โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

ครูแก้ว


การเรียนรู้แบบโครงงาน

         งานรวมพลังสร้างสรรค์การศึกษาครั้งที่  3  วันที่  14  กุมภาพันธ์  2551  ที่ผ่านมา  กลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง  8  สาระ  รวมทั้งอนุบาล  ได้จัดให้มีการแสดงผลงานของนักเรียนกันอย่างคึกคัก  ทุก  ๆ กลุ่มสาระจะงัดกลเม็ด และเทคนิควิธีการจัดตกแต่งร้าน  จัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักเรียน  และผู้มาเยี่ยมชมกันอย่างสุดฝีมือ   การจัดงานครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของคณะครู  และนักเรียน  ในการที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชมของแขกผู้มีเกียรติที่ได้มาเยี่ยมชมโรงเรียนของเรา   สำหรับในส่วนของกลุ่มสาระภาษาไทย  ก็ได้ใช้เทคนิคในการจัดร้านได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยการนำเอาต้นกก มาตกแต่งดูสวยงาม  สบายตา  ลดภาวะโลกร้อนไปในตัวด้วยแสงสีเขียวจากใบกก  ภายในร้านก็เป็นการแสดงผลงานนักเรียน  ตั้งแต่หนังสือเล่มเล็ก  การเขียนเรื่องจากภาพ  แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน  การประดิษฐ์ตู๊กตาสุภาษิต  ที่ขั้นหนังสือ  โครงงานนักเรียน  การตอบปัญหาบนเวที  ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ทางโรงเรียนได้มีการจัดประกวดแข่งขันการตอบปัญาบนเวที  ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายโรงเรียนส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขัน  อาทิ โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา  โรงเรียนเทศบาล 1 ,2 ,3 และ  5  ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน  จากประสบการณ์จริง  สามารถนำข้อบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไข ในโอกาสต่อไป 

          สังเกตว่า  ทุกกลุ่มสาระรวมทั้งแขกผู้มาเยี่ยมชมจะให้ความสนใจผลงานของนักเรียนมากเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะเรื่องโครงงาน  ซึ่งดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมานานแล้ว  ครั้งนี้จึงพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ท่านที่ได้เข้าชมได้มีความรู้เพิ่มเติมเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน  จะตรงกับที่ท่านรู้อยู่หรือเปล่าหากมีเวลาลองศึกษาดูนะคะ อาจเป็นประโยชน์กับท่านบ้างไม่มากก็น้อย 

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน

การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

      การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวิธีการต่างๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม เป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง

การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด ทั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจอยากรู้อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่งความรู้เบื้องต้น ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนได้มาไม่จำเป็นต้องตรงกับตำรา แต่ผู้สอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งการเรียนรู้และปรับปรุงความรู้ที่ได้ให้สมบูรณ์

การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลักการพัฒนาการคิดของบลูม (Bloom) ทั้ง 6 ขั้น กล่าวคือ
ความรู้ความจำ (Knowledge)
ความเข้าใจ (Comprehension)
การนำไปใช้ (Application)
การวิเคราะห์ (Analysis)
การสังเคราะห์ (Synthesis)
การประเมินค่า (Evaluation)
และยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ ตั้งแต่การวางแผนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ผลผลิต และการประเมินผลงาน โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนรู้

กระบวนการแบ่งเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
ระยะที่ 1 การเริ่มต้นโครงงาน
เป็นระยะที่ผู้สอนต้องสังเกต/สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน จากนั้นตกลงร่วมกัน เลือกเรื่องที่ต้องการศึกษาอย่างละเอียด ผู้สอนสร้างความสนใจให้เกิดกับผู้เรียนซึ่งมีหลายวิธี โดยอาจศึกษาเรื่องจากการบอกเล่าของผู้ใหญ่หรือผู้รู้ จากประสบการณ์ของผู้เรียน/ผู้สอน จากเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ จากการเล่นของผู้เรียน จากความคิดที่เกิดขึ้น จากวัตถุสิ่งของที่ผู้สอนนำมาในห้องเรียน หรือจากตัวอย่างโครงงานที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว เป็นต้น เมื่อเกิดความสนใจแล้วก็จะถึงการกำหนดหัวข้อโครงงาน โดยนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาอภิปรายร่วมกัน แล้วกำหนดเรื่องนั้นเป็นหัวข้อโครงงาน ทั้งนี้จะต้องคำนึงว่าการกำหนดหัวข้อโครงงานนั้นจะกระทำหลังจากการตรวจสอบสมมติฐานเสร็จสิ้นแล้ว
ระยะที่ 2 ขั้นพัฒนาโครงงาน
เป็นขั้นที่ผู้เรียนกำหนดหัวข้อคำถาม หรือประเด็นปัญหา ที่ผู้เรียนสนใจอยากรู้ แล้วตั้งสมมติฐานมาตอบคำถามเหล่านั้น ทดสอบสมมติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ จนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง ตามขั้นตอนดังนี้
1 ผู้เรียนกำหนดปัญหาที่จะศึกษา
2 ผู้เรียนตั้งสมมติฐานเบื้องต้น
3 ผู้เรียนตรวจสอบสมมติฐานเบื้องต้น
4 สรุปข้อความรู้จากผลการตรวจสอบสมมติฐาน
ในกรณีที่ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ผู้สอนควรให้กำลังใจผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งที่ไม่ควรกระทำคือการตำหนิหรือกล่าวโทษ ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนมีกำลังใจจนสามารถตั้งสมมติฐานใหม่ได้ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบเป็นไปตามสมมติฐาน ให้ผู้เรียนสรุปองค์ความรู้จากการค้นพบด้วยการลงมือปฏิบัติของผู้เรียนเองเมื่อได้องค์ความรู้ใหม่แล้ว ผู้เรียนจะนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการทำกิจกรรมตามความสนใจต่อไปได้ ผู้เรียนอาจใช้ความรู้ที่ค้นพบเป็นพื้นฐานของการกำหนดประเด็น ปัญหาขึ้นมาใหม่เพื่อ
กำหนดเป็นโครงงานย่อย ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นต่อไปอีก
ระยะที่ 3 ขั้นสรุป
เป็นระยะสุดท้ายของโครงงานที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบของปัญหาแล้ว และได้แสดงให้ผู้สอนเห็นว่าได้สิ้นสุดความสนใจในหัวข้อโครงงานเดิม และเริ่มหันเหความสนใจไปสู่เรื่องใหม่ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้สอนและผู้เรียนจะได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานตลอดโครงงานแก่คนอื่นๆ มีกิจกรรมที่ผู้สอนให้ผู้เรียนดำเนินการในขั้นตอนนี้ ดังนี้
1. ผู้เรียนเขียนรายงานเป็นรูปแบบงานวิจัยเล็กๆ
2. ผู้เรียนนำเสนอผลงาน (แสดงเป็นแผงโครงงาน) ให้ผู้สนใจรับรู้ สรุปและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานมีดังนี้

1. ขั้นนำเสนอ หมายถึง ขั้นที่ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาใบความรู้ กำหนดสถานการณ์ ศึกษาสถานการณ์ เกม รูปภาพ หรือการใช้เทคนิคการตั้งคำถามเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละแผน เช่น สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ที่เป็นขั้นตอนของโครงงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการเรียนรู้
2. ขั้นวางแผน หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนร่วมกันวางแผน โดยการระดมความคิด อภิปรายหารือข้อสรุปของกลุ่ม
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
3. ขั้นปฏิบัติ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมเขียนสรุปรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการวางแผนร่วมกัน
4. ขั้นประเมินผล หมายถึง ขั้นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง โดยให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ โดยมีครู ผู้เรียนและเพื่อนร่วมกันประเมิน

แนวทางการจัดการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน มี 2 แนวทาง ดังนี้

1. การจัดกิจกรรมตามความสนใจ


เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเลือกศึกษาโครงงานจากสิ่งที่สนใจอยากรู้ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมในสังคม หรือจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ยังต้องการคำตอบ ข้อสรุป ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้ในบทเรียนของหลักสูตร มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1) ตรวจสอบ วิเคราะห์ พิจารณา รวบรวมความสนใจแก่ผู้เรียน
2) กำหนดประเด็นปัญหา/หัวข้อเรื่อง
3) กำหนดวัตถุประสงค์
4) ตั้งสมมติฐาน
5) กำหนดวิธีการศึกษาและแหล่งความรู้
6) กำหนดเค้าโครงของโครงงาน
7) ตรวจสอบสมมติฐาน
8) สรุปผลการศึกษาและการนำไปใช้
9) เขียนรายงานเชิงวิจัยง่ายๆ
10) จัดแสดงผลงาน

2.การจัดกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้


เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยยึดเนื้อหาสาระตามที่หลักสูตรกำหนด ผู้เรียนเลือกทำ
โครงงานตามสาระการเรียนรู้ จากหน่วยเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน นำมาเป็นหัวข้อโครงงาน มีขั้นตอนที่
ผู้สอนดำเนินการดังต่อไปนี้
1) เริ่มจากศึกษาเอกสารหลักสูตร คู่มือครู
2) วิเคราะห์หลักสูตร
3) วิเคราะห์คำอธิบายรายวิชา เพื่อแยกเนื้อหา จุดประสงค์ และกิจกรรมให้เด่นชัด
4) จัดทำกำหนดการสอน
5) เขียนแผนการจัดการเรียนรู้
6) ผลิตสื่อ จัดหาแหล่งการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
7) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้
7.1) แจ้งจุดประสงค์ เนื้อหาของหลักสูตรให้ผู้เรียนทราบ
7.2) กระตุ้นความสนใจของผู้เรียนในขอบเขตของเนื้อหาและจุดประสงค์ในหลักสูตร
7.3) จัดกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจ
7.4) ผู้สอนใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น
♦ ทำไมผู้เรียนจึงสนใจอยากเรียนเรื่องนี้ (แนวคิด/แรงดลใจ)
♦ ผู้เรียนสนใจเกี่ยวกับอะไรบ้าง (กำหนดเนื้อหา)
♦ ผู้เรียนอยากเรียนรู้เรื่องนี้เพื่ออะไร (กำหนดจุด ประสงค์)
♦ ผู้เรียนจะทำอย่างไรจึงจะเรียนรู้ได้ในเรื่องนี้ (กำหนดวิธีศึกษา/กิจกรรม)
♦ ผู้เรียนจะใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการศึกษาครั้งนี้ (กำหนดสื่ออุปกรณ์)
♦ ผู้เรียนจะไปศึกษาที่ใดบ้าง (กำหนดแหล่งความรู้ แหล่งข้อมูล)
♦ ผลที่ผู้เรียนคาดว่าจะได้รับคืออะไรบ้าง (สรุปความรู้/สมมติฐาน)
♦ ผู้เรียนจะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผลงานของผู้เรียนดีหรือไม่ดีอย่างไร จะให้ใครเป็นผู้ประเมิน (กำหนดการวัดและประเมินผล)
♦ ผู้เรียนจะเผยแพร่ผลงานให้ผู้อื่นรู้ได้อย่างไร (นำเสนอผลงาน รายงาน)
7.5) ผู้เรียนแต่ละกลุ่มศึกษาตามที่ตกลงกันไว้ (จากคำถามที่ผู้สอนซักถาม) ภายใต้กรอบเวลาในแต่ละครั้ง ถ้ายังไม่สำเร็จให้ศึกษาต่อในคาบต่อไป
7.6) ผู้เรียนทุกคนต้องสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยการเรียนของผู้เรียนและสามารถนำเสนอความรู้ที่ได้แก่เพื่อนๆ และผู้สอนได้
7.7) ผู้เรียนเขียนรายงานเชิงวิจัยแบบง่ายๆ และแสดงแผงโครงงาน
8) ผู้สอนจัดแหล่งความรู้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
9) ผู้สอนเขียนบันทึกผลการเรียนรู้

ที่มา : http://mark.oacomtech.com/6project.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 172067เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2008 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การเรียนการสอนแบบโครงงาน เป็นเรื่องที่ครูทุกคนควรศึกษา และนำมาพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาความรู้อย่างแท้จริง ขอบคุณที่คุณครูได้เสียสละเวลา ค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมมาฝากเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ครูหลายคนยังปฏิบัติไม่ถูก จะลองนำไปปฏิบัติดู ได้ผลเป็นอย่างไร จะแจ้งให้ทราบนะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

การรวมพลังสร้างสรรค์การศึกษา จัดได้ยอดเยี่ยมมาก จะทำให้เห็นว่า ครูบางท่านยังไม่เข้าใจเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน เมื่อได้เข้ามาชมและได้ศึกษาจาก บทความ ครูแก้วแล้วทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น ยินดีที่มีโอกาสได้เข้าชม จะนำไปลองปฏิบัติ

เยี่ยมมากครับ โดยเฉพาะการค้นคว้าความรู้ที่เป็นที่สนใจมาแบ่งปันเพื่อนครู โรงเรียนก็กำลังจะจัดอบรมให้กับครูทุกคน จะได้เป็นการศึกษาล่วงหน้าก่อน

ขอชมเชยครับ ผอ.ศักดิ์เดช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท