บริโภคอย่างมั่นใจ


ฟอร์มาลิน

อย.ตรวจพบ"ฟอร์มาลิน"ในปลาหมึกใส่เย็นตาโฟที่ตลาดห้วยขวาง
โดย คม ชัด ลึก วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 14:44 น.
 
 


รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตลาด 

            ห้วยขวางพบ"ฟอร์มาลิน" ในปลาหมึกใส่เย็นตาโฟ



(1สค.) ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นำทีมเจ้าหน้าที่อาหารและยา พร้อมรถหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เข้าตรวจอาหารในตลาดสดห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม.ภายหลังส่งสายสืบเข้าไปเก็บตัวอย่างอาหาร 48 ตัวอย่างพบฟอร์มาลินในผ้าขี้ริ้ววัว 3 ตัวอย่างจากการสุ่มตรวจ 4 ตัวอย่าง พบฟอร์มาลินในปลาหมึกกรอบซึ่งนิยมใส่ในเย็นตาโฟ 2 ตัวอย่างจากการสุ่มเก็บ 6 ตัวอย่าง อย.จึงออกสุ่มตรวจซ้ำในวันนี้โดยเก็บตัวอย่างอาหาร 39 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ปลาหมึกกรอบ ผักกาดดอง ถั่วงอก เห็ดฟาง หมูบด เล็บมือนาง(ตีนไก่)พริกแกง ผ้าขี้ริ้วและของซอย

ผลการตรวจด้วยชุดทดสอบสารปนเปื้อนในอาหารเบื้องต้น พบว่า มีฟอร์มาลินในปลาหมึก 2 ตัวอย่าง

ภก.มานิตย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ อย.ยังได้สุ่มตัวอย่างหน่อไม้อัดปี๊ปตรวจค่าความเป็นกรดด่าง(ค่าpH) ซึ่งระเบียบของ อย.กำหนดให้ผู้ผลิตต้องปรับกรดหน่อไม้อัดปี๊ปมีค่า pH ต่ำกว่า 4.6 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อครอสตริเดียมโบทูลินั่ม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจากเชื้อนี้ที่จังหวัดน่านกว่า 200

คนจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊ปไม่ผ่านการเติมกรดซิตริก(กรดมะนาว) เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตัวอย่างหน่อไม้ตรวจ 4 ตัวอย่าง พบว่า มีค่าpH สูงกว่าที่ อย.กำหนด 4 ตัวอย่าง บางตัวอย่างค่า pH สูงกว่า 5 ซึ่งแสดงว่า ไม่มีการปรับกรด ซึ่งวันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันดีเดย์ที่ อย.กำหนดให้หน่อไม้บรรจุปี๊ปต้องผ่านการปรับกรด ผ่านการทำลายเชื้อด้วยวิธีใหม่ คือไม่นำปี๊ปไปต้มกับไฟโดยตรง จึงจะนำมาจำหน่ายได้ และได้มอบสื่อประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้า กำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้เวลาผู้ผลิตปรับปรุงการผลิตแล้ว

“เบื้องต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนผู้จำหน่ายปลาหมึกกรอบไม่ให้นำมาขายอีก หากให้ความร่วมมือจะกันแม่ค้าไว้เป็นพยาน เพื่อสืบหาต้นตอแหล่งผลิต

ซึ่งแม่ค้าบอกว่า ผู้ค้าส่งอยู่ที่ย่านเยาวราช สะพานใหม่ดอนเมือง เพื่อดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตต่อไป”รองเลขาธิการอย.กล่าวและว่า พิษของฟอร์มาลินจะทำอันตรายต่อเซลล์ตับ ไต ทำให้ไตวาย หากรับประทานเป็นประจำทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล กินอาหารปนเปื้อนสารนี้มากๆ ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งจากการตรวจตลาดห้วยขวางวันนี้ พบว่า แม่ค้าจำหน่ายอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ หากตรวจซ้ำพบการปนเปื้อนอีก จะต้องดำเนินคดีทันที

ด้านนางวิเชียร ร่วมรัก เจ้าของแผงขายอาหารทะเลและผลการตรวจพบว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อนในปลาหมึกกรอบ กล่าวว่า เคยมีโรงเรียนแจ้งว่า ปลาหมึกกรอบมีฟอร์มาลิน แต่ที่ยังขายอยู่เพราะมีลูกค้ามาซื้อ หากอย.ต้องการต้นตอแหล่งผลิต ดำเนินการอย่างเด็ดขาดให้มาจับได้ในเวลา 02.00 น.มีพ่อค้ามาส่งสินค้าจำนวนมาก ตนได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ อย.แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่เอาจริงกับทุกแผง ตนต้องเลิกขาย

ทั้งนี้ อย.เฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิดได้แก่บอแรกซ์ สารเร่งเนื้อแดงสารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันราและสารกำจัดศัตรูพืชเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หากตรวจพบสารปนเปื้อนเหล่านี้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายมีโทษตามกฎหมายฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งจำและปรับ สำหรับสารกำจัดศัตรูพืชยังพบการปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงเฉลี่ยพบร้อยละ 3.35 พบตกค้างในผักประเภทมะเขือเปราะ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พริกสด แตงกวาและปลาแห้ง จึงต้องสุ่มตรวจตามตลาดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

      ฟอร์มาลิน

.....................เรารู้จักกันมากมายอีกชื่อหนึ่งคือ  น้ำยาดองศพ  ซึ่งนิยมใช้ในทางการแพทย์  สิ่งแวดล้อม   ในรูปของการดองสัตว์  หรือ การเก็บรักษาสภาพสิ่งต่างๆ  ให้มีอายุอยู่ได้น๊านนาน..........

เตือนผู้บริโภคระวังภัยจากฟอร์มาลินในอาหาร

เตือนผู้บริโภคระวังภัยจากฟอร์มาลินในอาหาร




ในปัจจุบันได้มีการตรวจบ่อยครั้งว่า มีการใช้น้ำยาฟอร์มาลินแช่ผัก แช่ปลา และเนื้อสัตว์บางอย่าง ตามที่เป็นข่าวอยู่เสมอๆ นั้นเรามารู้จักฟอร์มาลินว่ามันคืออะไร ใช้ทำอะไร และมีอันตรายมากน้อยเพียงใด รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล เผยว่า ฟอร์มาลินเป็น สารละลายของสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ฟอร์มาลดีไฮด์ นั้นปรกติจะเป็นแก๊ส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนมาก แสบจมูกเมื่อทำเป็นสารละลายแล้ว ดังนั้นเมื่อเปิดขวดออกจะมีกลิ่นฉุนเช่นเดียวกัน สถานที่ใช้ฟอร์มาลินกันมากคือ ในโรงพยาบาล สำหรับดองศพ และเนื้อเยื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังพบมีการใช้เป็นน้ำยารักษา เนื้อไม้สำหรับป้องกันแมลง เช่น ในการทำปาติเลสที่ประกอบเป็นตู้ โต๊ะและเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ต่างๆ โดยเฉพาะตู้เสื้อผ้าจะสังเกตุได้ว่าถ้าเปิดตู้ใหม่ๆจะมีกลิ่นฉุนจมูกมาก นั่นคือกลิ่นฟอร์มาลินนั่นเอง นอกจากนี้ ยังพบมีการใช้ในการทาสี กาว ทำกระดาษ และอื่นๆ จึงสรุปได้ว่า ฟอร์มาลินนั้นใช้สำหรับทาง การแพทย์และอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่มีจุดประสงค์ให้ใช้ในอาหารเลยสำหรับอันตรายของฟอร์มาลินหรือ สารฟอร์มาลดีไฮด์นั้น จะให้ความเป็นพิษหลายอย่างถ้าใช้ไม่ถูกต้อง หรือสัมผัสบ่อยและมากเกินไป ถ้ากินเข้าไปจำนวนมากราว 60-90 ซีซี ก็ตายได้ โดยมันจะไปทำให้เซลต่างๆ หยุดทำงาน และทำให้เซลของร่างกายตายได้ ถ้าหายใจเข้าไปมากๆ ก็จะระคายเคืองต่อตา และระบบทาง เดินหายใจ มีน้ำตาไหล ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ และอาจเบื่ออาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นผลของฟอร์มาลดีไฮด์ต่อ ระบบประสาท อย่างไร ก็ตามการกินหรือการหายใจเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็คงจะไม่พบอาการต่างๆเหล่านี้ ที่สำคัญคือองค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติของสหประชาชาติได้ประเมินแล้วพบว่า การวิจัยบางอันแสดงว่า ฟอร์มาลดีไฮด์ทำให้สัตว์ทดลองเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะโพรงจมูก (ไซนัส) และมะเร็งหลอดลม แต่การเกิด มะเร็งในคนนั้นยังไม่ยืนยันดังนั้น จึงเพียงสงสัยว่าจะทำให้เกิดมะเร็งได้ จึงไม่สมควรที่จะสัมผัสมากและ บ่อยเกินไป รศ.ดร.ทรงศักดิ์กล่าวด้วยว่า การที่นำน้ำยาฟอร์มาลินมาแช่ผัก แช่ปลาหรือเนื้อสัตว์นั้น เป็นการไม่สมควร อย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภคได้ ถ้าชื้อผักหรือเนื้อสัตว์มาแล้ว สงสัยว่าจะมีการแช่ฟอร์มาลิน อาจจะใช้การดมกลิ่น หรือดูลักษณะของผักและเนื้อสัตว์ว่ามีลักษณะแข็ง ผิดปรกติหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจอีกก็ต้องใช้วิธีล้างน้ำสะอาดหลายๆครั้งจะช่วยลดปริมาณฟอร์มาลินที่ ติดอยู่ลงไปได้ และถ้านำไปหุงต้มด้วยก็จะลดลงไปอีก ส่วนที่ติดอยู่กับอาหารคงจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีการรณรงค์ไม่ให้มีการใช้ในอาหาร และจะต้องมีการตรวจสอบ ควบคุม และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ใช้อย่างเคร่งครัดต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 173691เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องน่ารู้ดีนะจ๊ะ

ครัวบานเย็นจะนำไปคิดดูเผื่อป้องกันหลีกเลี่ยงการนำเอาปลาหมึกที่มีสารฟอร์มาลินมาใช้ เพื่อลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารจะได้รับอาหารที่ดี มีประโยชน์ ปลอดสารพิษจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท