เมื่อใจได้ " รู้ " ซะแล้ว๑


เราก็ยกครัวขึ้นไปไว้บนรถเลย ทั้งครก ทั้งสาก หวดนึ่งข้าว หม้อนึ่ง กาละมัง น้ำ ถาด ถ่าน เตา ที่ได้จากคุณนำพล

ปีนี้การไปดูงาน ๓ วันของพวกเรา เป็นเรื่องการหนุนเนื่องที่จะสร้างป่าในไร่นาและเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นการตอกย้ำการทำงานของพวกเราในหนึ่งปีที่ผ่านมา

พวกเราร่วมกันวางไว้ว่า เราจะไปเยี่ยมการทำงานของอาจารย์เตา ( คุณนำพล เผ่าผล เกษตรวิสัย ร้อยเอ็ด)  เนื่องจากพวกเราได้เรียนและทดลองปั้นเตาแล้ว ปรากฏว่าตอนถอดเตาออกจากพิมพ์ เตาก็ย้วย แตกแหง ยังทำไม่สำเร็จ  คุณนำพลก็ได้ช่วยอัตถาธิบายอย่างไหลหลั่งถั่งท้นต่อคำถามของพวกเราด้วยประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงมือทำและสังเกตและปรับอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งเสนอ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถมาฝึกเรียนรู้ทำจริงเลยที่โรงงานเล็ก ๆ หลังบ้านคุณนำพล ด้วยสำนึกของคุณนำพลที่สำคัญคือ การใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงอย่างประหยัด ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เปิดเผยความรู้อย่างไม่ปิดบัง

                 

                 

จากนั้นก็เดินทางต่อไปพักค้างคืนที่มหาอาณาจักรของพ่อคำเดื่อง ( ที่มาของคำ มหาอาณาจักร   มีชาวบ้านจากที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ใช่คนในพื้นที่ มาหาหนูเพื่อใช้เป็นอาหาร แถบนาพ่อคำเดื่อง เนื่องจากบริเวณนั้นมีสวนอ้อยเยอะ หนูก็เยอะด้วย เป็นหนูนา ก็มีคนจากต่างถิ่นไปหาหนูอยู่บ่อย ๆ  แม้แต่ญาติของดิฉันอยู่ที่อำเภอเขื่องใน อุบลราชธานีโน่นแน่ะ บอกว่ายังเคยมาหาหนูที่นั่น  สงสัยตอนนั้นน้ำมันยังไม่แพงแบบนี้...ทำนองว่ามัวแต่พุ่งความสนใจที่จะหาหนู พอเงยหน้าอีกทีสายตาก็ปะทะกับหมู่แมกไม้ป่าไม้ใหญ่ทมึนอยู่ต่อหน้า ถึงกับอุทานว่า...ปราสาทราชวังของไผหนอ... ความยิ่งใหญ่ของแมกไม้ที่พ่อคำเดื่องสร้างขึ้นให้ความรู้สึกขนาดนั้น )

         

                            


รุ่งเช้าไปเยี่ยมคุณอ้น-หนุ่มกรุงเทพผู้ผันตนเองมาเป็นชาวบ้าน ตั้งแต่เราจบโครงการที่เราทำด้วยกัน ที่บุรีรัมย์ ร่วมกับคณะครูบาทั้งสามท่านคือ พ่อผาย พ่อคำเดื่อง ครูบาสุทธินันท์ คุณอ้นอาศัยอยู่ในดอนที่เคยเป็นที่ร่ำลือว่าเป็นที่เข็ด ที่ขวง แม้แต่พระมาปักกลดอยู่ยังอยู่ไม่ได้ คุณอ้นมารักษาป่าและปลูกไม้เพิ่มเติม ในชื่อว่า ระเมียรไม้  พื้นที่อนุรักษ์และรักษาพันธุ์ไม้ท้องถิ่น พื้นที่ประมาณ ๗ ไร่ ผู้ที่จะมาเยี่ยมชมกรุณางดบุหรี่ เหล้า และเตรียมอาหารไปเอง  ....สอดคล้องกับกลุ่มเรายิ่งนัก

ก่อนเราจะไปดูงานนั้น ดิฉันได้โยนโจทย์ให้กับหมู่สมาชิก เรื่องปัญหาเกี่ยวกับงบ จะแก้ไขกันอย่างไร


สมาชิก เราก็เตรียมอาหารไปแบบที่เราเคยไปครั้งที่ไปดูงานทีสวนอาจารย์แสวง ที่ขอนแก่น
ใครจะเตรียมอะไรบ้าง
ก็จึงได้เรื่องออกมาว่า


ดงหลวงจะเตรียมเครื่องที่จะไปแกงขี้เหล็กและถั่วฝักยาว
ยางคำ เตรียมขนุนต้มและเครื่องสำหรับทำซุปบักมี่
นาคำกลาง เตรียมเครื่องทำส้มตำให้ครบ
บ้านกลาง เตรียมปลาแดกบองให้พอกิน ๓ วันที่เดินทาง
นาทม เตรียมข้าวต้มมัดใส้กล้วย ให้ได้ ๒๐๐ มัด
บ้านเหล่า และดอนม่วง เตรียมผักสดและกล้วย
ส่วนกลาง จะทำหมูแดดเดียวทอด และขนมปังปิ๊บ

นอกจากนี้แต่ละคน ต้องเอาข้าวสารไปคนละ ๒ กก พร้อมกระติบข้าว
แต่ละหมู่บ้านต้องเอาถ้วยจานไปด้วย
นอกจากนี้ เราก็ยกครัวขึ้นไปไว้บนรถเลย ทั้งครก ทั้งสาก หวดนึ่งข้าว หม้อนึ่ง กาละมัง น้ำ ถาด ถ่าน  เตา ที่ได้จากคุณนำพล

        

ที่กินข้าวของเราก็สบายมากทุกแห่งเป็นของเรา มีอยู่ทั่วทีบ ( เต็มไปหมด ) เลือกทำเลเอาเลยว่าชอบร่มเงาตรงไหนที่เย็นสบายที่สุด บางทีก็เลือกเอาปั้มน้ำมันที่กว้างขวางหน่อย ได้เวลาที่เริ่มหิวแล้วก็จอดรถ ลงมือปฏิบัติการ คณะฝ่ายสตรีของเรา...ลุย ทั้ง ยัวะ ทั้ง ..ยอก..( เสียงขึ้นจมูก – อาการของการตำส้มตำ บักหุ่งและ ถั่วฝักยาวแล้วแต่กำหนด เสียงดังจั๊วะ เจี๊ยะ ของการที่ตำเข้ากันได้ที่ มะละกอกับเครื่องก็จะผสมคลุกเคล้าเข้ากันจนน่วมและมีน้ำขลุกขลิก....กลิ่นปลาแดกฉุย..หอมเข้าจมูก )…..จบตอน ๑

 

หมายเลขบันทึก: 174225เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท