การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เผชิญความตายอย่างสงบ 1


เหนือความตาย เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

download เอกสาร         

 

หัวข้อการประชุมใน session นี้เป็นการนำความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จาก รพ.ลำปาง รพ.น้ำพอง รพ.เสาไห้ และ รพ.บางไทย มี นพ.ดุสิต สถาวร เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

 

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง

เบญจมาส วงศ์มณีวรรณ          (รพศ.ลำปาง)

 

          โรงพยาบาลลำปางเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 800 เตียง ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 2,000 ราย อัตราการครองเตียงประมาณร้อยละ 75 อัตราตายร้อยละ 3 แต่ในแผนกอายุรกรรมมีอัตราตายร้อยละ 9   ทางโรงพยาบาลจึงมีนโยบายที่จะให้มีแนวทางดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและกลุ่มผู้ป่วยสิ้นหวัง

          การพัฒนาของเราเกิดจากทีมสหสาขา ประกอบด้วยอายุรแพทย์ จิตแพทย์ นักสังเคราะห์ และพยาบาล ร่วมกันดูทั้งผู้ป่วยและญาติ  

          เราพัฒนาจาก clinical practice guideline for palliative care ปี 2004  มีองค์ประกอบ 8 Domain คือ การดูแลทางด้าน(1) ร่างกาย (2) จิตใจ (3) ครอบครัว สังคม (4) จิตวิญญาณ (5) วัฒนธรรม (6) การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (7) พินัยกรรม กฎหมาย และ(8) จริยธรรม

          เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวปฏิบัติสร้างยาก แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือจะทำอย่างไรให้ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของเรา   เมื่อได้แนวปฏิบัติแล้ว ทางทีมของเราเลยสร้างทัศนคติที่ดีเพื่อที่จะให้ทีมของเรานำแนวปฏิบัติไปใช้  

          การสร้างทัศนคติที่ดีเราทำอย่างไรบ้าง ประการแรก เปิดให้แต่ละหน่วยงานทำไปตามบริบทของแต่หน่วยงาน ซึ่งในแต่ละบริบทแบ่งออกเป็นผู้ป่วย acute และ chronic  ไม่ได้ขีดไว้เลยว่าจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้  ทุกคนสามารถทำไปได้ตามบริบท   นอกจากกลุ่มผู้ป่วยที่แตกต่างกันไปแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพแตกต่างกัน  เราก็เปิดให้เขาทำได้อย่างเต็มที่

          หลังจากนั้นที่สำคัญก็คือเรามีหน้าที่ที่จะต้องให้คำแนะนำปรึกษา โดยคำนึงถึงหลักยึดของศาสนาของแต่ละศาสนา   เราจะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละศาสนา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งศาสนาคริสต์จะมีทั้ง 2 นิกาย  เราจะมีเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถจะติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีบาทหลวงทั้ง 2 ศาสนาที่จะมาให้ความช่วยเหลือเมื่อเรา

          ปัญหาซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในการปฏิบัติคือ 1. เราจะดูแลอย่างไรกับผู้ป่วย  2. ผู้ปฏิบัติจะมีความเครียดค่อนข้างสูง   ผู้ที่จะเป็นพี่เลี้ยงก็จะมีวิธีแก้ไขเพราะเคยผ่านประสบการณ์   จะมีเวทีให้พี่ ๆ ช่วยเหลือน้อง ๆ  ถ้าน้อง ๆ มีปัญหา   เราจะช่วยให้น้อง ๆ พากันผ่านพ้นภาวะวิกฤติของตัวน้อง ๆ เองในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

          พอเราทดลองใช้ไปประมาณ 1 ปี เราก็จะพบกันอีกทีว่าทดลองใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง   เราเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นแล้วก็ปรับแก้แนวปฏิบัติของเรา ปรับแก้ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติของเรา 

          กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งคือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เราทราบหลาย ๆ อย่าง   เราค้นพบเพชรเม็ดงามในหน่วยงานของเราซึ่งเราไม่คาดคิดมาก่อนว่าบุคคลคนนี้จะสามารถเป็นพี่เลี้ยงของเราได้   เราพบวิทยากรในหน่วยงานของเราอีกหลาย ๆ ท่าน   ปกติในการพัฒนาเราจะไปศึกษาดูงานในแหล่งต่าง ๆ ว่าที่ไหนทำอย่างไร   แต่จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เราพบหน่วยงานที่เราสามารถดูงานในโรงพยาบาลของเราเอง บางทีทำได้ดีกว่าหลาย ๆ หน่วยงานในโรงพพยาบาลอื่นที่เราเคยไปดูมา ซึ่งเราไม่ทราบมาก่อนว่าโรงพยาบาลของเรามีหน่วยงานที่ทำได้ดีอย่างนี้   เราก็จะเกิดการดูงานในโรงพยาบาลของเราเอง และเกิดพี่เลี้ยงในโรงพยาบาลของเราเอง

          หลังจากได้คามรู้และสิ่งต่าง ๆ จากการทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราก็มาสร้าง web board ในโรงพยาบาลของเรา   ใน web ตรงนี้เราจะให้ความรู้ที่ได้จากการจัดประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วก็มีบุคลากรที่รับผิดชอบที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ มาให้กับความรู้กับเจ้าหน้าที่ของเรา

          อีกอย่างหนึ่งที่เราทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้อย่างต่อเนื่องก็คือการจัดประชุม journal club ในการประชุมจะนำเอางานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาแลกเปลี่ยนกัน  ตรงไหนที่เห็นสมควรก็จะจัดเข้าไปใน web board แล้วก็มาปรับแก้แนวทางในการปฏิบัติของเราต่อไป

          บรรยากาศเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเรา ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน ทุกคนมีโอกาสที่จะพูด จะคุยออกมา  บางงานประชุม น้องๆ จะไม่ไม่กล้าพูด อยากพูดแต่ไม่กล้าพูด   แต่ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุก ๆ คนยกมือพูดและมีปัญหาพร้อมกัน ปกติเราจะ set เวลาไว้หนึ่งหรือสองชั่วโมง ปรากฏว่าบางทีเลยถึงสามสี่ชั่วโมง คือทุกคนยังมีปัญหาสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อ

          guideline ของเราประกอบด้วย 8 domain ตอนพัฒนาเราพัฒนาแค่ 6 domain ส่วนข้างหลังคือพิธีกรรม กฎหมาย และจริยธรรม เรายังไม่ได้พัฒนา การพัฒนา domain พินัยกรรม กฎหมาย เรามาพัฒนาหลังจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โดยเราใช้วิทยากรของเรา ตรงกฎหมายและพินัยกรรม เราใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลของเราที่เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย หมอนิติเวช และนักกฎหมายของเรามาช่วยเป็น key person กับเจ้าหน้าที่

          หลังจากที่เราไปให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ปรากฏว่าเราพบปัญหาด้านกฎหมายค่อนข้างมาก วันนั้นเรา discuss กันนาน หลังจากนั้นได้แนวทางปฏิบัติออกมาอีกที

          การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยหนักญาติบางคน ถ้าเราไม่คุยกับเขา เขาจะไม่ทราบว่า ผู้ป่วยแบบนี้เขาควรจะมาเยี่ยมอย่างไร   บางคนไปยืนอยู่ไกล ๆ กุมมือ ส่งสายตาให้กัน    เราก็จะไปบอกเขา จัด unit ให้เขา เอาอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไป จัด space ให้เขาเข้าไปหากันได้ แนะนำให้เขาจับ ให้เขาสัมผัส ให้เขาพูดคุย   บางคนก็ไม่ค่อยกล้า เราเคยอาจารย์ระดับท่านผู้ใหญ่มาเยี่ยมภรรยาผู้เป็นที่รักมาก เขาก็ไม่กล้าเข้ามาสัมผัส ได้แต่ส่งสายตาส่งยิ้มให้กัน   เราก็บอก เราก็กั้นม่านให้ เราก็บอกว่า อาจารย์คะ อาจารย์จะกอดก็ได้นะคะ อาจารย์จะคุยยังไงก็ได้  คือบาง case เขาไม่กล้า   บาง case เราไม่ต้องบอก เขาก็กล้าแสดงออก ไปหอม ไปสัมผัส ไปกอดกันอยู่แล้ว อันนี้เราก็เปิด แต่เราก็ต้องจัด unit ให้เขาอยู่เป็นส่วนตัวมากที่สุด 

          หลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเรามีการขอขมาผู้ป่วย   การขอขมานี้จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วย จัดดอกไม้ ธูป เทียน   กรณีที่เราสามารถจับมือผู้ป่วยพนมมือได้ เราก็จะจับมือผู้ป่วยพนมมือด้วย   แล้วเราก็จะกล่าวขอขมา ยืนสงบจิตใจ 1 นาที   หลังจากเราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีเจ้าหน้าที่เราเสนอแนะว่า เราน่าจะแต่งหน้าศพด้วย   หลังจากนำมาใช้ ปรากฏว่าญาติๆ ของผู้ป่วยหญิงแทบทุกรายจะขอให้เราแต่งหน้าศพให้   พอเราแต่งหน้าศพ แต่งตัวแล้ว ผู้ป่วยจะเหมือนผู้ไม่เสียชีวิตคะ เหมือนยังคงมีชีวิตอยู่ เห็นรอยยิ้มเล็ก ๆ แอบแฝงอยู่ในศพทุก ๆ ศพที่เราได้จัดการให้   บาง case เราไม่คาดคิดว่าญาติของผู้ป่วย อายุ 60 กว่า 70 กว่า ก็ต้องการให้เราแต่งหน้าศพให้  

          จากที่เราปฏิบัติมาผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ระดับความพึงพอใจของเราเพิ่มขึ้น มีการบริจาคเงินและอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาล และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือรอยยิ้มหลังความตายของผู้ป่วยและญาติ   ถ้าเรามองดี ๆ ก็คือ ศพของเราหรือผู้ป่วยของเรา จะมีรอยยิ้มแฝงอยู่ด้วย

          นี้อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่ผู้บริหารต้องการ เราพบว่ามีอัตราการไม่ของช่วยคืนชีพ 30 – 50 %   ซึ่งเราจะประหยัดไปรายละประมาณ 5,000 – 18,000 บาท

          ต่อไปนี้เป็นผลลัพธ์จากการสัมภาษณ์พยาบาลผู้ได้นำแนวปฏิบัติของเราไปใช้

          นี้เป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานมา 20 ปี   เราจะได้รับการสั่งสอนมาตลอดว่าการดูแลผู้ป่วยของเรา เราจะดูแลแบบองค์รวม   เขาก็จะบอกว่าพี่เขาปฏิบัติงานมา 20 ปี ตอนนี้ล่ะที่เขาได้ดูแลผู้ป่วยองค์รวมจริง ๆ ได้ดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และจิตวิญญาณ   เมื่อได้ดูผู้ป่วยและญาติได้ผ่านพ้นความทุกข์ เราก็จะรู้สึกสุขใจไปด้วย

          นี้เป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานมา 7 ปี เคยผ่านประสบการณ์การนั่งสมาธิมาก่อน เขาก็บอกว่าช่วงที่เขาขอขมาผู้ป่วยนี้ เขารู้สึกปิติ เหมือนตอนที่เขาไปนั่งสมาธิ

          นี้เป็นพยาบาลเทคนิค ปฏิบัติงานมา 24 ปี ผ่านวิกฤติที่ลูกชายคนเดียว อายุ 10 กว่าปี เสียชีวิต   เขาบอกว่ามีผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาเขาจะรู้สึกสงสารญาติ เพราะเขารู้สึกผ่านพ้นภาวะวิกฤติมาก่อน ตัวเองเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียเช่นกัน จึงให้การพยาบาลเหมือนเขาเป็นญาติ เมื่อได้ขอขมาและปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเขาจะรู้สึกดีตามไปด้วย

          เราจะอนุญาตให้ญาติผู้ป่วยช่วยอาบน้ำศพให้ เพราะบางทีมีญาติ หรือลูก หลานที่อยู่ห่างไกลพ่อแม่ ที่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่เลย การได้อาบน้ำให้กับศพถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะได้ทำการดูแลพ่อหรือแม่ เป็นคำพูดของญาติที่พูดกับพยาบาลขณะช่วยกันอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพ

          นี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งเราจะแจ้งข้อมูล prognosis ตลอด ต่อไปคุณพ่อเขาจะเป็นอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอนอยู่ตลอด  เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเขาบอกเราว่า เหมือนกับที่พยาบาลบอกเลยพี่พยาบาลได้บอกเขาไว้ก่อน ว่าพ่อเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ทำให้เขาได้สั่งลากับพ่อของเขา

          นี้เป็นผู้ป่วยของเราซึ่งตอนเช้ายังใส่บาตรดี ๆ อยู่เลย ปรากฏว่าช่วงบ่ายผู้ป่วยก็ arrest  เราก็ให้ญาติผู้ป่วยอาบน้ำศพกับเรา เขาก็พูดทั้งน้ำตาขณะที่ช่วยอาบน้ำศพกับเราว่า ดีที่พ่อได้ทำบุญก่อนตาย

          นี้เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 70 กว่าปีที่เรากล่าวไป เราให้เพื่อนที่เหมือนเป็นญาติอายุคราว ๆ เดียวกัน ก็มาช่วยอาบน้ำศพเขาก็ว่า ผู้ป่วยสั่งเขาไว้ตลอดว่า ให้แต่งหน้าให้ด้วย หลังเสียชีวิต เขาก็บอกว่าได้สวย ได้หอม สมกับใจเขาแล้วล่ะ

          นี้เป็นการสอบถามผู้ป่วยหลังจากที่เขาได้ใส่บาตร เป็นผู้ป่วยชายอายุ 82  ปี เป็น end stage ของโรค BP 80/50  เขาขอไม่ใส่ endotracheal tube ปฏิเสธการใส่ เพราะเคยผ่านมาแล้ว เขาเคยบอกว่าเขาขอไม่ใส่ และเขาก็พูดคุยกับญาติ ญาติก็ยินยอม   ที่นี้พอหลังใส่บาตรถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง เขาบอกว่ารู้สึกดี เพราะปกติตอนเขาไปไหนมาไหนได้ เขาจะใส่บาตรตลอดทุกวันเป็นประจำ ไม่ได้ใส่บาตรมาแล้วเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากเจ็บป่วยมา

          นี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดแล้วมาโรงพยาบาลของเรา ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ช่วงที่ใส่บาตรเราจะบอกผู้ป่วยตลอดว่า ตอนนี้พระมาบิณฑบาตรนะ ตั้งจิตทำบุญนะคะ เดี๋ยวพยาบาลจะนำให้ เราก็เอาของใส่บาตร แล้วให้เขาไหว้ แล้วให้เขาตั้งจิตอธิษฐาน แล้วก็ถ่ายรูปไว้ ให้สามีเขาดู สามีเขาบอกว่าโรงพยาบาลบ้านผมเขาไม่มีแบบนี้ ถ้าทุกที่ทำได้อย่างนี้ก็คงจะดี

ขอบคุณคะ

 

 

พ.อ.นพ.ดุสิต  สถาวร

          อันนี้เป็นตัวอย่างแทบจะสมบูรณ์แบบ ในแนวทางที่จะพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  คุณเบญจมาสได้เล่าตั้งแต่เรื่องของการหาองค์ความรู้ เอาแนวทางที่มีอยู่แล้วมาให้สอดคล้องกับบริบทของเรา แล้วก็ปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แล้วก็ยังคงยึดบริบทของสภาพผู้ป่วยของแต่ละหอ

          การที่มีตัวช่วยเป็น resource person ของแต่ละศาสนา ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละศาสนาก็มีความสำคัญที่จะ available ให้ปรึกษาได้  7 - 24 - 365 อันนี้นะครับ

          การที่มีกระบวนการจัดให้มีการเรียนรู้ ทุก ๆ ตึก มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้โรงพยาบาลำปางเองได้เรียนรู้ ไม่ต้องไปดูงานที่ไหน แค่ไปเรียนรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ก็สามารถที่จะได้ความรู้เพิ่มเติมแล้วนะครับ

          เรื่องของการดูแลแบบองค์รวมนี้น่าสนใจมาก จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบของการที่จะใช้ความคิดริเริ่ม การนำเอาความละเอียดอ่อนการความเป็นมนุษย์มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

          ผมคิดว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากตัวชี้วัดนี้ สิ่งหนึ่งที่คุณเบญจมาสกำลังจะบอกคือการได้ไปสัมภาษณ์ผู้คนต่าง ๆ  ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ของผู้ป่วยและญาตินี้ ทำให้เราเห็นว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทางด้านจิตวิญญาณ เป็นอะไรที่เราตีค่าไม่ได้ มันสะท้อนกับวิชาชีพของเราเอง

          อันนั้นก็คือประสบการณ์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่   วิทยากรท่านที่ 2 ที่ผมจะเรียนเชิญนี้เป็นประสบการณ์อีก setting หนึ่งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก  แต่ก็มีความคิดที่จะทำให้กระบวนการในจะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ขอเรียนเชิญ คุณวิมลนันท์เลยครับ

 

ความตายกับหัวใจของการให้

วิมลนันท์ ทรัพย์วราชัย (โรงพยาบาลน้ำพอง)

 

          โรงพยาบาลน้ำพองเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นประมาณ 30  กิโลเมตร  เป็นโรงพยาบาลที่ดำเนินงานตามนโยบายของโรงพยาบาลวิถีพุทธ มุ่งเน้นให้เข้าถึงประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึง

          ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โรงพยาบาลน้ำพองได้ดูแลผู้ป่วยทั้งในตึกผู้ป่วยในและในชุมชน แต่ว่าเป็นการดูแลแบบแยกส่วนกัน เมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน โรงพยาบาลชุมชนก็จะส่งต่อ พยาบาลในตึกที่เคยดูแลผู้ป่วยอยู่แล้วนี้จะไม่ได้ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง   ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายดีพอ ก็จะไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเลย อีกทั้งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องใช้เวลา และมีศิลปะในการเข้าถึงปัญหา และความต้องการของผู้ป่วย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และการดูแลแบบองค์รวมตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งเสียชีวิต

          การส่งต่อด้วยคำพูด หรือการส่งต่อรายละเอียด หรือสภาพปัญหาเป็นการส่งต่อที่ง่าย   แต่ว่าความเข้าใจอย่างลึกซื้งเกิดจากที่เราเห็นปัญหาเข้าไปช่วยเหลือ มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมและการสร้างสัมพันธ์ภาพตั้งแต่เริ่มต้น จนเกิดความไว้วางใจที่ผู้ป่วยและญาติมอบให้นั้นควรต้องได้รับการสานต่อมิใช่เพียงต้องการส่งต่อ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติ   ด้วยวัฒนธรรมความตายของพื้นถิ่นอีสานมักนำผู้ป่วยกลับเสียชีวิตที่บ้าน โรงพยาบาลน้ำพองจึงจัดให้มีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้น เปลี่ยนจากการส่งต่อเพิ่มเป็นการสานต่อด้วย   พยาบาลผู้ป่วยในดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งผู้ป่วยกลับบ้าน มีการติดตามทางโทรศัพท์เป็นระยะ ๆ แล้วก็ส่งต่อ   จากที่เคยทำ discharge plan ก็เปลี่ยนมาใช้ทางโทรศัพท์กับพยาบาล PCU และมีการส่งต่อใน 2 ทาง เมื่อพยาบาล PCU ส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับมาในโรงพยาบาล ก็จะมีการพูดคุยกันเป็นระยะ

          หลังจากพูดคุยกับพยาบาล PCU ทางโทรศัพท์แล้ว ได้พูดคุยกับญาติผู้ป่วยและผู้ป่วยแล้ว เราก็ออกเยี่ยมบ้านด้วย เกิดการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลน้ำพอง   มีพี่สุภาพร สิงหาวงศ์ เป็นประธาน  มี ผอ.วิชัย อัศวภาพเป็นผู้สนับสนุน  พี่สงวนจิต นุตาดี เป็นผู้สนับสนุน คอยการช่วยเหลือ   ก่อนจะเล่าเรื่อง ขอขอบคุณพี่ทีมงานที่สนับสนุน มีพี่เข็มทอง หน่อสีดา, ณัชนนท์ ผุยนวล, คุณหมอ หว๋า ซึ่งมาให้กำลังใจสนับสนุนในวันนี้

          ตอนนี้ขอเริ่มเรื่องเลยนะคะ จะยังไม่มี slide ให้ดู  จะเป็นการเล่าเรื่องก่อน ต่อจากนั้นจึงจะมี slide เป็นภาพนิ่งประกอบเพลงให้ชมกัน   เรื่องที่เราจะเล่าในวันนี้ จะเป็นเรื่องความตายกับการหัวใจของการให้

          ในกลางเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายคนหนึ่ง เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 45 ปี มีแผลขนาดใหญ่ลุกลามเป็นวงกว้างจากบริเวณเต้านมขวาไปจนถึงหัวไหล่ ต้นแขนขวา รักแร้ จนไปถึงต้นคอด้านหลัง   แผลที่บริเวณด้านหน้าของไหล่ขวามีลักษณะเป็นหลุมลึกจนเห็นกระดูกไหปาร้า มีเลือดไหลซึมจากแผลเป็นระยะ ๆ และมีกลิ่นเหม็น   การอักเสบของแผลที่ขยายเป็นวงกว้างทำให้แขนขวาของเธอบวมใหญ่จนไม่สามารถขยับเองได้   นอกเหนือจากความเจ็บป่วย และทรมานจากบาดแผลแล้ว เธอยังเหนื่อยหอบจากอาการน้ำท่วมปอด ที่เป็นผลมาจากเนื้อร้ายที่แพร่กระจายไปที่ปอดด้วย

          แรกที่เห็นเธอ ฉันรู้สึกสงสารและคิดในใจว่า เธอช่างเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีความอดทนสูงจริงๆ   เธอทำให้ฉันยิ่งเห็นใจเธอมากขึ้นไปอีก ทุกครั้งที่เราให้การพยาบาล เธอจะยิ้มให้เรา เธอจะไม่เคยร้อง ไม่เคยบ่นว่าเจ็บปวด   ตลอดเวลาที่เธออยู่ในโรงพยาบาล เธอมีทั้งแม่ พี่สาว สามี และลูกชายของเธอ ที่ดูแลอย่างไม่ห่าง   คงเป็นเพราะความดีของเธอกระมังที่ทำให้ทุกคนรักและเอาใจใส่เธอขนาดนี้   คุณแม่ของเธอบอกว่าเธอเป็นลูกสาวที่ดีและเป็นคนเดียวในจำนวนพี่น้องทั้ง 7 คนที่คอยดูแลแม่เสมอ เนื่องจากคนอื่นแยกย้ายไปมีครอบครัวที่อยู่ห่างไกล   แม่รู้ดีว่าอีกไม่นานนี้ลูกสาวสุดที่รักจะต้องเสียชีวิตลง   เมื่อถึงวันนั้นตนยอมรับได้ แต่ช่วงเวลาที่ลูกสาวทุกข์ทรมานก่อนจะเสียชีวิตนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้หัวใจของแม่ปวดร้าวและเหมือนจะแตกดับ

          เมื่อเรารู้ถึงความรู้สึกของแม่แล้ว เราก็ต้องเข้าไปดูแลเยียวยาจิตใจของคุณแม่ พูดคุยกับคุณแม่ประจำสม่ำเสมอ   ในขณะที่พูดคุยถึงลูกสาว คุณแม่ของเธอมักจะมีน้ำตาริ้นในดวงตาและเอ่อล้นจนรินไหล   ฉันจับมือแม่ของเธอแล้วบอกว่า เราจะช่วยกันดูแลเธอนะคะ หนูรู้ว่าแม่เสียใจ แต่ถ้าร้องไห้ให้เธอเห็นบ่อยๆ  เธอจะเป็นห่วงและจากไปอย่างไม่สงบ   ถ้าอยากร้องไห้มาร้องไห้กับหนูนะคะ แล้วหนูจะเป็นกำลังใจให้   ลูกสาวของแม่เป็นคนดีที่เข้มแข็ง สามีของเธอเคยบอกกับหนูว่า เธอเป็นคนใจดี ชอบทำบุญ รักเพื่อน รักพี่น้อง   หนูมั่นใจว่า บุญที่เธอสะสมมาจะทำให้เธอจากไปอยู่ในที่ดี ๆแม่ของเธอยกมือไหว้ฉัน ฉันรีบยกมือไหว้ตอบ และกุมมือทั้งสองไว้ในอุ้มมือ ถ้าส่งถ่ายความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ   นี่คือตัวอย่างของการดูแลจิตใจของญาติผู้ป่วยอย่างหนึ่ง  

          ในเรื่องของสามีของเธอ เป็นสามีคนที่สองที่ไม่ได้มีลูกด้วยกัน   สามีของเธอบอกว่าทำใจไม่ได้ที่เธอจะจากไปรวดเร็วขนาดนี้ เธอเป็นผู้หญิงที่เก่ง ขยันทำงาน คอยช่วยเหลือสามีในวันที่สามีประสบความล้มเหลวและทำงานหนักมาด้วยกัน   แต่วันนี้ ในวันที่ฐานะเริ่มดีขึ้น เธอกลับอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถมีโอกาสจะมีความสุขกับเงินทองที่หาและบ้านที่สร้างมาด้วยกันได้

          ขั้นต่อไปคือต้องเยียวยาหัวใจของสามี   ทางทีมก็ให้กำลังใจกับสามีของเขาว่า ที่คุณมาอยู่ดูแลเธอและแสดงความห่วงใยเธอมากขนาดนี้ คุณทำได้ดีแล้วค่ะ ดีมาก ๆ ด้วย   เราอาจจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้   แต่ในวันนี้และขณะนี้ พยาบาลเชื่อว่าเธอจะต้องเห็นแล้วว่าคุณเป็นสามีที่ดี เธอคงพอใจเพราะฉันเห็นแววตาของเธอมีความสุข และเป็นประกายทุกครั้งที่คุณมาดูแลเธอ   ทำช่วงเวลาต่อจากนี้ไปให้ดีที่สุดจนวาระสุดท้ายของชีวิต แล้วคุณจะเห็นได้เองว่าเธอมีความสุขจริง ๆ  

          สามีเธอนิ่งฟัง และมีแววตาที่บ่งบอกว่ากำลังคิดตาม ก็เป็นช่วงจังหวะที่เราจะให้ครอบครัวเขาเยียวยากันเอง   เราพบประเด็นปัญหาอย่างหนึ่งว่า ผู้ป่วยเป็นห่วงลูกชายมาก เราก็เลยพูดต่อว่า เธอยังเป็นห่วงลูกชายนะคะ คุณพอที่จะทำให้เธอหายห่วงหายกังวลเกี่ยวกับลูกชายได้ไหมคะ   สามีเธอพอมีกำลังใจจากที่เราให้กำลังใจแล้ว เขาก็รับปากว่าเขาจะดูแลลูกชายของผู้ป่วย   ได้ครับ ผมก็บอกเธอแล้วว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเขาก็เหมือนลูกชายของผมเหมือนกัน อยากได้บ้านหรือรถคันไหนก็เอาไปได้เลย และผมจะบอกเธออีกว่า ผมจะคอยดูแลเขาเอง

          หลังจากนั้นเราก็มาดูลูกชายของผู้ป่วย   เป็นลูกชายคนเดียวจากสามีคนแรกที่แยกทางกันไปแล้ว บอกว่า ทำใจมานานแล้ว และพยายามจะดูแลแม่ให้ดีที่สุด ถ้าไม่มีแม่ก็จะเรียนให้จบโดยเร็วและหางานทำ รับผิดชอบตัวเองให้ได้  เราเคยพูดคุย แล้วก็เคยให้หนังสือการเผชิญความตายอย่างสงบไปอ่าน เขาก็อ่าน และทำความเข้าใจได้ดี เพราะเขาเป็นเด็กวัยรุ่นที่ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ   เราได้พูดคุยกับลูกชายของผู้ป่วย และก็แนะนำว่าให้ลูกชายของผู้ป่วยบอกกับผู้ป่วยว่าไม่ต้องเป็นห่วง ลูกชายจะสามารถดูแลตัวเองได้หลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว

หมายเลขบันทึก: 177307เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2008 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วรู้สึกดีคะ

ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ มีเวลาให้กำลังใจและช่วยเหลือ แต่ในผู้ป่วย เส้นเลือดในสมองแตกขณะอยู่ใน ไอซียู จะทำอย่างไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท