การจัดการองค์ความรู้ในโรงพยาบาลศิริราช



     
 
การจัดการองค์ความรู้ในโรงพยาบาลศิริราช

โดย รศ.นพ.อภิชาติ ศิวยาธร  รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพงาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล

      โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีประชาชนให้ความเชื่อมั่นมารับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก มีเครื่องมือทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างสูงในการแพทย์ทุกด้าน โดยเฉพาะในระยะหลัง ได้มีการพัฒนาความรู้ในการจัดการและบริหารองค์กรขึ้นมาก แต่องค์ความรู้ต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังรู้กันเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่มที่ทำงานด้วยกัน และยังขาดกลไกในการจัดการกับความรู้เหล่านี้อย่างเป็นระบบ

      เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้วว่า ความรู้ เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร ซึ่งถ้าองค์กรสามารถรวบรวมองค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่อย่างเป็นระบบ ถ่ายทอดและแบ่งปันกันระหว่างคนในองค์กรเพื่อที่จะนำไปใช้และขยายผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ รวมทั้งต่อตนเองและหน่วยงานด้วย จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศได้

      การจัดการความรู้ในองค์กร (Knowledge Management) หรือเรียกย่อๆ ว่า KM เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้มีการสร้าง รวบรวม จัดระบบ เผยแพร่ ถ่ายโอน ความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันเวลา และทันเหตุการณ์ จะส่งผลให้การปฏิบัติงานของคนในองค์กรมีคุณภาพ และมี ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว KM เป็นแนวคิดในการบริหารองค์กรแบบใหม่ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้นำมาต่อยอดและเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการในการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กรที่เหมาะสมกับระบบบริหารและวัฒนธรรมองค์กรของคณะฯ สามารถนำความรู้ในองค์กรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพัฒนาคณะฯไปเป็นองค์กรเรียนรู้อย่างแท้จริงในอนาคต

 

การดำเนินการ
      คณะฯ ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานนำร่องในโครงการ "การจัดการองค์ความรู้ในองค์กร" ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ" โดยมี มี Mr.Robert J. Osterhoff และดร.บุญดี บุญญากิจ เป็นที่ปรึกษา ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2546 - สิงหาคม 2547 เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ เป็นองค์กรที่มีการจัดการองค์ความรู้ และขยายการจัดการองค์ความรู้ไปให้ครอบคลุมทั้งองค์กร และสามารถนำประโยชน์ของการจัดการองค์ความรู้มาใช้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศได้ รวมทั้งเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังองค์กรอื่นๆในประเทศไทยต่อไป

วิธีการดำเนินการ
      ผู้บริหารและคณะทำงาน KM เข้ารับการอบรมจากวิทยากร หลังจากนั้นได้เลือกหัวข้อขององค์ความรู้เรื่อง "การทำ CQI (continuous quality improvement) ทางคลินิก" มาบริหารจัดการ

      เหตุผลที่เลือก CQI ทางคลินิก เพราะคณะฯ มีนโยบายการพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก และที่ผ่านมาทีมดูแลผู้ป่วยเกือบทุกทีมใน ร.พ.ศิริราช ต่างมีรูปแบบพัฒนาคุณภาพของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย แต่น่าเสียดายที่รู้เฉพาะในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นการเปิดเวทีให้ทีมต่างๆ นำองค์ความรู้มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จะทำให้การดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราชมีการพัฒนารวดเร็วขึ้นมาก โดยตั้งเป้าหมายหลักของโครงการ (Desire State) ไว้ดังนี้ : "มีระบบเครือข่ายของการถ่ายโอนความรู้ (ด้าน CQI ทางคลินิก) เพื่อให้มี Best Practice ในการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช"

      ส่วนคณะทำงาน ประกอบด้วยบุคลากรหลายฝ่าย มีรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพงานเป็นประธาน โดยมีแนวทางในการดำเนินการหลักๆอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
      1. ขอความสนับสนุนจากผู้บริหารคณะฯ และชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจว่าตนเองจะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้อย่างไร โดยจะมีการชี้แจงผ่านสื่อต่างๆของคณะฯ และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เสริมเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งโครงการ
      2. ใช้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่ เช่น SiNet เป็นสื่อกลางในการรวบรวมและแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นระบบให้มากขึ้น โดยคณะฯได้ปรับโปรแกรม Lotus notes ที่มีใช้อยู่แล้วให้สามารถรองรับการดำเนินการในด้านนี้แล้ว
      3. สร้างชุมชนแห่งความรู้ทาง CQI (Community of Practice) โดยชักชวนบุคลากรที่มีความสนใจจะทำกิจกรรม CQI ให้มารวมตัวกันหรือจัดเป็นเครือข่าย เพื่อให้มีการช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาในการนำ CQI มาช่วยการพัฒนากระบวนการ ดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งขยายผลความรู้หรือผลที่ได้จากการทำ CQI ให้กว้างขวางออกไป

สรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา
ในขั้นต้น คือ การสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความรู้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายแรก คือ กลุ่ม CQI ทางคลินิก เนื่องจากคณะฯ มีการดำเนินงานด้าน CQI ทางคลินิกมากพอสมควร และกระบวนการทาง CQI เป็นวิธีการปรับปรุงการบริการ ที่จะทำให้เกิดการดูแลรักษาที่ดีและมีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการของ Community of Practice (COP) ประกอบด้วยผู้ทำงานด้าน CQI เข้ามารวมเป็นกลุ่มเพื่อเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน มีหน้าที่หลักในการจัดกิจกรรมของชมรม เช่น การรับและสื่อสารกับสมาชิก การให้คำปรึกษาเรื่องการทำ CQI การรวบรวมความรู้เข้าสู่ KM website จากการประเมินผลการทำงานของ COP พบว่า การดำเนินงานยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น สมาชิกติดต่อสื่อสารเข้ามาที่ website น้อย COP ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากประเมินผลการดำเนินงาน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการของ COP 4 แผนงาน คือ
     1) การจัดเก็บ รวบรวมความรู้
     2) ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา ประสานงานและอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนความรู้
     3) ค้นหา พิจารณา และเผยแพร่ Best Practice
     4) ดำเนินการผลักดันและสร้างเครือข่ายให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ
นอกจากนี้จะมีระบบการให้รางวัลแก่บุคลากรและทีมงานที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกำลังพิจารณากำหนดกิจกรรม/พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รางวัล รวมทั้งเกณฑ์การให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน

      สำหรับผลการดำเนินงานด้านระบบสารสนเทศ ขณะนี้ได้มีการสร้าง website โครงการฯ จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้าน CQI และฐานข้อมูล CQI จัดช่องทางในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้บน web board มีการฝึกทักษะทางคอมพิวเตอร์เรื่องการใช้ internet และ intranet ให้กับสมาชิก และขยายการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในจุดที่มีความต้องการใช้งานสูง เช่นที่หอพักพยาบาล เป็นต้น

      โดยสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ขณะนี้มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร เช่น website โครงการฯ ยังมีเนื้อหาน้อย ความสามารถในการใช้งานงระบบ IT ของบุคลากรคณะฯ ยังมีน้อย โดยเฉพาะบุคลากรในระดับปฏิบัติ ซึ่งกำลังพิจารณาหาแนวทางแก้ไขในหลายๆด้าน ทั้งนี้ทั้งนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริหารทั้งด้านกำลังใจและทรัพยากรที่จำเป็น รวมทั้งการที่คณะทำงาน KM จะต้องประเมินและติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการอย่างต่อเนื่อง

   
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1742เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2005 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท