

กำหนดบทบาทตนเองให้เป็นอย่างไรจึงจะก้าวทันประเทศมหาอำนาจของ

เอเชียอย่างจีนและอินเดียในขณะนี้

 

       ที่เราพากภูมิใจว่าประเทศเรามีจิตบริการที่ดีนั้น ดิฉันว่าเราอย่าคิดเข้าข้าง

ตนเองมากนัก เพราะเพื่อนๆ คนไทยก็ปรารภเรื่องนี้ว่าดูสิบริกรโรงแรมทั้งมอบ

รอยยิ้ม ทั้งให้บริการอย่างเต็มที่ไม่ได้ต่างจากบริการของไทย เพราะฉะนั้น

 ลักษณะพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำกันได้เหมือนๆ กันในการให้บริการ แต่สิ่ง

หนึ่งที่ดิฉันได้รับเสมอจากชาวอินเดียคือ น้ำใจ เขาให้เกียรติแขกที่ไปเยือน

หรือไปหาอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือทุกอย่างจนสุดความสามารถเพื่อให้ภารกิจ

ของเราลุล่วงไปได้ด้วยดี วัฒนธรรมเมืองของเขาเหมือนกับวัฒนธรรมต่าง

จังหวัดของเรา แม้บางทีหน้าตาเขาจะดูเฉยๆ ไม่ยิ้มสยามเหมือนพวกเรา

แต่จิตบริการและความช่วยเหลือผู้อื่น เขามีให้เสมอ แต่คนในเมืองใหญ่

เช่น กรุงเทพฯ จะมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก มีอาณาเขตของตนเองปิดกั้น

ตนเองมาก จนไม่เข้าใจเพื่อนข้ามชาติที่มีความแตกต่าง ใช้เกณฑ์ของตน

ไปตัดสินว่าดี ไม่ดีโดยที่ตนเองไม่เคยเปิดประตูออกไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ

ผู้อื่นเลย คนกรุงเทพฯ เป็นแบบนี้มาก

 

       คนอินเดียจะรับแขกที่บ้าน ชวนไปเที่ยวบ้าน ทานข้าวบ้าน ไกลแสนไกล

ก็อยากพาไป ไปถึงก็พาไปดูบ้านว่าห้องไหนเป็นห้องไหน เขาไม่มีช่องว่าง

ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ทุกอย่างเป็นส่วนกลาง คำถามที่เรารู้สึกว่าเป็นส่วน

ตัวก็คือคำถามธรรมดาที่เขาถามๆ กัน เพราะฉะนั้นท่านต้องเข้าใจในความ

แตกต่างและทำใจให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา อย่าหงุดหงิด ถือสา

 

       คนอินเดียเน้น จิตนิยม มากกว่า วัตถุนิยม เพราะฉะนั้นพฤติกรรม

หลายอย่างสะท้อนออกมาที่การกระทำ การปฏิบัติในวิถีชีวิตควบคู่ไปกับ

คำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

 

-----------------------------------------------

  หากท่านสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เอก

 

 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

  มหาวิทยาลัยมหิดล กรุณาเข้าไปชมรายละเอียด

  ที่ www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2308-14

  ต่อ 3101

หมายเลขบันทึก: 177548เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2008 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.โสภนา

เสียดายที่ไม่ได้เจอกันนะครับ

ผมอยู่ที่ Chanakyapuri

เขตที่ตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงปราชญ์ใหญ่ทางรัฐศาสตร์ของอินเดียที่ชื่อ Chanakya

ร่มรื่นจริงๆ ครับ

อินเดียเข้มงวดกับเรื่องต้นไม้มาก ห้ามตัดโดยเด็ดขาด ถ้าตัดต้องปลูกทดแทนอีกหลายเท่าตัว

ถ้าจะสังเกตุคืออินเดียปลูกต้นโพธิ์แทบทุกถนนและตามที่สาธารณะทั่วไป ภาษาฮินดีเรียกว่า ต้นปีเปิ้ล

อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับเทพ จึงไม่ผิดเลยครับที่ว่าคนอินเดียเน้นจิตนิยมมากกว่าวัตถุนิยม

และด้วยพลังจิตนิยมนี้เอง ทำให้เข้าใจและใช้วัตถุได้ดีไม่แพ้กัน

สิ่งที่คนอินเดียอ่อนด้อยคือการบริหารจัดการในเรื่องของสุขอนามัยของชุมชนและความมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสาธารณะประโยชน์นั้นๆ

จากประสบการณ์ของคุณหมอบุญรุ่งที่ไปเจอมาด้วยตัวเองและสรุปมาได้หนึ่งในนั้นก็ตือคนอินเดียไม่ชอบทำทาน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งนะครับ

ได้ประโยชน์แน่ครับถ้าเรียนรู้จากอินเดียเยอะๆ

เรียน ท่านพลเดช ที่เคารพ

ค่ะ ดิฉันแค่เพียงแวะผ่านไปเท่านั้นค่ะ ไม่ได้อยู่หลายวัน มิฉะนั้นจะไปแวะเยี่ยม

คารวะค่ะท่านทูต และท่านพลเดชด้วย

ดิฉันได้เรียนรู้ในทุกที่ที่ไป สนุกค่ะ การที่คนอินเดียไม่ชอบทำทานเพราะคนแถวนั้นเศรษฐกิจไม่ดีหรือเปล่าคะ แต่ก็เห็นคนอินเดียจำนวนหนึ่งไปวัดชอบทำบุญ คนที่มีฐานะก็บริจาคให้กับสาธารณะกุศลมากทีเดียว

ใช่ค่ะ ดิฉันก็เห็นต้นโพธิ์เยอะมาก ต้นใหญ่ๆ สวยงาม บ้างก็หุ้มผ้าสีแดงไว้ที่โคนรอบๆ ต้นไม้ด้วย ดิฉันเดาว่าเดลลีคงเป็นเมืองหลวงเดียวในเอเชีย (หรือโลก???)ที่มีต้นไม้เยอะมากๆ ทีเดียว ชื่นชอบและชื่นชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท