การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ๑๗: ความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับการศึกษา


ต้องพยายามทำความเข้าใจ

 

ในรายงานผลการประเมินฉบับที่ 3 (IPCC, 2001) ให้คำจำกัดความและการเชื่อมโยงของคำ 5 คำ ได้แก่  

สภาพที่เปลี่ยนแปลงไป Exposure to climate change = การที่ระบบได้รับการกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งจากรายงาน AR4 (IPCC, 2007) รายงานว่าแต่ละพื้นที่ของโลกจะได้รับการกระตุ้นแตกต่างกัน ทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นในระดับมากกว่าพื้นที่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นในอัตราแตกต่างกัน และปริมาณน้ำฝนมีความแตกต่างกันในบางพื้นที่มีฝนมากขึ้นและบางพื้นที่มีฝนลดลง

ความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง Sensitivity to climate change = ความอ่อนไหวทางตรงและทางอ้อมของระบบที่ได้รับจากการกระตุ้นของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตัวอย่างของผลในทางตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงของผลผลิตพืชเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุดของอุณหภูมิ หรือในทางอ้อมหรือผลกระทบขั้นที่สอง เช่น ภาวะน้ำท่วมของพื้นที่ชายฝั่งทะเลเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นต้น 

ผลกระทบที่น่าจะเป็น Potential climate impacts = หมายถึง อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบธรรมชาติและชุมชนมนุษย์ในทางบวกหรือทางลบ เช่น การลดลงของผลผลิตพืชในช่วงอนาคตเมื่อเทียบกับช่วงปีฐาน (1980-1989) เป็นต้น

ความสามารถในการปรับตัว Adaptation Capacity = หมายถึง ความสามารถการปรับตัวของระบบธรรมชาติหรือระบบชุมชนในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวมีหลายแบบ เช่น anticipatory and reactive adaptation, private and public adaptation, and autonomous and planned adaptation ความสามารถในการปรับตัว (AC) ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ Social resources, Institutional, Human, Economic, และ Natural resources

ความเปราะบาง Vulnerability = หมายถึง ระดับของความอ่อนแอหรือความไม่มั่งคงหรือความไม่สามารถของระบบในการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (adverse effects of climate change) ทั้งในด้านความแปรปรวนและสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (Extremes) ความเปราะบางเป็นผลรวมของลักษณะต่าง ๆ ของระบบ ความอ่อนไหว และความสามารถในการปรับตัวของระบบเมื่อประสบภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น กรณีขับรถจักรยานยนต์ขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งมีเส้นทางคดเคี้ยว ในขณะที่กำลังขับขึ้นไปนั้นปรากฏว่ามีเหตุการณ์รถบรรทุกทำน้ำมันเครื่องหกราดถนน ทำให้สภาพของผิวจราจรเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติ กล่าวคือรื่นไหลได้โดยง่าย กรณีนี้ผู้ขับจักรยานยนต์มีความเปราะบางค่อนข้างสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่ในอีกมุมหนึ่งหากผู้ขับจักรยานยนต์ลดความเร็วลง ย่อมส่งผลให้ความเปราะบางต่อการเกิดอุบัติเหตุลดลงด้วย ในกรณีซึ่งผู้ขับจักรยานยนต์คันที่สองซึ่งขับตามหลังมาหลายนาที มีการเตรียมตัวเพิ่มขึ้น ก็สามารถลดความเปราะบางของเขาอันอาจจะเกิดจากสภาพถนนที่มีน้ำมันหกราดทั่วถนน ในกรณีของผู้ขับจักรยานยนต์คันที่สามซึ่งขับตามหลังมาหลายสิบนาที ยิ่งมีการเตรียมตัวเพิ่มขึ้น ก็สามารถลดความเปราะบางของเขาอันอาจจะเกิดจากสภาพถนนที่มีน้ำมันหกราดทั่วถนน ได้มากกว่าสองกรณีแรก เป็นต้น

ตามหลักการของการวิเคราะห์ระบบนิเวศน์หรือการวิเคราะห์พื้นที่ทำให้นำคำศัพท์ใหม่นี้บูรณาการเข้าไปให้ได้ภาพการวิเคราะห์จากประเด็นเรื่องโลกร้อน คำศัพท์เดิมที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของระบบนิเวศน์ได้แก่ผลิตภาพ (Productivity) เสถียรภาพ (Stability) ถาวรภาพ (Sustainability) และความเสมอภาค (Equity)ยังเป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบายและวัดระบบเกษตรและระบบนิเวศน์ได้เหมือนเดิม สิ่งที่นักวิชาการเกษตรต้องดำเนินการได้แก่การเติมศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนเข้าในระบบการจัดเก็บข้อมูลการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือศึกษาให้ช่วยการปฏิบัติงานวิจัยให้สามารถมองได้ครบ 360 องศาของประเด็นโลกร้อน การเกษตร การผลิตอาหาร ความหลากหลาย และการดูแลสิ่งแวดล้อม การเพิ่มเติมคำศัพท์เหล่านี้เรียกว่าเป็นยกสองของการทำงานวิจัยพัฒนาเชิงระบบก็น่าจะได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาโดยใช้แนวทางระบบศาสตร์และเพิ่มเติมประเด็นภาวะโลกร้อนอาจจะต้องสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากความเข้าใจคำศัพท์ ได้แก่ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานของวงการที่ใหญ่กว่าภาคการเกษตร เพื่อสะดวกในการสื่อสารการต่อเชื่อมข้อมูลและองค์ความรู้ในรูปแบบของฐานข้อมูลและแบบจำลองระบบ ตลอดจนวิธีการและเครื่องมือ

<><><><><><><>

2008-04-14

อรรถชัย, เชียงใหม่

อ่านทั้งชุด

หมายเลขบันทึก: 176835เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2008 06:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท