เรื่อง รายงานการปฏิบัติงาน ณ.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระหว่างวันที่ ๕- ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ตามที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปปฎิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญในโครงการ Japan-Thailand Technical Cooperation on Animal Disease Control in Thailand and Neighboring Countries เพื่อให้ความช่วยเหลือวิชาการด้านสุขภาพสัตว์และการชันสูตรโรคสัตว์ทางห้องปฏิบัติการในประเทศกลุ่มอาเซียน ณ. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระหว่างวันที่ ๕- ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นั้น ข้าพเจ้าขอสรุปรายงานการปฏิบัติงานดังนี้
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นโดยทางรถยนต์ถึงนครเวียงจันทร์แล้วพักค้างคืน
วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
เดินทางจากนครเวียงจันทร์ไปขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง หลังจากถึงเมืองหลวงพระบางได้เดินทางไปยังสำนักงานของ FORCOM ( Forest Management and Community support project ) โดยปรึกษางานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ ถึงแผนปฏิบัติงานในอีก 3 วันข้างหน้า หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังเมืองไสยบุรีในตอนบ่าย และพักค้างคืน
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ในตอนเช้าได้เดินทางไปยังสำนักงานป่าไม้ ประมงและปศุสัตว์ ประจำเมืองไสยบุรี เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเมืองและร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนในโครงการจัดตั้ง “ สัตวแพทย์บ้าน” (Village veterinary worker : VVW ) เพื่อทำหน้าที่ดูแลสุขภาพสัตว์ของเกษตรกรในหมู่บ้าน โดยคัดเลือก VVW จากเกษตรกรในหมู่บ้านที่มีคุณสมบัติตามที่ FORCOM ได้กำหนดไว้ โดยแผนปฏิบัติงานในวันนี้ทางคณะจะเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเกษตรกรใน ๒ หมู่บ้านคือบ้านนามนและบ้านนาตาก เพื่อนำตัวแทนเข้ามาร่วมฝึกอบรมในโครงการที่จะจัดให้มีขึ้นในอีก ๒-๓ เดือนข้างหน้า หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง ทางคณะได้เดินทางไปยังบ้านนามน เมื่อเดินทางถึงได้เข้าพบกับนายบ้านและอธิบายถึงเหตุผลของการมาเยี่ยม ซึ่งนายบ้านได้คัดเลือกเกษตรกรในหมู่บ้านมาให้ทางคณะสัมภาษณ์เพื่อดูคุณสมบัติ ความพร้อมของการเป็นสัตวแพทย์บ้าน ในหมู่บ้านนามน ทางคณะได้คัดเลือกเกษตรกรจำนวน ๕ราย เพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรม โดยส่วนใหญ่หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกได้เน้นคุณสมบัติVVWดังนี้คือ อ่านอ อกเขียนได้ มีครอบครัวแล้ว มีสัตว์เลี้ยงของตนเอง รวมทั้งทักษะอื่นๆในการบอกอาการป่วยในสัตว์ได้ถูกต้อง ในหมู่บ้านนี้จากการตรวจเยี่ยมครั้งก่อนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ พบว่าทางโครงการFORCOMได้ให้พ่อพันธุ์สุกร จำนวน ๒ ตัว และแม่พันธุ์สุกรจำนวน ๒๐ ตัว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันขณะตรวจเยี่ยมพบว่ามีจำนวนสุกรทั้งสิ้นประมาณ ๙๖ ตัว ทั้งนี้อาจเป็นผลเนื่องจากการเฝ้าติดตามดูและสุขภาพสัตว์ดังกล่าว ซึ่งทาง FORCOM ได้ทำโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคสำคัญ ได้แก่ อหิวาต์สุกร และถ่ายพยาธิแก่สุกรตามกำหนดเป็นผลทำให้การตายของสุกรในหมู่บ้านลดลง และทำให้ผลผลิตสุกรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสั้นๆ ปัจจุบันเมื่อจำนวนสุกรเพิ่มมากขึ้น ทางเกษตรกรควรต้องพิจารณาขายสุกรบางส่วนออกไปเนื่องจากสุกรเหล่านี้จะกินอาหารจุทำให้ปริมาณอาหารที่ให้ไม่เพียงพอ จะเป็นผลทำให้ลูกสุกรโตช้าและแม่สุกรอาจจะไม่เป็นสัดจากการขาดสารอาหารได้
หลังจากนั้นในภาคบ่ายได้เดินทางไปยังบ้านนาตาก เพื่อทำการสัมภาษณ์และคัดเลือกเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการสัตวแพทย์บ้าน ซึ่งทางคณะคัดเลือกเกษตรกรได้เพียง ๓ ราย โดยที่คุณสมบัติของเกษตรกรที่คัดเลือกได้ในหมู่บ้านนี้ ยังขาดคุณสมบัติสำคัญบางประการเช่น ไม่มีสัตว์เลี้ยงของตนเอง อายุน้อย ยังเป็นโสด และไม่เคยเห็นสัตว์ป่วย แต่เนื่องจากเป็นมติของนายบ้านร่วมกับเกษตรกรในหมู่บ้านจึงรับพิจารณากลุ่มบุคคลดังกล่าวไว้ก่อน หลังจากการประชุมได้ให้บริการแจกยาถ่ายพยาธิกระบือและสุกร ให้กับเกษตรกรจำนวนหนึ่ง พบข้อได้เปรียบของหมู่บ้านนี้ ๒ ประการคือ หนึ่งมีไฟฟ้าเข้าถึง ทำให้สามารถ ซื้อตู้เย็นมาเก็บวัคซีนและยาสำคัญๆไว้ได้ ประการที่สองคือ ระดับการศึกษาของเกษตรกรหมู่บ้านนาตากจะดีกว่าบ้านนามน ทำให้ปัญหาเรื่องการทำรายงาน จดบันทึกการรับ-จ่ายโครงการธนาคารยาสัตว์ในหมู่บ้านนี้จะทำได้ดีกว่า หลังจากนั้นได้เดินทางกลับเมืองไสยบุรี
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ในตอนเช้าได้เดินทางไปยังสำนักงานป่าไม้ ประมงและปศุสัตว์ประจำเมืองไสยบุรีอีกครั้ง เพื่อรวมปรึกษาหารือถึงผลการคัดเลือกเกษตรกรที่จะมาเป็นสัตวแพทย์บ้าน รวมทั้งหลักสูตรในการฝึกอบรม ทางเจ้าหน้าที่ส่งเสริมกสิกรรมของเมืองได้เสนอให้เพิ่มรายชื่อเกษตรกรอีก ๓ คนในหมู่บ้านนาตาก เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้มีประสบการณ์ดีกว่า รวมทั้งเมื่อวานไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วย สรุปได้ว่ามีตัวแทนที่จะเข้าร่วมฝึกอบรมจากบ้านนามน ๕ คนและบ้านนาตาก ๖ คน หลังจากนั้นได้ร่วมปรึกษาถึงเนื้อหาในหลักสูตรการเป็นสัตวแพทย์บ้าน ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะไปว่าหลักสูตรไม่ควรเกิน ๒วัน โดยเริ่มจากในภาคเช้าวันแรกจะเป็นภาคทฤษฏี เกี่ยวกับความรู้โรคสัตว์พื้นฐานที่พบบ่อยๆในหมู่บ้าน ได้แก่ โรคคอบวม ปากและเท้าเปื่อยในโค-กระบือ อหิวาต์สุกร อหิวาต์เป็ด-ไก่ กาฬโรคเป็ด นิวคาสเซิลในไก่ โรคพยาธิใบไม้ในตับโค-กระบือ พยาธิตัวกลมในโค-กระบือ-สุกร-เป็ด-ไก่ เป็นต้น ในภาคบ่ายเป็นภาคปฎิบัติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ การบังคับสัตว์เป็นต้น ในตอนค่ำเป็นภาคสันทนาการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วยกันและอื่นๆ
ในภาคเช้าวันที่สองควรเป็นหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องการจัดการฟาร์ม การดูแลโรงเรือน พันธุ์สัตว์และการจัดการด้านผสมพันธุ์ หลักการคัดเลือกพันธุ์ สุขศาสตร์สัตว์ รวมถึงการทำบัญชีรับ-จ่ายยา การทำรายงานส่งให้โครงการ ส่วนในภาคบ่ายควรมีแบบทดสอบให้ผู้ร่วมการฝึกอบรมได้ทำเพื่อประเมินความรู้ในเบื้องต้นที่เรียนมา เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่อบรมเป็นช่วงสั้นๆ ดังนั้นทางโครงการ FORCOM ต้องจัดทำคู่มือเกี่ยวกับความรู้ในการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรโดยคู่มือควรจะมีลักษณะเป็นรูปภาพหรือการ์ตูนมากกว่าเป็นตัวหนังสือ ซึ่งจะสื่อให้เกษตรกรให้เข้าใจได้มากกว่า หลังจากการประชุมได้เดินทางกลับเมืองหลวงพระบาง ในภาคบ่ายที่โครงการ FORCOM เมืองหลวงพระบาง ทางหัวหน้าโครงการ FORCOM Dr. IWASA ได้เป็นผู้นำการอภิปรายกลุ่มระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำโครงการร่วมกับทางคณะผู้เชี่ยวชาญ
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ในตอนเช้าได้เดินทางไปยังบ้านหาดห้วย ตำบลปากแสง เพื่อทำการสัมภาษณ์และคัดเลือกเกษตรกรเข้าโครงการสัตวแพทย์บ้าน ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวทางคณะได้คัดเลือกเกษตรกรจำนวน ๗ คน เพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรม นอกจากนี้ได้ให้บริการด้านยาถ่ายพยาธิแก่โค-กระบือ-สุกรและแพะ ของเกษตรกรในหมู่บ้านอีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวแทนบางคนที่ได้รับการคัดเลือกมีประสบการณ์ในการดูแลสุขภาพสัตว์เป็นอย่างดีเนื่องจากได้รับการฝึกอบรมโดยโครงการ EU มาก่อน และใช้เวลาในการฝึกอบรมแต่ละรอบค่อนข้างนาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกสิกรรมของอำเภอยังไม่เคยได้รับการฝึกอบรมใดๆ ทำให้ทางโครงการต้องพิจารณานำเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมการฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกร และเสริมหลักสูตรในการเก็บตัวอย่างแก่กลุ่มเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษในกรณีที่พบโรคระบาดในหมู่บ้านทางเจ้าหน้าที่จะได้เก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการได้ถูกต้อง
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ในตอนเช้าได้เดินทางไปยังโครงการ FORCOM เพื่อร่วมประชุมสรุปเป็นครั้งสุดท้ายร่วมกับคณะทำงานของ FORCOM และผู้เชี่ยวชาญ JICA Mr.Akiva Miyoshi เกี่ยวกับหลักสูตรและการจัดทำคู่มือแก่สัตวแพทย์บ้าน ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบแผ่นซีดีเป็นโปรแกรม Power Point เกี่ยวกับโรคและหลักในการควบคุมโรคเพื่อเป็นต้นแบบแก่เจ้าหน้าที่โครงการ หลังจากนั้นในเวลา ๑๔.๓๐ น. ได้ขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับนครเวียงจันทร์ เมื่อถึงนครเวียงจันทร์ได้เข้าเยี่ยม ดร.บุญล้อม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งชาติ (NAHC) ประจำนครเวียงจันทร์เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านระบาดวิทยา หลังจากนั้นได้เดินทางกลับที่พัก
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ในช่วงเช้าได้เดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย ผ่านทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย โดยทางรถยนต์
ข้อสังเกตในการปฏิบัติงานครั้งนี้
๑.เกษตรกรในหมู่บ้านเริ่มมีการตื่นตัวและมั่นใจในการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง
ตามหลักวิชาการเพราะเริ่มเห็นผลจากการทำวัคซีน การถ่ายพยาธิ
ทำให้จำนวนสัตว์ตายลดลง และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้สภาพด้านความเป็นอยู่โดยทั่วไปและสุขภาพของเกษตรกรดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
๒.โครงการสัตวแพทย์บ้านที่ทางโครงการ FORCOM
จะเริ่มขึ้นต้องอาศัยหลักสูตรการฝึกอบรมหลายระดับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกสิกรรมในท้องถิ่น
เกษตรกรที่ถูกคัดเลือกมาทำหน้าที่สัตวแพทย์บ้าน
รวมทั้งเกษตรกรทั่วไปในหมู่บ้าน
ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะเกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคคลทั้งสามกลุ่มนี้กับห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์
ที่จะรายงานโรคและส่งตัวอย่างเพื่อการยืนยันผลการชันสูตรโรคที่ถูกต้องและ
แม่นยำ ทำให้ได้แผนในการควบคุมและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้และขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศได้
โดยอาศัยต้นแบบจากโครงการ FORCOM
ดังที่กล่าวมา
|
|