หมอบ้านนอกไปนอก(62): ช่วยเหลือเกื้อกูล


การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่ดี การช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการช่วยพัฒนาคนให้มีปัญญาความสามารถซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน ส่วนการช่วยเหลือทางการเงินจำเป็นต่อภาวะเร่งด่วนในระยะสั้น ในระยะยาวต้องใช้เงินเพื่อพัฒนาคนมากกว่าวัตถุ การขอและการได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นนานๆอาจทำให้คนเรียนรู้วัฒรธรรมการพึ่งผู้อื่นมากกว่าพึ่งตนเอง

 อากาศหนาวมากขึ้นมาอีก แม้เข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว เป็นสัปดาห์ที่ 30 ที่เบลเยียม เป็นช่วงสองเดือนของวิชาเลือกที่เรียนร่วมกับผู้เข้าร่วมอบรมระยะสั้นจากภายนอกหลักสูตรจากเอเชีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา ส่วนใหญ่เนื้อหาคาบเกี่ยวกับการให้เงินช่วยเหลือ (Aid Donor) ค่อนข้างมากเพราะส่วนใหญ่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนา

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2551 ไม่ได้ออกไปไหนเลย อยู่บ้านพักแล้วก็นั่งเขียนบันทึกการไปเที่ยวชมโปรตุเกสและสวิสแม้ท้องฟ้าจะสดใสแต่ก็ไม่อยากออกไปไหนเพราะอากาศหนาวเย็นอยู่ วันนี้เป็นวันแรกที่มีการปรับเวลาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ทำให้ตื่นสายไป 1 ชั่วโมง เป็นช่วงประหยัดเวลากลางวัน (Day life saving) ของยุโรป ทำให้เวลาที่เบลเยียมช้ากว่าเมืองไทยแค่ 5 ชั่วโมง

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2551 เรียนสายหน่อย ฟังบรรยายขององค์การAIDCO โดยคริสเตียน คอลลาร์ด เป็นเอ็นจีโอ เสร็จแล้วไปเสียค่าปรับให้ตำรวจที่ธนาคารโดยระบบหักจากบัญชี เนื่องจากผมขี่จักรยานตอนกลางคืนแล้วไม่ได้เปิดไฟ เจอตำรวจจักรยานเข้า ขอดูบัตร ไม่ต้องอธิบายอะไร แค่จดชื่อไปข้อมูลทุกอย่างตำรวจรู้หมดว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน แล้วรายละเอียดค่าปรับจะมาถึงเราเอง นับเป็นความสะเพร่าของผมเอง ค่าปรับถือว่าแพงมาก 50 ยูโร ราว 2,500 บาท ที่เบลเยียมเขามีกฎหมายแล้วเขาปฏิบัติตามจริง ไม่มีผ่อนผัน ทำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายกันดี คนเดินข้ามทางม้าลายหรือปฏิบัติตามสัญญาณจราจร รถยนต์ต้องระวังจักรยานกับคนเดินมาก ช่วงบ่ายทำกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพ

วันอังคารที่ 1 เมษายน 2551 ครึ่งเช้าเรียนเกี่ยวกับการสัมภาษณ์กับกี โป๊ป นักหนังสือพิมพ์อาวุโสในบรัสเซลส์ และช่วงบ่ายเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มเรื่องเดิม

วันพุธที่ 2 เมษายน 2551 ครึ่งเช้าเรียนกับฌอง ปิแอร์ อังเกอร์เกี่ยวกับการเปรียบเทียบนโยบายและระบบสุขภาพของประเทศในละตินอเมริกาสามประเทศคือโคลัมเบีย คอสตาริกาและชิลี ที่ชี้ให้เห็นว่านโยบายสุขภาพมีผลต่อผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพอย่างมาก ที่ชิลีใช้แนวทางทุนนิยมเสรี (Neoliberal) ผลักดันให้การประกันสุขภาพเอกชนเข้ามาแข่งขันกับการประกันภาครัฐโดยปล่อยให้เป็นกลไกของตลาด ในขณะที่กลไกการควบคุมกำกับของภาครัฐต่อภาคเอกชนยังไม่ดีพอ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพสูงขึ้นอย่างมากในขณะที่ผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพของประชาชนดีขึ้นไม่มาก

ขณะที่คอสตาริก้า ให้ระบบประกันสุขภาพเป็นของภาครัฐไม่ได้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ส่วนสถานบริการสุขภาพส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐและมีเอกชนร่วมด้วยและทำสัญญาการรับเงินกับหน่วยงานประกันสุขภาพในระบบContracting in และContracting out กำหนดให้มีระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นGate keeper  มีบูรณาการกิจกรรมต่างๆที่เคยทำแยกเป็นโครงการๆ (Vertical program) เข้าไปในระบบริการสุขภาพ (Horizontal) พบว่าต้นทุนทางด้านสุขภาพต่ำกว่าในขณะที่ผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ฌองบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการแยกทำเป็นโปรแกรมๆเพราะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพโดยรวมได้และไม่ยั่งยืน ยิ่งการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ทำอยู่โดยแยกเป็นโปรแกรมๆไปเช่นมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค หรือแม่และเด็ก เป็นต้น ไม่ได้สร้างความยั่งยืน เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะคราวเท่านั้น พอหมดงบสนับสนุนหรือยกเลิกโครงการทุกสิ่งก็อันตรธานหายไป กลุ่มเอ็นจีโอข้ามชาติที่ขอรับเงินสนับสนุนไปทำโครงการเหล่านี้ก็กินจุ (eat too much) เงินช่วยเหลือสนับสนุนนั้นไปถึงประชาชนในพื้นที่น้อยมากเพราะเสียเป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าบริหารจัดการโครงการเป็นส่วนใหญ่และหลายแห่งเป็นเอกเทศแยกตัวออกจากระบบสุขภาพของประเทศที่เข้าไปช่วยและไม่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศนั้นๆช่วงบ่าย ทำกิจกรรมกลุ่มเหมือนเดิม เลิกเรียนกลับบ้านได้ต่อสไกป์คุยกับแม่ แฟนและลูกๆ น้องขิมส่งภาพจากสไกป์ได้แล้ว ก็นั่งเล่นส่งรูปภาพให้กันกับลูก มีความสุขมาก

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2551 ไม่มีเรียนเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มโดยอิสระของแต่ละกลุ่ม ตอนเช้าแม่ต่อสไกป์มาคุยด้วย แต่เสียงคุยกันไม่ชัดจึงใช้วิธีแช็ทกัน วันนี้เป็นวันเกิดน้องแคนมีจัดงานเลี้ยงเล็กๆในกลุ่มเด็กๆในโรงพยาบาลบ้านตากตอนเย็น ได้อวยพรลูกผ่านทางสไกป์ ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นแล้ว

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2551 ครึ่งเช้าเรียนการวิเคราะห์องค์กร (SWOT Analysis) กับวาลาเรีย มีการสรุปประเด็นที่ดีมาก มีการอภิปรายกันมากพอควรเพราะส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้กันแล้ว SWOT นี่เป็นเรื่องพูดง่าย ทำง่าย แต่ทำให้ดียาก ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ต้องมองทิศทาง แนวโน้มในอนาคตขององค์กรให้ออกว่าเป็นอย่างไร มองความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่อาจเกิดขึ้นแล้วกระทบต่อองค์กรอย่างไร “รู้เขา รู้เรา” จึงทำได้ยาก บางทีอาจเข้าข้างตัวเองหรือดูถูกตัวเองมากไป การทำSWOT analysis จึงเป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวหรืออัตตวิสัย (Subjective) มากกว่าภาวะวิสัย (Objective) สิ่งสำคัญในการSWOT คือกำหนดขอบเขตของตนเองให้ชัด กำหนดเป้าหมายให้ชัวร์ แล้วก็ศึกษาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่จำกัด ไม่ใช่การนั่งทางในหรือนั่งในห้องคิดเอาว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ ช่วงบ่ายเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มเหมือนเดิม

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2551 รีบตื่นตี 5 เตรียมตัวไปเที่ยวสวนดอกไม้ที่โกเก็นฮอฟ ฮอลแลนด์ ออกจากบ้านไปสถานีรถไฟด้วยรถรางแล้วนั่งรถไฟไปลงที่เมืองเดนฮาร์ก (เมืองเฮก ที่ตั้งของศาลโลก) นั่งรถไฟต่อไปเมืองลีเดนแล้วต่อรถเมล์ (ค่าตั๋วรวมค่าเข้าชมสวน 19 ยูโร) สัก 30 นาทีก็ถึงสวนทิวลิปโกเก็นฮอฟ ที่เป็นสวนทิวลิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปกัน 7 คนมีผม พี่เกษม เกลนด้า เฟ็ง ริด้า นาร์มีน บาซู เดินชมสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ของเมืองลิสเสะ เป็นสวนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

เดินผ่านทางเข้าที่มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารให้นั่งพักผ่อน เดินไปตามทางในสวนที่รายรอบด้วยแปลงทิวลิปหลายสีหลากพันธ์ อย่างเพลิดเพลิน งดงามแม้ดอกไม้หลายแปลงกำลังออกดอกตูมอยู่ก็ตาม ในสวนมีต้นไม้ขนาดใหญ่ สระน้ำที่มีเป็ด ห่านและนกน้ำอยู่ มีซุ้มขายดอกไม้ซุ้มเล็กๆเป็นระยะ บางช่วงต้นไม้ใหญ่ออกดอกชมพูขาวนวลตา มีกังหันลมอยู่ด้านหลังให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปชมวิวโดยรอบสวนดอกไม้ มีลานกลางสวนพร้อมเก้าอี้ให้นั่งนอนอาบแดดรับลมชมทิวทัศน์ได้อย่างเพลินใจสบายตา อีกด้านหนึ่งเป็นเรือนกระจกหลังใหญ่ภายในมีทิวลิปดอกโตหลากสีสันสดใสให้ชม เราเดินชมในสวนจนบ่ายสามจึงออกเดินทางต่อโดยรถเมล์ไปลงที่สถานีสนามบินสคิปโฟนแล้วต่อรถไฟไปเที่ยวเมืองอัมสเตอร์ดัม

ออกจากสถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัม เดินออกไปด้านนอก เที่ยวชมอาคารสถานที่ในเมือง เดินเลาะริมคลอง เข้าไปเดินตลาดขายดอกไม้และตลาดขายของที่ระลึก จนท้องเริ่มหิวจึงแวะทานไก่ทอดเคเอฟซีกันก่อน แล้วเดินดูสินค้าที่วางขายในร้านริมทางเดิน จนเริ่มค่ำเดินไปชมย่านโคมแดง (Red light district) ที่เป็นย่านของนวลนางในตู้กระจกที่ขายบริการทางเพศได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้คนในอัมสเตอร์ดัมคับคั่งมาก นั่งรถไฟกลับบ้านตอนสองทุ่มครึ่งถึงบ้านห้าทุ่มครึ่ง ผมคิดว่าเชียงใหม่เชียงรายก็ทำสวนแบบนี้ได้ไม่ยาก บรรยากาศน่าจะดีกว่าด้วย

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เรียนรู้เรื่องการให้เงินช่วยเหลือประเทศยากจนมากพอควร ในปี 1950 ได้มีการแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือโลกที่หนึ่ง (The First World) ได้แก่ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น นิซีแลนด์และออสเตรเลีย โลกที่สอง (The Second World) ได้แก่เกือบทั้งหมดของยุโรปตะวันออกและโลกที่สาม (The Third World) ได้แก่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ในปี 1989 การล่มสลายของสหภาพโซเวียตสิ้นสุดยุคสงครามเย็นมีการแบ่งกลุ่มใหม่ออกเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มประเทศพัฒนา (Developed country) ได้แก่ประเทศโลกที่หนึ่งเดิม กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Emerging Economies) ได้แก่ส่วนใหญ่โลกที่สองและกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มเสียแห่งเอเชีย (The Asian Tigers) เช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเชีย ไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing country) ได้แก่ประเทศพัฒนาน้อยและยากจนมีหนี้สินต่างประเทศมาก

ในปี 1990 ได้มีการแบ่งกลุ่มประเทศตามรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศในหน่วยดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มประเทศรายได้สูง (High Income Countries) ตั้งแต่ 10,000 ดอลลาร์ขึ้นไป กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Countries) ตั้งแต่ 3,000 ดอลลาร์ และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (Low Income countries) ต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์ลงไป โดยที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจะมุ่งไปที่ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ของไทยเมื่อปี 2004 อยู่ที่ 8,440 ดอลลาร์ต่อหัวประชากร

นอกจากนี้ก็ยังมีการแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็นกลุ่มเหนือ (The North) ในประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูงที่รวมตัวเป็นกลุ่มประเทศเช่นจี 8 (G8: เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา อังกฤษ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย) หรือกลุ่ม OECD/DAC หรือกลุ่มสหภาพยุโรป (EU 27 ประเทศ) กับกลุ่มใต้ (The South) ที่รวมประเทศในแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกา ที่มีการรวมกลุ่มกันเช่น OPEC, G20 เป็นต้น

กลุ่มประเทศเหนือมีกองทุนช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนอาจอยู่ในรูปการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การให้เงินกู้ระยะยาวเพื่อพัฒนาสังคม การให้ทุนด้านการศึกษาหรือสุขภาพ การให้เงินช่วยเหลือหรือเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเงินช่วยเหลือทางการทหาร

ช่องทางในการช่วยเหลือนั้น อาจเป็นแบบจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง (Bilateral) เช่น CIDA (แคนาดา), DANIDA (เดนมาร์ก), DFID (อังกฤษ), GTZ (เยอรมนี), JICA (ญี่ปุ่น), Irish Aid (ไอร์แลนด์), NORAD (นอร์เวย์), SIDA (สวีเดน), USAID (สหรัฐอเมริกา) หรือแบบช่วยหลากหลายประเทศ (Multilateral) เช่นกลุ่มของสหประชาชาติ (WHO, UNDP, UNICEF, UNFPA, ILO) กลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนา (World Bank, IMF, AfDB, AsDB,IDB, EBRD) กลุ่มสหภาพยุโรป หรือกองทุนโลก (The Global Initiatives) หรือกลุ่มประชาสังคม/องค์กรเอ็นจีโอที่รับเงินอุดหนุนจากประเทศของตนเอง (Overseas development assistance: ODA) ไปทำโครงการช่วยเหลือประเทศยากจน (OXFAM, MSF) อีกแบบหนึ่งคือแบบมูลนิธิ (Foundations) ที่มีหลายแห่งเช่นมูลนิธิบิลเกต มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิคลินตัน

คุณหมอศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เคยเขียนโครงการขอสนับสนุนเงินจากมูลนิธิบิลเกตสมัยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากชื่อโครงการThai Malaria Initiatives (TMI) ในนามของกรมควบคุมโรคกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล (ไม่สามารถเขียนขอนามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากได้ การบริหารจัดการเงินที่ได้จึงอยู่ที่กรมควบคุมโรคกับคณะเวชศาสตร์ฯ) ได้เงินมา 200 ล้านบาท ทำโครงการแก้ไขปัญหามาลาเรียที่พื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก ใช้สูตร EDET (Early Detect, Early Treatment) เน้นวินิจฉัยในชุมชน (Health post) แล้วรักษาเร็ว (Malaria worker) สามารถลดอัตราตายและผู้ป่วยมาลาเรียรุนแรงลงได้อย่างมาก ตอนนี้ก็มีคนศึกษาเรื่องการรักษามาลาเรียในชุมชน (Home-based malaria) ให้องค์การอนามัยโลกอยู่

ลักษณะของการให้การช่วยเหลือในช่วงแรก (1960-1980) เป็นแบบโครงการ (Project) ช่วยเหลือ โดยผู้ให้เงินกำหนดทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการว่าจะไปทำอะไร โดยประเทศผู้รับไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดและลงมือทำเอง (ทำให้) จึงเป็นพันธะผูกพันของผู้ให้เงินเอง ควบคุมได้ง่าย ติดตามประเมินได้ง่าย แต่ก็มีค่าบริหารจัดการสูง ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้รับการช่วยเหลือและไม่ยั่งยืน ต่อมาปี 1980-2000 ปรับเป็นแบบการสนับสนุนบนฐานของนโยบาย (Policy based support) ผู้ให้เงินให้เงินช่วยเหลือแล้วบอกว่าให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ (สั่งให้ทำ) ข้อดีคือช่วยสร้างความเข้มแข็งของการบริหารงบประมาณแต่ข้อเสียคือรัฐบาลของประเทศผู้รับอาจไม่ให้ความสนใจและขาดการมองการพัฒนาในระยะยาว

ในการประชุมที่ปารีสในปี 2005 ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้เงินช่วยเหลือที่พยายามปรับไปเป็นแบบการสนับสนุนงบประมาณ (Budget support) โดยอาจเป็นแบบงบประมาณทั่วไป (Global budget support) ผู้ให้การช่วยเหลือจากทุกแห่งเอาเงินมารวมกันแล้วให้ในลักษณะเป็นงบประมาณของรัฐบาลประเทศผู้รับ ให้รวมอยู่ในการจัดทำงบประมาณประจำปีเลย ข้อเสียคือประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีระบบการเมืองและการบริหารที่ไม่เข้มแข็ง มักนำเงินไปใช้ด้านการทหารมากกว่าด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีความไม่โปร่งใส ทุจริตคอรัปชั่นสูง ทำให้ใช้เงินอย่างไม่เหมาะสม จึงอาจปรับเป็นแบบการสนับสนุนงบประมาณแบบแบ่งส่วน (Sector Budget support) โดยกำหนดว่าเงินที่ให้ไปให้ใช้ในงบประมาณภาคส่วนไหน เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ หรือสังคม หรืออาจเป็นแบบการกำหนดโครงการแบบกว้างๆในแต่ละภาคส่วน (Program based approach) ไว้ด้วย ในลักษณะ SWAPs (Sector wide approach program) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการใช้เงิน

เรื่องนี้เป็นประเด็นอภิปรายกันมากในประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภายนอก (Aid dependent) ทำให้ขาดอิสระในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆของตนเอง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ในขณะที่ไทยเราจัดเป็นประเทศที่มีอิสระจากเงินช่วยเหลือต่างประเทศ (Aid independent) ทำให้เรามีอิสระได้มากและมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาหลายปีแล้ว แม้บางช่วงเราอาจต้องกู้เงินช่วยเหลือบ้างแต่ก็ไม่กระทบต่อนโยบายด้านต่างๆมากนัก ยกเว้นเมื่อครั้งก็เงินIMFตอนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ต้องทำตามข้อกำหนดของไอเอ็มเอฟหลายประการ

ผมนึกถึงนิทานเรื่องคนตกปลา ถ้าเราให้ปลาเขา เขาจะมีปลากินวันเดียว แต่ถ้าเราสอนเขาหาปลาให้เป็น เขาจะมีปลากินไปตลอด หลายๆประเทศที่เป็นผู้ให้การช่วยเหลือมักอ้างว่าไปเพื่อสอนให้เขา (ประเทศรับเงิน) หาปลาเป็น อย่างโนริบอกว่าไจก้าของญี่ปุ่นบอกว่าให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แต่ผมว่าไม่จริง เขาไม่ได้ให้เทคนิคเพื่อให้พึ่งตนเองได้ แต่เขาให้อุปกรณ์เพื่อให้ต้องพึ่งพิงเขาตลอดไปมากกว่า เขาจึงไม่ได้สอนให้คนตกปลาเป็น เขาแค่ให้เบ็ดตกปลาแล้วสอนให้ใช้เบ็ดตกปลาเป็น แต่เขาไม่ ได้สอนวิธีทำเบ็ดตกปลาใช้เอง พอเบ็ดคันเดิมพัง ก็ต้องไปขอเบ็ดคันใหม่จากผู้ให้อยู่ดี หลายคนจึงพูดว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในปัจจุบันจึงเป็นเหมือนการล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Neo-colonization) ไม่ได้ใช้เรือรบ ปืนใหญ่ กำลังทหาร แต่ใช้เงิน วัฒนธรรม ความรู้และเทคโนโลยีแทน ที่มีอานุภาพเหนือกว่าอดีตมาก

การรอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดเวลาเป็นการสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพาให้กับคนในชาติ ที่ต้องคอยขอเขาร่ำไป ยิ่งทำให้ประเทศติดชะงักอยู่กับความด้อยพัฒนาได้ง่าย ประเทศในยุโรปเอง ไม่ใช่เขาจะรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง เขาผ่านประวัติศาสตร์เลือด การสู้รบ ความสูญเสียอย่างมากมาย อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย หรือในเอเชียอย่างญี่ปุ่น แต่เขาก็ยืนอยู่บนขาของเขา พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความรู้ ใฝ่หาเทคโนโลยีต่างๆจนพัฒนาขึ้นมาได้ ไมได้ชอบฝรั่ง แต่เราเรียนรู้จากเขาได้ ภาพที่เคยเห็นวิถีชีวิตฝรั่งในทีวีหรือสื่อต่างๆมักเป็นเรื่องความหรูหราฟุ่มเฟือย ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ผมได้มาเห็นวิถีชีวิตของคนที่เบลเยียมนั้นเรียบง่ายมาก เสื้อผ้าแบบสบายๆ สะพายเป้ เดินหรือใช้จักรยานในการเดินทาง รถยนต์มีไม่มากนัก รุ่นไม่ค่อยทันสมัยแบบบ้านเรา กินอยู่อย่าง่ายๆ ดูแล้วไม่ฟุ้งเฟ้อ งานเลี้ยงก็มีอาหารไม่มาก เหล้าเบียร์พอประมาณ ตามร้านอาหารหรือผับก็ไปนั่งจิบเบียร์กันแก้วสองแก้วแล้วก็คุยกันเบาๆ ไม่เอิกเกริกโปกฮา เมาแอ๋แบบบ้านเรา

ไทย แปลว่า อิสระ (Independent) หากเรามุ่งพัฒนาคนให้มีวัฒนธรรมการพึ่งตนเอง หมั่นเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เอง รู้จักอยู่อย่างพอเพียง น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปฏิบัติ เราก็ไม่น่าจะด้วยกว่าประเทศในโลกนี้แต่ที่สำคัญต้องเลิกทะเลาะกันเองให้ได้

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

10 เมษายน 2551, 18.35 น. ( 23.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 176367เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาสวัสดีก่อนสงกรานต์ครับท่าน

สวัสดีครับอาจารย์เจเจ

ขอบคุณมากครับ ผมเพิ่งเขียนเสร็จ อาจารย์มาทักทายเร็วมากเลยครับ สวัสดีปีใหม่ไทยเช่นกันครับ

แวะไปดูรูปดอกไม้สวยๆของสวนทิวลิปโกเก็นฮอฟได้ที่

http://pbanyati.hi5.com/ ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์..อ่านแล้วได้ความรู้และได้ไอเดียมากๆ เลย เสียดายน่าจะมีภาพบรรยากาศมาให้ชมบ้างนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท