ทำไมบ้านเราไม่ใช้บัตรทอง


ครอบครัว หรือ "บ้าน" ของข้าพเจ้าเป็นครอบครัวข้าราชการ เป็นครอบครัวเบิกได้ แต่สาเหตุที่เราไม่ใช้บัตรทอง กับคนที่มีีสิทธิได้บัตรทอง และไม่ได้รับการคุ้มครองโดยสวัสดิการของข้าราชการ นั่นคือเมื่อน้องชายของข้าพเจ้าไปผ่าตัดเข่าที่ศิริราช เนื่องจากงานนี้แม่เป็นสปอนเซอร์ เป็นคนจ่ายเงิน และเป็นแหล่งทุนที่สำคัญ และเป็นคนเลือกบริการสุขภาพให้ลูกและคนในครอบครัว เมื่อน้องชายจะผ่าเข่า ซึ่งสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ แม่ตัดสินใจว่าจะไม่ใช้ จะให้น้องไปศิริราช...

เมื่อปลายปีที่แล้ว เเม่โทรมาบอกว่า "น้องจะต้องผ่าตัดเข่า" น้องชายเล่นบาสเก็ตบอลและเข่าขวาได้รับบาดเจ็บ เป็นๆ หายๆ มาหลายครั้ง ในช่วงแรก ก็รับการตรวจรักษา รับยา โดยใช้บัตรทองตามปกติที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่การใช้บัตรทองส่วนใหญ่แม่จะไปกำกับดูแลด้วยทุกครั้งถ้าไปได้ และถ้าเป็นไปได้ ก็จะเลือกไปคลินิกนอกเวลา อาจเป็นธรรมเนียมที่คนที่ไม่สบาย ไม่ควรจะไปโรงพยาบาลรัฐคนเดียว ต้องมีคนไปเป็นเพื่อน ถ้าคิวยาวจะได้คอยซื้อน้ำ ซื้อขนมมาส่งคนป่วย ในสายตาข้าพเจ้า รู้สึกว่าน้องชายก็อายุพอสมควรแล้ว และไม่ได้ป่วยขนาดเดินไม่ไหว ข้าพเจ้าจะออกอายด้วยซ้ำที่โตเเล้วจะต้องมีแม่กำกับ แต่การที่แม่ไปด้วย นอกจากจะใช้บัตรทองแล้ว ด้วยความที่แม่เป็นข้าราชการครู และไปโรงพยาบาลบ่อย เพื่อรักษาอาการปวดหลัง ปวดไหล่ที่คลินิกนอกเวลา (ไม่ต้องคอย ไม่ต้องลางาน แต่จ่ายเพิ่ม ) คาดว่าอาจจะมีการใช้ "สายสัมพันธ์เล็กๆ" ด้วย

สายสัมพันธ์นี้ไม่ได้ได้มาด้วยการไปรับการรักษาบ่อยๆ อย่างเดียว แม่เชื่อว่า การไปโรงพยาบาลจะต้องหอบหิ้วข้าวของ ไปฝากหมอเจ้าของไข้ ฝากพยาบาลประจำวอร์ด ฝากเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด แม้กระทั่งมากรุงเทพฯ แม่ก็ยังหอบของดีประจำจังหวัดใส่รถมาให้หมอเจ้าของไข้ ให้พยาบาล แล้วฝากของให้พยาบาลส่งให้คุณหมอฝึกงานเฉพาะทางที่ไม่ได้ดูแลน้องชาย แต่บังเอิญที่เหลือเกินเคยเรียนที่โรงเรียนที่แม่สอน ที่อยู่วอร์ดนั้น การมากรุงเทพฯแต่ละครั้ง ของฝากจำนวนมากจึงต้องโหลดใส่รถขับมากันเอง

น้องชายได้รับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นโดยใช้สิทธิบัตรทองสมัยที่ยังเสีย 30 บาท ที่โรงพยาบาลในจังหวัด เมื่อผลออกมาว่าจะต้องผ่าตัดและดามเหล็กที่เข่าขวา ในช่วงนี้เอง แม่ก็เริ่มเตรียมตัวขยับขั้นต่อไป เริ่มใช้ช่องทางสายสัมพันธ์ ติดต่อเพื่อนที่สามารถต่อกับพยาบาลที่ทำงานที่กรุงเทพฯได้ ไม่ได้ติดต่อเพื่อจะฝาก แต่เพื่อวิจัยเบื้องต้นว่าหมอคนไหนที่จะผ่ากรณีอย่างน้องชายได้ดีที่สุด แล้วก็ได้รับคำแนะนำจากพยาบาลว่า ให้มาที่ฝ่ายเวชศาสตร์การกีฬา แล้วผ่ากับ "อาจารย์หมอ" ท่านหนึ่ง พร้อมกับวัน และเวลาที่อาจารย์หมอจะลงตรวจ เมื่อได้ข้อมูลทางกรุงเทพฯแล้ว แม้น้องชายจะไปตรวจที่โรงพยาบาลเดิมตามนัด แต่แม่ก็คงไม่ยอมให้ผ่าที่เดิมแน่ๆ

เหตุการณ์ของสิทธิบัตรทองก็ดำเนินต่อไป นั่นคือหมอเจ้าของไข้ที่โรงพยาบาลเดิมแจ้งว่าต้องผ่าตัดและคุยเรื่องการผ่าตัด โดยใช้สิทธิบัตรทอง มีการสอบถามกับพยาบาลเรื่องการโอนสิทธิ์รักษาข้ามเขตว่า เเม่เล่าว่า ถ้าหมอเซ็นอนุญาตให้ไปผ่าที่ศิริราช ก็จะใช้สิทธิบัตรทองต่อได้ แต่ถ้าหมอไม่เซ็น อย่างไรๆ ก็ไปผ่าที่กรุงเทพฯ อยู่ดี แม้จะต้องเสียเงินเอง ตอน ที่เเม่โทรมาบอก น้องข้าพเจ้าได้รับการตรวจจากอาจารย์หมอแล้ว และนัดวันตรวจซ้ำและเตรียมผ่าตัดไว้ล่วงหน้าคร่าวๆ

แม่เล่าว่าหมอที่โรงพยาบาลเดิม ดูท่าจะไม่เซ็นใบส่งตัวแน่ๆ ในช่วงที่หมดท่านนั้นไม่อยู่(พอดีเลย) แม่จึงพาน้องมาผ่าเข่าที่กรุงเทพฯ ตามนัดกับอาจารย์หมอ โดยเซ็นใบยินยอมสละสิทธิ์บัตรทอง แม่ให้เหตุผลว่า ที่โรงพยาบาลบ้านเราจะมีคนมาผ่าเข่าอย่างนี้สักปีละกี่คน อาจารย์หมอที่กรุงเทพฯ เขาผ่าแบบแผลเล็กกันทุกอาทิตย์ ก็ต้องมีความชำนาญเฉพาะทางมากกว่าอยู่แล้ว เรื่องเข่ายังต้องใช้อีกนาน ถ้าผ่าแล้วไม่ดีก็ต้องรื้อผ่าใหม่เรื่อยๆ ไปกรุงเทพฯดีกว่า แต่ถ้าจะเอาแค่พารา ยาแก้ปวดท้อง แก้โรคกระเพาะ วัดความดัน เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพราะต้องรับบัตร เข้าคิว รอนาน แม่ก็ไม่รังเกียจที่จะไปอนามัย ที่ห่างจากบ้านคุณยายเพียงเเค่เดินสิบนาทีถึง

แม่ไม่มีความเชื่อเลยว่าหมอต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่มีโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางจะสามารถให้บริการที่ดีได้ โดยเฉพาะในระบบบัตรทอง ถ้ามีแพทย์ที่เล่าลือว่าเก่งในโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัด แม่อาจจะให้น้องชายผ่าในจังหวัดก็ได้ ระบบที่แม่เชื่อว่าจะทำให้น้องได้รับบริการดีที่สุดคือ แจ้งพยาบาลว่าจะจ่ายค่ารักษาเต็มจำนวน เป็นเงินสด เเม่เชื่อว่าระบบบริการสุขภาพมีหลายมาตรฐาน ทั้งตามพื้นที่ (กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด) ตามสถานะผู้ให้บริการ รัฐ-เอกชน ตามขนาดของโรงพยาบาล ตามกำลังทรัพย์ ตามเส้นสายความสัมพันธ์ ตามบริการที่ต้องการ (เเต่ก็จะไม่ประท้วงใดๆ) ถ้าเลือกได้ ก็ต้องเลือกมาตรฐานสูงๆ หน่อย ที่เราจ่ายได้

ความเชื่อของแม่เถียงไม่ขึ้น โรงพยาบาลที่เป็นสถาบันฝึกหัดแพทย์ ที่มีฝ่ายเวชศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะ ย่อมมีความเชี่ยวชาญกว่าโรงพยาบาลจังหวัด แม่เสียค่าผ่าตัดอย่างเดียวด้วยเงินสดประมาณ 50,000บาท ไม่รวมค่าห้อง ค่ากายภาพบำบัด ค่าตรวจรักษาก่อนหน้า และหลังจากนั้น ซึ่งเเม่เลือกเเล้วว่า ไม่ต้อง(การ)ใช้สิทธิบัตรทอง แต่จะเคลมเงินกับประกันสุขภาพที่ทำให้น้อง ถ้าเคลมไม่ได้ ก็จ่ายเงินสดเองทั้งหมด

เมื่อมารักษาที่กรุงเทพฯ แม่ยืนยันจะให้ข้าพเจ้ามาเฝ้าไข้ นอนค้าง แต่ห้องที่ว่างอยู่ เป็นห้องพิเศษสองเตียง และมีข้อกำหนดว่าต้องมีผู้ที่จะเฝ้าไข้แบบนอนค้างด้วย แต่ต้องเป็นเพศเดียวกับผู้ป่วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เเล้ว แม่จึงต้องจ้างเพื่อนรุ่นน้องมาเฝ้าไข้แทน ส่วนข้าพเจ้าก็จะส่งข้าว ส่งน่ำ ซื้อของและไปเยี่ยมช่วงเย็น มีเสียงบ่นจากคนว่าห้องไม่มีเคเบิลทีวีและแอร์ไม่เย็น แต่ห้องพิเศษที่โรงพยาบาลก็เต็มเเน่ไปหมด ที่ได้ห้องพิเศษสองเตียงก็นับว่าดีเเล้ว

ข้าพเจ้าคิดเล่นๆ หากน้องมาที่กรุงเทพฯ ก็แสดงว่าการลงทุนที่โรงพยาบาลรัฐในจังหวัดของแม่ เพื่อสร้างห้องพิเศษหนึ่งเตียง หนึ่งห้อง ในวงเงินหลักแสน คงยังไม่ได้ใช้

เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว โรงพยาบาลมีโครงการสร้างตึกพร้อมห้องพิเศษเพิ่มเติม มีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้บริจาคบริจาคเงินสร้างห้องพิเศษหนึ่งห้อง เมื่อเข้ารับการรักษาจะได้รับสิทธิพิเศษในการใช้ห้องพิเศษ ห้องนั้นจะติดชื่อผู้บริจาค หรือชื่อคนที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ก็ได้ แม่จึงนำเงินของตัวเองกับส่วนของน้าสาวที่เสียไป เเละยกมรดกให้คุณยาย มาบริจาคสร้างห้องพิเศษโดยไม่ลังเลหนึ่งห้อง ป้าย"ประกาศเกียรติคุณ" ประจำห้องเป็นชื่อคุณตากับน้าสาว โดยแม่เห็นว่าเป็นการทำบุญให้กับผู้ตาย และคุณยายก็อายุมากแล้ว ต่อไปจะเข้าโรงพยาบาล เราจะได้มีห้องพิเศษ เงินบริจาคมาพร้อมเเพ็คเกจประกอบด้วย เหรียญประกาศเกียรติคุณ ประกาศนียบัตร(เบ่ง)มาหนึ่งใบ เอาไว้แสดงว่าถ้าฉันอยากได้ห้องพิเศษที่นี่ ฉันจะได้ห้องพิเศษ และยังมีรูปแม่ถอนสายบัวรับงาน ตอนที่รับเหรียญติดฝาบ้านคุณยายอีกต่างหาก แม่และคุณยายดูจะภูมิใจมาก น้องชายน่าจะได้เป็นหนูทดลองใช้ห้องพิเศษประจำตระกูลนี้

เรื่องของแม่ทำให้เห็นฐานคิดของข้าราชการต่างจังหวัดที่แม้จะไม่ร่ำรวย พอจะมีกำลังทรัพย์สนันสนุนตัวเองเเละครอบครัว สามารถเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดได้ ในฐานะที่เป็นลูกของเเม่ ข้าพเจ้าไม่สงสัย หรือแปลกใจกับการทุ่มเท หรือการลงทุนเพื่อสุขภาพของเเม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่รับสิทธิบัตรทองของน้องชาย หรือเรื่องห้องพิเศษ ข้าพเจ้าไม่ตั้งคำถามในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของแม่ หรือแม่ของเเม่

ในฐานะนักวิจัยข้าพเจ้ามักคิดแย้งว่า ประสบการณ์ของเเม่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของประชากรกลุ่มที่ข้าพเจ้าทำวิจัย หรืออ่านในงานวิจัยด้านการใช้บริการสุขภาพของรัฐ แม่เป็นประชากรไทยกลุ่ม "พิเศษ" กลุ่มที่ได้รับสิทธิและสวัสดิการดีที่สุดกลุ่มหนึ่งในด้านการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดกลุ่มหนึ่ง ลูกๆ ที่บรรลุนิติภาวะ ได้สิทธิบัตรทอง พ่อเเละเเม่ของแม่ได้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลฟรี แม่เป็นข้าราชการกลุ่มเก่ากลางใหม่ คือได้ทั้งบำนาญและสิทธิจากประกันสังคม และยังได้สวัสดิการข้าราชการ ทั้งยังมีเครือข่ายเข้มเเข็ง เอาไว้รับมือเมื่อยามต้องการเส้นสาย แม่มีกำลังซื้อบริการสุขภาพ พอสมควรทั้งเงินสด เพื่อลดภาระสุขภาพในอนาคตยังทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิตโดยสมัครใจ ทั้งเพื่อการออมเเละเพื่อความอุ่นใจ อีกหลายชุด

การใช้บริการสุขภาพของแม่มีทางเลือกเสมอ เมื่อคุณตาไม่สบาย แม่พาไปโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัด โดยไม่สนใจเรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายเพราะไม่มีห้องพิเศษว่างที่โรงพยาบาลรัฐ ในจังหวัดเล็กๆ แพทย์บางคนที่ทำงานโรงพยาบาลรัฐก็จะทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนด้วย ดังนั้นการรักษาพยาบาลจึงแทบจะไม่สะดุด เมื่อต้องส่งต่อตัวตาไปโรงพยาบาลรัฐ คุณตากับเเม่เองก็เป็นผู้บริจาคประจำของโรงพยาบาลรัฐในจังหวัด แม่มีลูกศิษย์เป็นหมอ เป็นพยาบาล

คนในครอบครัวของเรา ถ้าไปโรงพยาบาลแล้วได้นอนห้องพิเศษสองเตียง ถือว่าเป็นเรื่องที่เกือบตกมาตรฐานการรักษาพยาบาลของแม่ ข้าพเจ้าไม่เคยไปเยี่ยมไข้คนในครอบครัวในห้องผู้ป่วยสามัญ ยกเว้นเมื่อน้าต้องเข้าไปดูอาการหลังผ่าตัดในห้องรวมที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังในกรุงเทพฯ น้าอยู่ห้องรวมได้เพียงวันเดียว เพื่อนที่ทำงานก็จัดการย้ายไปห้องพิเศษสองเตียง แล้วก็ขยับเป็นห้องพิเศษเตียงเดี่ยว นี่คงเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) สำหรับเเม่

ประสบการณ์และความพึงพอใจในการรับบริการสุขภาพย่อมขึ้นอยู่กับทรัพยากร (เงินและอื่นๆ) ประสบการณ์ของแม่สะท้อนให้เห็นช่องว่างมหาศาลระหว่างคนที่มี/ไม่มี ถ้าเรื่องนี้กล่าวถึงคนที่มีมากกว่าแม่ ช่องว่างจะถ่างกว้างขึ้นไปอีก คนที่มีทรัพยากรสามารถลงทุนเพื่อสุขภาพของตนและคนในความดูแลของตนได้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย คนที่ไม่มีก็ต้องยอมรับกับการลงทุนของรัฐ หรือกำลังทรัพย์จางๆ ของตนเอง ถ้ามาตรฐานของระบบบริการพื้นฐานไม่ดี ไม่ว่าจะโดยข้อเท็จจริง หรือโดยทัศนคติหรือความรู้สึกของคนที่ใช้บริการ กลุ่มที่มีทรัพยากรก็จะหาทางออกโดยการลงทุนเพื่อสุขภาพตนเอง เช่นการสร้างอภิสิทธิ์ สร้างเครือข่าย ใช้สายสัมพันธ์ ใช้ระบบบริการสุขภาพเอกชน ตามกำลังทรัพยากรของตนเอง เขาจะไม่นิ่งดูดายใช้บริการที่คิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดกับสุขภาพของตน คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ภาระของสถานพยาบาล แต่เป็นรายรับ คนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกร้อนหนาวมากเท่าใดกับการเปลี่ยนแปลงของหลักประกันสุขภาพหลัก เพราะมีทางเลือก

แล้วคนที่ไม่ได้มีเครือข่ายความปลอดภัยรองรับอย่างแม่ของข้าพเจ้า ไม่มีหลักประกันสุขภาพแม้กระทั่งระบบพื้นฐาน ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าไม่ได้มีเเม่นักกิจกรรม ไม่ได้มีแม่เป็นคนที่เห็นใจกับเดือนตุลา แม่ของข้าพเจ้าอาจจะไม่มองไปไกลถึงระบบสุขภาพหรือการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ทำให้น้องไม่ต้องไปผ่าเข่าที่กรุงเทพฯ ไม่ได้สนใจกับการสื่อสารสาธารณะเพื่อปรับความเข้าใจของผู้ใช้บริการให้เชื่อในการใช้บริการในท้องถิ่น แทนที่จะได้อ่านงานวิจัยของข้าพเจ้า (ตั้งเเต่ทำงานมาข้าพเจ้าไม่เคยเอางานวิจัยสักชิ้น ให้แม่อ่าน) ความเป็นจริงที่แม่รับรู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้คือเรื่องคนไข้ฟ้องหมอ คนไข้ตายคาเตียง การกระจายข่าวในเครือข่ายเพื่อฝูงว่าผู้ให้บริการที่นี่ดี ที่นั่นสู้ไม่ได้ต่อให้ต้องนั่งรถไป ขับรถไปข้ามจังหวัดก็ไป ชีวิตของแม่กับระบบให้บริการสาธารณสุขไม่ได้อยู่บนฐานความรู้ ที่มีการอุดหนุนให้ทุนวิจัย อาจถูกขับเคลื่อนจะเป็นความรู้ภายใน ประสบการณ์ ข่าวลือ และความเชื่อมากกว่า "ความรู้" อย่างเป็นระบบ

แต่ความเชื่อของผู้รับบริการ ไม่ใช่สิ่งที่สมควรละเลย เมื่อทำวิจัยเคยพบกรณีคนที่ไม่มีเงินจ่าย แต่บอกว่ามี เพราะเชื่อว่าถ้าไม่มีเงินจ่าย หมอจะไม่รักษา หรือจะไปไม่ถึงมือหมอ เป็นต้น ความเชื่อที่นักวิจัยรู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะเป็นการเข้าใจผิด ทำให้เรารู้สึกว่านอกจากทำวิจัย เรายังมีหน้าที่สื่อสารความเข้าใจอีกรูปแบบหนึ่ง (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า "ถูก" ได้หรือเปล่า)

ผู้ปกครองของใครมีความเชื่อเรื่องการใช้บริการสุขภาพที่ลูกๆ หลานๆ ไม่เข้าใจ เชิญเเบ่งปันค่ะ
คำสำคัญ (Tags): #reflection
หมายเลขบันทึก: 171491เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาอ่านคะ ท่าทางจะเล่ายังไม่จบใช่ไหมคะ รออ่านอยู่คะ :)

อยากอ่านต่อค่ะ เป็นครอบครัวข้าราชการเหมือนกัน มีมุมมองแปลก ๆ ทิ้งรอยไว้เจะได้มาติตามต่อไปได้ง่ายขึ้นค่ะ

อยากอ่านต่อคะ

เพราะเป็นครอบครัวข้าราชการเหมือนกันคะ

แต่ ยังมีข้อสงสัยอีกหลายเรื่องเลยคะ

เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์คะ

หวังว่าจะได้อ่านต่อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท