คุณค่าของคนในสังคม


การเป็นคนดีต่างหากที่น่าจะเป็นดัชนีชี้วัดการยอมรับหรือไม่ยอมรับของคนในสังคม

          เมื่อคืนวานนี้ ( 24 มีนาคม) ผมมีโปรแกรมขึ้นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่บ้านสองสีเจริญ ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรณ์ ตั้งแต่เวลา  19.00 -21.00 น. เวทีนี้เป็นเวทีที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรของโพธิวิชชาลัย พูดง่าย ๆ เป็นการระดมความคิดของชาวบ้านในการสร้างหลักสูตร เพราะขณะนี้หลักสูตรของโพธิวิชชาลัย ยังไม่ตกผลึก มีการเพิ่มเติมได้

          คงสงสัยว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตรอย่างไร ง่ายมากครับ บนเวทีมีผม กับท่านรองอำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ของ มศว. ประสานมิตร สองคนเท่านั้นครับ เราคุยกันในเรื่องที่เกี่ยวกับโพธิวิชชาลัยก่อน เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้พี่น้องประชาชนทราบในเบื้องต้นของที่มาที่ไปของโพธิวิชชาลัย  จากนั้นเราก็ยิงคำถามว่า ถ้าพวกเราชาวสองสีเจริญ มีโอกาสได้ส่งลูกหลานไปเรียนที่โพธิวิชชาลัย  เขาอยากเห็นลูกหลานของเขาที่จบมาจากโพธิวิชชาลัย มีลักษณะเช่นไร  ความเห็นที่หลากหลายพร่างพรูออกมามากมาย เป็นคนหนักเอาเบาสู้  ไม่สนใจเรื่องอบายมุข ขยันประหยัด ซื่อสัตย์ไม่คดโกง มีความกตัญญูกตเวที และอะไรอีกมากมาย  ผมหันไปมองหน้าท่านรองอำนาจ เห็นท่านยิ้ม และผงกศีรษะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านต่อไป

         ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ สิ่งที่ชาวบ้านเสนอมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าไม่มีสถาบันการศึกษาใดดำเนินการได้ครบหรอกครับ  อย่าว่าแต่สถาบันอย่างพวกเราเลย แม้แต่วิทยาลัยสงฆ์ยังทำไม่ค่อยได้เลย ถ้าชาวบ้านเสนอมาอย่างนี้ เรารับปากแต่ในทางปฏิบัติเราทำไม่ได้ ผลที่ออกมาจะทำให้ความเชื่อถือหมดไปหรือไม่

        ท่านรองอำนาจท่านพยายามอธิบายกับชาวบ้ายว่าข้อเสนอเหล่านี้ เป็นข้อเสนอที่ทุกคนในสังคมไทยต้องการให้เกิดขึ้นทั้งนั้น แต่ถ้าเราประสงค์จะให้เกิดทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือร่วมใจกัน มิใช่หวังพึ่งสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว  เมื่อคืนเราได้อะไรมากมายครับ อย่างน้อยเราเห็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชนชาวสระแก้ว เห็นภาพของปัญหาสังคมของสระแก้ว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นข้อมูลประกอบการร่างหลักสูตรของโพธิวิชชาลัย ในโอกาสต่อไป

         ก่อนปิดเวที มีคำถามสุดท้ายที่ทำให้ผมคิดตลอดเวลาในขณะนั่งรถกลับที่พัก  ชาวบ้านท่านหนึ่งถามว่า เมื่อสถาบันการศึกษาทั่วไปเขาผลิตคนให้มีความรู้ในเชิงทฤษฎี แต่โพธิวิชชาลัย ผลิตคนให้รู้จักการทำมาหากินในลักษณะสัมมาอาชีวะ ถ้าเป็นอย่างนี้คนที่จบออกมาจะได้รับการยอมรับจากสถาบันอื่นหรือ ? คำตอบที่ท่านรองอำนาจตอบค่อนข้างจะชัดเจนมาก โพธิวิชชาลัยเพิ่งเริ่มต้น คนที่จบจะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เราเป็นคนมีคุณภาพและเป็นคนดี ที่ไม่ทำลายสังคม และระยะเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบัณฑิตของโพธิวิชชาลัยจะมีส่วนในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ สังคมแห่งกัลยาณมิตร ได้มากน้อยเพยงใด

          ในความเห็นของผม การยอมรับ เราวัดกันด้วยอะไร ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นใช่ใหม หรือสอบเข้าทำงานได้มากกว่าที่อื่น หรือเป็นนักธุรกิจใหญ่โต มีชื่อเสียงของสังคม สิ่งต่าง ๆ นี้มันคือที่มาของการยอมรับใช่หรือเปล่า ถ้าตอบว่าใช่ ผมก็พร้อมที่จะช่วยให้โพธิวิชชาลัยสร้างคนที่มีอาชีพที่สุจริต ไม่เอาเปรียบสังคม มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีความกตัญญูรู้คุณคน  โดยไม่แคร์ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ มันก็เท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 172902เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วน่าสนใจมากค่ะ

...ชื่อก็ดีด้วยนะคะ...โพธิวิชชาลัย ...

จะคอยอ่านความคืบหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท