บริหารจุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเอง ให้มีความสุข


 

คน หรือ องค์กร ล้วนต้องดิ้นรนไปตามสถานการณ์ที่มากระทบ ต้องดึงสมบัติติดตัวมาใช้ คือ "จุดแข็ง-จุดอ่อน" มาใช้ในการรับมือ

สิ่งที่แปลกคือ ผมเคยเห็นคนที่ใช้จุดอ่อนของตัวเอง ไปกระแทกด้านที่เป็นจุดแข็งของปัญหา หรือจุดแข็งของคู่แข่ง

....

ก็ไม่เหลือสิครับ

....

ปีเตอร์ ลินช์ เคยเขียนเล่ากรณีศึกษาน่าสนใจ

ปีเตอร์ ลินช์ เคยบริหารกองทุนขนาดยักษ์ และเอาชนะตลาดได้ในระดับที่น่าทึ่ง เขามองว่า นักลงทุนรายย่อย มีจุดแข็งบางอย่างที่เขาอิจฉาจนตัวสั่น แต่นักลงทุนรายย่อยมักโยนจุดแข็งทิ้ง หันไปใช้จุดอ่อน เข้าไปกระแทกสู้กับนักลงทุนสถาบัน

จุดแข็งที่ว่า คือ ความตัวเล็ก และความเป็นตัวของตัวเองในการตัดสินใจ

ปีเตอร์ ลินช์ เขาวิเคราะห์โครงสร้างกองทุนให้ฟัง ว่ามีกฎ เงื่อนไข ข้อบังคับ มากมาย ที่บีบว่า จากหุ้นที่มีให้เลือกมากมายมหาศาล กองทุนยักษ์ มีสิทธิ์ไปยุ่งได้อยู่ไม่กี่ตัว ซึ่งก็ต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น

แถมเวลาจะซื้อ ต้องทยอยซื้อ เวลาขาย ต้องทยอยขาย ไม่งั้นโดนข้อหาปั่นหุ้น

ถ้ากองทุนซื้อบริษัทเล็กเมื่อไหร่ โดนข้อหาปั่นราคาทันที เพราะราคาอาจพรวดขึ้นฟ้าในเวลาไม่กี่วัน หรือใช้เงินซื้อไปนิดเดียว ก็เข้าข่ายการครอบงำกิจการ ต้องทำ tender offer กันวุ่นวาย ไม่มีโอกาสซื้อที่ราคาถูก ๆ เหมือนรายย่อย

ไม่กี่ตัวนั่นแหละ ที่นักวิเคราะห์ จะสนใจมาวิเคราะห์ ทิ้งบริษัทเล็กบริษัทน้อยที่งบดุลดีแบบลินช์เห็นแล้วน้ำลายหยด อย่างไม่แยแส

นักวิเคราะห์เอง ก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะขืนพูดถึงหุ้นบริษัทเล็ก ๆ ก็จะโดนระบบ "ตื๊บ" เอาได้ง่าย ๆ

 

ลองคิดดูนะครับ พูดถึงหุ้นเล็ก ๆ ตัวไหน แล้วหุ้นราคากระโดดขึ้น นักวิเคราะห์จะถูกข้อหาอะไร ?

ลองคิดดูนะครับ พูดถึงหุ้นเล็ก ๆ ตัวไหน แล้วหุ้นราคากระโดดลง นักวิเคราะห์จะถูกข้อหาอะไร ?

ลองคิดดูนะครับ พูดถึงหุ้นเล็ก ๆ ตัวไหน แล้วหุ้นราคาไม่ไปไหนเลย นักวิเคราะห์จะถูกข้อหาอะไร ?

 

...ตายหยังเขียดทุกสถาณการณ์ครับ ฟันธง !

แต่ถ้าเป็นหุ้นตัวใหญ่ ไม่เป็นไร เพราะหุ้นใหญ่ ย่อมไม่ถูกกระพือด้วยลมปากนักวิเคราะห์คนเดียวอยู่แล้ว

 

เมื่อนักลงทุนรายย่อย เล่นตามสถาบัน คือ ป้วนเปี้ยนรอบ ๆ หุ้นยักษ์ยอดนิยม ก็เท่ากับโดนจูงไปเชือดในเกมส์ที่ตัวเองไม่ถนัด และเป็นเกมส์ที่คนอื่นกำหนดกติกา

 

ทั้งที่ นักลงทุนรายย่อย ตัวเล็กมาก อยากเข้าตัวไหน ออกตัวไหน สามารถทำได้ในพริบตา โดยตลาดไม่มาสนใจรับรู้ ถึงขั้นอยากล้างพอร์ตทิ้ง หุ้นไม่มีกระดิกสักจุด ก็ยังทำได้

ผลคือ นักลงทุนรายย่อย ที่อิงบทวิเคราะห์ของมืออาชีพ ไป ๆ มา ๆ  ก็อาจทำได้ไม่ดีเท่าการซื้อ index fund (บ้านเราก็ได้แก่ tdex หรือ set50 index) แถมยังเหนื่อยกว่า ในการวิ่งตามหาข่าว ทั้งที่ถ้าถามว่า บทวิเคราะห์ที่ว่านั้นดีไหม ทุกคนก็ล้วนยอมรับว่า ดี ไม่มีปัญหา

 

 

ลองมาดูกรณีตัวอย่างอื่นบ้าง

 

 

ผมเคยใช้กล้องดิจิตัลยุคแรก ๆ ที่ไม่ไวแสง ถ่ายกลางคืนเมื่อไหร่ เละ เพราะไม่โฟกัส

แถมถ่ายกลางแดด ก็ เละ เหมือนกัน

ก่อนกล้องจะสิ้นใจคามือ ผมเรียนรู้ความลับข้อหนึ่งของกล้องตัวนี้

"อย่าใช้จุดอ่อนของตัวเอง ไปแก้ปัญหาเด็ดขาด"

ผมเรียนรู้จากการใช้กล้องตัวนี้ว่า มีเงื่อนไขแสงบางอย่าง ที่ลงตัวกับกล้อง

เมื่อผมถ่ายรูปโดยใช้เงิื่อนไขแสงที่ลงตัว รูปจะออกมาสวยแบบได้ดั่งใจ

ถ้าผมละเมิดกฎ ถ่ายกลางคืน หรือ ถ่ายกลางแดด รูปก็จะไม่ได้เรื่องเสมอ

ผมก็ปรับตัว ด้วยการที่เมื่อเห็นแสงไม่เป็นใจ ก็งดการถ่ายรูป หรือถ่ายแค่พอใช้งาน ไม่เน้นสวยอันใด เน้นบันทึกเหตุการณ์ แต่คนที่ถูกถ่ายตอนแสงไม่ดี หน้าตากลายเป็นน่ากลัวไปหมด แม้ตัวจริงจะแบ๊วกิ๊ง ๆ ขนาดไหนก็ตาม

นั่นคือ ควรถือหลักว่า "ตัวเองมีแผล ก็ไม่ต้องเอาเกลือทา มีตาปลา ก็ไม่ต้องเหยียบเล่น"

ถ่ายกลางคืนไม่ได้ ก็ไม่ต้องถ่ายกลางคืน

ถ่ายกลางแดดไม่ได้ ก็ไม่ต้องถ่ายกลางแดด

แต่ที่เหลือ ต้องทำให้สมบูรณ์แบบที่สุด

เป็นการเดินอ้อม เลี่ยง ข้าม พ้นจุดอ่อนไปวิธีหนึ่ง ไม่ใช้จุดอ่อนมาชนปัญหา

 

ใจจริงอยากเอารูปคนมาลง แต่เกรงใจ เอารูปดอกไม้ สายลม แสงแดดมาลงแทน

 

ลงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า แม้แต่กล้อง "ร้าย ๆ" หากสามารถเดินอ้อม เลี่ยงข้ามจุดอ่อนไปได้ ก็สามารถทำได้ดีแบบไม่ต้องอายกล้องราคาแพงเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

บทเรียนนี้ ทำให้ผมกลับมามองทบทวนท่าทีตัวเอง เรื่องการใช้จุดแข็ง-จุดอ่อน ของตัวเอง ในการรับมือกับปัญหา

 

ผมเชื่อว่า "เติบโต เพราะจุดแข็ง ตาย เพราะจุดอ่อน"

และ "แก้ปัญหา ต้องใช้จุดแข็ง ไปชนกับจุดอ่อนของปัญหา"

 

บางคน เป็นนักสร้างองค์กร แต่ไม่เก่งเรื่องการประคับประคององค์กร ก็จะทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ ๆ ที่ปีแรก ๆ เติบโตแบบจุดพลุ คือโตก้าวกระโดด ผ่านไปไม่กี่ปี คนในองค์กรตีกันแทบตาย วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไรอื่น

นั่นเพราะจุดแข็งเขาคือ สร้าง แต่มีจุดอ่อนที่ขาดความสามารถเรื่อง ประคับประคองและเยียวยา

ให้สร้างอะไรใหม่ ๆ บุกเบิกอะไรใหม่ ๆ เป็นได้มีฮือฮา

แต่ประคองอะไรที่เก่า ๆ อาจพาระบบล้มแบบไม่มีท่า

 

มีระบบ มีองค์กรมากมาย ที่ล้มหายตายจากก่อนเวลาอันควร เพราะคนที่สร้างเก่ง แต่ประคองไม่เก่ง ใช้จุดอ่อนตนเองเข้าชนปัญหา ไม่ใช้จุดแข็งคนอื่นที่เก่งเรื่องประคอง ให้มาช่วยทำ เพื่อตัวเองจะได้ไปบุกเบิกงานใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ

ผลคือ องค์กรก็ล้ม ตัวเองก็ล้ม

ตัวอย่างมีมาแล้ว ในแวดวงของบริษัทด้าน IT ในสหรัฐ ทั้งที่ทำด้านซอฟท์แวร์ และที่ทำฮาร์ดแวร์

 

ผมเอง มีจุดอ่อนเรื่องขี้ลืม เวลานัดหมายต่าง ๆ เคยใช้วิธีจดลงสมุด ก็ยังลืมสมุดซะอีกบ่อย ๆ

ผมใช้จุดแข็ง ก็คือตัวเองใช้คอมพิวเตอร์เยอะอยู่แล้ว ก็ทำฐานข้อมูลสมุดนัดของตัวเองในคอมพ์ซะเลย

สื่อสารกับคนอื่น ผมก็ใช้ตีพิมพ์ลงเว็บเป็นระยะ แล้วจด web link ส่งให้คนที่ต้องเกี่ยวข้อง โหลดไปดูเอง ว่าจะนัดวันไหนได้

ผลคือ ปีนี้ จะครบรอบ 8 ปี ที่ผมเลิกใช้สมุดจด

ก็ยังอยู่ได้แบบสบาย ๆ

แถมยังสร้างความสะดวก เพราะช่วงหลัง มีระบบต้องบันทึกภาระงาน ผมก็สามารถสอบถามสรุปจากฐานข้อมูลส่วนตัวได้เลย ไม่ต้องมานั่งบวกมือให้เสียเวลา

นั่นก็คือ ผมไม่เอาจุดอ่อนเรื่องขี้ลืม ไปชนกับปัญหา แต่สร้างระบบที่อุดจุดอ่อน ให้ไปชนแทน

 

มองในภาพกว้างขึ้นมาอีก

การร่วมทีมงานกับคนอื่น ตามปรกติแล้ว แต่ละคนจะมีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน

ทีมงานที่ดี คือทีมที่สามารถเลือกดึงจุดแข็งของลูกทีม มาแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องได้

ถ้าเป็นทีมงานที่แค่แบ่งงานแล้วจบ ก็ไม่ต่างจากการอยู่แยกเป็นรายคนเท่าไหร่ แถมยังแย่กว่าด้วย เพราะมีโอกาสงานสะดุด จากการที่บางงานที่วิกฤติคอขวด จำต้องใช้จุดอ่อนของคนที่รับผิดชอบตรงนั้น ไปชนกับปัญหา ทำให้ล้มทั้งทีม

ฟังดูดี ผมน่าจะเป็นผู้บริหารที่ดีใช่ไหม

ไม่ใช่ครับ

ผมไม่มีนิสัยจี้งาน เพราะขี้ลืม และขี้เกรงใจ จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี

 

่ผมมองว่า ตัวเอง มีความสามารถเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์ เหมาะกับการเป็นกุนซือในการแก้ปัญหาเฉพาะกิจมากกว่า มองในมุมนี้ ผมเป็นจิ๊กซอว์เสริมคนอื่นได้ดี

หรือในการทำงาน ถ้าได้ร่วมทีมดี ผมจะพยายามเสนอให้เอาจุดแข็งของบางคนในทีม มาชนปัญหาที่กำลังเข้ามา

งานก็ไปได้

นิสัยขี้ลืม ไม่จี้งาน ทำให้ผมต้องให้ความสำคัญกับ "ระบบที่ยั่งยืน" เป็นพิเศษ

ระบบที่ยั่งยืน คือระบบที่ไปได้เองของมัน ไม่ต้องตามจี้ ตามทวง

 

ลองนึกถึงระบบ e-document ที่ไหลไปตามขั้นตอนต่าง ๆ เองนะครับ

แต่ e-document เอง ก็เป็นก้อนอิฐเล็ก ๆ ของโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้น คือระบบเอกสารที่ยั่งยืน และมีชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่สร้าง web รองรับแล้วก็จบ

ยังต้องดูเรื่องระบบรองรับ เช่น ระบบความปลอดภัย การสำรองข้อมูล แผนสำรองฉุกเฉินรับมือปัญหา การแปลงรูปแบบเนื้อหาให้ทันเทคโนโลยี ฯลฯ

การสร้างระบบที่ยั่งยืน ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ของการสร้างจุดแข็งมาห่อหุ้มล้อมรอบจุดอ่อนของตัวเอง

 

ผมไปรับผิดชอบเว็บวิชาการของคณะ ทั้งที่เขียนเว็บเองไม่เป็น อาศัยการทำงานเป็นทีม  ภายใต้ปัญหารุมเร้า ค่อย ๆ สร้างระบบที่เริ่มยั่งยืน มีชีวิตของมันเอง ก็ทำให้ระบบงานไหลไปเอง โดยยิ่งมา เหนื่อยน้อยลง ปวดหัวน้อยลง และต้องประคบประหงมน้อยลง และประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น ทั้งที่ตามมาตรฐานเทคโนโลยีแล้ว เซียนคอมพิวเตอร์จะส่ายหน้า บอกว่า เก๋าส์เรียกพ่อ !  ก็เป็นการหันจุดแข็งของลูกทีม ให้ชนปัญหา คือ เน้นคิดเชิงระบบ ให้เขียนโปรแกรมน้อยที่สุด แต่แก้ปัญหาได้ลงตัวที่สุด

ฐานข้อมูล อยู่ในเว็บ ผมเขียนเว็บไม่เป็น ก็ให้ทีมที่เขาทำเป็น เขียนให้

แล้วผมใช้วิธีดึงฐานจากเว็บ มาวิเคราะห์ข้างนอก ซึ่งเป็นโซนที่ผมถนัดกว่า  มาพัฒนาระบบบันทึกเพื่อประกันคุณภาพข้างนอก ซึ่งทำแบบกึ่งอัตโนมัติ เขียนโปรแกรมแบบโหลยโท่ย แต่ใช้งานได้ดี ทำให้สามารถตามดูข้อมูลสถิติที่ลึกกว่าการใช้ hit counter ตามปรกติ และตรงกับงานที่ทำอยู่

ผลคือ สามารถสร้างระบบดูแลเอกสารที่ลงตัว คือ ใช้เว็บเป็นตัวจัดการปัญหาด่านแรก ปัญหาที่เหลือ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่มีในระบบเว็บ ก็จะมีการวิเคราะห์ข้อมูล off-line ย้อนหลัง มาเสริมจุดอ่อน ก็ทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดที่มีอยู่เดิมไปได้

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 170817เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์คะ อาจารย์บอกว่า....ผมไม่มีนิสัยจี้งาน เพราะขี้ลืม และขี้เกรงใจ จึงไม่ใชผู้บริหารที่ดี

พี่ก็ไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีหรอกค่ะ เพราะ มีนิสัยจี้งาน มีกรอบเวลาให้ลูกน้องเสมอ และไม่ค่อยเกรงใจ ที่จะถามความคืบหน้าบ่อยๆ

แต่มากไป ลูกน้องเบื่อหน้า ทำให้ตัวเอง ต้องระวัง จะถามไถ่ทวงงานอะไรลูกน้อง ต้องคิดก่อนพูด ซึ่งทำให้เป็นคนดีขึ้นค่ะ

แต่เรื่องกล้องนะคะ เป็นอย่างอาจารย์พูดเลย ต้องระวังเรื่องแสงจริงๆ เมื่อวาน มีคนซื้อกล้องที่เขากำลังโฆษณาในทีวี มาฝากหลาน

 ที่ตกน้ำได้น่ะค่ะ มีfunctionครบเท่าที่digitalควรมีค่ะ ใครๆก็ถ่ายได้ค่ะ ง่ายๆๆๆมากๆๆ เด็กๆเลยสนุกใหญ่ค่ะ

 

สวัสดีครับ พี่ Sasinanda

  • เรื่องบริหาร ผมไม่มีใจทางนี้ ฟังทีไร หาวกรามค้างทุกที
  • มีมุมมองเรื่องการจัดการอยู่นิดหน่อย งู ๆ ปลา ๆ
  • ถ้าพูดเรื่องถ่ายรูป ค่อยตาสว่างหน่อย
  • เวลาให้เด็ก ๆ ถ่าย ลองถามเขาดูครับ เพื่อให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ว่าถ่ายรูปไหนไม่สวย ไม่สวยเพราะอะไร จะทำให้เขาช่างสังเกตขึ้นครับ

อาจารย์เขียนเรื่องวิเคราะห์หุ้น จุดอ่อนจุดแข็ง แล้ววกเข้ามาเรื่องการถ่ายภาพได้เจ๋งจริงๆ อ่านแล้วเข้าใจเลย อิอิ ขอบคุณครับ ตกลงทีมอาจารย์ไปภูเก็ตกี่ท่านครับ อิอิ

สวัสดีครับ ท่าน อัยการชาวเกาะ

  • ขอบคุณสำหรับคำชมครับ
  • นิสัยผมชอบลากโยงเรื่องที่อยู่ต่างภพ ต่างภูมิ ให้มาอยู่ในมิติเดียวกันอยู่แล้วครับ แต่จะสื่อให้รู้เรื่อง หรือจะสื่อให้เกิดความสับสน ก็เป็นอีกเรื่องครับ อิอิอิ
  • แต่โดนคำถามหักมุม ผมตาปริบ ๆ เลยครับ
  • ผมอยู่หลังเขาครับ...
  • ...มีงานอะไรที่ภูเก็ตเหรอครับ ?

 

แวะมาบอกคะ อาจารย์

มีงานเฮฮาศาสตร์ 4 ที่ภูเก็ต วันที่ 25 -28 เมษายน นี้คะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชวนไปเฮฮาศาสตร์ครั้งที่ ๔ ที่ภูเก็ต และกรมอุตลุดนิยมวิทยาแจ้ง"คลื่นสึมานึ" จะขึ้นฝั่งภูเก็ต 25-28 เม.ย.นี้  คะ

สวัสดีครับ มะปรางเปรี้ยว

  • อือม์ ตัวเองตกข่าวจริงด้วย
  • น่าเสียดายจัง รายการนี้...
  • เฮ่อ...

เคยเอาจุดอ่อนตัวเองไป ทำให้ตัวเอง(และคิดว่าคนอื่นด้วย)สนุก..ค่ะ

คือเป็นคนร้องเพลงไม่เป็น ผิดคีย์ประจำ

แต่ชีวิตผกผัน นายให้เป็นผู้รับผิดชอบงาน"ดนตรี"

ของหน่วยงานพักใหญ่(สองปีกว่า)

ฮา จังเลยค่ะ จับพลัดจับผลูแต่งเพลง มีส่วนร่วมตั้งวงดนตรี

เผลอและเพี้ยนสนุก ๆ สุด ๆ คือ..เป็นนักร้องเพลง..ซะเลย อิ อิ

คุณหมอ P จริยา ...

  • ความบันเทิง ขึ้นกับการตีความ
  • ผิดคีย์ อาจจะสนุกกว่า ถูกคีย์

ขอบพระคุณอาจารย์ครับสำหรับบทความดีๆ มีหัวใจ

ใจกระผมจะประหวั่นมากเมื่อจำเป็นต้องเดินในกติกาหรือเกมที่เป็นจุดอ่อนของตนเอง

และเนื่องจากกระผมเป็นคนมีจุดอ่อนมากแต่ไม่ค่อยเจียมตัว และชอบเล่นเกมโน้นเกมนี้บ่อยๆ จึงมักได้สะบักสะบอมเป็นระยะ

จนเริ่มรู้ตัวแม้อาจจะช้าไปแล้วว่า อย่าเอาจุดอ่อนของตนเองมาเสี่ยงเล่น จะเป็นสุข

มีการถามเรื่องวิธีเปลี่ยนจุดอ่อน ให้เป็นจุดแข็ง และแนวทางเปลี่ยนกติกาให้เป็นเกมที่เราถนัดด้วย
ถ้าเรามีเวลาเหลือเฟือ การฝึกตัวเองให้ไม่มีจุดอ่อน ก็ตามสะดวก คือมันฟังดูดี แต่ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะทำหรือไม่ทำ ซึ่งปรกติก็ต้องใช้วิธีย้อนศร คือกลัวอะไร ก็ทำสิ่งนั้น แน่นอนว่า ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ ถ้าแรงจูงใจมีพอ ก็อาจลองดู
แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอจะอุดจุดอ่อนตัวเอง ต้องยืมใช้จุดแข็งคนอื่นมาช่วย อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของการหนีปัญหา ถ้าทำเป็นทีม แล้วเราสามารถเป็นจุดแข็งให้ทีมได้ ผลัดกันช่วย ก็จะไปได้ง่ายกว่า เป็นการสร้างทีมแบบซิมไบโอสิส...

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท