ทักษะการตัดสินใจ


การตัดสินใจเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตที่บุคคลจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝน เราควรรู้จักตัดสินใจอย่างเป็นขั้นตอนอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจน จึงจะช่วยทำให้การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

                

                การตัดสินใจเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตที่บุคคลจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝน    เราควรรู้จักตัดสินใจอย่างเป็นขั้นตอนอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจน จึงจะช่วยทำให้การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

                การตัดสินใจ หมายถึง การเลือกทางปฏิบัติซึ่งมีอยู่หลายทาง เป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ อาจเป็นการตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งหลายอย่าง การตัดสินใจมักเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน และมีวิธีการแก้ปัญหามากกว่าหนึ่งอยู่เสมอ ผู้ตัดสินใจต้องเลือกปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างดีที่สุดและเกิดผลสูงสุด ( สมพงษ์ เกษมสิน. 2511 อ้างใน อภิญญา  จรูญพร . 2515 )

                การตัดสินใจ หมายถึง การกำหนดเลือกแนวทางเพื่อปฏิบัติ

                กล่าวโดยสรุปได้ว่า การตัดสินใจ คือ กระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาปัญหา แนวทางเลือก และวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยอาศัยความมีเหตุผล ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจ

                การตัดสินใดก็ตาม ทุกครั้งจะมีผลต่อชีวิตของผู้ตัดสินใจเสมอ การตัดสินใจจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาก การตัดสินใจที่ดีที่สุดควรเป็นการตัดสินใจที่รอบคอบ เป็นกระบวนการและมีระบบโดยการคำนึงถึงผลดีผลเสีย พิจารณาอย่างรัดกุมเลือกทางที่เหมาะสม

                                ประเภทของการตัดสินใจ

                รูปแบบการตัดสินใจทั่ว ๆ ไป แบ่งเป็นประเภทได้กว้าง ๆ ดังนี้

1.       การตัดสินใจที่รู้ผลแน่นอน คาดคะเนผลได้แน่นอน

2.       การตัดสินใจที่พอจะรู้ผลความเสี่ยงอยู่บ้าง คาดคะเนผลได้เพียงร้อยละ 50

3.       การตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่สามารถคาดคะเนผลได้เลยว่าจะออกมาอย่างไร

วิธีการตัดสินใจ นอกจากแบ่งประเภทแล้ว สิ่งที่มนุษย์กระทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ยังสามารถจัดเป็นกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ประโยชน์และประสิทธิภาพของการใช้มีความเหมาะสมแตกต่างกัน

         รูปแบบกลยุทธ์การตัดสินใจ

 

นักจิตวิทยา ลิเลียน  ดิงค์เลค ( Lillian  Dinlage ) ได้รวบรวมกลยุทธ์ที่บุคคลใช้ในการตัดสินใจเป็น 8 ชนิด ดังนี้ คือ

1.       วางแผนอย่างรอบคอบ

2.       ยากเย็นแสนเข็ญ

3.       หุนหันพลันแล่น

4.       ใช้ความรู้สึกบอก

5.       ผัดผ่อน

6.       ตามดวง

7.       ตามเพื่อน / เสียงส่วนใหญ่

8.       ขาดพลังเพียงพอ

ในกลยุทธ์ทั้ง 8 กลยุทธ์ที่ได้ 1 ได้แก่ การวางแผนอย่างรอบคอบ จัดได้ว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้ผู้ตัดสินใจมั่นใจในการตัดสินใจ นับเป็นการเสี่ยงที่รอบคอบที่สุด

1. กลยุทธ์การวางแผนอย่างรอบคอบ

      ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ

1.1    ขั้นที่หนึ่ง  รู้ถึงสิ่งที่ต้องตัดสินใจ บุคคลต้องตระหนักว่าเขาต้องตัดสินใจก่อน กระบวนการคิดหาแนวทางจึงเกิดตามมา ดังนั้นขั้นที่หนึ่งจึงเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด

1.2    ขั้นที่สอง  การรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

       ผู้ตัดสินใจต้องรู้ข้อมูล ดังนี้

·       ข้อมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนั้น

·       แหล่งข้อมูลมาจากไหน

·       จะได้รับข้อมูลนั้นมาได้อย่างไร

1.3    ขั้นที่สาม รู้จักกับทางเลือกที่มีอยู่ โดยใช้ข้อมูลในข้อที่สอง ถ้าทางเลือกมีไม่มาก อาจต้องใช้ดุลยพินิจ พิจารณาทางเลือกอื่นประกอบ

1.4    ขั้นที่สี่ การพิจารณาทางเลือกแต่ละด้าน ทั้งผลดี ผลเสีย แล้วนำผลดีผลเสียมาพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพื่อแก้ปัญหาจากขั้นที่หนึ่งได้หรือไม่

1.5    ขั้นตัดสินใจเลือก นำข้อพิจารณาจากข้อที่สี่มาจัดลำดับทางเลือก

1.6    ขั้นที่หก เป็นขั้นดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกในขั้นที่ห้า

1.7    ขั้นที่เจ็ด เป็นการทบทวนการตัดสินใจและผลที่ได้รับ เมื่อกระทำการตัดสินใจไปแล้ว หากการตัดสินใจไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการอาจปฏิบัติตามทางเลือกอันดับต่อไปหรือเริ่มต้นพิจารณาจากขั้นที่สองอีกครั้งหนึ่ง

                กลยุทธ์การวางแผนให้รอบคอบ เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา ทุกชนิด เป็นการวางแผนที่ฉลาดให้กับชีวิตองตนเอง

  

2. กลยุทธ์ยากเย็นแสนเข็ญ

                วิธีการนี้ ผู้ตัดสินใจจะพยายามรวบรวมข้อมูลมากมาย นำมาวิเคราะห์ ชั่งน้ำหนัก แต่มักติดอยู่ที่การค้นหาข้อมูลมาชั่งน้ำหนักเท่านั้นแต่ไม่สามารถตัดสินได้เลย มักกล่าวว่า ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดี

3. กลยุทธ์หุนหันพลันแล่น

                ผู้ที่ตัดสินใจด้วยวิธีนี้ จะเป็นบุคคลที่ไม่ตรวจดูทางเลือกอื่นเลย รับเพียงข้อมูลที่เห็นอยู่ก็ เลือกตัดสินใจ

4. กลยุทธ์ที่ใช้ความรู้สึกบอก

การตัดสินใจขึ้นกับความรู้สึก หรือลางสังหรณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว โดยไม่มีข้อมูลจาก

สิ่งแวดล้อมมาประกอบ

5. กลยุทธ์ผัดผ่อน

                มักไม่อยากเสี่ยงตัดสินใจ ทำให้ไม่อยากนึกถึง มักผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ไม่มีขั้นที่ 1 ว่าต้องตัดสินใจ

6. กลยุทธ์ตามดวง

ให้การตัดสินใจขึ้นกับ ดวงหรือกรรม

7. กลยุทธ์ตามเพื่อน / เสียงส่วนใหญ่

ทำตามผู้อื่นคิดมากกว่าการตัดสินใจด้วยตนเอง

8. กลยุทธ์ขาดพลังเพียงพอ  

กลุ่มนี้ควรต้องตัดสินใจแล้ว แต่ขาดพลังที่จะให้ตัดสินใจ

                แต่ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ไขต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้กระบวนการกลยุทธ์วางแผนรอบคอบ  นับเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาทุกชนิด แม้ว่าต้องเสียเวลาวิเคราะห์อยู่บ้าง แต่ก็ได้ผลคุ้มค่า เป็นการวางแผนที่ฉลาดกับชีวิตของตนเอง

ทักษะการตัดสินใจและการคาดผลจากการตัดสินใจ

                การตัดสินใจเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เพียงแต่ในวัยเด็กเรายังตัดสินใจด้วยตนเองไม่ได้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีความเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ยิ่งถ้าเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราก็ยิ่งต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต และไม่สามารถใช้อารมณ์มาตัดสินใจเหมือนในวันเด็กอีกต่อไป

                การตัดสินใจที่ดี ควรเริ่มต้นด้วยการแสวงหาข้อมูลเปรียบเทียบ หาเหตุผลหลาย ๆ ด้านมาประกอบ ไม่ควรตัดสินใจเพราะคนส่วนใหญ่ทำเช่นนั้น หรือตัดสินใจด้วยอารมณ์

                การตัดสินใจเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เช่นกัน ไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำตามอย่างกันโดยปราศจากการทบทวนคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หากเพื่อนของเราหรือคนที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับเรามีเพศสัมพันธ์กับคนรัก ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องตัดสินใจทำตามอย่างเพื่อน เพราะการตัดสินใจเรื่องเพศเป็นเรื่องของแต่ละคน

                คนจำนวนมากไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการตัดสินใจในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ วัยรุ่นบางคนก็เอาอย่างคนวัยเดียวกันเป็นเกณฑ์  บางคนก็เอาความต้องการของตนเองเป็นเกณฑ์ บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับค่านิยมที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ปลูกฝังมา บางคนก็ไม่สนใจกฏเกณฑ์ของครอบครัว

การที่จะตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์จำเป็นจะต้องรู้จักตนเอง รู้จักประเมินตนเองว่าจะต้องเตรียมตัวในเรื่องใดบ้าง แนวทางการประเมินตนเอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจมีดังนี้

                1. การกระทำเช่นนี้จะมีผลอย่างไรในอนาคต

                2. จะมีผลกระทบต่อการเรียนหรือไม่

                3. คนทั่วไปทำเป็นปกติเช่นนี้หรือไม่

                4. จะมีผลกระทบต่อครอบครัวหรือไม่

                5. มีการป้องกันโรคและการตั้งครรภ์หรือไม่

                6. พร้อมที่จะแก้ปัญหาต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมาหรือไม่

                ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ก็ยังไม่ควรที่จะตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ ควรที่จะรักษาสัมพันธภาพในระดับคู่รักที่ดีไปก่อน มีความเอื้ออาทรต่อกัน ต้องบอกคู่รักและตนเองว่าขณะนี้ยังไม่พร้อมและการสัมผัสเนื้อตัวกันก็ต้องมีขอบเขต

การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อเกิดปัญหา

                เมื่อวัยรุ่นมีปัญหาและแก้ปัญหาของตนเองไม่ได้ หรือไม่แน่ใจว่าการแก้ปัญหาด้วยตนเองจะถูกต้องหรือไม่ หรือต้องการคำแนะนำจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนก็ควรขอความช่วยเหลือปรึกษาพ่อแม่เป็นอันดับแรก เพราะจะเป็นคนที่รักเราอย่างแท้จริง พร้อมที่จะให้อภัยและช่วยเหลือเรา นอกจากนี้ญาติผู้ใหญ่และครูอาจารย์ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากท่านได้  สัมพันธภาพและเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเอง เคารพความรู้สึกทั้งของตนเองและคู่ของตน และเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินใจถ้ากระทำลงไปนั้นไม่สร้างปัญหาเป็นภาระแก่ผู้อื่นภายหลัง วัยรุ่นต้องเข้าใจว่าผู้ใหญ่รอบข้างนั้นท่านมีความห่วงใยและไม่ต้องการให้เกิดสัมพันธภาพทางเพศในวัยเยาว์เพราะภาวะอารมณ์ความกดดันที่มีต่อเรื่องความรักความใคร่ และการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ยังไม่พร้อมนั้น อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ชีวิตของตัววัยรุ่นเอง

                แต่ถ้าหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การติดเชื้อ HIV เป็นต้น วัยรุ่นจะต้องเผชิญปัญหาเหล่านั้น และหาทางออกที่เหมาะสม อย่าหนีปัญหา ผู้ใหญ่จะต้องให้ความมั่นใจในการช่วยเหลือปัญหาชีวิตของวัยรุ่นที่ผิดพลาดไปแล้ว อย่าไปลงโทษเขา เพราะเขาบอบช้ำมากแล้ว ถ้าทำเช่นนี้จะทำให้วัยรุ่นมีกำลังใจที่จะแก้ปัญหา ต่อสู้กับปัญหาและค้นหาทางออก แทนการลงโทษตัวเอง หลบซ่อนตนเอง หรือตัดช่องน้อยแต่พอตัวด้วยการฆ่าตัวตาย

                ความผิดพลาดในชีวิตทางเพศย่อมเกิดขึ้นได้ การขาดประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่น อาจทำให้ปัญหาเหล่านี้พบได้ง่ายขึ้น และการแก้ไขต้องเกี่ยวพันกับคนรอบข้างหลายฝ่ายเพราะยังอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ เรื่องที่แก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้องก็คือการลงโทษวัยรุ่นอย่างรุนแรง จะทำให้เขารู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง รู้สึกมีตราบาป รู้สึกผิด และอาจส่งผลต่อชีวิตเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

                ผู้ใหญ่จะต้องมองความผิดพลาดทางเพศที่เกิดกับวัยรุ่นด้วยจิตใจที่เป็นกลาง และไม่ตัดสินลงโทษ เพราะชีวิตทางเพศเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ จะต้องช่วยประคับประคองให้ความมั่นใจแก่วัยรุ่นว่า ความผิดพลาดนั้นแก้ไขได้และชีวิตนั้นเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ความรักความห่วงใย ความหวังดีของคนรอบข้างที่ทำโดยไม่ทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกว่าตนหมดคุณค่าจะเป็นแรงขับให้วัยรุ่นเข้าใจว่าความผิดพลาดสูญเสียครั้งนี้ไมได้ทำให้ชีวิตหมดความหมาย แต่เป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิตต่อไป

                วัยรุ่นพึงรู้ไว้ว่า การตัดสินใจในสถานการณ์ชีวิตบางอย่าง อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตที่เหลือ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคิดถึงผลต่าง ๆ ที่จะตามมา และมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่จะตามมาจากการเลือกหรือตัดสินใจของตนเอง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นอาจดูเหมือนว่าปัญหานั้นไม่มีทางออกหากคิดอยู่คนเดียว แต่ถ้าได้พูดคุยปรึกษาแสวงหาข้อมูลและขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือครูอาจารย์ ตลอดจนแหล่งบริการช่วยเหลือต่าง ๆ อาจทำให้เรามีทางออกคลี่คลายปัญหาได้มากขึ้น

                สรุป  ทักษะการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญของบุคคล ถ้ามีทักษะการตัดสินใจที่ดี จะทำให้การตัดสินใจนั้นถูกต้อง ไม่มีปัญหา หรือถ้ามีปัญหาก็มีน้อย การตัดสินใจที่ดีจะต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ มีประสบการณ์ และควรพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์นั้น จะต้องคิดให้รอบคอบและมีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาหรือผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง

                ในการตัดสินใจนั้นควรมีการกำหนดแนวทางเลือกไว้หลาย ๆ ทาง แต่ละทางเลือกต้องคิดถึงผลบวกผลลบไว้เสมอ แล้วเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด นั่นแหละจึงจะเป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพ แต่ถ้าการตัดสินใจนั้นเกิดผิดพลาด ก็ควรแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์และเราไว้วางใจ ได้แก่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ และบุคคลที่วัยรุ่นไปขอความช่วยเหลือก็อย่าลงโทษหรือซ้ำเติมเขา แต่ควรจะช่วยเหลือประคับประคองให้เขามีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 

 

 

ธีระวัฒน์  ชัยยุทธยรรยง , วราภรณ์  หงส์ดิลกกุล . กิจกรรมแนะแนว ม.6 

                กรุงเทพ ฯ . อักษรเจริญทัศน์  2549

ธีระวัฒน์  ชัยยุทธยรรยง , วราภรณ์  หงส์ดิลกกุล . กิจกรรมแนะแนว ม.3 

                กรุงเทพ ฯ . อักษรเจริญทัศน์  2549

แพทย์หญิงกุสุมาวดี  คำเกลี้ยง , ปรีชา  ไวยโภคา. เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 4

                กรุงเทพฯ. เอมพันธ์ 2549

 

หมายเลขบันทึก: 170502เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2008 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีคะ คุณครูเจี๊ยบ

เห็นบันทึกนี้ ได้ลองอ่านแล้วมีประโยชน์คะ แต่ดิฉันกำลังคิดว่า หากเป็นความรู้ในเชิงทฤษฎีอย่างนี้ สามารถหาอ่านได้ง่าย แต่ที่หาอ่านยากคือ ความรู้ ทักษะที่เกิดจากการทำงานที่คุณครูเจี๊ยบได้ทำจริงจากการปฏิบัติงานคะ

หากพอมีเวลา ลองเขียนเล่า ถ่ายทอดในบล็อกให้ลองได้อ่านดูสักครั้งนะคะ อย่างน้อย คุณครูท่านอื่นๆ จะได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยคะ

ขอบคุณคะ

  ครูแนะแนวครับ

     เด็กสมัยนี้มุ่งด้านวิชาการมากเกินไป  จน ไม่รู้เรื่องทักษะชีวิต เช่น การดำรงอยู่ในสังคม การปรับตัวเข้ากับเพื่อน  และอีกหลายเรื่อง

     พอจะมีวิธีการมาแนะนำไหมครับ

เนื้อหาดีมากอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอแนวทางการจัดทำนวัตกรรมพัฒนาทักษะการตัดสินใจค่ะตอนนี้สับสนมากขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

เนื้อหาดีมากอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอแนวทางการจัดทำนวัตกรรมพัฒนาทักษะการตัดสินใจค่ะตอนนี้สับสนมากขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอบคุณมากคะ กำลังสอนทักษะชีวิตนร.ชั้นม.3 เรื่องนี้อยูู่พอดีเลยคะ

ขอบคุณนะค่ะที่ให้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีทักษะการตัดสินใจในการแก้ปัญหา อยากได้การแก้ปัญหาการสอนจากประสบการณ์ค่ะ

อีฟฟี่มินรักชวินซองเม

เนื้อหาดีมากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท