จิตวิญญาณ ผสมผสานธรรม นำสู่ความสุข


ในวินาทีที่ผู้ป่วยมีลมหายใจอยู่ เขาสามารถทำสิ่งดีๆ มีคุณค่าต่อชีวิตของเขาได้ เขาจะต้องมีโอกาสได้พบกับสิ่งที่ดีงาม ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

อ่านฉบับเต็ม

เป็นการนำเสนอประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในมิติด้านจิตใจและจิตวิญญาณ โดยนำธรรมะเข้ามาผสมผสาน จาก 4 พื้นที่ ได้แก่ รพ.สุรินทร์ รพ.สวนสราญรมย์ รพ.ทุ่งใหญ่ และ รพ.บ้านลาด ม้จะมีความแตกต่างในบริบทของผู้ป่วยและกระบวนการทำงาน  แต่ก็พบว่ามีแนวคิดที่เป็นจุดร่วม นั่นคือแม้ผู้ป่วยจะป่วยทางกาย แต่การดูแลทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ จะช่วยให้ความเจ็บป่วยทางกายนั้นทุเลาลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

คุณนงลักษณ์ เต็งประวัติ หัวหน้าหอผู้ป่วยอายุรกรรมชายจาก รพ.สุรินทร์  ได้นำเสนอการดูแลผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณในกลุ่มโรคเรื้อรัง / ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมีเป้าหมายที่จะให้คนไข้มีกำลังใจเพื่อที่จะพึ่งตนเองได้ ให้ญาติพึงพอใจที่จะมีส่วนในการดูแล และให้เจ้าหน้าที่มีศักยภาพและความสุขในการทำงาน  มีการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตวิญญาณขึ้น  เช่น ส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ให้การดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณด้วยการประยุกต์ธรรมะมาร่วมในการรักษา ปรับระบบการทำงานให้มีเวลาคุยกับคนไข้ ให้กำลังใจคนไข้มากขึ้น การสวดมนต์ร่วมกัน การสอนให้คนไข้และญาติเจริญสติ

 

มีเทคนิคที่น่าสนใจ เช่น หากคนไข้นอนให้น้ำเกลืออยู่ก็ให้มองไปที่หยดน้ำเกลือ น้ำเกลือหยดแรกให้กำหนด พุทหยดต่อไปให้กำหนด โธและให้กำหนด พุท-โธไปเรื่อยๆ  คนไข้ที่ไม่ได้ให้น้ำเกลือ ก็อาจจะให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือดูที่ท้องพอง-ยุบ การเคลื่อนไหวของการกำมือ เป็นกำ-เหยียด หรือการจ้องมองที่องค์พระแล้วกำหนดลมหายใจ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน

 

คุณเสาวภา ปานเพชร รพ.สวนสราญรมย์ เล่าถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังซึ่งไร้ญาติ ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนมากกว่าผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป  โรงพยาบาลมีพื้นฐานที่ดีในการใช้ธรรมะในการทำงานและการดูแลผู้ป่วยอยู่แล้ว ได้มีการสอดแทรกกิจกรรมคุณภาพและการใช้ธรรมะเข้าในการดูแลผู้ป่วยให้ซึมซับเข้าไปในงานปกติประจำ เช่น การมีแนวคิดของการรับ-ส่งบุญ แทนการรับ-ส่งเวร, การป้อนข้าวผู้ป่วยเสมือนการตักบาตร, การดูแลผู้ป่วยเสมือนได้ดูแลพ่อแม่ของตนเอง, เมื่อไรที่มีเมตตา คำพูดก็สร้างโลกได้, อยู่กับคนไข้จิตเวชต้องอดทน ไม่ใช่บังคับให้อดทน แต่อดทนอย่างมีธรรมะ และสุดท้ายได้ข้อคิดว่า ทำความดีแล้วจะมีสิ่งดีๆ อยู่กับตัวเราเสมอและจะเกิดความงดงาม สิ่งดีงามเหล่านี้จะเป็นพลังศรัทธาให้เกิดขึ้นทุกแห่งหน  ไม่ต้องรอว่าทำดีแล้วจะได้ดี

พญ.บุษกร พัวเกาศัลย์ รพ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช นำเสนอโครงการ Sun Set Empowerment Approach หรือโครงการอาทิตย์อัสดง  โดยมีแนวคิดว่า ในวินาทีที่ผู้ป่วยมีลมหายใจอยู่ เขาสามารถทำสิ่งดีๆ มีคุณค่าต่อชีวิตของเขาได้ เขาจะต้องมีโอกาสได้พบกับสิ่งที่ดีงาม ได้ทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ทำ  มีการประเมินผู้ป่วยอย่างรอบด้านและนำข้อมูลมาใช้ดูแลผู้ป่วยทั้งด้านจิตวิญญาณ จิตใจ ร่างกาย สังคม  ไปจนถึงการวางแผนจำหน่าย การส่งผู้ป่วยกลับบ้าน การดูแลต่อเนื่อง และการดูแลญาติหลังผู้ป่วยเสียชีวิต  ผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งเอะอะโวยวายขอยาแก้ปวด ได้ผ่อนคลายลง สามารกลับบ้านได้ 

 

ความสำเร็จของโครงการ สะท้อนได้จากคำพูดของผู้ป่วย เหมือนอยู่ในที่มืดเดินทางมาพบแสงสว่าง ขอให้ทำโครงการนี้ต่อไป อย่าหยุดทำ”, “ครอบครัวผมกำลังจะจมน้ำ มาเจอขอนไม้ให้ยึดเกาะ”, “โชคดีที่เดินมาชนโครงการนี้ ต่อไปไม่ต้องลำบากเหมือนคืนนั้นอีกแล้ว

คุณสุธิมา บุตรรัตน์ รพ. บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นำเสนอตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งแต่เดิมไม่เชื่อมั่นในทีมงานของ รพ.นัก  แต่ทีมงานก็ได้ใช้ทุกวิธีที่จะเข้าไปนั่งในหัวใจของคนไข้ให้ได้ เพื่อจะได้ค้นหาปัญหาของคนไข้ได้ครอบคลุม ใช้ศักยภาพของชุมชน ใช้ความสม่ำเสมอ ใช้เวลาราษฎรแทนเวลาราชการในการทำงาน  จนสามารถสร้างความไว้วางใจ ความศรัทธา คอยช่วยแก้ปัญหาให้คนไข้เพื่อให้สามารถออกสู่สังคมได้  บทเรียนที่ได้รับก็คือ เรา....จงเข้าไปหาชาวบ้าน จงเรียนรู้กับชาวบ้าน จงเรียนรู้จากชาวบ้าน จงทำงานร่วมกับชาวบ้าน จงเริ่มต้นจากสิ่งที่ชาวบ้านรู้ จงสร้างจากสิ่งที่ชาวบ้านมี  ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง และเราก็ทำงานเป็นระบบ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 174797เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2008 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะพี่
  • แวะมาฝากร่องรอยไว้
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณคุณหมอเจ๊ครับ

ไปดูย้อนรอยความรู้สึกกับ สคส.แล้วน่าสนุกจังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท