BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ค้นหาความหมายของคำว่า ดี (อภิจริยศาสตร์) ๕


อภิจริยศาสตร์

ธรรมชาตินิยม ซึ่งยึดถือว่า ดีชั่ว หรือผิดถูก อาจสังเกตได้จากข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ จำแนกได้เป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ...

 

  • ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย ( Subjective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) เกิดขึ้นจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือของสังคม
  • ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ( Objective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) ไม่ขึ้นอยู่กับ... หรือเป็นอิสระจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือหรือของสังคม

 

มีเรื่องแทรกเล็กน้อย กล่าวคือ คำว่า Subjective กับคำว่า Objective ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจค่อนข้างยากเมื่อแปลมาเป็นภาษาไทย... น้อง वीर เคยสอบถามเรื่องนี้ และผู้เขียนเคยให้ความเห็นส่วนตัวไว้ ผู้สนใจประเด็นนี้  คลิกที่นี้

..............

ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย นี้ อาจจำแนกย่อยออกไปเป็นส่วนตัวหรือ เชิงปัจเจกชน ( Individual ) และส่วนรวมหรือ เชิงสังคม ( Social ) อีกลำดับหนึ่ง...

...เชิงปัจเจกชน ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือถูกผิดนั้น ขึ้นอยู่กับการประิเมินค่าของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เช่น คนที่มีความเห็นว่าการขโมยเป็นสิ่งที่่ถูกต้อง เขาจึงขโมย เพราะเขาคิดว่าการทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขาแล้ว... หรือนักการเมืองบางคนคิดว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เป็นต้น

...เชิงสังคม ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือผิดถูกนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินค่าของคนในสังคมนั้นๆ เช่น ชาวธิเบตถือว่าครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัวเป็นสิ่งที่ดี... หรือคนที่ชำนาญในการลักขโมยได้รับการนิยมยกย่องในสังคมของชาวสปาตาร์โบราณ เป็นต้น

ตามความเห็นของกลุ่มนี้ อาจสรุปสั้นๆว่า ถ้าใครว่าดีสิ่งนั้นก็ดี ถ้าสังคมใดว่าดีสิ่งนั้นก็ดี หรือ ถ้าใครว่าเลวสิ่งนั้นก็เลว ถ้าสังคมใดว่าชั่วสิ่งนั้นก็ชั่ว ... ความเห็นทำนองนี้ บ่งชี้ว่าดีชั่วหรือผิดถูก ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายและตัดสินใจของใครบางคนหรือของสังคมเท่านั้น และอาจขัดแย้งกันได้... นั้นคือ กลุ่มนี้จะไม่ยอมรับความเป็นทั่วไป (หรือสากล) ของการให้ความหมายคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ...

ขณะที่ ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ไม่ยอมรับการประเมินค่า ให้ความหมาย และตัดสินทำนองนี้

...........

ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย เชื่อว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครๆ หรือสังคม กล่าวคือ จะต้องเป็นความจริงที่อิสระจากใครๆ หรือสังคม... ปัญหาก็คือ ใครจะยืนยันได้ว่า ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่บ่งชี้ดีชั่วผิดถูกที่มีลักษณะทั่วไปเป็นสากลไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นใดๆ ทำนองนี้

ทฤษฎีผู้สังเกตในอุดมคติ (The Ideal-Observer Theory ) บอกว่า จะต้องมีใครสังคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ และสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งใดดีชั่วหรือผิดถูก...ว่าโดยย่อ แนวคิดของทฤษฎีนี้ ต้องการให้การประเมินค่าดีชั่วเป็นอิสระจากใครๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคม  กล่าวคือต้องการให้เป็นสากลทั่วไปสำหรับทุกๆ คน... น่าจะทำนองนี้ 

ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจและคุ้นเคยกับทฤษฎีนี้สักเท่าไหร่... และเห็นว่า ถ้าจะนำมาเล่าก็จะนอกเรื่องออกไปไกลแน่ ดังนั้น ผู้สนใจประเด็นนี้ ไปอ่านเพิ่มเติมที่...

..........

สรุปได้ว่า ธรรมชาตินิยมถือว่า ดี อาจยืนยันได้โดยข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางพวกก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการยืนยันส่วนตัวของใครก็ได้ หรือของสังคม  ขณะที่บางพวกบอกว่าต้องมีผู้สังเกตในอุดมคติซึ่งจะระบุข้อเท็จจริงตามธรรมชาติเพื่อมายืนยันสิ่งที่ ดี ได้

ตรงข้ามกับ ธรรมชาตินิยม ก็คือ อธรรมชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป...

 

หมายเลขบันทึก: 176133เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาอ่านครับพระอาจารย์ เก็บเกี่ยวความรู้..ไปพลางๆ ก่อนครับ ฮา..

นมัสการค่ะพระอาจารย์

ขอบพระคุณค่ะที่นำความรู้มาเผยแพร่ ใบไม้ย้อนแสงผู้อ่อนด้อยทางทฤษฏีพลอยได้อานิสงฆ์ในการเรียนรู้ไปด้วย เพิ่มรอยหยักในสมองได้อีกนิดหนึ่งเจ้าค่ะ

นมัสการค่ะ

ดิฉันเอง ออกจะเห็นกับแนว ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัยค่ะ เป็นความจริงที่อิสระจากใครๆ

 จะเป็นอย่างเดียวกับ"สัจจนิยม" (realism) เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในสายวิทยาศาสตร์ หรือความรู้กระแสหลักหรือเปล่าก้ไม่ทราบ

แต่ทั้งธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนละมุมมองหรือเปล่าไม่ทราบนะคะ

กราบ 3 หนค่ะ

 

P

Sasinanda

 

ธรรมชาตินิยม มีความเห็นพื้นฐานเหมือนกัน ในประเด็นว่า คำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ อาจหมายรู้ได้ด้วยข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ... แต่มีประเด็นย่อยออกไป กล่ายคือ

  • ฝ่ายอัตวิสัย ถือว่า อาจหมายรู้ได้ด้วยตัวเราเองหรือกลุ่มสังคมหนึ่งสังคมใดเท่านั้น...
  • ส่วนฝ่ายปรวิสัย ถือว่า ความหมายตามข้อเท็จจริงนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองหรือกลุ่มสังคมหนึ่งสังคมใด... โดยใช้ทฤษฎีผู้สังเกตในอุดมคติ....

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท