ปาล์มน้ำมัน พืชแห่งพลังงานทดแทน


ปาล์มน้ำมัน โคลนนิ่ง เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ล์มน้ำมัน พืชแห่งพลังงานทดแทน

              ปาล์มน้ำมัน  Elaeis  guineensis Jacq. เป็นพืชน้ำมันอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในระดับโลก ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่มากกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ  เป็นพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นทั้งด้านการผลิตและการตลาด ส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันพืชของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีการนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่  มาการีน ไขมันและน้ำมันทอด วิตามินอี เนยขาว วานาสปาติ ครีมเทียม อุตสาหกรรมอาหาร สบู่ หรือใช้แทนน้ำมันดีเซล ปัญหาที่พบในกระบวนการผลิตปาล์ม คือ การปลูกปาล์มน้ำมันที่เก็บเมล็ดจากโคนต้นปาล์ม ซึ่งเป็นพันธุ์ปลอม ทำให้ปาล์มน้ำมันที่ปลูกมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมสูง ให้ผลผลิตทะลายสดต่อไร่ต่อปีต่ำกว่าการปลูกปาล์มพันธุ์ดี ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม การผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันคุณภาพสูง มีมาตรฐานปลอดโรค เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

            การโคลนนิ่งพืช (Plant Cloning) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์พืชปลอดโรค ผลิตต้นกล้าที่มีความตรงตามสายพันธุ์ ได้ปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว คำว่าโคลนนิ่งพืชเป็นคำที่มีความหมายเหมือนคำว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ปัจจุบัน ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันในต่างประเทศมีความก้าวหน้า และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงการค้า เช่น บริษัทเอกชนที่ผลิตกล้าปาล์มน้ำมันในคอสตาริก้าได้ผลิตต้นปาล์มน้ำมันพันธุ์คอมแพ็ค ส่งจำหน่ายไปทั่วโลก รวมทั้ง นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

            ดร. อรดี (2539) กล่าวไว้ว่า “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช คือ การนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช ไม่ว่าจะเป็น อวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ หรือเซลล์ที่ไม่มีผนังที่เราเรียกว่า โปรโตพลาสต์ มาเลี้ยงในอาหารวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย แร่ธาตุ น้ำตาล ไวตามิน และสารควบคุมการเจริญเติบโตในสภาพปลอดเชื้อ จุลินทรีย์และอยู่ในสภาวะควบคุมสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ แสง และความชื้น ส่วนของพืชเหล่านี้มีการเจริญเติบโต และพัฒนาได้หลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ในทีสุด ก็สามารถบังคับให้เกิดเป็นต้นได้เป็นจำนวนมาก

ประวัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

         นับตั้งแต่ Schwann และ Schleiden ได้ตั้งทฤษฎีเซลล์ (cell theory) ในปี ค.ศ. 1839 ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่า เซลล์ (cell) จากทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้พยายามเลี้ยงเนื้อเยื่อของคนและสัตว์ เพื่อที่จะให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นสามารถพัฒนาไปเป็นคนหรือสัตว์ที่สมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานที่ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็พบว่า เนื้อเยื่อคนและสัตว์สามารถเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนได้               การทดลองเลี้ยงเนื้อเยื่อในสมัยเริ่มแรกนั้น จะเป็นงานที่ทำกันในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของพืชสามารถที่จะพัฒนาไปเป็นต้นใหม่ได้ แต่งานทดลองทางด้านเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ตรงกันข้ามได้มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ ได้พยายามศึกษา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 50 ปีมานี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำเทคนิคการเลี้ยงเนื้อเยื่อมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการค้ากับพืชหลายชนิด

                จากแนวคิดอันนี้ ทำให้ ในปี 1902 ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Heberlandt ได้ทดลองเลี้ยงเซลล์สีเขียวของพืชขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 1922 Kotle ได้ทดลองเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนปลายรากของมะเขือเทศในอาหารเหลว (liquid media) ที่เติมเกลืออนินทรีย์ (inorganic salts) และน้ำตาลกลูโคส พบว่า เนื้อเยื่อของรากมะเขือเทศมีการเจริญยาวขึ้น แต่เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่งการเจริญเติบโตก็ลดลง การทดลองในช่วงระยะเวลานี้ประสบความสำเร็จอยู่เพียงว่า เนื้อเยื่อสามารถมีชีวิตรอดเท่านั้น (ชลิต, 2532)

                ต่อมา ในปี 1934 White ได้เลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนปลายรากมะเขือเทศบนอาหารวิทยาศาสตร์ที่เติมเกลือแร่, สารสกัดจากยีสต์ (yeast extract) และน้ำตาลที่สกัดจากอ้อย รากของมะเขือเทศที่เลี้ยงบนอาหารดังกล่าวได้มีการเจริญเติบโตดี

               นอกจากจะเป็นประโยชน์จากเทคนิคการเลี้ยงเนื้อเยื่อในแง่วิชาการเกษตรแล้ว เทคนิคนี้ยังมีประโยชน์ในสาขาวิชาอื่นๆ เช่น ในทางพันธุศาสตร์ได้ใช้เทคนิคการเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปรับปรุงพันธุ์พืช ในทางเภสัชศาสตร์ได้ใช้เทคนิคนี้เลี้ยงพืชสมุนไพรเพื่อผลิตสารอัลคาลอยด์และสาระสำคัญต่างๆ ที่มีในพืชเพื่อนำไปประกอบเป็นยารักษาโรค (ชลิต, 2532) จึงนับว่า เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ  

                  ปัจจุบัน มีการศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชที่เริ่มมีผู้สนใจทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งในประเทศไทยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ รวมทั้ง การศึกษาวิจัยในบริษัทเอกชนที่ผลิตกล้าปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนางานด้านนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้ก้าวทันต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ ลดการนำเข้าต้นกล้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลซึ่งได้จากพืชปาล์มน้ำมัน เพื่อแก้ไขวิกฤตพลังงานของประเทศ ช่วยเหลือเกษตรกร และประชาคมไทย นั่นเอง

สรุป  
                        การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมัน จะทำให้ได้ต้นกล้าตรงตามสายพันธุ์  ปลอดโรค และขยายพันธุ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แต่ในประเทศไทยยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน(ปาล์มน้ำมัน)  และเสริมสร้างอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนให้กับเกษตรกรในประเทศไทย

                       กิตติกรรมประกาศ  

              ขอขอบพระคุณ  เจ้าของผลงานที่ข้าพเจ้านำมาอ้างอิงทุกท่าน

เอกสารอ้างอิง

 

ชลิต   พงศ์ศุภสมิทธ์. 2532. เทคโนโลยีการเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยี
               การเกษตรแม่โจ้.146 น.

อรดี  สหวัชรินทร์. 2539. หลักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
               กรุงเทพฯ.  73 น.

ข้อมูลจาก ฐานการเรียนรู้การโคลนนิ่งปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     

 

หมายเลขบันทึก: 176690เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2008 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รายละเอียดความคืบหน้างานวิจัยเกี่ยวกับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมัน จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท