คุยเฟื่องเรื่อง งานวิจัย


แนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับตัวบ่งชี้

แนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับตัวบ่งชี้                           

                 แนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับตัวบ่งชี้  เป็นการสรุปสาระสำคัญจากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของคุณสุดสวาท ประไพเพชร  รุ่น 3  ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญ  ได้ดังนี้

1. ความหมาย

                ตัวบ่งชี้ (Indicator)  หมายถึง  สิ่งที่นำมาวัดหรือชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์ของสิ่งที่กำลังศึกษาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  เป็นคำที่สังเกตได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่บอกความหมายหรือสภาพที่ต้องการศึกษาเป็นองค์รวมอย่างกว้างๆ โดยอาจมีเงื่อนไขของเวลาหรือสถานที่กำกับ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การวางแผนการบริหารงาน การติดตามผลการดำเนินงานและการจัดลำดับการพัฒนา

2.  ลักษณะของตัวชี้วัด

                Johnstone (1981)  สรุปลักษณะของตัวบ่งชี้ไว้ 5 ประการ คือ 1) ตัวบ่งชี้ต้องระบุสารสนเทศเกี่ยวกับสิ่งหรือสภาพที่ศึกษาอย่างกว้างขวาง 2)  ตัวบ่งชี้แตกต่างจากตัวแปร 3 ) ค่าของตัวบ่งชี้ (Indicator Value) แสดงถึงปริมาณ(Quantity) 4) ค่าของตัวบ่งชี้แสดงสารสนเทศ ณ จุดเวลาหรือช่วงเวลา(Time Point /Time Period) และ 5 ) ตัวบ่งชี้เป็นหน่วยพื้นฐาน (Basic Unit) สำหรับการพัฒนาทฤษฎี

3. ประเภทของตัวบ่งชี้

                การสร้างและพัฒนาตัวบ่งชี้ สามารถสังเคราะห์แยกประเภท ได้ 7 แบบ  ดังนี้ 1) การจัดแยกประเภทตัวบ่งชี้ตามทฤษฎีระบบ ได้แก่ ตัวบ่งชี้ด้านระบบ(input indicators) ตัวบ่งชี้ด้านกระบวนการ (process indicators) และ ตัวบ่งชี้ด้านผลผลิต (product indicators) 2) การจัดแยกประเภทตัวบ่งชี้ตามนิยาม ได้แก่ ตัวบ่งชี้แบบอัตนัย และตัวบ่งชี้แบบปรนัย 3) การจัดแยกประเภทตัวบ่งชี้ตามวิธีการสร้าง ได้แก่ ตัวบ่งชี้ตัวแทน ตัวบ่งชี้แยก และตัวบ่งชี้ที่เกิดจากการรวมตัวแปรทางการศึกษาหลายๆตัวขาด้วยกัน 4) การจัดแยกประเภทตามลักษณะตัวแปรที่ใช้สร้างตัวบ่งชี้ ได้แก่ การจัดแยกประเภทตัวบ่งชี้นามบัญญัติ การจัดแยกประเภทตัวบ่งชี้การศึกษาตามประเภทของตัวแปร และการจัดแยกประเภทตามคุณสมบัติทางสถิติของตัวแปร 5) การจัดแยกประเภทตามลักษณะค่าของตัวบ่งชี้  ได้แก่ ตัวบ่งชี้สมบูรณ์ และตัวบ่งชี้สัมพัทธ์ หรือตัวบ่งชี้อัตราส่วน 6) การจัดแยกประเภทตมมาตรฐานการเปรียบเทียบในการแปลความหมาย ได้แก่ ตัวบ่งชี้อิงกลุ่ม ตัวบ่งชี้อิงกลุ่ม และตัวบ่งชี้อิงตน  และ 7) การจัดแยกประเภทตามลักษณะการใช้ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ตัวบ่งชี้แสดงความหมาย (expressive indicators) และ ตัวบ่งชี้ทำนาย (predictive indicators) เป็นต้น

4.ประโยชน์ของตัวบ่งชี้

                นงลักษณ์ วิรัชชัย  ได้สรุปเกี่ยวกับประโยชน์ของตัวบ่งชี้ ไว้ ดังนี้  1) ใช้บรรยายสภาพและลักษณะของระบบการศึกษา 2) ใช้ศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา และ 3) ใช้ศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาได้ทั้งที่เป็นการเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือการเปรียบเทียบระหว่างระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ  และในกรณีดังกล่าว Johns tone  ยังสรุปว่านักการศึกษาสามารถนำตัวบ่งชี้ไปใช้ประโยชน์ได้ 4 ด้าน คือ 1) ด้านการกำหนดนโยบายและการกำหนดวัตถุประสงค์   2)  ด้านการกำกับและการประเมินระบบการศึกษา 3) การจัดลำดับ และการจำแนกประเภทของระบบการศึกษา และ 4 ) การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา Burstein, Oakes, Guition ได้เพิ่มเติมประโยชน์ในดานที่ 5 คือ ด้านการประกันคุณภาพและการแสดงความรับผิดชอบ (quality  assurance and accountability) Windham ,Resnick , Nolan และ Resnick ได้เพิ่มเติมประโยชน์ด้านที่ 6 คือ ด้านการกำหนดเป้าหมายที่ตรวจสอบได้(Benchmarking)

5. เกณฑ์ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้

                ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้ Fitz-Gibbon ,ศิริชัย กาญจนวาสี  เสนอหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ดังนี้ 1) ความแกร่งแบบวิทยาศาสตร์(scientifically robust)  2) ความเที่ยงตรง (validity) 3) เชื่อถือได้ (reliable) 4) มีความไว (sensitive) 5) มีความเฉพาะเจาะจง (specific) 5) ใช้ประโยชน์ได้ (useful) 7) สะดวกในการนำไปใช้ (practicality) 8) มีความเป็นผู้แทน (representative) 9) เข้าใจได้ (understandable) 10) เข้าถึงได้ (accessible) 11) มีคุณธรรม(ethical) 12) ความสอดคล้อง (relevant) และ 13) ความเป็นกลาง (neutrality) นอกจากนี้ Johnstone ยังได้เสนอเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้ไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 1)ความเที่ยงตรงภายในของตัวบ่งชี้ (internal validity) 2) ความเชื่อมั่น (reliability) และความคงเส้นคงวา (consistency) ของการวัด และ 3) ความเที่ยงตรงภายนอกและเป็นอิสระของมโนทัศน์ 

6. กระบวนการสร้างและการพัฒนาตัวบ่งชี้

                กระบวนการในการสร้างและพัฒนาตัวบ่งชี้ ประกอบด้วย 1) การสร้างตัวบ่งชี้  มีวิธีการสำคัญ 3 วิธี คือ วิธีที่ 1 การสร้างตัวบ่งชี้ความก้าวหน้า (self-referenced indicator formation) วิธีที่ 2 การสร้างตัวบ่งชี้แบบอิงเกณฑ์  (criterion-referenced indicator formation) วิธีที่ 3 การสร้างตัวบ่งชี้โดยอิงปทัสถาน (non-referenced indicator formation) ส่วนการพัฒนาตัวบ่งชี้ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (นงลักษณ์ วิรัชชัย.2545) ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดวัตถุประสงค์ (statement of purpose) ขั้นตอนที่ 2 การนิยาม (definition) ขั้นตอนที่3  การรวบรวมข้อมูล (data collection) ขั้นตอนที่ 4 การสร้างตัวบ่งชี้การศึกษา (construction) ขั้นตอนที่ 5 การตรวจสอบคุณภาพตัวบ่งชี้การศึกษา (quality check) ขั้นตอนที่ 6 การจัดเข้าบริหารและการนำเสนอรายงาน (contextualization and presentation )

                จากการศึกษา แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ จากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของคุณสุดสวาท ประไพเพชร ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ กระบวนการพัฒนาตัวบ่งชี้ เพื่อการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ตัวบ่งชี้เป็นสิ่งที่นำมาวัดหรือชี้ให้เห็นสภาพการดำเนินการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจน

หมายเลขบันทึก: 175894เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท