ประสบการณ์ ( แนะนำ ) ล้าง - อัด - ฉีดรถ/ห้องเครื่อง อันตรายมากกว่าที่คิด


แผงไฟควบคุมการการทำงานของเครื่องยนต์ช๊อต ใหม้ พัง

    มีเรื่องแปลก ๆ จากความรู้เท่าไม่ถึงการที่ต้องแลกบทเรียนนี้ด้วยราคาอันแสนแพง มาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วครับ

        ช่วงต้นเดือนมีนาคม 51 ผู้เขียนได้นำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อปรับปรุง ระบบการรองรับน้ำหนัก และ กลไกการการขับเคลื่อน ( ช่วงล่าง ) ผู้เขียนใช้รถกะบะ  ISUZU  Cab 4  RODEO  4X4  เครื่อง 3000 ปี 2002  ถ้าเทียบอายุรถ 7 ปี ,ระยะเวลา ,ระยะทางและลักษณะการใช้งานถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอุปกรณ์บางตัวต้องมีการเสื่อมสภาพบ้าง และ ผู้เขียนก็มีความรู้สึกว่าขณะที่ระบบช่วงล่างทำงานมีเสียงผิดปกติจากมากกว่าที่เป็นอยู่ ( เสียงหอน ของล้อหลังและเฟืองท้าย )  ผู้เขียนให้ศูนย์บริการเช็คช่วงล่างทั้งหมดและเลือกทำส่วนที่คิดว่าจำเป็นก่อน เช่น เฟืองท้าย เฟืองหน้า ระบบเบรคหน้า เบรคหลัง  พวงมาลัย ระบบขับเคื่อน 4  ล้อ ลูกหมาก ปีกนก บางอย่างอย่างแตกและพังจนซ่อมไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนใหม่ คิดเป็นเงินก็มากโขทีเดียว

   สิ่งสำคัญของบันทึกนี้ไม่ได้อยู่ทึ่จุดนี้ครับ แต่อยู่ที่สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้....

  หลังจากเข้าศูนย์ฯออกมาแล้ว ( ใช้เวลา 5 วัน ) เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีคราบน้ำมันติดตามตัวถังรถ ช่วงล่าง ห้องเครื่องและห้องโดยสาร  จึงตัดสินใจเข้าร้าน อัด ฉีด และทำความสะอาดทุกอย่างรวมไปถึงช่วงล่างและห้องเครื่อง  และผู้เขียนได้กำชับเด็กล้างรถให้หาผ้าและถุงพลาสติก คลุมกล่องควบคุม ระบบไฟทั้งหมดที่อยู่ในห้องเครื่องให้ดี ( เพราะรถที่ผลิตขึ้นหลังจาก ปี 2000 เกือบทุกรุ่นทุกยี่ห้อ จะควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าเกือบทั้งหมด ยกเว้นบางรุ่นเท่านั้น )   การล้างอัดฉีดร้านผู้เขียนเข้าครั้งแรก เพราะเห็นว่าจะสามารถช่วยทำความสะอาดได้อย่างดี สังเกตได้จากจำนวนพนักงาน การแต่งตัว และระบบการอัดฉีดชวงล่างที่มีระบบไฮโดรลิก ยกตัวรถขึ้นประมาณ 2 เมตร และคนเข้าใต้ท้องเพื่อฉีดช่วงล่างทั้งหมด

   ตรงจุดนี้และที่ผู้เขียนไม่ได้สังเกต เพราะเด็กที่ร้านคลุมด้านบนเท่านั้นแต่ไม่ได้คลุมด้านล่าง และอัด ฉีด น้ำจากด้านล่างด้วยแรงดันสูงจนเป็นละอองน้ำบางส่วน แรงดันน้ำพุ่งทะลุขึ้นด้านบนของห้องเครื่อง ละอองน้ำและน้ำบางส่วนที่ถูกฉีดมาจากด้านล่าง เข้าไปเกาะที่รอยต่อและกล่องควบคุม  ( มีกล่องควบคุมและเซ็นเซอร์ที่เป็นระบบไฟ รอบตัวเครื่อง ) หลังจากนั้นร้านใช้แรงดันลมเป่าไล่น้ำและทำให้ห้องเครื่องแห้งพร้อมลงน้ำยาไล่ความชื้น

  ผู้เขียนขับรถกลับบ้านยังไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างยังเป็นปกติ และจอดรถตากแดดไว้เพื่อให้น้ำบางส่วนที่ยังแห้งไม่หมด ระเหยออกให้หมด  แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ตะวันโพล้ เพล้  สตาร์ตเครื่องเพื่อจะเอารถเข้าบ้าน รอบเครื่องยนต์ขึ้นเองโดยที่ไม่ได้เหยียบคันเร่งถึง 3000 รอบ/ วินาที ( ถ้าขับรถรถในสิ้นทางปกติด้วยรอบเครื่องขนาดนี้ และวิ่งเกียร์ 5 ความเร็วน่าจะอยู่ 120 ก.ม. / ช.ม.  ท่านลองคิดเอาเองได้เลยครับว่า สตาร์ตเครื่องในหมู่บ้าน และไม่ได้ใส่เกียร์ รอบเครื่องขนาดนี้ เสียงเครื่องยนต์ทำงานจะดังขนาดใหน ... ตกใจ...เพื่อนบ้านวิ่งมาดู...เต็มเลยครับ )  

    ด้วยความน่ารักของเพื่อนบ้าน( บวกกับรำคาญเสียงด้วย ) ต่างช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุและหาทางแก้ไขเบื้องต้น

    " น้ำเข้ากล่องคุมการทำงานของเครื่องยนต์ แน่ ๆ " เพื่อนบ้านคนหนึ่งบอก

   และทุกคนลงความเห็นเดียวกันจึงช่วยถอดกล่องควบคุมออกมา ใช้แรงดันลมเป่าน้ำออก ทั้งที่เป็นตัวกล่องและขั้วต่อทุกกล่องทีมีอยู่รอบตัวเครื่อง ( น้ำขังเต็มเลยครับ )  ใช้น้ำยาใล่ความชื้นใส่ไปอีกครั้ง    และมี 1 กล่องที่คุมเครื่องมีรอยใหม้ 

ต่างคนต่างสันณิษฐานว่า กล่องนี้ ...เจ้ง..เรียบร้อยแล้ว  และเป็นอย่างที่คิดจริง ๆ 

พอใส่เข้าไปอีกครั้งไม่มีการตอบสนองจากการทำงานของเครื่องยนต์  ความเห็นต่อไปต่อไปก็คือไปชื้อกล่องควบคุบระบบไฟการทำงานของเครื่องยนต์ที่ ....

" บางนา  ( เชียงกง ) อย่าเอาอะไหล่ศูนย์ฯ มันแพง  แต่เพื่อความแน่ใจ น่าจะให้ศูนย์ มาเช็คเครื่องให้ก่อน "

ตามคำแนะนำผู้เขียน แจ้งให้ศูนย์บริการมาเช็คให้ที่บ้านโดยบอกอาการตามที่เป็นอยู่จริง ๆ เหมือนพนักงานศูนย์ ฯ จะรู้เตรียมกล่องควบคุมระบบไฟการทำงานของเรื่องทุกกล่องที่มีมาทดสอบให้ และก็เป็นตัวที่เพื่อนบ้านสันณิษฐานไว้จริงจริง ๆ 

  " พี่ไม่ต้องใช้อะไหล่ของศูนย์ก็ได้ ไปหาชื้อเองที่ เชียงกง บางนา จะถูกกว่าประมาณ 1ใน 3ของราคาอะไหล่ใหม่ของศูนย์ ฯ" พนักงานศูนย์บอกด้วยความจริงใจ ( ไม่คิดค่าบริการที่มาเช็คให้ด้วย..ดีจัง..ขอบคุณมากๆ )

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ถอดและไปชื้อเองในราคา 4,500 บาท ( ของใหม่ศูนย์ 13,000 บาท )ประหยัดได้เยอะ

  บทเรียน สอนใจ

       เข้าร้านอัดฉีดระวังให้ดีครับ บางร้านเด็กล้างรถบางคนยังไม่ชำนาญและรู้เรื่องรถต้องคอยระวังและกำชับ

  ขอบคุณเพื่อนบ้านที่แสนดี ผู้อ่านคงอยากทราบเป็นใครบ้าง เป็นช่างหลายคนแต่ต่างสาขาและอาชีพอื่น ๆ แต่สามารถหาข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ ตามกำลังที่เราจะทำได้  ( เราเป็นครูจึงไม่ค่อยรู้แต่พยามศึกษา..ได้มาหลายอย่างแล้วครับ)

      พี่ยอด เป็นพนักงาน " ลอจิสติกส์ " ของบริษัทเบ็นส์  ทำงานที่ ช้างสามเศียร/ปากน้ำไป-กลับทุกวัน 120 ก.ม. ครับ ( ชอบแต่งรถและชำนาญเรื่องเครื่องยนต์ครับ)

     พี่มะลัย เป็นไฟแนนส์ อยู่  A.I.G.   รู้จักคนในวงการรถ เต็นรถ และช่างที่อยู่ในเครือข่าย หาข้อมูลรายละเอียดเครื่องยนต์ แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ได้อย่างละเอียดครับ

     พี่บูรณ์เป็นช่างเครื่องจักรในโรงงานขนาดใหญ่( บ.เฟอร์นิไลน์) ออกแบบเครื่องจักร  ระบบ และติดตั้งเอง แต่มีความสามารถพิเศษในการซ่อมรถเอง ( ซื้อมือ 2 มา...ทำเองทั้งคันครับ...ตั้งแต่ ชื้อเครื่องยนต์มาเปลี่ยนเอง ( ยกเครื่องใหม่ ) ครัตส์ ล้อ เบรก  เครื่องเสียง และอี่นๆเองทุกอย่างครับ

     พี่สมชาย  (ระบบสระน้ำของ พูล สปา)  และ พี่รัช  ช่วยอำนวยความสะดวก

รวมถึงบรรดาแม่บ้านที่ช่วยออกความเห็นและให้กำลังใจ( พี่กำไล,พี่เป้,พี่เภา,พี่ต่าย,น้องตู่ )และคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เอ่ยนาม ขอบคุณครับ...ที่กรุณาครับ....

ยังดีนะ...ที่มีเพี่อนบ้านที่แสนดี...แล้วท่านละครับ ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านหรือยัง ถ้ายัง..รีบผูกมิตรนะครับท่านจะได้อะไรมากกว่าที่ท่านคิดเยอะ...อย่างผมครับ

หมายเลขบันทึก: 173965เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2008 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท