ไหว้พระเก้าวัด ณเมืองสามหมอก


การเดินทางเพื่อสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น ที่นานๆทีที่จะรู้สึกว่าประเทศไทยเราก็มีหน้าหนาวกับเขาบ้างเหมือนกัน และที่สำคัญ การทำบุญไปพร้อมกับการเที่ยว เรียกได้ว่า สุขทั้งกายสุขทั้งใจ

หมอกสามฤดู  กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี  เมืองผู้คนดี  ประเพณีงาม ลืมนำถิ่นบัวตอง

         คำขวัญประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน  หลายท่านอาจเคยได้ยินมาแล้ว แต่ต้องมีอีกหลายท่านที่ยังไม่รู้ และยังไม่เคยสัมผัสกับแม่ฮ่องสอน ขอแนะนำหากท่านได้มาเยือนแม่ฮ่องสอน

            การไหว้พระ 9 วัดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสามหมอก ส่วนที่เรียกว่าเมืองสามหมอกก็เพราะ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน ฝน หรือหนาว ก็จะมีหมอกลงมาให้เราเห็น และเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองแม่ฮ่องสอนแห่งนี้ก็คือ การเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ในหุบเขา (มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน) ถ้ามองจากมุมสูงอย่างวัดพระธาตุดอยกองมูแล้วล่ะก็ จะสามารถมองเห็นเมืองแม่ฮ่องสอนได้ทั้งหมด

ส่วนไหว้พระ 9 วัดนั้น เป็นการใหนักท่องเที่ยวได้ทำบุญและบริจาคทานตามศาสนสถาน หรือสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ชำระจิตใจให้ผ่องแผ่ว อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งแต่ละแห่งก็มีเรื่องเล่าและประวัติที่แตกต่างกัน แต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

          วัดแรกคือ ‘วัดพระธาตุดอยกองมู’ เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า ‘วัดปลายดอย’ บ้าง ‘วัดดอยกองมู’ บ้าง ตั้งอยู่บนดอยกองมู ทางทิศตะวันตกของเมืองแม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะมีการสร้างวัด เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้าย ซึ่งจะลงมาปล้นชาวบ้าน แล้วก็จะหลบขึ้นไปอยู่บนดอย ต่อมามีการปราบปรามและก็ได้สร้างวัดนี้ขึ้นแทน โดยมี ‘จองต่องสู่’ เป็นผู้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ และศาลาการเปรียญถวาย ต่อมาพญานางสิงหนาทราชาขึ้นครองเมืองแม่ฮ่องสอน และได้สร้างเจดีย์องค์เล็กถวายอีกองค์หนึ่ง

          วัดที่ 2 ‘วัดพระนอน’ สำหรับวัดพระนอนแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ติดกับทางขึ้นวัดพระธาตุดอยกองมู นับว่าเป็นวัดที่สำคัญอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นวัดแรกที่เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นผู้สร้าง และใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืองทุกพระองค์ วัดพระนอนแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์พระประธานวัดพระนอน สร้างตามศิลปะไทยใหญ่ผสมผสานกับศิลปะพม่า มีความยาว 12 เมตร

        วัด 3 ใกล้ๆกับวัดพระนอน จะเป็น ‘วัดก้ำก่อ’ เป็นภาษาไต แปลว่า ‘ดอกบุนนาค’ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชาวแม่ฮ่องสอน มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม โดยเฉพาะลักษณะพิเศษของหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าไปจนถึงศาลา ซึ่งในสมัยก่อนคนที่จะเดินเข้าวัดต้องถอดรองเท้าบริเวณทางเข้าซุ้ม เพราะมีความเชื่อว่า จะได้ไม่เอาทราย (ของวัด) ออกจากวัด นอกจากนี้ยังมีตำราภาษาไทยใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย

        วัด 4 คือ ‘วัดม่วยต่อ’ ตั้งอยู่ที่ ถนนผดุงม่วยต่อ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี 2507 จากกรมศาสนา ที่วัดแห่งนี้นอกจากจะมีพระประธานในอุโบสถที่เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง และพระประธานที่อยู่ในศาลาการเปรียญที่เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ศิลปะพม่าแล้ว ยังมีงาช้างที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปอีก จำนวน 2 คู่

วัดถัดมาเป็นวัดที่ 5 ถือว่าเป็นวัดที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นก็คือ ‘พระอารามหลวงวัดจองคำ – จองกลาง’ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งแต่เดิมพระอารามหลวงแห่งนี้คือ วัดจองคำ และวัดจองกลาง ไม่ได้รวมกันแต่อย่างใด ต่อมาทางกรมศาสนา ตั้งใจที่จะยกให้เป็นพระอารามหลวง จึงรวม 2 วัดนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ของการเป็นพระอารามหลวง สำหรับวัด 2 วัดนี้ก็มีประวัติที่แตกต่างกัน

‘วัดจองคำ’ เป็นที่ตั้งของวิหารหลวงพ่อโต เป็นอาคารศิลปะผสมผสานไทยใหญ่ พม่า และตะวันตก และเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘เจ้าพลาโหลง’ เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองแม่ฮ่องสอน และหลังจากที่วัดถูกไฟไหม้เมื่อปี 2513 ได้มีการสร้างศาลาการเปรียญขึ้นมาใหม่ ในระหว่างการขุดเสา พบแผ่นเงินจารึก มีความว่า “วัดจองคำสร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 โดยศรัทธาชาวบ้าน”

‘วัดจองกลาง’ เรียกตามชื่อที่ตั้งเดิม ที่อยู่ระหว่างวัดจองคำและวัดจองใหม่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนพระปริยัติธรรม) เดิมวัดเป็นศาลาที่พักของคนที่มาจำศีลในวันพระ ต่อมาบุตรหลานของพญาสิงหนาทราชาได้เสียชีวิตลง จึงนำศพมาไว้ที่ศาลาจำศีล และได้บูรณะซ่อมแซมศาลาให้สวยงาม สิ่งสำคัญในวัดก็มี เจดีย์วิหารเล็ก ศาลาการเปรียญวัด ซึ่งเป็นอาคารไม้มุงสังกะสีสูงเป็นชั้น เรียกตามลักษณะช่างว่า “สองคอสามชาย” พร้อมด้วยจิตรกรรมหลังกระจก ที่นำมาจากเมืองมัณฑะเลย์ เป็นเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรชาดก จำนวน 180 ภาพ

ต่อมาคือ ‘วัดหัวเวียง’ ส่วนที่เรียกว่า วัดหัวเวียง เพราะที่ตั้งของวัดอยู่หัวเมืองแม่ฮ่องสอน โดยศรัทธาของชาวบ้าน ที่นำไม้มาช่วยกันสร้างเป็นศาลาการเปรียญ ส่วนศาลาหลังปัจจุบัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยใช้เค้าโครง และฐานพระประธานดั้งเดิม ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพราละแข่ง” พระพุทธรูปคู่เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนเชื่อว่า ถ้าได้ต่าง “ชอมต่อ” หรือถวายกระทงข้าวในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาจะเป็นศิริมงคล ได้บุญกุศลยิ่ง ในราวเดือน 4 (มีนาคม) ของทุกปีจะมีประเพณีบูชา พระพราละแข่ง เพื่อให้ทุกคนได้มากราบไหว้ตลอด 3 วัน และมีการต่างชอม “ต่อโหลง” หรือทำบุญถวายข้าวมธุปายาสด้วย นอกจากนี้ยังมีศาลาจำศีลอาคารไม้หลังคามุงสังกะสีประดับลายเจาะสังกะสี ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรแล้ว

ออกจาก วัดหัวเวียง ก็ไปต่อกันที่ ‘วัดกลางทุ่ง’สำหรับวัดกลางทุ่งนั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456 เดิมชื่อว่า ‘วัดปุกป่าโหยง’ สำหรับที่วัดแห่งนี้จะมีพระพุทธรูปศิลปะไทยใหญ่ประดิษฐานอยู่ แต่ที่น่าสังเกตคือ ริมฝีปากของพระพุทธรูปถูกทาด้วยสีแดง ทราบที่หลังว่า เหตุที่ริมฝีปากของพระพุทธรูปมีสีแดงนั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองนั่นเอง

ต่อกันที่วัดที่ 8 ‘วัดดอนเจดีย์’ สำหรับความเป็นมาของวัดแห่งนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2481 เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองฮ่องสอน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า วัดกุงเปา ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอนเจดีย์ และยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองเหลืองและพระพุทธรูปไม้เจดีย์

ถัดมาเป็นวัดที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นวัดสุดท้ายของการเดินทางในวันนี้ นั่นคือ ‘วัดผาอ่าง’ สำหรับ วัดผาอ่าง นั้นเป็นวัดขนาดเล็ก สภาพแวดล้อมทั่วไปติดกับป่าสัก สิ่งสำคัญของวัดนี้คือ เจดีย์ประธานวัดผาอ่าง เป็นเจดีย์ศิลปะพม่า ลักษณะเจดีย์มีทรงสูงเพรียว ที่ฐานมุมทั้ง 4 ประดับด้วยเจดีย์จำลองขนาดเล็ก ในด้านลักษณะของซุ้มพระพุทธรูปนั้น เป็นซุ้มก่ออิฐฉาบปูน ราวบันไดทำเป็นรูปสิงห์หมอบ ผนังด้านข้างของซุ้มทั้ง 2 ด้านประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดา ในท่ากำลังเหาะ ซึ่งหมายถึงเหล่าเทวดาที่กำลังเหาะมาเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือการเสด็จเหาะลงมาสักการะพระธาตุแห่งนี้นั่นเอง

           เป็นไงกันบ้างคะ อ่านแล้วอยากมาเที่ยวกันบ้างไหม  แนะนำให้มาเที่ยวช่วงฤดูหนาวคะ       

หมายเลขบันทึก: 170569เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2008 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท