แผน(โครงการ)นั้นสำคัญไฉน


การเขียนโครงการ กิจกรรม

แผน (โครงการ) นั้นสำคัญไฉน

                                                                                        สำเร็จ  ศรีอำไพ*

 

             เมื่อกล่าวถึงแผนงาน โครงการ บางท่านคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สำหรับชีวิตประจำวันหรือการปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวงการ ทุกหน่วยงานไม่ว่าภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน จะต้องมีการจัดทำแผนกันทุกปีงบประมาณ ทุกปีการศึกษา บางแห่งทุกเดือน ทุกสัปดาห์ บางแห่ง บางวงการต้องมีการวางแผนกันเป็นรายวันก็มี จุดมุ่งหมายหลักของการวางแผนก็คือ เพื่อที่จะให้คุณภาพของงานหรือผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานคุ้มค่ากับการลงทุน จากการปฏิบัติงานให้มากที่สุด ตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมาย

             ผู้เขียนมีความเชื่อว่าทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการวางแผน การจัดทำโครงการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะไปศึกษาดูงานที่ใด หรือต้องการศึกษาความเป็นมา ความเจริญรุ่งเรืองของหน่วยงานต่าง ๆ แผนงานโครงการจะเป็นตัวบ่งชี้วัฒนธรรมการทำงาน ที่ส่งผลให้หน่วยงานนั้นประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด และเช่นเดียวกัน เมื่อมีโอกาสไปตรวจเยี่ยม หรือประเมินหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษา จะขอศึกษาแผนงาน โครงการของหน่วยงานนั้นก่อนลำดับแรก ทั้งนี้เนื่องจากสาระต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนงาน จะบ่งบอกทุกสิ่งที่หน่วยงานนั้น ๆ ดำรงอยู่ได้อย่างไร ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา วิสัยทัศน์ในการทำงาน เป้าหมาย พันธกิจ คุณลักษณะที่พึงประสงค์กำหนดไว้ชัดเจน ครอบคลุมสอดคล้องกันหรือไม่ จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานมีองค์ประกอบอย่างไร มีวิธีการขั้นตอนการทำงานอย่างไร งบประมาณแต่ละปีมีมากน้อยเพียงใด ได้มาจากแหล่งใด ส่วนมากนำไปใช้ตรงตามเป้าหมายพันธกิจหลักหรือไม่ ผลสำเร็จในอดีตที่ผ่านมามีสิ่งใดบ้าง มีอะไรที่เป็นจุดเด่นของหน่วยงานนั้น ๆ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในแผนงานยังจะบ่งบอกวัฒนธรรมการทำงานของผู้นำ ทีมงานว่ามีความมุ่งมั่น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด

              จากความจำเป็นและความสำคัญของแผนงาน โครงการดังกล่าว เสมือนกับเป็นตัวนำหรือหนังตัวอย่างที่จะนำพาแขกผู้มาเยือนไปสู่สิ่งดี ๆ ของหน่วยงานอย่างน่าสนใจต่อไป

              นักวางแผนหลาย ๆ ท่าน ได้กล่าวไว้ว่า การวางแผนเป็นเครื่องมือที่มีสำคัญยิ่ง สำหรับการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารที่เน้นการทำงานในแบบที่เป็นระบบ เน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ของระบบงาน หรือของหน่วยงานโดยตรง โดยใช้ตัวแผนเป็นเครื่องบ่งบอกแนวทางการปฏิบัติ แสดงรายละเอียดของสิ่งที่ปฏิบัติ จัดทำในอนาคต บอกให้รู้ถึงจุดที่มุ่งหมาย สิ่งที่คาดหวัง บอกถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการที่กำหนดไว้ บอกถึงเป้าหมายของการปฏิบัติการ แสดงถึงวิธีดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในภารกิจ (Mission) 

               การบริหารจัดการของสถานศึกษาจะมีอยู่สองมิติ คือ ประสบผลสำเร็จและไม่ประสบผลสำเร็จ(แต่ไม่ถึงกับล้มเหลว) หรือมองอีกมุมหนึ่งว่าบรรลุเป้าหมายและไม่บรรลุเป้าหมาย การบริหารจัดการ

 

*หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา สพท.พระนครศรีอยุธยา เขต 1

 

ที่ประสบผลสำเร็จ แต่บางครั้งขาดประสิทธิภาพ คือ งานสำเร็จแต่สิ้นเปลืองงบประมาณ งานสำเร็จ

แต่ล่าช้า งานสำเร็จแต่เสียเวลาหรือทรัพยากรมากเกินความจำเป็น งานบางอย่างมีปัญหา ต้องแก้ไข

ทุกขั้นตอนบางทีปฏิบัติออกนอกลู่นอกทาง บางงานดำเนินการไปตามความพอใจของผู้บริหารเป็น

หลัก บางงานทำงานแบบแฟชั่นและทำตามใจ เอาใจนายหรือเอาใจผู้มีอำนาจ ซึ่งมักจะเห็นกันอยู่เสมอ

(นี่แหละประเทศไทย)

           ดังนั้นจุดเน้นของการวางแผนที่สำคัญ คือ การช่วยให้งานที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารนั้นประสบความสำเร็จ ด้วยวิธีการดำเนินงานที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพและนำไปสู่การทำงานอย่างเป็นระบบ (system) แต่การที่ใช้แผนเพื่อให้บรรลุสภาพการทำงานที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้

 1. หลักสำคัญของการวางแผน

           2. ความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนกับการบริหารและกระบวนการบริหาร

           3. วิธีการประยุกต์ใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการวางแผนให้เหมาะสมกับงานในความรับผิดชอบ

           4. การวางแผนและการทำงานอย่างเป็นระบบ จะต้องศึกษาวิเคราะห์สภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหน่วยงานทั้งระบบ

           5. สภาพของระบบการทำงาน

               5.1จะต้องค้นหาปัญหาในการทำงานและพิจารณาถึงความต้องการในการพัฒนาของหน่วยงานให้ชัดเจน 

               5.2 จะต้องมีการตรวจสอบองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมของการทำงาน

               5.3 มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการพิจารณางานอย่างเป็นระบบ รอบคอบ ก่อนตัดสินใจกำหนดสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ

               5.4 สร้างกลไกการทำงานผูกติดกับระบบ เป็นกระบวนการ

              สิ่งที่กล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า เป็นการทำงานแบบครบวงจรที่ครอบคลุมตั้งแต่การคิดกำหนด

การทำงานและการจัดทำเค้าโครงของการทำงาน (Plan) ครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติตามแผนหรือการนำแผนที่กำหนดไว้ไปปฏิบัติ (Implementation) และครอบคลุมถึงการควบคุม กำกับ ตรวจสอบ การติดตามและประเมินผล (Evaluation) ในที่สุดจะช่วยให้การบริหารงานของหน่วยงานดำเนินงานอย่างเป็นระบบ (System) มีขั้นตอนและรายละเอียดในการดำเนินงานที่ชัดเจน

               สภาพการทำงานของหน่วยงานหรือสถานศึกษา ส่วนมากมีการดำเนินงานทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว คือ มีการวางแผน (Plan) มีการปฏิบัติตามแผนที่กำหนด (Implementation) แล้วจึงมีการควบคุม กำกับ ติดตามและประเมินผล (Evaluation) แต่มีข้อที่น่าคิดว่าการจัดทำแผนหรือโครงการ / กิจกรรม ที่ผ่านมาไม่บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา นั่นคือ ส่วนมากบรรลุเชิงปริมาณแต่ด้านคุณภาพต่ำลง โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรมของคน ดังนั้นเราลองมาตรวจสอบกันดูซิว่า มาจากการจัดทำโครงการ  กิจกรรมหรือการวางแผนหรือไม่

         โครงการ กิจกรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นทางเดินของการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพ ถ้าเราต้องการทราบว่าหน่วยงานหรือสถานศึกษาใดมีเส้นทาง

การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บังเกิดประสิทธิผลหรือไม่ ให้ศึกษารายละเอียดของโครงการ กิจกรรมของหน่วยงานนั้น ๆ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อโครงการ จนกระทั่งผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้ศึกษาโครงการ กิจกรรมของสถานศึกษาหรือหน่วยงานของตนเอง พบว่าโครงการแต่ละโครงการขาดความสอดคล้องตลอดแนว นั่นคือ กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายไม่ครอบคลุมภารกิจ และวัดและประเมินผลไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย เป็นต้น หรือจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พบว่าผลการประเมินอิงสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับผลการประเมินอิงเกณฑ์ ทั้งนี้เนื่องจากสถานศึกษาจัดทำโครงการในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ส่วนมากสอดคล้องกับการประเมินเฉพาะชื่อโครงการ เช่นโครงการส่งเสริม พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน เมื่อศึกษารายละเอียดในโครงการ การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานหรือตัวบ่งชี้ตามที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งส่งผลให้ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินแต่ละมาตรฐานหรือตัวบ่งชี้  ผู้ประเมินจึงลงความเห็นว่าสถานศึกษาไม่มีการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะมีคุณภาพระดับปรับปรุงหรือพอใช้เท่านั้น

 

            ต่อไปนี้เรามาศึกษาดูซิว่าการเขียนโครงการ  กิจกรรม ควรมีรายละเอียดอย่างไรกันบ้าง

            1. ส่วนหัวของโครงการ

               1. 1 ชื่อโครงการ / กิจกรรม การตั้งชื่อโครงการต้องสื่อให้รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร กับใคร เช่น

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1, การตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1, การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดกิจกรรมการฝึกทักษะกระบวนการคิด, การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครูปฐมวัย, ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ฯลฯ

              1.2 แผนงาน สถานศึกษาจะต้องระบุแผนงานตามโครงสร้างการบริหารจัดการของสถานศึกษา นั่นคือ แบ่งออกเป็น 4 งาน งานวิชาการ งานแผนงานงบประมาณ งานบริหารงานบุคคล และงานบริหารทั่วไปเป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นหน่วยงานทางการศึกษาจะแบ่งออกตามแผนงานการใช้งบประมาณที่กำหนด

              1.3 สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ สถานศึกษาต้องไปตรวจสอบว่าโครงการ กิจกรรม ที่จัดทำไปสนองนโยบาย ยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อใด และขอให้ระบุเพิ่มเติมว่าสอดคล้องกับมาตรฐานของสถานศึกษาใด โครงการหนึ่ง ๆ อาจมีความสอดคล้องกับหลาย ๆ มาตรฐาน ก็เป็นไปได้

            1.4 ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้เขียนโครงการ ต้องระบุว่ามีใครเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ (หรือใครเป็นเจ้าของโครงการ กิจกรรม) เช่น สำเร็จ  ศรีอำไพและคณะ หรือจะบอกชื่อคณะทุกคนที่รับผิดชอบทั้งหมดก็ชัดเจนดีมาก

            1.5 หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ถ้าสถานศึกษาอาจจะไม่ต้องระบุก็ได้ เนื่องจากระบุตรง

ที่แผนงานชัดเจนอยู่แล้วว่าหน่วยงานใด แต่ถ้าเป็นหน่วยงานทางการศึกษาอื่น ๆ ที่มิได้แบ่งงานออก

ตามแผนงาน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม หรือกลุ่มงาน ควรระบุ เช่น กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา กลุ่มแผนงานงบประมาณ กลุ่มการเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ความจำเป็นที่ต้องระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ติดตามการบริหารจัดการโครงการ กิจกรรม

            1.6 ลักษณะของโครงการ ส่วนมากจะระบุอยู่สองลักษณะ คือ โครงการใหม่ และโครงการต่อเนื่องหรือสถานศึกษาอาจจะเพิ่มเป็นโครงการพระราชดำริหรือโครงการพิเศษก็ได้แล้วแต่จะเห็นควร

            1.7 ระยะเวลาดำเนินงาน เป็นการระบุระยะเวลาเริ่มต้นการดำเนินงานตามโครงการ จนถึงสิ้นสุดโครงการ อาจจะเป็นปีการศึกษา ปีงบประมาณ หรือภาคเรียน หรือเป็นเดือนก็ได้ เช่น  พฤษภาคม 2551 เมษายน 2552, ตุลาคม 2551 กันยายน 2552, ตุลาคม 2551- เมษายน 2552, พฤษภาคม 2552 กันยายน 2552

2. หลักการและเหตุผล

             หลักการและเหตุผล เป็นประเด็นที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจใช้ในการพิจารณาในการอนุมัติโครงการ กิจกรรม ว่าจะอนุมัติให้ดำเนินงานตามโครงการ กิจกรรมหรือไม่ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการจัดทำโครงการ ถ้าไม่ดำเนินการแล้วจะเป็นผลดีหรือเสียแก่สถานศึกษาหรือไม่ ถ้ามีงบประมาณในวงจำกัดควรจัดลำดับไว้ที่เท่าใด ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้นผู้เขียนโครงการต้องระบุที่มาของโครงการ กิจกรรม โดยอ้างกฎหมาย นโยบาย ของหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง และมีปัญหาหรือความจำเป็นที่ต้องพัฒนา โดยอาจอ้างอิงผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา หรือจากการประเมินคุณภาพการศึกษาประจำปี หรือการประเมินคุณภาพภายนอก ตามที่ผู้ประเมินภายนอกได้ให้ข้อเสนอแนะไว้นำมาพัฒนาต่อยอด หรือเป็นนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องดำเนินการ

  3. วัตถุประสงค์

             การเขียนวัตถุประสงค์ในโครงการ กิจกรรม มักมีปัญหาสำหรับสถานศึกษา นั่นคือ กำหนดวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน ดำเนินการวัดและประเมินผลไม่ได้ มีวัตถุประสงค์มากเกินไป นักวิชาการด้านการวางแผน ที่พร่ำสอนตลอดและยังจำอยู่เสมอว่า การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการถ้าเกิน 5 ข้อ ควรแยกเป็นโครงการใหม่จะเหมาะสมกว่า นั่นคือ ถ้ากำหนดวัตถุประสงค์มากกว่า 5 ข้อจะเป็นโครงการใหญ่ จะดำเนินการไม่ทันเวลา ส่วนการเขียนวัตถุประสงค์ ส่วนมากจะมีคำขึ้นต้นว่า เพื่อให้มี เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เพื่อยกระดับ เพื่อสร้าง ซึ่งจะแตกต่างจากการวิจัยในชั้นเรียน หรือวิจัยที่จัดทำผลงานของท่าน จากที่เคยตรวจดูผลงานของผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และเพื่อนครู ที่จัดทำผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับการประเมินโครงการ หรือการรายงานโครงการ ได้เสนอแนะให้กำหนดวัตถุประสงค์ที่เอื้อต่อการประเมิน นั่นคือ สามารถประเมินได้ สามารถกำหนดกรอบการประเมิน สร้างเครื่องมือการประเมินได้ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ การเจริญเติบโตของพืช เพื่อให้นักเรียนมีความเมตตา กรุณาต่อเพื่อน ๆ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการสังเกต ทักษะการวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ครูจัดทำวิจัยในชั้นเรียนได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ให้สูงขึ้น เป็นต้น

 

4. เป้าหมาย

              เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเมื่อดำเนินการตามโครงการ กิจกรรมสิ้นสุดแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เป้าหมายบางโครงการ กิจกรรม จะแยกเป็นเป้าหมายเชิงปริมาณ สามารถระบุเป็นตัวเลขที่นับได้ เช่น ค่าร้อยละ จำนวนความถี่ กับเป้าหมายเชิงคุณภาพ ที่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ ส่วนมากเป็นเชิงคุณธรรม จริยธรรม หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ความพึงพอใจ เจตคติ การกำหนดวัตถุประสงค์เท่าที่ผ่านมามีทั้งกำหนดไว้สูงมากเกินไป ดำเนินการแล้วไปไม่ถึงที่กำหนดไว้ หรือบางครั้งกำหนดไว้ต่ำมากไม่คุ้มกับงบประมาณที่ใช้ สถานศึกษาควรพินิจพิจารณาให้เหมาะสม จะบอกไม่ได้ว่าเท่าไรจึงจะเหมาะสมแล้วแต่บริบทของสถานศึกษา ข้อที่น่าคิด

จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง พบว่าสถานศึกษาส่วนมากกำหนดเป้าหมายไว้สูงเกินไป เช่น นักเรียนทุกคน นั่นคือ คิดเป็นร้อยละร้อย เมื่อประเมินแล้ว ได้ร้อยละ 99 ผู้ประเมินภายนอก จะลงความเห็นว่าไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้ง ๆ ที่มีการกำหนดโครงการ กิจกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐาน มีร่องรอยการดำเนินงานที่ชัดเจนทุกขั้นตอน จะทำให้ได้ระดับคุณภาพดี (3) ไม่ถึงดีมาก (4) แต่ประเมินอิงเกณฑ์ระดับคุณภาพดีมาก ( ³  3.50) และการกำหนดเป้าหมายระดับต่ำสุดก็เช่นเดียวกันไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 75 เช่น นักเรียนมาทันเวลาโรงเรียนเข้าแถวร้อยละ 95 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์กลุ่มสาระคณิตศาสตร์สูงขึ้น ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนมีความพึงพอใจการบริหารจัดการของโรงเรียนร้อยละ 90

นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ได้ ร้อยละ 80 เป็นต้น

 

5. ขั้นตอนการดำเนินงาน   

            ขั้นตอนการดำเนินงาน จะบ่งบอกรายละเอียด ลำดับขั้นตอนของการดำเนินงานในโครงการ ว่าจะทำกิจกรรมใดก่อน หลัง ในช่วงระยะเวลาใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบ บางโครงการอาจมีหลายกิจกรรม ในขั้นตอนนี้จะแบ่งออกอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละกิจกรรม ซึ่งในแต่ละกิจกรรมในโครงการ อาจจะทำคู่ขนานกันไปได้ ไม่จำเป็นต้องให้สิ้นสุดกิจกรรมแรกก่อนแล้วจึงจะเริ่มกิจกรรมต่อไป ถ้ากิจกรรมนั้น ๆ ไม่ดำเนินการต่อเนื่องกัน ซึ่งจะออกแบบเป็นตาราง 4 ช่อง ดังนี้

 

<

ที่

รายละเอียดของกิจกรรม

ระยะเวลาดำเนินการ

ผู้รับผิดชอบ

 

1

2

 

3

4

5

การตรวจสอบทบทวนคุณภาพ

ประชุมคณะทำงาน

ประชุมปฏิบัติการจัดสร้างเครื่องมือตรวจสอบทบทวนคุณภาพการศึกษา

ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพ

ดำเนินการตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพ

สรุป รายงานผล

 

พ.ย.2550

พ.ย.2550

 

ธ.ค.2550 ม.ค.2551

ก.พ.2551

มี.ค.2551

 

ยงยุทธ,สุปาณี

คณะทำงาน

 

ยงยุทธ,สุปาณี

คณะกรรมการ

ยงยุทธ,สุปาณี

 

การนิเทศ ติดตามผลสถานศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานการศึกษาและไม่รับรองคุณภาพ

 

หมายเลขบันทึก: 170865เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท