บทนำ : คนไร้รัฐไร้สัญชาติ กับหลักประกันสุขภาพ (ไม่) ถ้วนหน้าในสังคมไทย (2)


สังคมไทยเคยเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่ง จากระบบประกันสุขภาพที่หลากหลายครอบคลุมประชากรหลากหลายกลุ่ม (ในช่วงก่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในปี 2544) ก็คือ ..พบว่า มีคนอีกประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย ..โดยจำเป็นต้องหมายเหตุนอกเชิงอรรถไว้ตรงนี้ด้วย ถึงตัวอย่างของคนในจำนวนร้อยละ 30 ที่ได้รับการระบุถึง ว่า " ..ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ผู้มีอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เป็นต้น” และมีความเป็นไปได้ว่า หากจะตีความว่า “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ น่าจะไม่ถูกนับรวมอยู่ในคนร้อยละ 30 นี้” จะถูกตีความด้วยเช่นกันว่า เป็นการมองโลกในแง่ร้ายหรือคาดเดาไปเอง

 

 

 

-3-

หากความจริงที่ว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสัจธรรมของทุกชีวิต ยังเป็นความจริงที่ถูกเชื่อและยอมรับโดยสังคมไทย ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยของคนไทยและคนไม่ใช่ไทย จึงไม่น่าจะเกิดด้วยเหตุแห่งความแตกต่างที่ทำให้เกิดความแตกต่างซ้ำ โดยการเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยและคนไม่ใช่ไทย

แต่จากประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็คือ แม้ว่าเรื่องราวและจำนวนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพนั้นจะมีอยู่จริง  แต่มันมักจะไม่ใช่ "สาร" ที่สื่อกระแสหลักจะนำเสนอ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยรับรู้ เรียนรู้ถึงบทเรียนอีกด้านของนโยบายหลักประกันสุขภาพที่ไม่ถ้วนหน้านี้ ที่สำคัญ เพื่อให้สังคมไทยได้มีโอกาสร่วมถกเถียง แลกเปลี่ยนเพื่อแสวงหาทางออกกับสถานการณ์ปัญหานี้

-4-

ก่อนหน้าการปฏิรูประบบสุขภาพในปี 2544  สังคมไทยเคยเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่งจากระบบประกันสุขภาพที่หลากหลายครอบคลุมประชากรหลากหลายกลุ่ม[1] มันทำให้ดูราวกับว่ารัฐไทยได้ทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพประชากรอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ในความหลายหลายนั้นกลับยังคงไว้ซึ่งปัญหาเดิมๆ

อาทิ รายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ระบบประกันสุขภาพยังคงเน้นการรักษาพยาบาล ยังไปไม่ถึงความหมายที่แท้จริงของการประกันสุขภาพ (Health Insurance)

รวมถึงปัญหาใหม่ๆ  อาทิ เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคระหว่างระบบประกันสุขภาพชนิดต่างๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เพราะมีเพียงระบบประกันที่รัฐจ่ายเงินสนับสนุนจำนวนมากเท่านั้นที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้สถานพยาบาลมีบริการที่ดี

ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นข้อค้นพบที่ว่า มีคนอีกประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย[2]

โดยจำเป็นต้องหมายเหตุนอกเชิงอรรถไว้ตรงนี้ด้วย ถึงตัวอย่างของคนในจำนวนร้อยละ 30 ที่ถูกระบุว่า ".. ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ผู้มีอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เป็นต้น”

(อาจเป็นไปได้ว่า หากจะตีความว่า “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ น่าจะไม่ถูกนับรวมอยู่ในคนร้อยละ 30 นี้” การตีความแบบนี้ก็จะถูกตีความด้วยเช่นกันว่า ..เป็นการมองโลกในแง่ร้าย คาดเดาไปเอง..)

แล้วนับจากประมาณปี 2546-ปัจจุบัน (2551) ที่ยังไม่มีการศึกษาประเมินว่า ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำหนดว่า จะต้องเป็น เงิน 30 บาทของ คนไทย เท่านั้น ที่สามารถใช้ร่วมจ่ายเพื่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บได้ จะมีคนจำนวนเท่าใดกันที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย

ทั้งนี้ ยังมีอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันว่า ด้วยการจำกัด คนที่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้คือคนไทยเท่านั้น แล้วคนไม่ไทย และคนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นไทย ที่อยู่ในความจน เจ็บ(ป่วย) และหวาดกลัว (การถูกจับ) อีกจำนวนเท่าใดกัน--ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้แม้แต่บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

..........................................................

จริงหรือที่ว่า-จะไม่มีเรื่องราวหรือบทเรียนใดๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ให้สังคมไทยได้เรียนรู้

-5-

แม้การยอมรับความจริงของรัฐไทย ผ่านมติที่ประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (มติการประชุมครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2548) จะทำให้หลายคนเริ่มสัมผัสได้ถึงความหวัง แต่เนื้อหาใจความของมติที่ประชุมดังกล่าวก็ยืนยันถึงมิติการเป็น “ภาระ” ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และทางปฏิบัติยังเป็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไป[3]

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ที่เห็นว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติมีสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในขั้นพื้นฐาน (ซึ่งรวมถึงสิทธิในทางสุขภาพ) อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวยังขาดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้ยังมีข้อขัดข้องในการปฏิบัติ

 

-6-

ภายใต้ ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย หรือสวปก. (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)

นอกจากการศึกษาวิจัยเพื่อสะท้อนให้สังคมไทยตระหนักถึงสภาพปัญหาด้านสุขภาพที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญ รวมถึงภาพของความพยายามแสวงหาทางออกของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ  และสถานพยาบาลใน ระดับปัจเจกภายใต้การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐไทย (ดูปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว และคณะ ในชุดวิจัยย่อย A-1 และ จุฑิมาศ สุกใส ในชุดวิจัยย่อ A-2)

ชุดโครงการวิจัยฯ ยังพยายามศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเบื้องต้น โดยเริ่มต้นจากการสำรวจถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐไทยในการดูแลประชากรและพลเมืองในดินแดน และการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว (ดู กิติวรญา รัตนมณี ในชุดวิจัยย่อย B)

รวมถึงความคาดหวังของประชาคมโลกที่มีต่อรัฐภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศที่มุ่งคุ้มครองสิทธิในสุขภาพ (ดู บงกช นภาอัมพร ในชุดวิจัยย่อย D)

นอกจากนั้นยังได้พยายามศึกษาจากประสบการณ์ของต่างประเทศในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกด้วย (ดู เอกสิทธิ วินิจกุล และว่าที่รตอ.หญิง สุภาพรรณ ขวัญทอง ในชุดวิจัยย่อย C-1, C-2)

การร้อยเรียง วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อค้นพบทั้ง 5 ชุดวิจัยย่อย เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า (ชุดวิจัย E)

---Hope it could be E-Excellent :) :)

 



[1] รัฐไทยดำเนินระบบประกันสุขภาพให้แก่ประชากรผ่านรูปแบบต่างๆ ได้แก่ (1) ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้าราชการบำนาญและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบุคคลในครอบครัว (Civil Service Medical Benefits Scheme : CSMBS),  (2) ระบบประกันสังคม ภาคบังคับสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการภาคเอกชน (Social Security Scheme : SSS ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533, (3) ระบบสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น โครงการสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) โครงการบัตรประกันสุขภาพ 500 บาท ฯลฯ (4) การประกันสุขภาพเฉพาะด้าน เช่น พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2533 และ 5) ระบบประกันสุขภาพภาคเอกชน (Private Security Scheme : PSS)

[2] คู่มือหลักประกันสุขภาพ สำหรับประชาชน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2547, น. 14-15

[3] “..ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรครอบคลุมถึงประชากรกลุ่มดังกล่าว [คนไร้รัฐไร้สัญชาติ].. เนื่องจากเห็นว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานและมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ” “..ปัจจุบัน มีสถานพยาบาลจำนวนมากได้รับผลกระทบจากภาระการให้บริการประชาชนกลุ่มดังกล่วา โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน จึงควรจะมีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และเห็นชอบให้เสนอประเด็นปัญหานี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าว (พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็สามารถดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 18 (4)

 

หมายเลขบันทึก: 175539เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2008 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท