เก็บตกงานซิมโพเซี่ยมว่าด้วยดะอฺวะฮฺและการแปลหะดีษ (ตอนสอง-จบ)


การแปลซุนนะฮฺ(หะดีษ)และซีเราะฮฺ สภาพความเป็นจริง การพัฒนา และปัญหา

 

 

แวะมาต่อให้จบจาก บันทึกในคราวที่แล้ว กับงานที่สองครับ คือ ชุมนุมทางวิชาการว่าด้วยการแปลหะดีษและชีวประวัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม (สภาพความเป็นจริง การพัฒนา และปัญหา)

 

เนื้อหาหลักที่มีการเสวนามีดังนี้

 

หนึ่ง หลักทางวิชาการและเงื่อนไขจำเป็นในการแปล มีการนำเสนอถึงประเด็นทางฟิกฮฺเสียส่วนใหญ่ เพื่อกลั่นออกมาให้เป็นเหมือนกฎระเบียบหรือทฤษฎีที่จำเป็นต้องใช้ในการแปลหะดีษและซีเราะฮฺ

 

สอง เครื่องมือและวิธีการแปล พร้อมแนวทางการพัฒนา นักวิชาการผู้นำเสนองานในส่วนนี้หยิบยกเอาประเด็นอย่างการแปลแบบเร็ว(ปากต่อปาก)มาพูดด้วย ว่าควรมีเงื่อนไขอะไรอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงบริบทหรือมิติวัฒนธรรมที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในการถ่ายทอดงานแปลจากภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่ง และพูดถึงความรับผิดชอบของผู้แปลต่องานที่ตัวเองแปล

 

สาม อุปสรรคในการแปลและแนวทางแก้ไข เป็นการหยิบยกประสบการณ์จริงและงานศึกษาที่ตรวจสอบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการแปลครับ ผมเข้าไปนั่งฟังผู้เสวนาในช่วงนี้และพบว่ามีส่วนคล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในหมู่นักแปลบ้านเราอยู่พอควร อย่างข้อผิดพลาดทางอะกีดะฮฺที่เราพบเห็นในงานแปล เป็นต้น ผู้นำเสนอหลายท่านเอาตัวอย่างจากประสบการณ์จริงมาพูด มีตัวอย่างจากหลายภาษาเลยครับ เริ่มตั้งแต่อังกฤษ อุรดู เปอร์เซีย ปุชตู จีน รวมไปถึงภาษามลายูที่รุ่นพี่ชาวอินโดนีเซียขึ้นไปพูดด้วย เขายกตัวอย่างอุปสรรคอย่างหนึ่งในการแปลว่า ศัพท์บางคำเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยที่จะถอดออกมาให้เป็นภาษามลายู อย่างศัพท์ที่เกี่ยวกับผลไม้ เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวอาหรับที่ไม่มีในประเพณีบ้านเรา

 

สี่-ห้า ศึกษาสภาพความเป็นจริงของงานแปลหะดีษและซีเราะฮฺ ช่วงนี้มีงานที่เป็นกรณีตัวอย่างเอามาพูดหลายชิ้นจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญจากหลายๆ ภาษา (อังกฤษ ฮอลันดา ดัตช์ ตุรกี อุรดู ฮินดี จีน มลายู) ที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือด็อกเตอร์ชาวอิรักท่านหนึ่งเอาเรื่องของเชคอิดรีส มัรบะวีย์ นักแปลชาวมาเลย์เจ้าของพจนานุกรมอาหรับ-มลายูที่เราท่านรู้จักกันดีมานำเสนอด้วยครับ ทั้งนี้เพราะท่านมีงานแปลหะดีษเล่มใหญ่อย่าง "บะห์รุลมาซี" ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาให้คนมลายูภูมิใจได้ไม่น้อย ที่แปลกก็คือคนนำเสนอไม่ใช่มลายูแต่เป็นอาหรับ(ที่ใช้ชีวิตในสังคมมลายู) ด็อกเตอร์ท่านให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมเดี๋ยวนี้เขาแบ่งมลายูออกเป็น ภาษาอินโดฯ ภาษามาเลเซีย ฯลฯ ทั้งๆ ที่มันก็คืออันเดียวกันแล้วอย่างนี้คนที่พูดมลายูในภูมิภาคอื่นอย่างไทย กัมพูชา (บางส่วน) ฯลฯ เขาจะเรียกภาษานี้ว่าอะไร ? อันนี้ผมก็คิด เพราะคนอาหรับบางทีเขาก็ไม่เข้าใจ เวลาเรียกภาษาของแต่ละประเทศเขาจะเรียกแยกไปเลยอันนี้ภาษาอินโด อันนี้ภาษามาเลย์ ทำให้มีปัญหาเวลาที่เราจะไปพูดถึงภาษาญาวีย์อีกอันหนึ่ง เคยเจอคนอาหรับบางท่านที่คุ้นเคยถึงกับถามว่าภาษาญาวีย์นี่เป็นภาษาที่ตายแล้วไม่ใช่หรือ ?

 

หก องค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานแปลหะดีษและซีเราะฮฺ พูดถึงหน้าที่ขององค์กรอย่างกระทรวงกิจการอิสลามฯ และรวมไปถึงความสำคัญของการใช้ความสามารถของนักศึกษาทุนจากประเทศต่างๆ ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยของซาอุดี เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น

ผลสรุปของงานติดตามได้ที่นี่ครับ http://sunnah.org.sa/nadwah/

ส่วนสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่าได้บทเรียนจากการนั่งฟังตรงนี้ก็คือ ปัญหาการแปลคลาดเคลื่อนในการแปล ซึ่งคิดว่าพบได้เห็นตัวอย่างได้มากในงานแปลไม่ว่าในภาษาใด เพราะผู้แปลไม่สามารถเข้าถึงภาษาต้นฉบับได้ดี ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม  ในทางกลับกันการไม่เข้าใจภาษาแปลก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เวลาที่ต้องการถ่ายทอดความหมายให้เจ้าของภาษานั้นๆ เข้าใจได้ถูกต้องตามภาษาต้นฉบับเดิม

 

ในฐานะที่เป็นคนตรวจงาน ปัญหาหลักที่ผมพบว่าคนแปลแปลไม่ถูก มาจากการที่ไม่ยอมกลับไปเปิดตำราอธิบายของอุละมาอ์ที่เกี่ยวข้อง แต่แปลด้วยความเข้าใจเพียงผิวเผิน แค่ดูความหมายในพจนานุกรมแล้วก็จบ ทั้งๆ ที่ศัพท์ในหะดีษบางตัวนี่เขามีการนิยามและอธิบายในภาษาอาหรับเองเสียยืดยาว บางตัวถึงกับมีการขัดแย้งกันเลยว่าความหมายมันคืออะไร ปัญหานี้ผมคิดว่ามีให้เห็นในการแปลภาษาอาหรับโดยรวม โดยเฉพาะการแปลอัลกุรอานและหะดีษ เพราะสองอย่างนี้ถ้าไม่พึ่งความรู้ของอุละมาอ์มาทำความเข้าใจแล้ว รับรองว่าแปลออกมาบางทีบิดๆ เบี้ยวๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยละครับ

 

เพราะฉะนั้น ขอฝากสักนิดสำหรับมิตรสหายที่ทำงานแปลทั้งมืออาชีพหรือสมัครเล่นว่า ควรมีตำราอธิบายหะดีษอยู่ข้างๆ เวลาแปลด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้เขามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมตำราต่างๆ แบบนี้ไว้เยอะแยะ ก็น่าจะหามาใช้ด้วยนะครับ งานที่เราทำจะได้ไม่ออกนอกลู่จนเกินไป

 

ก็นั่งๆ คิดอยู่คนเดียวว่า ถ้าสมมุติรวบรวมเอาแปลต่างๆ ที่มีอยู่ในแวดวงบ้านเราตอนนี้มาตั้งคณะกรรมการวิชาการตรวจสอบเสียใหม่ คงจะได้เห็นก้อนกรวดที่เราไม่ต้องการร่วงหล่นออกมาเป็นกองเลยทีเดียว อัลลอฮุลมุสตะอาน ..

 

น่าคิดครับ และคิดว่ากระแสการแปลบ้านเรายังสามารถหยิบยกเอามาพูดคุยและสนทนาได้อีกมาก และควรที่จะต้องมีการสนทนาในหมู่นักแปลด้วย ถ้าหากต้องการพัฒนาให้มันมีคุณภาพจริงๆ หรือมีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นโจทย์ที่ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะตอบได้อย่างไร ?

หมายเลขบันทึก: 170740เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2008 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท