Spirituality in Healthcare


การที่เราจะสร้าง spirituality ให้กับคนไข้ได้ เราต้องสร้าง spirituality ให้กับคนของเราก่อน จัดให้มีการเรียนรู้เรื่องของ spirituality ทั้งสามระดับขึ้นมา แล้วก็ต้องปรับระบบการทำงานให้เป็นไปตามนี้

บรรยายโดย นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ในการประชุม 9th HA National Forum

download pdf file

          ในวันนี้เราจะพูดกันเรื่อง Spirituality in Healthcare  เวลาพูดถึงคำว่า spirituality หลายคนก็จะถามว่าแปลว่าอะไร  สมัยก่อนเราก็แปลว่าจิตวิญญาณ  ทุกวันนี้มีคำแปลหลายคำแต่ผมชอบคำคำหนึ่งคือคำว่า จิตตปัญญา  ปัญญาของคนเรามีสองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่าเชาวน์ปัญญา อย่างเราเรียนแพทย์ พยาบาล เภสัช เทคนิคการแพทย์ วิชาการที่เราเรียนเป็นความรู้ เป็นเชาวน์ปัญญา  แต่ปัญญาที่ใช้ควบคุมดูแลจิตใจตนเองให้เราเป็นคนดี มีเมตตา ทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ น่าจะเรียกว่าจิตตปัญญาได้ 

          หัวข้อวันนี้พูดง่ายคือเราจะสร้างจิตตปัญญาให้กับบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขของเราสามารถดูแลด้านจิตใจและจิตวิญญาณให้กับผู้ป่วยของเราได้อย่างไร

          เมื่อเรามองดูความพยายามในการพัฒนาองค์กร เราก็จะเห็นได้ชัด อย่างปีนี้ผมถามทีมงานว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมเท่าไร เจ็ดพันกว่า  ถือว่า HA เป็นประชาคมของการพัฒนาคุณภาพที่ใหญ่มาก  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาลมากพอสมควร  ในหลายๆ องค์กรก็จะใช้วิธีแบบ ISO แล้วเราก็จะมีกิจกรรมอย่างเช่น 5 ส. OD CQI และสองปีที่ผ่านมาก็มี  สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม พยายามส่งเสริมการจัดการความรู้ในองค์กร  กิจกรรมที่ท่านรู้จักกันดีมากก็คือเรื่องเล่าเร้าพลัง 

          ความพยายามในการพัฒนาองค์กรเหล่านี้ในที่สุดมันก็มาถึงจุดจุดหนึ่งที่คนเราหรือผู้บริหารองค์กรหรือทีมงานที่พัฒนาคุณภาพพยายามหาคำตอบว่าในที่สุดทุกโปรแกรมก็จะมีข้อจำกัด คือเราไม่สามารถที่จะฝ่าข้ามตัวเองไปได้  เราพยายามจะพัฒนาระบบ พยายามจะพัฒนาคน  แต่ในที่สุดปัญหาก็หนีไม่พ้นว่าทำอย่างไรจะทำให้คนของเรามีจิตใจที่งดงาม ดูแลผู้ป่วยได้ด้วยความสุข ให้ความเมตตา มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอะไรก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในระหว่างคนทำงาน

          สปิริตพวกนี้เป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าวิธีการต่างๆ ที่เราเอาเข้ามาก็จะเจอกับกำแพงที่เรายังฟันฝ่าไปไม่ได้ทั้งหมด  สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้เป็นแนวคิดหนึ่งที่เราจะนำเข้าไปผสมผสานในกระบวนการของ HA ได้อย่างไร  นั่นคือการพัฒนาจิตตปัญญาของบุคลากรในระบบสาธารณสุขเพื่อให้เขาไปพัฒนาการดูแล การทำงานร่วมกันในองค์กรให้ดีขึ้น

          แนวคิดก็คือว่าเราต้องพัฒนาข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพัฒนาระบบ พัฒนาคนด้วยโปรแกรมต่างๆ แล้ว สิ่งที่เราควรจะพัฒนาคือพัฒนาในส่วนที่ลึกของจิตใจ  เวลาท่านนึกถึงคำว่า health แล้ว บอกว่าสุขภาวะของกาย สังคม จิตใจ จิตวิญญาณ ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าจิตใจกับจิตวิญญาณต่างกันตรงไหน หรือจิตใจกับจิตตปัญญญาต่างกันตรงไหน  จิตใจจะตอบปัญหาว่าเขาเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ จิตใจเขามีความสุขหรือความเครียด  จิตวิญญาณจะตอบปัญหาส่วนลึกของจิตใจ ตอบปัญหาเรื่องความดี ตอบปัญหาเรื่องความงดงามของจิตใจ  เรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นกำแพงชั้นในที่สุดที่เราจะต้องฟันฝ่าเข้าไปในกำแพงชั้นในคือเรื่องของ spirituality ให้ได้  ฝ่าเข้าไปในกำแพงชั้นในนี้จะต้องพัฒนาคน  แต่การพัฒนาคนอย่างเดียว เช่น หลาย รพ.มีชมรมพุทธ จัดให้มีการฝึกสติ ฝึกสมาธิ แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลในระดับองค์กร ได้เฉพาะคนบางคนเท่านั้น  สิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนจิตตปัญญา  

 

          เราจะเขยื้อนจิตตปัญญาได้ต้องทำทั้งกับตัวเราเอง ต้องเชื่อมโยงกับทีมงาน เช่นบุคลากรที่ทำงานในหอผู้ป่วย และต้องเชื่อมโยงกับทั้งองค์กร ทั้งโรงพยาบาล  ถ้าเราตอบปัญหาสามอย่างนี้ได้ว่าถ้าเราสามารถพัฒนาจิตตปัญญา จิตวิญญาณของทีมงานของเรา ทั้งในตัวของเขาเอง ทั้งในบริบทการทำงานเป็นทีม และในการทำงานร่วมกันเพื่อจุดมุ่งหมายขององค์กร  ตอบปัญหาสามเหลี่ยมเขยื้อนจิตตปัญญานี้ได้ เราก็น่าจะบรรลุสิ่งที่เราต้องการ

          ผมจะขอเล่าประสบการณ์ของการให้คำปรึกษาองค์กรในการที่จะทำสิ่งเหล่านี้   เริ่มต้นจากที่เคยมีเครือข่ายที่ทำจิตวิทยาแนวพุทธด้วยกัน พยายามทำเรื่องพุทธธรรมให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้  ผมเคยมีโอกาสไปเยี่ยมบรามาห์ กุมารี ซึ่งเป็นองค์กรทางด้านจิตวิญญาณของอินเดีย  เขานำเสนอโปรแกรมหนึ่งเรียกว่า Value in Healthcare (ค่านิยมในบริการสุขภาพ) เป็นโปรแกรมพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข  พอเข้าไปดูก็รู้สึกว่าในเมืองไทยเรามีต้นทุนด้านนี้เยอะ  น่าจะมาพัฒนาโปรแกรมให้เหมาะสมกับบุคลากรของเราเอง  ก็ได้มีโอกาสทดลองกับ ก.พ.ร.ทั้งที่กรมและที่กระทรวง  เดือนเมษานี้จะมีโอกาสไปทดลองโปรแกรมนี้ร่วมกับ สปสช.และ สสจ.โคราช  แนวคิดที่จะพัฒนาองค์กรด้วยสามเหลี่ยมเขยื้อนจิตตปัญญาน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะนำไปใช้

หลักสูตรที่หนึ่ง การพัฒนาตนเอง

          ในสามเหลี่ยมนี้จะเริ่มต้นจากการพัฒนาตนเองก่อน  ซึ่งมีกระบวนการสำคัญคือการให้รู้คุณค่าในตนเอง ซึ่งมีเครื่องมือที่จะสร้างคุณค่าในตนเอง  กิจกรรมก็มีง่ายๆ อย่างนี้ครับ  เราทำเป็นโปรแกรมอมบรมทั้งสามเหลี่ยม ใช้เวลาสองวัน หรืออาจจะแยกเป็นครึ่งวันสี่หนก็ได้  โปรแกรมแรกก็จะเริ่มต้นจากคุณค่าในตนเอง  จะมากันเป็นทีมเล็กๆ สัก 20 คน  ให้สำรวจว่าคุณค่าในตนเองคืออะไร  วิธีการสำรวจคือให้นึกถึงบุคคลที่ตนเองเคารพผูกพันมาสามคน

          เวลา 45 นาที ถ้าฟังอย่างเดียวจะไม่สนุกนะครับ เชิญทุกคนหากระดาษทดขึ้นมาคนละแผ่นนะครับ  ลองนึกถึงบุคคลที่ท่านรักเคารพผูกพันมาสองคน (สามคนจะเวลาไม่พอ) คนหนึ่งอยู่ในครอบครัว อีกคนหนึ่งอยู่ในที่ทำงาน พอท่านนึกหน้าคนนั้นออกแล้ว ให้นึกถึงทีละคนว่าลักษณะของท่านเป็นอย่างไร บันทึกลงไป  คนที่สองในที่ทำงาน นึกถึงใครสักคน อาจจะป็นรุ่นพี่ ผู้อำนวยการ หัวหน้าหอผู้ป่วย  แล้วบันทึกลักษณะของท่านลงไป  ให้เวลาครึ่งนาที  เวลามีความเงียบและความสงบจะช่วยให้ท่านคิดและจินตนาการได้ดีขึ้น

          ในกิจกรรมนี้เราจะให้คนสามสี่คนเอาลักษณะเหล่านั้นมาพิจารณาร่วมกัน  ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาเล่าหนึ่งคน ให้เล่าตัวอย่างเดียวที่ประทับใจที่สุด  ในที่สุดเราจะได้คุณลักษณะออกมาราวๆ นี้ เช่น บุคคลเหล่านี้จะมีความรัก ความเมตตา ความเสียสละ ความอดทน การปลูกฝังให้ผู้อื่นเป็นคนดี  การให้กำลังใจ ให้โอกาส ช่วยเหลือ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม เป็นแบบอย่าง ให้อภัย เป็นต้น  จะเห็นว่าการที่เราจะสร้างคุณค่าให้กับตัวเราเอง ไม่ต้องบรรยายเลย มันมาจากจิตของคนเรา  ขอให้เขาอยู่ในความเงียบ ขอให้เขานึกถึงบุคคลที่เขามีความรักและผูกพัน เขาก็จะนึกออก  พอประมวลออกมา ก็จะได้ลักษณะร่วมเหมือนกัน  คุณลักษณะเหล่านี้ก็คือคุณลักษณะที่เรารักและผูกพันนั่นเอง เราเรียนรู้มา ส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นจากพ่อแม่ของเรา ครูบาอาจารย์ที่เราใกล้ชิด หัวหน้างานที่เรามีความผูกพันมากๆ 

          ขั้นต่อไปเราจะตั้งคำถามให้เขาคิดว่า เวลาเรานึกถึงแม่เรา หรือหัวหน้างานที่เรารัก ทำไมคุณลักษณะเหล่านี้ไม่สามารถเป็นได้ทุกที่ ทุกคน และทุกเวลา อย่างคุณแม่เรา ถึงท่านจะรักเมตตา แต่บางครั้งท่านก็โกรธเหมือนกัน  หรือหัวหน้างานที่เรารักผูกพัน กับบางคนเขาก็อาจจะทนไม่ไหว  บางที่ บางคน บางเวลา เราไม่สามารถที่จะรักษาคุณลักษณะเหล่านี้ไว้ได้  ท่านนึกออกหรือไม่ว่าเพราะเหตุใด 

          คำตอบก็ราวๆ นี้ ถ้าจิตใจเรามีความเครียด ความโกรธ ความน้อยใจ ความวุ่นวาย    การมีอารมณ์หรือไม่สงบ สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถทำให้เราสร้างหรือแผ่คุณค่าในตนเองออกมาได้  คุณค่าในตนเองนี้เกิดมาจากอะไร  ออกมาจากจิตใจที่มีความสงบ ปลอดจากความเครียด ความโกรธ ความน้อยใจ ความวิตกกังวล เป็นต้น  ตัวนี้เราเรียกว่า value of value (คุณค่าที่อยู่ภายในคุณค่า)  เป็นตัวที่ถ้าเรามีแล้วจะสร้างคุณค่าอื่นขึ้นมา  ถ้าคนเราจิตใจสงบเสียอย่าง การที่จะมีความรักความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมันไม่ยาก  แต่ถ้าเรามีความโกรธความเครียดความน้อยใจ สิ่งเหล่านี้จะไม่ออกมาเลย 

          เราก็จะเข้าสู่ session ที่สอง คือฝึกให้เห็นว่าคุณค่าภายในมันมาจากคุณค่าที่ลึกขึ้นไป เป็นคุณค่าแห่งคุณค่า ก็คือความสงบ  เราก็จะมาเข้าถึงเครื่องมือที่จะเข้าถึงความสงบ  เป็นโปรแกรมที่ทางด้านจิตวิทยาแนวพุทธพัฒนาขึ้นมา  เป็นโปรแกรมที่ไกลวัด คือให้ใกล้ต่อการเรียนรู้ของคนให้มากๆ ไม่ติดศัพท์ติดแสงติดภาษาอะไรทั้งสิ้น  แต่ใช้หลักจิตวิทยาเข้ามา เช่น ฝึกสมาธิ เราก็ให้เห็นว่าธรรมชาติคนเราใช้ความคิดทำงาน สะสมความว้าวุ่น ในที่สุดก็กลายเป็นความเครียด  กระบวนการของสมาธิในทางจิตวิทยามันจะตรงกันข้าม  มันจะเริ่มต้นจากทำให้ความคิดหยุดก่อน  เวลาเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก  ลมหายใจเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยาก  ถ้าเราจะสังเกตลมหายใจได้เราจะต้องหยุดความคิด  ก็ฝึกหยุดความคิดด้วยการรู้ลมหายใจ  ถ้าเราสะสมการรู้ลมหายใจได้นานๆ ก็จะเกิดความสงบ  ความสงบก็ทำให้เกิดความผ่อนคลายของร่างกายและจิตใจ  ภาวะเช่นนี้นี่เองที่ทำให้เราส่งคุณค่าของตัวเองออกมาตามธรรมชาติของจิตของมันเอง

          ในโปรแกรมนี้ก็จะมีการฝึกสมาธิ  เทคนิคง่ายๆ ก็คือการให้รู้ลมหายใจ  ปกติพวกเราไม่รู้ลมหายใจ  การฝึกรู้ลมหายใจก็เพื่อให้ความคิดหยุด  ลมหายใจสังเกตยากเราก็จะมีเทคนิคสามประการ คือให้หายใจเข้าออกให้ยาว  สังเกตความรู้สึกของลมหายใจที่ปลายจมูก ให้หลับตาแล้วให้สังเกตเพียงข้างเดียวที่เขารู้สึกชัดกว่า  ข้างเดียวจะสังเกตได้ง่ายกว่า  พอสังเกตไปสักพักหนึ่งเขาจะมีความคิดเกิดขึ้น  เราก็จะบอกเขาว่าความคิดเป็นเรื่องธรรมดา มันมาจากจิตใต้สำนึก  หลายคนจะบอกว่าโอยชีวิตนี้นั่งสมาธิไม่ได้หรอก หลับตาทีไรก็มีแต่ความคิด  เราบอกว่านั่นแหละปกติ  ถ้าใครหลับตาแล้วไม่มีความคิดก็มาหาจิตแพทย์ได้แล้ว  ความคิดมันมาจากจิตใต้สำนึก มันควบคุมไม่ได้  สิ่งที่เราควบคุมได้คืออย่าคิดต่อ รู้ตัว แล้วกลับมารู้ลมหายใจใหม่  ด้วยวิธีนี้ คนก็จะฝึกสมาธิโดยวิธีที่ไม่ยาก ให้เวลาสัก 10 นาที  ฝึกดูลมหายใจสัก 1 นาที แล้วฝึกดูลมหายใจโดยจัดการกับความคิดให้เป็นด้วยการไม่ต้องไปเดือดร้อนกับมัน เมื่อไรมีความคิดก็เพียงแต่รู้ว่าเราควบคุมมันไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือไม่คิดต่อ กลับมาเตือนตนเองให้รู้ลมหายใจ ฝึกอย่างนี้สัก 3-4 นาที  คนก็ จะเป็นแล้ว  เราก็จะฝึกให้นั่งสมาธิอย่างแท้จริง คือนั่งให้ได้สัก 10 นาที แล้วให้เป็นการบ้านว่าต้องไปทำทุกวัน แล้วมาเข้า session ต่อไป

          หัวใจสำคัญของการฝึกสมาธิจะฝึกอย่างที่เล่าให้ฟัง  ต่อไปจะพยายามจูนให้เห็นว่าถ้าความสงบเกิดจากสมาธิ  สมมติว่าเรานั่งสมาธิสัก 10 นาทีตอนเช้า เราจะสงบไปนานอีกเท่าไร  ถึงวันไหมครับ  ที่จริงแล้วมันไม่ได้สักนาที  พอเราออกจากสมาธิจิตมันก็จะเริ่มว้าวุ่น  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสมาธิในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการพักผ่อนของจิต ไม่ให้จิตเกิดความเครียด เพราะปัญหาของคนเราไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาในที่ทำงาน เราสะสมความเครียดไว้  การนั่งสมาธิทำให้ลดความเครียด ขจัดความเครียด  แต่ว่ามันไม่สามารถป้องกันความเครียดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้  ตรงนั้นต้องอาศัยเครื่องมือตัวที่สองคือ สติ  ทำงานอย่างมีสติ

          เราก็จะฝึกสติ  ฝึกง่ายๆ   พอเราฝึกสมาธิเป็น รู้ลมหายใจเป็น สติคือรู้ในกิจที่ทำหรือรู้ในปัจจุบัน  สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันประจำตัวของคนก็คือลมหายใจ  ถ้าท่านหยุดลมหายใจก็คือท่านหยุดปัจจุบ้น หมดชีวิต  เราก็ใช้ทฤษฎีของอาจารย์หมอเอกชัย จุลละจาริตต์  ในต่างประเทศก็มีคนที่เก่งเรื่องนี้คนหนึ่งที่ท่านเพิ่งมาเมืองไทย คือ ท่านติช นัท ฮันท์  ท่านเป็นพระเวียดนามที่ไปตั้งหมู่บ้านพลัมที่ประเทศฝรั่งเศษ ปัจจุบันก็เป็นป้อมปราการอันหนึ่งในการเผยแพร่พุทธธรรมของทางฝั่งตะวันตก  ทั้งอาจารย์เอกชัยและท่านติช นัท ฮันท์ ใช้หลักอันเดียวกันคือใช้ลมหายใจ เป็นปัจจุบัน  ฝึกทำงานโดยรู้ลมหายใจ  เราก็ต้องรู้ตั้งแต่รู้ลมหายใจ รู้การนั่งนอนยืนเดิน รู้การฟังการสนทนา  ก็ฝึกได้ไม่ยาก  พอฝึกแล้วทุกคนก็จะเรียนรู้ว่า (1) เวลาเรามีสติเราก็จะไม่วอกแวก (2) อารมณ์ก็จะไม่สอดแทรก  เวลาท่านขับรถไปความคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เขาก็เรียกว่าวอกแวก  ทั้งที่เวลาขับรถจะต้องมีสติ  พอเขามาตัดหน้ารถท่านก็โมโห เขาเรียกว่าอารมณ์สอดแทรก  ถ้าท่านฝึกสติไว้ดีจะไม่วอกแวกและไม่เกิดอารมณ์สอดแทรก  ทุกคนก็จะฝึกจนเห็นจริง  อันนี้ถือว่าเป็นการฝึกที่สำคัญในระดับที่หนึ่ง คือ เห็นก่อนว่าคุณค่าในตนเองต้องมาจากจิตที่สงบ  และจิตที่สงบมันมาจากสมาธิและสติ  ถ้าเรามีสมาธิและสติ คุณค่าในตนเองทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเมตตา ความเสียสละ ความเห็นอกเห็นใจ ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันจะเกิดขึ้นเอง มันจะเกิดขึ้นมาจากจิตที่สงบ  อันนี้เป็นหลักสูตรที่หนึ่ง  แล้วก็ให้การบ้านทุกคนกลับไปทำ

หลักสูตรที่สอง จิตตปัญญากับการพัฒนาทีมงาน

           จากนั้นเราก็จะมาเข้าหลักสูตรที่สอง คือการพูดถึงจิตตปัญญากับการพัฒนาทีมงาน  มีหัวข้อที่สำคัญคือ การที่จะทำงานในทีมที่ดีได้ ต้องมีการสื่อสารที่ดี  ในระยะหลังนี่การบริหารจัดการส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคที่เรียกว่าการ dialogue บางคนเรียกว่าสุนทรียสนทนา หรือการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร  dialogue นี่ก็ต้องอาศัย deep listening (การฟังอย่างใส่ใจ), reflection (การสะท้อนความคิดความรู้สึกด้วยความไม่มีอคติ) อันนี้เป็นเรื่องของการสื่อสารในทีมที่สำคัญ แล้วก็ต้องมีความคิดทางบวกกับคนและกับงาน  ถ้าเราอยู่ในทีมแล้วเราคิดลบกับงาน คิดลบกับเพื่อนร่วมทีม เราก็ไม่สามารถสร้างทีมงานที่เข้มแข็งได้  การสร้างจิตตปัญญาในทีมงานเราก็จะสร้างสองอย่างนี้

          การสื่อสารภายในทีม เราจะให้ทุกคนจับคู่เล่าเรื่องที่ทุกคนโกรธหรือผิดหวังเสียใจที่สุดจากการทำงานในหอผู้ป่วยหรือในทีมงาน  สมมติเป็น A กับ B  เขาก็จะเล่าเรื่องกระทบกระทั่งจากเพื่อนร่วมงานหรือจากคนไข้  เราจะให้ผู้ฟังฟังอย่างใส่ใจ ทำเสมือนฝึกทักษะการฟัง  แล้วเราก็จะมาประเมิน  ทุกคนจะเห็นทันทีว่าเวลาเราเล่าเรื่องที่โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจ อารมณ์จะเกิดทันที  สมมติเราเรื่องที่ทะเลาะกับญาติคนไข้คนหนึ่งเรื่องเวลาเยี่ยมหรือการจำหน่าย  พอเล่าอารมณ์จะเกิดขึ้นทันที  คนฟังพยายามจะตั้งใจฟัง แต่ก็จะมีอารมณ์คล้อยตามไปด้วย 

          เราจะฝึกรอบที่สอง A ก็เล่าเรื่องเดิม B ก็ฟังเหมือนเดิม  แต่ว่าเราเปลี่ยนวิธีใหม่คือให้ทั้งสองคนเล่าและฟังโดยรู้ลมหายใจไปด้วย  เราเริ่มด้วยการให้ทั้งสองคนรู้ลมหายใจไปสักนาทีหนึ่งแล้วเล่า  เขาเรียกว่าเป็นการสนทนาอย่างมีสติ  พอเล่าอย่างมีลมหายใจกลับมาแชร์ประสบการณ์ใหม่  ทุกคนจะประหลาดใจมากว่าในการคุยสามนาทีรอบแรกซึ่งเป็นการคุยอย่างที่พยายามคุยไปตามปกติกับการคุยที่มีสติเป็นตัวตั้งโดยรู้ลมหายใจ  คุณภาพการสนทนาจะเป็นคนละแบบ  A ก็จะไม่มีอารมณ์ที่รุนแรง ลำดับเรื่องราวและความคิดได้ดีขึ้น  B ก็จะฟังโดยไม่มีอารมณ์คล้อยตามอย่างรุนแรงไปด้วย 

          ทุกคนก็จะได้รู้ว่าเครื่องมือที่ง่ายที่สุดสำหรับการสื่อสารภายในทีมที่ดี ก็คือการสื่อสารอย่างมีสติ  เทคนิคคือการใช้ลมหายใจในการสนทนา  เขาก็จะฝึกทักษะตัวนี้ด้วยกัน  เขาก็จะรู้ชัดเจนว่าทั้งการพูดอย่างมีสติและการฟังอย่างมีสติมันเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารภายในทีมที่จะทำให้ทีมมีความรัก ความผูกพัน ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยกัน  อันนี้เป็นส่วนที่สอง 

          แล้วเราก็จะมาฝึกความคิดทางบวกในเรื่องคนและงาน  เพราะว่าเวลาเรามองคนเรามักจะเลือกมองทางลบ ยิ่งเรามีอารมณ์มากก็จะยิ่งมองทางลบมาก  ถ้าเราเริ่มมีสติเราก็จะเริ่มมองทางบวกไม่ยาก ก็ต้องฝึกมองทางบวกกัน  หลักสูตรที่สองก็จะจบลงด้วยการทำให้เห็นว่าสติจะสร้างคุณค่าในทีมงาน แล้วก็เอาไปบวกกับหลักสูตรที่หนึ่งก็คือคุณค่าในตนเอง  เราก็จะได้สองเสาหลักของเรื่องจิตตปัญญาในองค์กร คือการที่มีคุณค่าในตนเองซึ่งมันจะแผ่ขึ้นมาจากการที่เรามีความสงบ  การที่เราพัฒนาคุณค่าจากทีมงานได้จากการที่มีการสื่อสารอย่างมีสติและการคิดเชิงบวก  ทุกคนก็กลับไปทำการบ้าน ไปทำงานของตน

หลักสูตรที่สาม การสร้างสปิริตหรือค่านิยมในองค์กร

          มาถึงหลักสูตรที่สาม เป็นเรื่องของการอบรมเพื่อให้เห็นเรื่องของการสร้างสปิริตในองค์กรหรือค่านิยมในองค์กร  การที่จะสร้างค่านิยมในองค์กรจะมีเรื่องสำคัญอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องค่านิยมร่วม เรื่องที่สองคือการสร้างระบบที่เอื้ออำนวย

การสร้างค่านิยมร่วม

           องค์กรมักจะสร้างค่านิยมร่วมโดยการระดมความคิดเห็นกันมา  หรือบางทีก็อาศัยทีมไปสำรวจทำขึ้นมา  แต่วิธีถามความเห็นจะไม่ได้ค่านิยมที่ลึกซึ้งเท่ากับวิธีการที่มาจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล  แล้วมาพูดกันถึงระบบในองค์กรที่จะช่วยสร้างให้เกิดค่านิยม  ทุกวันนี้เราทำ HA ทำ ISO เราก็จะเน้นว่าระบบที่ดีนั้นต้องให้บริการที่ทำให้มีคุณภาพ ผู้ป่วยและญาติพึงพอใจ  แต่เราไม่มีระบบในองค์กรที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีการพัฒนาจิตตปัญญา ถ้าเอาขึ้นคานจะเห็นว่ามันไม่สมดุล  คานมันหนักไปทางด้านให้ดูแลผู้ป่วยและญาติให้ดี  แต่คานที่จะดูแลจิตใจของคนทำงานให้ดี มันไม่มีระบบตัวนี้ ทำอย่างไรจะสร้างขึ้นมาได้  อันนี้ก็จะเป็นสาระหลักของหลักสูตรที่สาม

          ค่านิยมร่วมต้องสร้างจากประสบการณ์  วิธีการง่ายๆ เราก็ให้ทีมงานนึกถึงช่วงการทำงานที่ดีที่สุดในชีวิต จะเป็นองค์กรนี้หรือองค์กรไหนก็ได้  ช่วงตั้งแต่เขาเรียนจบมาทำงาน ช่วงที่ดีที่สุดในชีวิตคือช่วงไหน  ให้แต่ละคนอยู่ในความสงบก่อน นั่งสมาธิสักนาทีหนึ่ง  พอเกิดความสงบจินตนาการจะโลดแล่น นึกถึงช่วงชีวิตที่ดีที่สุด  แล้วเราก็แบ่งกลุ่ม 3-4 คนให้เล่าสู่กันฟัง แล้วคนหาลักษณะร่วมว่าองค์กรที่น่าทำงานมีลักษณะอย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างหนึ่งเรื่องที่เขาคิดว่าดีที่สุด  กลุ่มก็จะระดมกัน  ข้อสรุปที่ได้ก็จะไม่ค่อยไกลกันเท่าไร  อย่างเมื่อวานนี้ผมเพิ่งไปทำมาองค์กรหนึ่ง เขาประมวลมาได้ 7-8 ลักษณะ เช่น (1) ต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมเพื่อผู้ป่วย เพื่อผู้รับบริการ เพื่อประชาชน  (2) มีบรรยากาศการทำงานที่ทำให้คนสามัคคี ให้อภัย ร่วมใจกันทำงาน (3) ผู้นำต้องให้กำลังใจ สอนงาน มีความยุติธรรม (4) มีการแบ่งหน้าที่และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (5) มีการเรียนรู้งาน มีการพัฒนาตนเองในระหว่างการทำงาน (6) ต้องมีการประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี  เป็นต้น  มันก็ได้มาจากเรื่องเล่า ได้ตัวนี้มาเอง  มันจะมีมากเพราะมาจากประสบการณ์ที่หลากหลาย  เราก็จะให้ทำ multivoting ว่าคุณลักษณะ 3-4 ประการที่สำคัญที่สุดที่เขาคิดว่าองค์กรปัจจุบันนี้ของเขาน่าจะเป็นอย่างไร  เขาก็ vote กันออกมา แล้วเอาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นค่านิยมร่วมขององค์กร  ไม่ใช่ทีมและบุคคล เป็นค่านิยมขององค์กร  แล้วแบ่งกลุ่มย่อย ใช้ประสบการณ์ช่วยกันคิดว่าเราจะมีวิธีการสร้างค่านิยม 3-4 ข้อที่สำคัญที่สุดของเราได้อย่างไร  อันนี้ก็จะจบส่วนแรกคือเรื่องค่านิยมร่วมขององค์กร

ระบบที่จะช่วยสร้างสปิริตให้บุคลากร

          ระบบอะไรบ้างที่จะช่วยสร้างสปิริต คุณภาพของจิตใจที่ดีให้กับบุคลากร มีตัวอย่างที่สำคัญ ตัวอย่างของระบบที่สามารถทำได้ เช่น ความสงบหนึ่งนาที

หมายเลขบันทึก: 172242เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนท่านอาจารย์หมออนุวัฒน์

  • ท่านอาจารย์ หมอยงยุทธ์ ท่านได้ขยายความถนัดในวิชาชีพ ต่อยอดพัฒนาหลากหลาย เป็นตัวอย่างนักพัฒนาคุณภาพที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่งครับ

สนุกจังค่ะ อาจารย์พูดดีจังเลย

คาดว่าถ้าได้เข้าฟังน่าจะสนุกกว่านี้

แต่เท่านี้ก็ได้ประโยชน์มาก

คือเป็นลักษณะที่จับต้องได้ สามารถนำไปสานต่อได้จริงๆ

จะลองนำไป..ปฏิบัติดูนะคะ เอาเท่าที่อ่านได้ก่อนนะคะ

ขอบคุณอาจารย์อนุวัฒน์ด้วยอีกคนค่ะ

ดีจังเลย

ไม่ได้ฟัง แต่โชคดี ค่ะ ที่ได้ ผู้มีความสามารถ บันทึกละเอียด อย่างท่านพี่ อนุวัฒน์

โชคดี ลำดับสองคือ มาอ่านเจอ

ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

เป็นประเด็นปัญหา ที่ผู้ร่วมงานในระบบคุณภาพด้วยกัน หรือคนที่รู้จักคุยกัน เราพบ เราเจอ และมีความรู้สึก ถึงทางตัน อยาก แก้ แต่ไม่รู้ทำอย่างไร

อ ยงยุทธพูด โดนใจ ดิฉันเลยค่ะ โดยเฉพาะ ตรงที่เน้นสีเหลืองไว้

 ความพยายามในการพัฒนาองค์กรเหล่านี้ในที่สุดมันก็มาถึงจุดจุดหนึ่งที่คนเราหรือผู้บริหารองค์กรหรือทีมงานที่พัฒนาคุณภาพพยายามหาคำตอบว่าในที่สุดทุกโปรแกรมก็จะมีข้อจำกัด

คือเราไม่สามารถที่จะฝ่าข้ามตัวเองไปได้ เราพยายามจะพัฒนาระบบ พยายามจะพัฒนาคน แต่ในที่สุดปัญหาก็หนีไม่พ้นว่า

ทำอย่างไรจะทำให้คนของเรามีจิตใจที่งดงาม ดูแลผู้ป่วยได้ด้วยความสุข ให้ความเมตตา มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอะไรก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในระหว่างคนทำงาน

  

ที่เชียงราย ความรู้สึก   ทีมมีจิตใจที่งดงาม ดูแลผู้ป่วยได้ด้วยความสุข ให้ความเมตตา มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอะไรก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในระหว่างคนทำงาน มันเกิดได้ง่ายมาก

เกิดได้ตอนเราทำเวทีสัญจรที่หน่วยงานของรพ เชียงรายฯ  แทบทุกเวทีเลยค่ะ น้อยมาก ที่ไม่เกิด (มี สักหน่วยหนึ่ง ที่ เราไม่สามารถสร้างให้มีบรรยากาศที่ปลอดภัยได้)

บางเวทีเกิดตลอดเวลา ขณะ ที่เยี่ยม

 ทำ อย่างไร ให้ความรู้สึกนี้ มันมี ที่มีทาง ของมัน

สามารถ เกิด ได้ง่ายๆ และเกิดได้เอง ในหน่วยงาน บ่อยขึ้น ๆ และในที่สุด เกิดตลอดเวลา  เกิดในโรงพยาบาล ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ลำบาก ของผู้ป่วย โดยผู้ทำงานที่ต้องเร่งรีบบริการ  ราวเครื่องจักร

สามเหลี่ยมเขยื้อนจิตตปัญญา ของอาจารย์ ยงยุทธ ดู พิเศษ น่าสนใจ และน่าเชื่อถือมาก มาก ว่าอาจจะทำให้ เกิด เป็นจริงขึ้นได้ 

ผมพบกับ อ.ยงยุทธในงานของคุณหมอสงวน

ได้มีโอกาสคุยกันสั้นๆ ก็รู้สึกโดนใจมาก

เลยไม่รั้งรอที่จะเชิญ อ.ยงยุทธมานำเสนอเรื่องที่น่าสนใจนี้ในที่ประชุม Forum

ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก

ขอแสดงความยินดีกับคุณหมอหน่อยและทีมงานของ รพ.เชียงรายด้วยครับ ที่ค้นพบวิธีการทำงานที่น่าสนใจ ทำให้เกิดได้ง่าย เกิดได้เอง เกิดได้บ่อย ๆ และในที่สุด เกิดได้ตลอดเวลา

อาจจะสรุปเป็นหลักง่ายของการพัฒนาว่า "ง่าย ดี มีสุข"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท